เคยได้ยินกันบ้างมั๊ยค่ะ มีประกันก็เหมือนมีร่ม ให้เราได้พกไปไหนต่อไหน  ถึงแม้บางครั้งจะไร้แดดไร้ฝน ถือไปด้วยก็อาจเกะกะไม่คล่องตัวบ้าง แต่ถ้าวันไหนเกิดพายุฝนหรือแดดร้อนแรงขึ้นมา เราก็จะดีใจที่ได้พกร่มติดตัวมาด้วย เพื่อช่วยให้ทุกก้าวเดินก็มั่นใจกว่า

เพราะในยามที่ต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่องชีวิตและทรัยพ์สินนี่ล่ะค่ะ ที่จะทำให้เราเห็นคุณค่าของการทำประกันขึ้นมา ทั้งช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างเต็มจำนวนในวันที่ป่วยไข้ เกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน บทความนี้ จึงอยากจะชวนทุกคนมาตรวจสอบตัวเองไปพร้อมๆกัน กับ 5 วิธีที่ควรวางแผนเกี่ยวกับ ‘ประกัน’ เพื่อลดความเสี่ยงในแบบที่เหมาะกับเรา

มาเช็คไปพร้อมๆกันสิค่ะ ว่าคุณพร้อมในเรื่องนี้หรือยัง!

ช่วยป้องกันความเสี่ยง ไม่ใช่เป็นภาระทางการเงิน

ช่วยป้องกันความเสี่ยง ไม่ใช่เป็นภาระทางการเงิน

การทำประกันภัย เป็นการช่วยเราเฉลี่ยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นทางการเงิน จึงทำเพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยง ที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับเราและกระทบไม่ยังบุคคลอื่น เมื่อมีการชำระเบี้ยประกัน ก็จะมีความคุ้มครองเพิ่มเข้ามาเมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดฝัน

ดังนั้น เพื่อจะช่วยลดภาระทางการเงินที่สุด เราจึงต้องตรวจสอบเรื่องภาระที่เรามีอยู่ในปัจจุบันก่อนที่จะทำประกันภัยในสักรูปแบบ คือ ต้องสำรวจภาระค่าใช้จ่ายหรือภาระหนี้สิน แล้วค่อยเลือกทำประกันในแบบที่ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระติดตัว จึงจะมีกำลังส่งไปได้แบบตลอดรอดฝั่ง. โดยอย่างน้อยๆ การส่งเบี้ยประกันที่ไม่เกินตัว ควรจะเป็นจำนวนไม่เกิน 10% ของรายได้ ซึ่งหากมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ค่อยทยอยซื้อเพิ่มก็ยังไม่สายค่ะ

สำหรับบางคนที่มีสวัสดิการกับที่ทำงานอยู่แล้ว ก็ควรเลือกประกันที่ตรงกับวัตถุประสงค์ถึงจะดีกว่า หรือคนไหนที่อยากเน้นการคุ้มครอง  เน้นผลตอบแทนที่มากกว่า หรือคิดถึงคนที่อยู่ข้างหลังมากที่สุด ก็อาจเลือกประกันในแต่ละชนิดที่มีลูกเล่นแตกต่างกันได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องศึกษากรมธรรม์อย่างรอบคอบ รู้เงื่อนไขของประกันที่เราเลือกเป็นอย่างดี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงมากกว่าเป็นภาระทางการเงินได้ค่ะ

เลือกความคุ้มครองและบริษัทผู้รับประกันได้อย่างถูกต้อง

เลือกความคุ้มครองและบริษัทผู้รับประกันได้อย่างถูกต้อง

ประกันภัยในบ้านเราจะมี 2 แบบ คือ การประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance) ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน หรือความรับผิดชอบ เช่น ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัย  และ การประกันชีวิต (Life Insurance) ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพ เช่น ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ. โดยไม่ว่ารูปแบบใด เราก็จะมีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามกรมธรรม์ เมื่อมีการชำระเบี้ยตามกำหนด

ส่วนการเลือกบริษัทผู้รับประกันก็ควรดูที่ ความมั่นคงทางการเงินของบริษัทนั้น ผู้รับประกันภัยที่ดีจะต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการ อีกทั้งยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีจากเบี้ยประกันที่เราจ่ายไป ด้วยการจัดสรรเป็นเงินชดเชยเพื่อบรรเทาความเสียหายอย่างทันท่วงที และมีตัวแทนประกันที่มีความสามารถในการไกล่เกลี่ย พร้อมเป็นคนกลางเมื่อเกิดกรณีต่างๆ

เราจึงต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทผู้รับประกันแบบหลายๆแห่ง จะได้ตัดสินใจฝากอนาคตของตนหรือสมาชิกในบ้านได้อย่างมั่นใจ ทั้งเรื่องข้อมูลทางการเงินของบริษัท  ชื่อเสียงและประวัติการดำเนินงาน รูปแบบของกรมธรรม์ รวมถึงการให้บริการและส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อ้างอิงจากเว็บไซต์ของกรมการประกันภัย (https://www.oic.or.th/th/consumer)ค่ะ

เลือกทุนประกันที่เหมาะสม

เลือกทุนประกันที่เหมาะสม

หากมาถึงจุดที่เราต้องการทำประกันชีวิตแล้วล่ะ แต่ไม่รู้ว่าควรมีทุนประกันเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม  วิธีง่ายๆ ก็คือ วิธีคูณรายได้ (The Multiple of Earnings Method) หรือตัวเลขที่มากจาก 3-5 เท่าของรายได้ต่อปี มีสูตร คือ ทุนประกัน = รายได้ต่อปี x ตัวเลขทวีคูณที่กำหนดขึ้น

เช่น สมชาย มีรายได้ 5 แสนบาทต่อปี ถ้าตัวเลขทวีคูณ เท่ากับ 5 สมชายจึงควรมีทุนประกันอยู่ที่ 2.5 ล้านบาท สำหรับระยะเวลาในการปรับตัวของครอบครัว หากสมชายเสียชีวิตไป คนข้างหลังก็จะมีเวลาตั้งหลักอย่างน้อย 5 ปี เป็นต้น

นอกจากนี้ บางคนอาจเลือกวิธีหาจำนวนทุนประกันที่เหมาสมจากการวิเคราะห์ความจำเป็นทางการเงินประกอบ แต่อาจต้องใช้เวลาในการเปรียบเทียบรายละเอียดเพื่อทราบความต้องการทางการเงินที่แท้จริง โดยมีสูตร คือ ทุนประกัน = รายจ่ายจำเป็นทั้งหมดที่เกิดจากการเสี่ยงภัย หักด้วย รายได้ , เงินออม , เงินลงทุนทั้งหมดที่มีค่ะ

คำนวนเรื่องการจ่ายเบี้ยและวางแผนเผื่อหาก ‘เงินช็อต’

คำนวนเรื่องการจ่ายเบี้ยและวางแผนเผื่อหาก ‘เงินช็อต’

อย่างที่บอกไปว่าจำนวนเบี้ยประกันต่อปี ไม่ควรเกิน 10% ของรายได้ต่อปี เนื่องจากเมื่อเราทำประกันชีวิตที่มีวงเงินคุ้มครองสูงเกินไป ก็จะทำให้เรามีภาระในเรื่องการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตที่สูงตามไปด้วย เช่น กรณีของสมชาย เขาไม่ควรจ่ายเบี้ยประกันเกินปีละ 5 หมื่นบาท หรือหากมีภาระหนี้สินและค่าใช้จ่ายประจำที่สูงขึ้น ก็อาจปรับลดวงเงินประกันได้ตามความเหมาะสมด้วย และหากเป็นสัญญาการทำประกันที่มีระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ก็สามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่าย ไม่เกิน 1 แสนบาทด้วย

และหากสถานการณ์ชีวิตเราในบางช่วงกลับกลืนไม่เข้าคายไม่ออมเพราะ ‘เงินช็อต’ วิธีที่หลายคนไม่รู้ คือ เราสามารถเดินเข้าไปหาตัวแทนประกัน เพื่อติดต่อยื่นเรื่อง ‘กู้เงิน’ จากมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์เพื่อมาจ่ายค่าเบี้ยได้ แต่ต้องมีมูลค่าเงินสดมากกว่าเบี้ยที่จ่าย และส่งเบี้ยมาแล้ว 2 ปีขึ้นไป เมื่อเรากู้ค่าเบี้ยแบบเอาตัวรอดไปได้สักปี เมื่อมีรายได้กลับเข้ามาใหม่ก็ค่อยไปจ่ายเงินกู้ค่าเบี้ยตรงนี้ พร้อมดอกเบี้ยประมาณ 8 % กรมธรรม์ของเราก็จะไม่ขาดอายุ ไปแบบน่าเสียดายความคุ้มครองค่ะ

