" ทำงานมาก็นาน แต่ทำไมไม่มีเงินเก็บซักที!!!" เชื่อว่าหลายๆ คน อาจจะเคยแปลกใจแบบนี้ ว่า ทั้งๆ ที่รายได้ก็มีอย่างสม่ำเสมอไม่มีขาด รวมถึงบางคนยังมีรายได้ที่ค่อนข้างมากอีกด้วย แต่ก็ไม่มีเงินเก็บ หากว่าใครที่เริ่มจะสงสัยอย่างนี้ ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ว่าเรานั้นจะมีวินัยทางการเงินขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะเริ่มรู้จักที่จะวางแผนการใช้จ่ายเงินเพื่อให้มีเงินพอใช้ และมีเงินเหลือเก็บ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ.

จริงๆแล้วการที่เรามีรายได้มากนั้นไม่ได้การันตีว่าเราจะต้องมีเงินเก็บเยอะ หากแต่เป็นนิสัยในการใช้จ่ายเงินต่างหากที่จะเป็นตัวชี้วัดว่าเราจะมีเงินเหลือเก็บหรือไม่ เพราะต่อให้เงินเดือนเยอะมากขนาดไหนแต่หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ ก็ย่อมไม่มีเงินเหลือแน่ๆ และหากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นแล้วเราไม่มีเงินเก็บเลย นั่นก็หมายความว่าเราอาจจะต้องไปหยิบยืมคนอื่นๆ มาเพื่อใช้จ่าย ซึ่งก็จะทำให้เราเป็นหนี้ตามมาอีก.

หากว่าเป้าหมายของเรา คือการมีเงินเก็บที่เพียงพอหลังเกษียณ หรือการจ่ายหนี้ได้ครบถ้วนแล้ว แต่นิสัยทางการเงินยังคงเหมือนเดิม เช่น ยังคงมีการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย หรือจ่ายหนี้ไม่ตรงเวลา เป้าหมายที่ตั้งไว้นี้ก็อาจจะไปถึงได้ยากอีกเช่นกัน ดังนั้น หากอยากทำให้การเงินและการลงทุนเป็นเรื่องง่าย ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนนิสัยของตัวเองก่อน กล้าเผชิญหน้ากับการเงินของเรา และมุ่งหน้าสร้างนิสัยที่ทำให้การเงินของเรามีสุขภาพดี และสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งการสร้างนิสัยการเงินที่ดี มีอะไรบ้าง และเราสามารถทำได้อย่างไร? มาดูกันได้เลย

girls puts money into pig

Rawpixel.com/shutterstock.com

4 นิสัยทางการเงินที่ดี

4 นิสัยทางการเงินที่ดี

1. การออมเงินอย่างสม่ำเสมอ

ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำเช่นปัจจุบัน การออมเงิน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม. การออมจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากขาดซึ่งการวางแผน เราจึงต้องไม่ขาดวินัย และวางแผนการใช้เงินให้ดี ตั้งเป้าหมายไว้แล้วทำให้ได้. เมื่อมีวินัยทางการเงินที่ดีแล้ว อีกข้อหนึ่งที่ควรมีก็คือ ความอดทนและการยับยั้งชั่งใจนั่นเอง เราจะประสบความสำเร็จในการออมไม่ได้เลย ถ้าขาดการควบคุมตนเองอย่างเข้มงวดนี้ เพราะนักธุรกิจหลายๆคนที่ประสบความสำเร็จ ล้วนมีวิธีการควบคุมตนเองอย่างเข้มงวด และหักห้ามใจ ไม่ให้ใช้จ่ายอย่างพร่ำเพรื่อ. ผู้ที่มีวินัยทางการเงินจะออมเงินมากกว่าใช้เงิน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่จับจ่ายใช้สอยเลย เพียงแต่ต้องใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่า ซื้อและใช้เงินกับสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น พิจารณาก่อนว่า สิ่งไหนควรลงทุน สิ่งไหนควรประหยัด ไม่ใช่ใช้จ่ายเพียงเพราะว่าอยากได้ แต่สิ่ง ๆ นั้น ไม่ได้มีประโยชน์กับเราเลย. เพียงเท่านี้ การออมเงินของคุณก็จะประสบความสำเร็จได้อย่างงดงามในอนาคต

