การทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต เป็นเรื่องที่สะดวกรวดเร็ว และง่ายดายมาก ไม่ว่าจะเป็นการผูกบัตรเครดิตเข้ากับแอปพลิเคชั่นในมือถือ หรือแม้แต่การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยตรง ก็สามารถทำรายการและเข้าถึงได้ไม่ยาก และแน่นอนว่า ยิ่งเข้าถึงง่ายเท่าไหร่ ก็ยิ่งอาจทำให้เกิดการสวมรอย หรือเรียกอีกอย่างว่า “การโจรกรรมอัตลักษณ์บุคคล” มากขึ้นเท่านั้น เนื่องจาก หากการทำรายการนั้นไม่รัดกุมมากพอ อาจทำให้เกิดช่องว่าง และทำให้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ถือบัตรรั่วไหล ทำให้เกิดการฉ้อโกงทางบัตรเครดิตได้ในที่สุด ทุกวันนี้เราสังเกตได้ว่า กลโกงในการหลอกลวง และโจรกรรมข้อมูลนั้น มีรูปแบบซับซ้อนมากขึ้น ถึงขนาดที่บางครั้ง เทคโนโลยีในการป้องกันยังตามไม่ทัน ดังนั้น เพื่อการป้องกันตัวเองจากการถูกโจรกรรมข้อมูล หรือถูกฉ้อโกงบัตรเครดิต เราจะมีวิธีอะไรบ้าง ในการใช้งานบัตรเครดิตในแบบที่รัดกุม และปลอดภัยมากขึ้น? ในบทความนี้มีวิธีเบื้องต้นในการป้องกันถึง 5 วิธีด้วยกันค่ะ

prevent credit card

wk1003mike/shutterstock.com

เปิดใช้งานการแจ้งเตือนการใช้จ่ายผ่าน SMS

เปิดใช้งานการแจ้งเตือนการใช้จ่ายผ่าน SMS

วิธีนี้ถือเป็นวิธีพื้นฐานที่ทุกท่านควรสมัครไว้ เพราะการแจ้งเตือนนี้ จะแจ้งทันทีที่มีการใช้จ่ายผ่านบัตร ฉะนั้น หากมีการเคลื่อนไหวที่น่าสงสัย เราจะสามารถตรวจสอบและแจ้งทางธนาคารได้ทันเวลา แต่สิ่งที่ต้องจำไว้คือ ต้องอัพเดตเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้รับข้อความแจ้งเตือนนั้น ให้เป็นเบอร์ปัจจุบันอยู่เสมอ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ต่อให้สมัครบริการนี้ไว้ ก็ไม่เป็นประโยชน์ถ้าเราไม่ได้รับข้อความนะคะ

เก็บตัวเลขต่างๆที่เกี่ยวกับบัตรให้เป็นความลับเสมอ

เก็บตัวเลขต่างๆที่เกี่ยวกับบัตรให้เป็นความลับเสมอ

ตัวเลขต่างๆไม่ว่าจะเป็นเลขบนบัตร หลังบัตร หรือเลขPINของบัตร ควรเก็บไว้เป็นความลับเสมอ เนื่องจากเลขเหล่านี้สามารถใช้ยืนยันในการทำธุรกรรมต่างๆทางออนไลน์ได้ เช่น เลข CVV ที่อยู่ด้านหลังบัตร เลขนี้จำเป็นต้องใช้ควบคู่กับเลขหน้าบัตรเสมอ เมื่อมีการทำธุรกรรมผ่านทางช่องทางออนไลน์ ดังนั้น หากทำการจดบันทึกในที่ที่เป็นความลับแล้ว ควรขูดเลขที่หลังบัตร หรืออย่างน้อยที่สุดควรติดสติ๊กเกอร์ทับตัวเลขเพื่อความปลอดภัย และหากมีการสอบถามถึงเลขนี้ทางโทรศัพท์หรือข้อความต่างๆ ให้วางสายและทำการตรวจสอบไปที่ธนาคารโดยตรงทันที เพื่อป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ และอีกเลขหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้นั่นคือ เลข PIN นั่นเอง เลขนี้จะสามารถใช้เพื่อทำการกดเงินสดจากตู้ATM และยังสามารถใช้เพื่อยืนยันการใช้จ่ายผ่านบัตรได้อีกด้วย เช่น บัตรที่เป็นบัตร Verified by Visa , บัตร Master Card Secure Code, บัตร JCB หรือบัตร J/Secure ซึ่งบัตรเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการกดยืนยันรหัส PIN ทุกครั้งที่มีการใช้จ่าย ฉะนั้น หากผู้ถือบัตรที่ขี้ลืมทั้งหลายจดรหัสไว้ในที่ที่พบเห็นง่าย หรือใส่ไว้ในกระเป๋าสตางค์ อาจถูกรูดจนหมดตัวหากกระเป๋าสตางค์หายก็เป็นได้

อย่าลืมฉีกใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตหรือทำลายก่อนทิ้งทุกครั้ง

อย่าลืมฉีกใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตหรือทำลายก่อนทิ้งทุกครั้ง

ใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต เป็นข้อมูลชั้นดีในการโจรกรรมของพวกมิจฉาชีพ เนื่องจากใบแจ้งหนี้เหล่านั้นมีข้อมูลของผู้ถือบัตรอย่างครบถ้วน ตั้งแต่วันเกิด ไปจนกระทั่ง เลขประจำตัวประชาชน ดังนั้น หากตกไปอยู่ในมือพวกมิจฉาชีพทั้งหลาย ก็อาจหมดตัวได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นแล้ว ควรตรวจสอบทุกครั้งก่อนทิ้ง ว่าได้ทำลายเอกสารแล้วหรือยัง หรืออย่างน้อยที่สุดให้ทำการฉีกเอกสารนั้นก่อนที่จะนำไปทิ้ง

ล็อกโทรศัพท์ทุกครั้ง และไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะในการทำธุรกรรม

ล็อกโทรศัพท์ทุกครั้ง และไม่ควรใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะในการทำธุรกรรม

ตามที่กล่าวไปข้างต้น ทุกวันนี้เราสามารถทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชั่นในมือถือได้ ฉะนั้น เมื่อทำธุรกรรมเสร็จแล้วก็ควรที่จะ LOG OUT หรือออกจากระบบทุกครั้ง และที่สำคัญคือ การทำธุรกรรมส่วนใหญ่ต้องใช้เลข OTP ที่จะส่งเข้ามาทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ดังนั้น หากเราลืมล็อคโทรศัพท์ ก็เป็นไปได้ที่จะมีการนำรหัสเหล่านั้นไปล็อกอินและทำธุรกรรมอื่นๆได้ นอกจากนี้ การทำธุรกรรมผ่านทางเครื่องคอมพิวเตอร์สาธารณะ ก็ถือว่าเป็นอันตรายมาก เนื่องจาก บ่อยครั้งที่การโจรกรรมเกิดขึ้นจากการหาข้อมูลผ่าน ประวัติการใช้งานเว็บเบราเซอร์ หรือ Browser History ซึ่ง ถึงแม้เราจะทำการออกจากระบบเรียบร้อยแล้ว แต่ข้อมูลการทำรายการส่วนใหญ่ยังคงถูกเก็บไว้ในประวัติของเว็บเบราเซอร์อยู่ ดังนั้น หากเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ ก็ต้องไม่ลืมที่จะลบประวัติเบราเซอร์ทุกครั้งหลังออกจากระบบเรียบร้อยแล้วนะคะ

อย่าลืมตรวจสอบสถานะบัตรเครดิตเป็นประจำ

อย่าลืมตรวจสอบสถานะบัตรเครดิตเป็นประจำ

การตรวจสอบนี้ควรทำเป็นประจำทุกๆสัปดาห์ หรืออย่างน้อยที่สุดคือ ทุกเดือน เพื่อเราจะสามารถตรวจสอบได้ทันเวลาว่า มีการใช้จ่ายที่ผิดปกติหรือไม่ ซึ่งการโจรกรรมบางครั้งเริ่มจากยอดใช้จ่ายเล็กๆน้อยๆ ที่อาจทำให้ดูเหมือนเป็นเพียงค่าธรรมเนียมบางอย่าง แต่จริงๆแล้วยอดเหล่านี้เป็นการทดลองว่าข้อมูลที่ใช้โจรกรรมนั้น ใช้ได้จริงหรือไม่ หากมีการหักยอดเหล่านี้จากบัตร นั่นแสดงว่ามิจฉาชีพได้ข้อมูลที่สามารถใช้โจรกรรมได้จริง และหลังจากนั้นก็จะทำการโจรกรรมเงินก้อนโตมากขึ้นนั่นเอง เพราะฉะนั้นแล้ว หากมียอดใช้จ่ายที่ไม่ทราบแหล่งที่มา ถึงแม้จะเป็นยอดเล็กๆน้อยๆ ก็ควรทำการติดต่อกับธนาคาร และขอข้อมูลให้แน่ชัดว่า ยอดเหล่านี้มาจากไหน หากธนาคารไม่ทราบหรือไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ หรือแม้แต่ตรวจสอบได้ แต่เรามั่นใจว่าไม่ได้ทำธุรกรรมนั้นด้วยตัวเอง ก็ควรที่จะยื่นเรื่องอายัดบัตรไว้ก่อน เพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรนั้นอีก และเป็นการแสดงสิทธิ์ว่าเราไม่จำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบใดๆหากเกิดการทำธุรกรรมที่ไม่พึงประสงค์หลังจากอายัดบัตรแล้ว

สรุป

สรุป

นอกจากวิธีทั้ง 5 ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีเทคนิกง่ายๆ เช่น การตรวจสอบสภาพตู้ATM ก่อนการใช้งาน ว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่ หรือแม้แต่การตั้งรหัสผ่านของบัตรให้คาดเดายาก ก็สามารถช่วยให้การโจรกรรมข้อมูลนั้นทำยากขึ้นได้ด้วยเช่นกัน เราควรนึกถึงอยู่เสมอว่า มิจฉาชีพมีอยู่รอบตัวเรา ดังนั้น ไม่ว่าเราจะทำอะไร ควรทำด้วยสติ ระมัดระวัง และความรอบคอบเสมอ เพื่อปกป้องตัวเราเองจากการฉ้อโกงผ่านบัตรเครดิตนะคะ