การแบ่งเงินมาเริ่มทำประกันของ มนุษย์เงินเดือน VS ชาวฟรีแลนซ์

การแบ่งเงินมาเริ่มทำประกันของ มนุษย์เงินเดือน VS ชาวฟรีแลนซ์

เมื่อตัดสินใจที่จะทำประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพดีๆสักตัวแล้วด้วยเงินเก็บก้อนแรกที่มี ควรแบ่งเงินเพื่อเริ่มทำประกันยังไงดีเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเงินในส่วนอื่นๆ และยังสามารถชำระเบี้ยประกันต่อได้แบบครบตลอดอายุสัญญา ก็ขอแบ่งเป็น 2 กลุ่มตามลักษณะของรายได้ในแบบที่เข้าใจกันง่ายๆนะคะ

มนุษย์เงินเดือน

กลุ่มรายได้ที่มีความสม่ำเสมอและแน่นอนแบบนี้ สามารถเริ่มแบ่งเงินประมาณ 10-20 % ของรายได้ในแต่ละเดือนมาทำประกันได้เลยโดยที่ไม่กระทบมากนัก. โดยเมื่อมีรายได้หลักเพิ่มขึ้น แต่ยังคงรักษาสัดส่วนในการแบ่งเงินมาทำประกันได้แบบนี้ต่อไป ก็จะยิ่งมีจำนวนเงินเก็บและความคุ้มครองที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

ชาวฟรีแลนซ์

สำหรับการจัดสรรรายได้เพื่อเริ่มต้นทำประกันสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ไม่แน่นอนแบบชาวฟรีแลนซ์ แม้จะยากกว่าแต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ โดยเราสามารถเริ่มจากการแบ่งเงินก้อนในแต่ละปี เพื่อกันเงินไว้สำหรับทำประกันที่ประมาณ 10-20 % ของรายได้ เพื่อเลือกรับผลประโยชน์จากความคุ้มครองได้อีกเช่นกัน

วางแผนประกันได้ดี ย่อมคุ้มครองชีวิต ทรัยพ์สิน และลดความเสี่ยงในแบบที่เหมาะกับเรา!

วางแผนประกันได้ดี ย่อมคุ้มครองชีวิต ทรัยพ์สิน และลดความเสี่ยงในแบบที่เหมาะกับเรา!

เพราะเรามีแค่ชีวิตเดียว อะไรที่ป้องกันได้ก็ควรป้องกันจริงมั๊ย.. ซึ่งหากประกันภัยเปรียบเหมือนการพกร่มเพื่อสู้ลม แดด ฝน ชีวิตในปัจจุบันนี้เราคงยิ่งต้องสู้มากกว่ายุคไหนๆอีกด้วย และไม่ว่าเราจะแข็งแรกสักเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครสามารถรับรองได้ว่า วันนึงจะไม่ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ รึแวะไปทักทายคุณหมอที่โรงพยาบาลเลย  ยิ่งค่ายา ค่าห้องในสมัยนี้ แพงอย่าบอกใครเชียวล่ะ!

การวางแผนประกันที่ดี จึงเป็นตัวช่วยเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัยพ์สิน ลดความเสียหายจากความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี และในบางกรณี ผู้ทำประกันยังสามารถกู้เงินด่วนได้จากกรมธรรม์ เพื่อนำมาใช้จ่ายในยามจำเป็นได้อีกด้วย  ดังนั้น ถ้าอยากลดภาระทางการเงิน พร้อมสวัสดิการในเรื่องค่ารักษาพยาบาล การเลือกประกันสุขภาพดีๆสักใบ ประกันชีวิตที่ครอบคลุมสักตัว หรือประกันอุบัติเหตุที่ตอบโจทย์ ก็คงเป็นร่มหลากสีสันที่พร้อมจะพาชีวิตเราและครอบครัวเดินต่อไปได้ในสักทางที่เลือกไว้ได้อย่างมั่นใจกว่าค่ะ!