2.การทำบัญชีรายรับรายจ่าย

รายรับ คือ สิ่งที่บ่งบอกถึงความสามารถในการหาเงินของเราว่ามาจากทางใดบ้าง ได้แก่ รายรับหลักๆ เช่น เงินเดือน ค่าแรงที่ได้รับในแต่ละเดือน. รายรับอื่นๆ หรือ รายรับเสริม เช่น รายรับจากอาชีพเสริมต่างๆ หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุน. ส่วน รายจ่าย คือ สิ่งที่บ่งบอกถึงการใช้จ่ายของตัวเรา ว่าได้ใช้เงินไปอย่างไรบ้าง โดยจะแบ่งออกเป็น รายจ่ายคงที่ และ รายจ่ายผันแปร. การจดบันทึก และสร้างบัญชีรายรับรายจ่าย จะช่วยให้เราตรวจสอบการใช้จ่ายของเราได้ ทำให้เรารู้การใช้จ่ายของเราในแต่ละเดือน ช่วยให้สามารถตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นในออกไปทำให้มีเงินเหลือมากขึ้น เช่น ค่ากาแฟ ค่าชอปปิ้งของที่ไม่จำเป็น. การมีบัญชีเหล่านี้ จะช่วยให้เราวางแผนการใช้เงินของเดือนต่อ ๆ ไปได้ ทำให้รู้จักคิดให้รอบคอบก่อนจะใช้จ่าย รู้ว่าค่าใช้จ่ายไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะถ้าเรารู้จักตัวเอง และมองเห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเองแล้ว การละเลิกกิจกรรมที่สร้างความฟุ่มเฟือยทั้งปวง เมื่อเรานำมาปรับใช้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการออมที่เพิ่มขึ้นด้วยการทำบัญชีรายรับรายจ่ายนั่นเอง

3.การนำเงินมาลงทุน

เพื่อให้เงินเก็บที่เรามีงอกเงย เราควรนำเงินเหล่านี้มาลงทุนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงิน เช่น ฝากประจำ หรือลงทุนกับกองทุนต่าง ๆ แต่เราก็ควรศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อน เพราะหากเกิดความผิดพลาด ก็อาจจะขาดทุนได้ เช่น หากคุณคิดจะลงทุนกับตลาดหลักทรัพย์โดยการเล่นหุ้น คุณควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนทุกครั้ง ทบทวนหาอัตราความเสี่ยง โดยคำนวณให้ต่ำกว่าจำนวนเงินที่ลงทุนลงไป เพื่อที่คุณจะได้ไม่เจ็บตัวมาก เมื่อประสบกับสภาวะล้มเลวในบางช่วงจังหวะของชีวิต. การลงทุนจะให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต หากเราทำด้วยความระมัดระวัง การเงินก็จะเกิดสภาพคล่อง

4.การพยายามไม่สร้างหนี้สิน

การที่เราจะออมเงินได้ดี เราก็ต้องไม่สร้างหนี้ในเวลาเดียวกัน เพราะหากเรายังเป็นหนี้อยู่ คงจะเป็นเรื่องยากอยู่ไม่น้อย ที่จะเก็บเงินได้มากขึ้น ดังนั้น เราจึงต้องหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ ด้วยการไม่เป็นหนี้บัตรเครดิต หรือหนี้อื่น ๆ หากเราอยากจะซื้ออะไร เราควรเก็บออมเงิน เพื่อซื้อของสิ่งนั้น ดีกว่าการเอาเงินของอนาคตมาใช้ เพราะจะทำให้เราใช้เงินเกินตัว จนไม่สามารถควบคุมได้. แต่เมื่อเริ่มรู้สึกตัวว่ามีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มากจนเกินกำลังความสามารถในการชำระคืนแล้ว สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกก็คือการมีสติ หลายคนเมื่อมีหนี้สินจนเกินกำลังก็พยายามดิ้นรนทำงานหรือหาช่องทำกินเพื่อหารายได้ให้มากขึ้นซึ่งบางครั้งการแก้ไขด้วยวิธีเหล่านั้นอาจเป็นการสร้างหนี้สร้างภาระให้กับตนเองยิ่งขึ้น การมีสติและคิดวางแผนในการชำระหนี้ต้องเริ่มจากต้นเหตุคือสำรวจก่อนว่าเรามีข้อบกพร่องหรือข้อผิดพลาดในการบริหารเงินอย่างไร จากนั้นก็หาช่องทางหรือหาวิธีปลดหนี้.

ดังนั้น การวางแผนทางการเงินอย่างดีและเป็นขั้นเป็นตอน หากแผนงานทุกอย่างลงตัวเราก็จะสามารถบรรลุถึงเป้าหมายดังที่ตั้งใจไว้ได้ และถึงแม้ว่าแต่ละคนจะมีเงินไม่เท่ากัน รายได้ต่างกันแต่ถ้ามีนิสัยการใช้เงินที่ดี มีแผนการทางการเงิน แบ่งสรรปันส่วนจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกคนก็จะมีเงินเหลือเพื่อนำไปซื้อความมั่นงคงให้กับชีวิต และสามารถนำไปทำธุรกิจต่อยอดเพื่อให้เงินงอกเงยเพิ่มขึ้นมาอีกได้. อาศัยความมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ และทำมันไปเรื่อยๆก็จะเปลี่ยนนิสัยทางการเงินของตนเองให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนั่นเอง.