ภาษี คือเงินที่เรียกเก็บจากประชาชนโดยจะนำเงินดังกล่าวนั้นไปพัฒนาประเทศ หากเปรียบบทบาทของภาษีกับประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่า ถ้าประเทศไทยเปรียบเหมือนตัวบุคคล ภาษีเปรียบเสมือนรายได้อย่างหนึ่งที่เข้าสู่ประเทศ ซึ่งแม้ว่ารายได้หลักของประเทศไทยจะมาจากการส่งออกนำเข้าสินค้าและบริการ รวมถึงการท่องเที่ยว แต่ภาษีก็เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนและเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้กับระบบเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ด้วยดี ซึ่งหากเปรียบง่ายๆ คือ ภาษีเหมือนกับค่าธรรมเนียมค่าเช่าที่สมาชิกทักคนในประเทศจะต้องจ่ายเมื่อใช้ทรัพย์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในประเทศหรือเป็นพนักงาน ประชาชนทั่วไปที่ใช้ถนน รถไฟ สะพาน สาธารณูปโภคต่างๆ ที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งหากสมาชิกทุกคนร่วมกันใช้ทรัพยากรหรือสาธารณูปโภคนั้นๆ แล้วก็ต้องช่วยกันจ่ายเงินบำรุงทรัพยากรนั้นสามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไปในอนาคต หรือนำเงินที่เรียกเก็บแต่ละคนในแต่ละปีนำไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ภาษีจึงมีความสำคัญกับประเทศอย่างมาก ในฐานะเป็นแหล่งรายได้ที่จะนำเงินงบประมาณดังกล่าวมาจัดจ้างผู้คนมาทำงานให้กับรัฐ เช่น ข้าราชการ หรือนำเงินดังกล่าวมาร่วมกันพัฒนาสร้างสาธารณูปโภค สะพาน หรือถนนหนทางเพื่อเชื่อมต่อนำการพัฒนาและความเจริญเข้าไปสู่ชุมชนที่ห่างไกล หรือนำเงินดังกล่าวมาสร้างตึกอาคารเรียนเพื่อพัฒนาความรู้และการศึกษาให้แก่เยาวชน หรือบางส่วนก็นำมาสร้างและพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ในการช่วยรักษาความเจ็บป่วยของประชาชนเหล่านี้ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ภาษีมีรูปแบบต่างๆ มากมายที่ออกแบบมาแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์และกลุ่ม สามารถแบ่งออกย่อยๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ภาษีทางตรงที่จัดเก็บผ่านระบบและกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันดูแล และ กลุ่มภาษีทางอ้อมที่นำมาผูกไว้กับสินค้าและบริการต่างๆ ที่เห็นกันในชีวิตประจำวัน

tax thailand

Piyawat Nandeenopparit/shutterstock.com

ข้อดีของการเสียภาษี

ข้อดีของการเสียภาษี

เหตุผลทั่วไปในการที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะได้ความว่า ประการแรก เป็นหน้าที่และหากไม่ปฏิบัติตามอาจต้องได้รับโทษานุโทษตามกฎหมาย ประการต่อมา ถือเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความโปร่งใสและความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้อันเป็นหลักธรรมาภิบาล และประการสุดท้าย เป็นเครื่องหมายของผู้ที่มีความกตัญญูต่อแผ่นดิน หากมองให้ลึกลงไปอีก นอกจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นแล้ว การเสียภาษียังทำให้ได้รับประโยชน์และมีผลดีอย่างไรบ้างนั้น มีดังต่อไปนี้ 1.การที่ได้เสียภาษีเงินได้ โดยเฉพาะได้เสียภาษีอย่างถูกต้อง ย่อมทำให้ผู้มีเงินได้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด อันเป็นค่านิยมของสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีการพูดคุยในหมู่ผู้ที่นิยมความดีงามความถูกต้อง ได้ความว่า การตั้งใจเสียภาษีให้ถูกต้องเป็นมาตรฐานหรือเครื่องหมายของคนดีมีจริยธรรม ไม่ต้องพะวงต่อการตรวจสอบโดยสังคม และเจ้าพนักงานสรรพากร อันเป็นแนวคิดเชิงบวก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้มีเงินได้ที่ยื่นแบบแสดงรายการมีความคิดที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวงด้วยความซื่อสัตย์สุจริต กอปรด้วยความชอบธรรมเป็นนิจ 2.ผู้ที่เสียภาษีถูกต้อง ย่อมสามารถถ่ายทอดความภาคภูมิใจไปยังลูกหลานเพื่อปลูกฝังแนวความคิดหรือปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่ดีให้แก่ลูกหลานของท่านผู้มีเงินได้ได้เป็นอย่างดี ก่อให้เกิดความสงบสุขร่มเย็นในครอบครัว 3.การที่ได้เสียภาษีเงินได้และภาษีอากรประเภทอื่นๆ นั้น อาจกล่าวได้ว่า ไม่ต่างไปจากการบริจาคหรือการเสียสละทรัพย์ในส่วนของตน ซึ่งโดยปกติถือเป็นของรักของหวง ซึ่งหากตัดใจเสียสละอย่างแท้จริง ก็เท่ากับได้ฝึกปฏิบัติธรรมไปในตัว ในทางเศรษฐศาสตร์ ถือเป็นการกระจายรายได้จากผู้ที่มั่งมีไปสู่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ก่อให้เกิดความเป็นธรรม และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งจะช่วยสร้างสรรค์ประเทศชาติบ้านเมืองให้มีแต่ความสุขสงบร่มเย็น ไม่คิดเบียดเบียนกันและกัน 4.เม็ดเงินภาษีที่รัฐได้รับถูกนำกลับคืนสังคมในรูปของสาธารณูปโภค เช่น ถนนหนทาง ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ การชลประทาน สวัสดิการด้านพลานามัย เช่น โรงพยาบาล ความมั่นคงทั้งภายในภายนอก เช่น ตำรวจ ทหาร และบริการของรัฐในรูปแบบต่างๆ เช่น การศึกษา การส่งเสริมให้ประกอบสัมมาอาชีพอย่างเสรี เป็นต้น

