ปกติเมื่อทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพ เราก็จะได้รับ “ตัวกรมธรรม์” กลับมาเป็นหลักฐานและข้อมูลสำหรับศึกษาเงื่อนไขในแบบประกันที่ได้ทำ. แต่อาจจะด้วยจำนวนรายละเอียดปลีกย่อย ความซับซ้อนของภาษาที่ใช้ บางคนพอรับมาแล้วก็ไม่ได้แตะต้องอีกเลย รอพึ่งตัวแทนอธิบายเวลาเคลมอย่างเดียว..

หากเป็นเช่นนี้ คุณอาจจะพลาดการบริหารจัดการกรมธรรม์ให้เกิดประโยชน์ที่สุดเอาได้!  โดยเฉพาะผู้ที่มีกรมธรรม์อยู่หลายฉบับ หากปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป  ก็อาจลืมว่าเคยทำอะไรไปบ้าง มีความคุ้มครองและผลประโยชน์ตรงกับเป้าหมายทางการเงินในขณะนี้รึป่าว ควรเพิ่มและลดสัดส่วนความคุ้มครองตรงไหนดีเพื่อจะได้มีเงินออมหลังเกษียณ  คุ้มครองสุขภาพยามเจ็บป่วย หรือสามารถส่งต่อเป็นมรดกให้ลูกหลาน

สิ่งที่มีจะเพียงพอและตอบโจทย์รึป่าว?! การใส่ใจส่วนสำคัญของกรมธรรม์ และ การทบทวนกรมธรรม์ จะช่วยเราให้สามารถปรับเปลี่ยนและบริหารจัดการกรมธรรม์ในมือได้ตรงกับความต้องการในปัจจุบันที่สุด.หากทำไว้มากเกินไปจะได้หยุดจ่ายเบี้ยเพื่อลดภาระ หรือหากทำไว้น้อยเกินไปจะได้เพิ่มในส่วนที่ขาด

..มีอะไรบ้างที่เราต้องรู้และลงมือ.. วันนี้จะมาไขข้อสงสัยกันค่ะ!

ส่วนสำคัญของกรมธรรม์ที่เราต้องใส่ใจ

ส่วนสำคัญของกรมธรรม์ที่เราต้องใส่ใจ

ข้อมูลที่เราควรรู้สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิต จะมีส่วนที่สำคัญที่สุดอยู่ 3 ส่วนค่ะ ประกอบไปด้วย..

ส่วนสรุปของกรมธรรม์

ส่วนสรุปของกรมธรรม์จะอยู่ตรงหน้าแรกๆเมื่อเราเปิดกรมธรรม์ขึ้นมา โดยในหน้าสรุปกรมธรรม์จะมีข้อมูลในแบบประกันที่ได้ทำไว้ เช่น ชื่อแบบประกัน ,  ประเภทของประกันชีวิต ,  บริษัทประกันที่ทำ  ,  อายุของผู้เอาประกันตอนเริ่มทำสัญญา ,  วันที่อนุมัติกรมธรรม์  , วันครบสัญญา , การจ่ายเบี้ยแบบรายเดือน/รายปี , ระยะเวลาจ่ายเบี้ย และ ระยะเวลาสัญญาความคุ้มครอง ไปจนถึงเรื่องของทุนประกัน หรือผลประโยชน์ที่จะได้รับ (หากเป็นประกันสะสมทรัพย์ก็จะมีเงินคืนเมื่อครบกำหนด)   สัญญาเพิ่มเติมต่างๆแต่ละตัว  และที่สำคัญที่สุด คือ วัตถุประสงค์ของกรมธรรม์ ที่เราจะสามารถทบทวนกรมธรรม์ได้ว่ายังตอบโจทย์ในช่วงเวลานี้อยู่หรือป่าว

ส่วนผลประโยชน์ของแบบประกัน

ถัดมา..คือส่วนที่จะบอกผลประโยชน์ในแบบประกันที่ได้ทำ ทั้งกรณีที่มีชีวิตอยู่ เช่น เงินคืนเมื่อสิ้นปีกรมธรรม์ที่เท่าใด  ร้อยละเท่าไหร่จากทุนประกัน หรือวันที่ครบสัญญาจะได้อีกร้อยละเท่าไหร่  ส่วนกรณีเสียชีวิต ก็จะระบุว่ามีความคุ้มครองคิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ของจำนวนทุนประกัน เป็นต้น แต่ถ้าใครมีกรมธรรม์หลายฉบับ ก็ควรจะทำข้อสรุปเอาไว้ด้วย เช่น แบบประกันแต่ละฉบับจะได้ผลตอบแทนที่เท่าไหร่  ให้ผลตอบแทนนในปีไหน หรือมีสัญญาเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองเรื่องสุขภาพพ่วงเข้ามาในแบบประกันชีวิต ก็จะมีผลประโยชน์ของสัญญาเพิ่มเติม คือ วงเงินความคุ้มครองในรายการใด เป็นจำนวนเงินสูงสุดเท่าไหร่ด้วย

ส่วนตารางมูลค่าเงินสด

สำหรับส่วนนี้จะอยู่ในช่วงหน้าท้ายๆ ในกรมธรรม์ของเราค่ะ โดยจะเป็นตารางที่แสดงมูลค่าในการบริหารกรมธรรม์ เช่น สิทธิ์ในการเวนคืนมูลค่าเงินสด, สิทธิ์การแปลงเป็นกรมธรรม์เงินสำเร็จ การขยายระยะเวลาความคุ้มครองหากเราหยุดจ่ายเบี้ย เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าใครกำลังมองว่าอยากจะหยุดจ่ายเบี้ยประกัน หรืออยากจะใช้สิทธิ์ไหน ก็จะต้องมาพิจารณาว่า ในตอนนี้เราจ่ายเบี้ยไปแล้วกี่ปี มีทุนประกันที่ทำไว้เท่าไหร่  แล้วค่อยเอาสัดส่วนของผลประโยชน์นั้นมาเทียบกับทุนประกันที่ได้ทำ (นำตัวเลขในตาราง หาร 1,000 แล้ว คูณด้วย ทุนประกันที่ทำ) ก็จะได้ในส่วนของผลประโยชน์ไว้ประเมินเป็นทางเลือกเพื่อบริหารกรมธรรม์ที่มีอยู่ในมือค่ะ

ทั้ง 3 ส่วนนี้ จึงเป็นส่วนข้อมูลพื้นฐานสำคัญในกรมธรรม์ที่เราต้องรับทราบไว้ เพื่อจะสามารถรับประโยชน์จากการทำประกันชีวิตอย่างเต็มที่ อ่านง่ายและเนื้อหาไม่เยอะ. แต่ในส่วนอื่นๆ เช่น เงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ ถ้าใครพอมีเวลาจะศึกษาไว้บ้างก็ดีค่ะ หรืออาจสอบถามกับตัวแทนประกันฯ ในภายหลังเพื่อผลประโยชน์มากขึ้น

ขั้นตอนและประโยชน์จากการทบทวนกรมธรรม์

ขั้นตอนและประโยชน์จากการทบทวนกรมธรรม์

การ “ทบทวนกรมธรรม์” ที่ทำไว้ จะช่วยให้ผู้เอาประกันทราบว่า ความคุ้มครองและผลตอบแทนที่กำลังได้อยู่ จะยังคงสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินที่ได้วางไว้ และตรงกับความเสี่ยงในชีวิตปัจจุบันหรือไม่. เพราะเมื่อเวลาไป สถานการณ์ในแต่ละช่วงของชีวิตของเราก็อาจจะแปรเปลี่ยนไปด้วย จึงอาจจะมีข้อแตกต่างจากวันที่เราได้เริ่มทำประกันในแต่ละฉบับ เช่น หนี้สินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง หรือ ครอบครัวที่ขยับขยายเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น การทบทวนกรมธรรม์ จึงควรเกิดขึ้นอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง โดยจะมีอยู่ 4 ขั้นตอน  ที่เราสามารถทำได้ คือ

สรุปผลประโยชน์กรมธรรม์

เพื่อความคุ้มครอง ผลตอบแทน และเบี้ยประกันที่เราต้องจ่ายในกรมธรรม์ทุกฉบับ และเข้าใจสถานะในปัจจุบันว่า มีผลประโยชน์จากประกันอยู่จำนวนเท่าใด  ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ จะได้ตัดสินใจว่า ควรไปต่อหรือพอแค่นี้

ประเมินความเสี่ยงของตนในปัจจุบัน

โดยกลับมามองสถานการณ์ของตนคร่าวๆว่า มีภาระหนี้สินอยู่จำนวนเท่าใด  มีผู้อยู่ในอุปการเลี้ยงดูกี่คน หักจำนวนเงินออมและเงินลงทุนทั้งหมด  หรือย้อนดูรายจ่ายที่เกิดขึ้นเรื่องสุขภาพ เช่น ค่าห้อง ค่ายา ทั้งกรณีโรคทั่วไปหรือโรคร้ายแรง เพื่อจะสามารถเตรียมแผนการในส่วนนี้ได้

เปรียบเทียบ ความเสี่ยง vs ความคุ้มครองที่มี

เมื่อนำสัดส่วนความคุ้มครองทั้งหมด และความคุ้มครองที่ต้องมีมาหักลบกัน เราก็จะทราบว่าสัดส่วนนั้นว่าเพียงพอ มากเกินไป หรือ น้อยเกินไป เพื่อหาความคุ้มครองที่เหมาะสม

ลงมือปรับเปลี่ยนแผนประกันให้เหมาะสม

เมื่อได้ทราบว่าประกันชีวิตหรือแผนประกันสุขภาพในมือ มากเกินความจำเป็น ก็สามารถยกเลิกความคุ้มครองในบางส่วน เวนคืนมูลค่าเงินสด แปลงเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ หรือ เลือกขยายเวลาความคุ้มครองแทน เพื่อทำให้สามารถจ่ายค่าเบี้ยได้ประหยัดขึ้น. หรือในทางกลับกัน หากความคุ้มครองที่มีอยูุ่น้อยเกินไป เราก็ควรเพิ่มในด้านนั้น โดยที่ค่าเบี้ยไม่ควรต่างไปจากเดิมมากนัก

ทบทวนกรมธรรม์ในมืออย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อจัดการภาระและความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ!

ทบทวนกรมธรรม์ในมืออย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อจัดการภาระและความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ!

หากจะบอกว่ากรมธรรม์ในมือของเรา เป็นแก่นแท้ของการทำประกันชีวิตก็ดูจะไม่เกินจริงแล้วล่ะค่ะ.. เพราะเอกสารฉบับนี้ ถือว่าเป็นหลักฐานที่ช่วยให้เราทราบสิทธิข้อตกลง ผลประโยชน์ และเงื่อนไขต่างๆ ที่จำเป็นต้องรู้. โดยจะมีอยู่ 3 ส่วนหลักที่ต้องทำความเข้าใจ คือ ส่วนสรุปกรมธรรม์  ส่วนรายละเอียดผลประโยชน์ และส่วนตารางมูลค่าเงินสดกรมธรรม์นั่นเอง

แต่หากใครอยากรู้ว่า แผนประกันในมือเราในระยะยาวแล้วจัดว่ายังคุ้มค่าอยู่หรือไม่.. ก็จะต้องหันมาใส่ใจกรมธรรม์ในแต่ละฉบับที่ได้ทำ โดยการทบทวนกรมธรรม์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ว่ามีผลประโยชน์และความคุ้มครองแต่ละรายการเป็นอย่างไรบ้าง เหมาะสมกับสถานะปัจจุบันอยูรึเปล่า จาก 4 ขั้นตอนในบทความนี้ที่ได้นำมาฝากกัน..

ซึ่งถ้าช่วงไหนเราเกิดสัญญาณที่ส่อถึงปัญหาการเงินขึ้นมา ก็จะไม่เป็นผลดีต่อการชำระเบี้ยประกันแน่ๆ จึงไม่ควรปล่อยผ่านให้เป็นปัญหาที่คาราคาซัง ขอให้รีบปรึกษากับตัวแทนประกันชีวิตที่ดูแลอยู่ จะได้ช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสมโดยไม่ต้องยกเลิกความคุ้มครองทั้งหมดค่ะ. หวังว่าคำแนะนำเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และช่วยป้องกันปัญหาทางการเงินได้เป็นอย่างดี และปลายปีอย่าลืมทบทวนกรมธรรม์กันด้วยนะคะ! ..แล้วพบกันใหม่บทความหน้า..