ข้อเสียของการเสียภาษี

ข้อเสียของการเสียภาษี

แม้ว่าการเสียภาษีจะมีข้อดีหลายประการอย่างที่หลายคนกล่าวไว้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยบำรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้า หรือมีระบบขนส่งมวลชน ระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้น หรือมีความมั่นคงของประเทศมากขึ้น แต่หลายคนก็ยังไม่อยากจ่ายภาษี เพราะเห็นว่าการจ่ายภาษีมีแต่ทำให้รายได้ที่พึงจะได้รับลดน้อยลงไปกว่าเดิม ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนก็มองเช่นกันว่า การเสียภาษีนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมกับกลั่มพนักงานที่มีรายได้ประจำ เนื่องจาก หลายคนที่จ่ายภาษีเงินได้ในฐานะมนุษย์เงินเดือนหรือกลุ่มที่เป็นแรงงานในระบบที่มีการขึ้นทะเบียนและอยู่ในการกำกับดูแลของกรมสรรพากรนั้นมีสัดส่วนเพียง 1/3 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ ที่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 66 ไม่ได้เป็นแรงงานในระบบไม่ต้องเสียภาษี เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแรงงานรับจ้าง เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวนั้นอาจตอบยาก เนื่องจากแม้ว่ากลุ่มแรงงานนอกระบบจะไม่ได้เป็นผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหมือนกลุ่มพนักงานบริษัทห้างร้าน แต่กลุ่มนี้ก็ใช้ทรัพยากร ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงจ่ายคือในรูปแบบภาษีทางอ้อมจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการซื้อสินค้าตามร้านสะดวกซื้อหรือห้างร้านต่างๆ รวมถึงการเก็บภาษีสรรพสามิตจากกลุ่มเหล้าบุหรี่หรือน้ำหอม เป็นต้น ทั้งนี้หากเชื่อว่าการจ่ายภาษีเพื่อสร้างรายได้ให้รัฐและได้รับกลับมาในรูปของบริการสาธารณะ สาธารณูปโภคที่ทุกคนจะมีส่วนได้รับประโยชน์จากเงินภาษี และทำให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตไปได้ การชำระภาษีก็นับว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกคนในประเทศ

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีหลายเสียงที่วิจารณ์ความไม่สมบูรณ์และความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากระบบภาษี แยกออกเป็นประเด็นหลักๆ ได้ดังต่อไปนี้ 1.คนฐานะดีได้รับประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีมากกว่าคนจน : หลายคนที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐเคยวิพากษ์วิจารณ์ระบบการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยว่า ระบบภาษีที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำเพราะการจัดเก็บภาษีที่ไม่ได้ครอบคลุมผู้มีงานทำส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งในปี พ.ศ. 2553 พบว่า ¾ ของจำนวนผู้ที่ยื่นแบบแสดงรายการนั้นเป็นกลุ่มผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ไม่ต้องเสียภาษี ยิ่งกว่านั้น ยังมีการลดหย่อนไม่ต้องชำระภาษีเพื่อช่วยกลุ่มที่มีรายได้น้อย (ยกเว้นการเสียภาษีอัตราร้อยละ 5 ในกลุ่มผู้ที่มีรายได้สุทธิน้อยกว่า 150,000 บาทต่อปี) นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีรายการช่วยลดหย่อนภาษีในด้านต่างๆอีกมากที่ช่วยลดภาระให้กับผู้ที่มีรายได้ อาทิเช่น การลดหย่อนรายได้จากการบริจาค การลดหย่อนค่าใช้จ่ายส่วนตัว การลดหย่อนรายจ่ายการท่องเที่ยวต่างๆ เป็นต้น ซึ่งส่งผลทำให้รายได้สุทธิก่อนหักภาษีลดลงมาก ทั้งนี้กลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์กลับเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงที่ใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง ทำให้รายได้สุทธิก่อนหักภาษีนั้นลดลงและรัฐจัดเก็บภาษีได้น้อยลงและสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างจากในปี พ.ศ. 2553 พบว่าจากการที่มีการลดหย่อนภาษีทำให้รัฐขาดรายได้ถึง 535,000 ล้านบาท ในปีนั้น สถานการณ์ทั้งหมดนี้ส่งผลให้แม้มีกลุ่มแรงงานใหม่ๆ เข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมากแต่รายได้ที่รัฐพึงจะได้รับกลับไม่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้น กลุ่มคนที่ร่ำรวยมักจะได้รับประโยชน์มากกว่าคนที่มีรายได้น้อย 2.อัตราภาษีของไทยไม่ทันสมัยเสียแล้ว : นอกจากนี้ ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันถึงความล้าสมัยของการเก็บภาษี ฐานภาษีจำนวนมากไม่มีการปรับเปลี่ยนตามสภาพทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีการค้า ฯลฯ อัตราการเรียกเก็บยังคงเป็นอัตราตั้งแต่ 10-20 ปีที่ผ่านมา สำหรับภาษีบางกลุ่มที่อยู่ในกลุ่มภาษีที่รียกกับนิติบุคคลร้านค้าหรือโรงงานอุตสาหกรรมยังพบว่าไม่มีการเรียกเก็บเหมือนในต่างประเทศ เช่น ภาษีคาร์บอน ภาษีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศสากลสามารถทำได้และให้ผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและระบบเศรษฐกิจ 3.มาตรการภาษีเอื้อประโยชน์กับนักลงทุนที่ร่ำรวยไม่ใช่รัฐ : ยิ่งกว่านั้นยังพบว่า สำหรับกลุ่มนักลงทุนในกิจการที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ เช่น ภายใต้การส่งเสริมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีกจะมีสิทธิประโยชน์ที่เสนอให้กับนักลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ส่วนมากแล้วพบว่ากลุ่มที่ได้รับประโยชน์มักเป็นกลุ่มทุนที่มีขนาดใหญ่ที่แทบจะไม่มีคู่แข่งทางการค้า ซึ่งเมื่อได้รับสิทธิประโยชน์แล้วแทบจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ที่ควรจะเป็นไปมาก โดยสถิติในปี พ.ศ. 2553 พบว่าจากโครงการสนับสนุนและมาตรการทางภาษีที่หวังจะดึงดูดนักลงทุนเข้ามายังประเทศไทย ส่งผลทำให้ต้องเสียรายได้ไปกว่า 200,000 ล้านบาททีเดียว ด้วยเหตุนี้ หลายกระแสจึงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐควรมีมาตรการทบทวนใหม่ว่าการส่งเสริมนักลงทุนชาวต่างชาติด้วยมาตรการทางภาษีน่าจะเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าในการดำเนินการต่อไป แต่ประเทศไทยก็ยังคงมีมาตาการทางภาษีเหล่านี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง

สรุป

สรุป

ดังนั้น หากกล่าวโดยสรุป คือ ระบบภาษีของไทยเป็นระบบภาษีที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อการลดความเหลื่อมล้ำหรือสร้างประโยชน์ที่แท้จริงให้แก่ประเทศชาติ การดำเนินการของระบบภาษีไทยยังคงต้องการการปรับปรุงทั้งอัตราภาษีให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ปรับปรุงข้อกฎหมายให้ทันสมัย รวมถึงการออกภาษีใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและค่าครองชีพ การลดหย่อนถาษีเงินได้ที่สมเหตุสมผล การลดหย่อนหรือมาตรการทางภาษีที่เหมาะกับนักลงทุนและไม่เสนอประโยชน์กับนักลงทุนจนเกินความจำเป็น รวมถึงการออกแบบภาษีใหม่ๆ ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ อาทิเช่น ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก ภาษีบัณฑิต เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันก็อาจกล่าวได้ว่าระบบภาษีไทยยังคงให้ประโยชน์แก่ประเทศชาติและคืนกลับสู่ประชาชนในระดับหนึ่ง แต่คาดว่าระบบการเสียภาษีจะดีกว่านี้ได้หากมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีอากรของประเทศไทยเสียใหม่