Freelance หรือในภาษาไทย คือ อาชีพอิสระ เป็น อาชีพที่ได้รับความแพร่หลายในปัจจุบันเป็นอย่างมากในเมืองไทย ผู้คนเริ่มหันมาทำอาชีพอิสระกันมากขึ้น เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้กับตัวเองได้มีอิสระในและสามารถทำอะไรได้หลายๆอย่าง เพราะด้วยอาชีพอิสระนั้นไม่จำเป็นต้องขึ้นตรงกับบริษัทซึ่งก็แปลว่าจะทำให้ เพื่อนๆไม่ต้องทำอะไรที่จำเจ เหมือนกับพนักงานออฟฟิศ แค่ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด เป็นงานๆไป ซึ่ง ในบางช่วงเวลา อาชีพอิสระ หรือ Freelance ก็สามารถทำเงินและมีรายได้เข้ากระเป๋าตัวเองมากกว่าพนักงานประจำมากถึง 2-3 เท่าเลยทีเดียว แต่ในทางกลับกันถ้าเศรษฐกิจไม่ดี เงินเข้ากระเป๋าก็จะน้อยลงและอาจจะถึงกับน้อยกว่าพนักงานประจำหรือไม่มีเลยก็เป็นไปได้ และนี้แหละครับเป็นสิ่งที่ Freelance จะต้องเผชิญ เพื่อแลกมากับความอิสระในการทำงาน
เมื่อเพื่อนๆเห็นแล้วว่า Freelance เป็นอย่างไร เพื่อนๆก็คงจะทราบกันดีแล้วว่า มันเป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคง และ มีความเสี่ยงสูง เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนทำอาชีพอิสระ หรือ Freelance จำเป็นต้องทำ คือ การจัดการวางแผนด้านการเงินเป็นอย่างดีเพื่อจัดการความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้น และแน่นอนว่าในอนาคตของเพื่อนๆทุกคนผมเชื่อว่าต้องอยากที่จะเกษียณคงไม่มีใครอยากจะทำงานไปจนแก่ตายหรอกจริงไหมครับ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการออมเงิน ซึ่งสำหรับพนักงานประจำเขาก็จะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรองรับวัยเกษียณอยู่แล้ว ทั้งเอกชน และข้าราชการ แต่อาชีพอิสระนั้นไม่มี ทำให้เพื่อนๆที่ทำอาชีพอิสระ จำเป็นต้องคิดเอาเองว่า เพื่อที่จะมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณควรจะออมเงินแบบไหน และใช้เครื่องมืออะไรในการออม และ ในบทความนี้ก็จะมาแนะนำ 2 เครื่องมือด้วยกัน ได้แก่ ประกันสังคมมาตรา 40 และ กองทุนการออมแห่งชาติ และเพื่อให้เพื่อนๆสามารถเลือกได้อย่างเหมาะสมกับตัวเพื่อนๆไปดูรายละเอียดทั้ง 2 เครื่องมือกันครับ
ประกันสังคมมาตรา 40
มาเริ่มกันที่เครื่องมือแรกที่ผมจะแนะนำให้เพื่อนๆได้รู้จัก นั้นก็คือ ประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งมาตราอื่นๆนอกจากมาตรา 40 นั้นเป็นมาตราของพนักงานประจำ เพื่อนๆไม่ต้องไปใส่ใจ ให้มาสนใจที่ ประกันสังคมมาตรา 40 เพราะเป็นมาตราที่มีขึ้นเพื่อคนที่ทำอาชีพอิสระโดยเฉพาะ ซึ่งคุณสมบัติของผู้ที่จะทำประกันสังคมมาตรา 40 ได้นั้นก็จะต้องประกอบอาชีพอิสระ อายุ ไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ก็ไม่เกิน 65 ปี และ สำคัญ คือ ผู้ที่จะประกันตนมาตรา 40 นั้นจะต้อง ไม่เป็นผู้ที่ได้ประกันตนอยู่แล้วในมาตรา 33 หรือ 39 ซึ่งประกันสังคมมาตรา 40 ในปัจจุบันก็มีอยู่ 3 ทางเลือกให้กับเพื่อนๆ ได้แก่ หนึ่งจ่ายเงินสมทบเดือนละ 70 บาท สอง จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท สาม จ่ายเงินสมทบเดือนละ 300 บาท แต่ทางเลือกที่หนึ่งจะไม่มีสิทธิให้เกี่ยวกับกรณีชราเพราะฉะนั้นตัดออกไป ไปดูรายละเอียดทางเลือกที่เหลือกันดีกว่าครับ
จ่ายเงินสมทบ 100 บาท ต่อเดือน
สิทธิที่เพื่อนๆจะได้รับ คือ กรณีที่เข้าโรงพยาบาลทำให้ขาดรายได้ จะมีรายละเอียดดังนี้ นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 วันขึ้นไป ได้วันละ 300 บาท ไม่นอนพักรักษาตัวแต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป ได้วันละ 200 บาท และสุดท้าย คือ ไปพบแพทย์ได้ใบรับรองแพทย์ มาระบุว่าให้หยุดพักรักษาตัวไม่เกิน 2 วัน ได้ 50 บาทต่อครั้ง (ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี) และ ข้อกำหนดภายใน 1 ปี ทั้ง กรณีแรกและกรณีที่สองที่ได้เงินชดเชยวันละ 300 กับ 200 บาทใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 30 วันต่อปี
สิทธิต่อมา คือ กรณีทุพพลภาพ เพื่อนๆจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ เป็นระยะเวลา 15 ปี และ เสียชีวิตระหว่างรับเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ 20,000 บาท และสิทธิสุดท้ายที่จะได้ คือ กรณีเสียชีวิต มีรายละเอียดดังนี้ คือ จะได้รับเงิน 20,000 บาท ค่าทำศพ ผู้ที่จัดการศพจะเป็นคนรับเงินก้อนนี้ไป และยังได้รับเงินสงเคราะห์การตายอีก 3,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 60 เดือน และ สิทธิสุดท้ายที่จะทำให้เพื่อนๆสามารถเกษียณได้นั้นก็ คือ สิทธิในกรณีชราภาพ คือ
เมื่อเพื่อนๆที่ประกันตนมาตรา 40 และเลือก จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน เพื่อนๆก็จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ (เงินสมทบ 50 บาท คูณด้วยจำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ และ บวกด้วยเงินออมเพิ่ม) พร้อมกับรับผลประโยชน์ตอบแทนรายปีที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด และยังสามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติม เพื่อที่จะออมเพิ่มได้ด้วย แต่ต้องไม่เกิน 1,000 บาท ต่อเดือน
จ่ายเงินสมทบ 300 ต่อเดือน
สิทธิ กรณีทดแทนการขาดรายได้นั้นจะมีแค่กรณีที่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 วันขึ้นไปได้ 300 บาทต่อวัน และกรณีในใบรับรองแพยท์ระบุให้พักฟื้นเกิน 3 วันขึ้นไปได้วันละ 200 บาทมีเท่านี้ และข้อกำหนด คือ ในทั้งสองสิทธิ์นี้สามารถใช้รวมกันได้ไม่เกิน 90 วันต่อปี และสิทธิกรณีทุพพลภาพ เงินทดแทนจากที่ได้ 15 ปี ก็เปลี่ยนเป็นได้ตลอดชีวิต แต่ถ้าเสียชีวิตระหว่างนั้นก็จะได้รับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท ส่วนกรณี เสียชีวิต จะได้เงินค่าทำศพเพียงอย่างเดียว 40,000 บาท และมา กรณีที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อบทความมากที่สุด กรณีชราภาพ สิ่งที่เพื่อนๆจะได้ คือ เมื่อ อายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ โดยเอา 150 บาทคูณด้วยจำนวนเดือน ที่จ่ายเงินสมทบ
พร้อมกับเงินออมเพิ่ม พร้อมกับผลประโยชน์ตอบแทนรายปี ตามที่สำหนักงานประกันสังคมกำหนด โดยผู้ที่จ่ายเงินประกันตนก็สามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเคิมไว้ได้เป็นเงินออม ไม่เกิน 1,000 บาทต่อเดือน และถ้าจ่ายเงินสมทบมาครบ 180 เดือน ก็ยังจะได้รับเงินเพิ่มไปอีก 10,000 บาท และยังมีกรณีเพิ่มเติมอีกกรณี คือ กรณี สงเคราะห์บุตร คือ เพื่อนๆจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรรายเดือน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี บริบูรณ์ คนละ 200 บาท แต่ไม่เกิน 2 คน ส่วนกติกาที่เพื่อนๆจะได้รับกรณีคือเพื่อนๆจะต้องจ่ายเงินสมทบมาไม่ต่ำกว่า 24 ใน 36 เดือน
กองทุนการออมแห่งชาติ
สำหรับกองทุนการออมแห่งชาตินั้นก็เป็นเครื่องในการออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณ เช่น เดียวกับ กองทุนประกันสังคม มาตรา 40 นั้นแหละครับ โดยผู้ที่จะสามารถสมัครใช้บริการกองทุนการออมแห่งชาตินี้ได้ก็จะต้องเป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระ และ มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี โดยหลักการการทำงานของ กอช. ก็คือ จะนำเงินของเพื่อนๆที่สะสมไว้ไปลงทุนให้ในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้เงินสะสมของเพื่อนๆงอกเงย ซึ่งหน้าที่ของเพื่อนๆก็แค่ทำการส่งเงินสมทบให้ได้ขั้นต่ำ 1,200 ต่อปี สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาท ต่อปี โดยการส่งเงินสมทบในแต่ละเดือนจะต้องส่งเท่าไรก็ได้แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 50 บาท
โดยต้องส่งต่อเนื่องและรวมกัน 1 ปี จะต้องได้ไม่ต่ำกว่า 1,200 บาท โดยความพิเศษ ของ กอช. นี้ก็คือ ทุกครั้งที่ส่งสมทบ รัฐบาลจะช่วยสมทบตามอัตราที่กำหนดด้วยตามแต่ช่วงอายุ คือ 15-30 ปี 50% ของเงินสะสม สูงสุด 600 บาทต่อปี 31-50 ปี 80% ของเงินสะสม สูงสุด 960 บาทต่อปี 51-60 ปี 100% ของเงินสะสม สูงสุด 1,200 บาทต่อปี โดยเพื่อนๆจะได้รับเงินเป็นเงินบำนาญทุกเดือนตลอดชีวิตตั้งแต่อายุ 60 ปี ขึ้นไป เดือนละ 6,000- 7,000 บาท และอีกอย่างที่สำคัญสำหรับ กอช. คือ รัฐบาลนั้นจะจ่ายเงินสมทบให้กับผู้ที่สะสมเงินครบอายุ 60 ปี เท่านั้น หากนำเงินออกก่อนอายุ 60 ปี จะไม่ได้รับเงินสมทบจากรัฐบาล และเพื่อนๆจะไม่สามารถขอรับเงินก้อนนี้เป็นเงินบำเหน็จได้เพราะหลักการของ กอช. คือ ต้องการให้เพื่อนๆมีเงินใช้ไปตลอดชีวิต
เลือกที่เหมาะกับเพื่อนๆมากที่สุดแล้วจะได้ประโยชน์สูงสุด
และนี้ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับทั้ง 2 เครื่องมือที่เกิดขึ้นมาสำหรับเพื่อนๆที่ทำอาชีพอิสระและเป็น Freelance ทั้งหลายได้ใช้ในการออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณกันนะครับ ถึง ดูแม้ว่าทั้ง 2 เครื่องจะถูกสร้างมาเพื่อเป็นทางเลือกในการออมสำหรับเพื่อนๆ Freelance ก็จริง แต่ทั้ง 2 เครื่องมือก็แตกต่างกันอย่างชัดเจน อย่างประกันสังคม ระหว่างที่เพื่อนๆจ่ายเงินสมทบอยู่นั้นเพื่อนๆก็จะได้รับการประกันไปด้วยในหลายๆกรณี และเมื่อชราภาพอายุ 60 ปี เพื่อนๆก็จะได้รับเงินก้อนไปเป็นเงินบำเหน็จ
ส่วน กอช. นั้นระหว่างที่ส่งเงินสมทบก็ไม่มีอะไรให้กับเพื่อนๆเลยไม่มีการประกันอะไร แต่เมื่อเพื่อนๆอายุ 60 ปี เพื่อนๆจะได้รับเงินบำนาญไปใช้ตลอดชีวิต จำนวน 6,000-7,000 บาทโดยประมาณ แต่ก็แล้วแต่เงินสมทบของเพื่อนๆด้วย ซึ่งจะให้แนะนำอันไหนดีที่สุดก็คงไม่ได้อต่ก็บอกได้ว่าอันไหนเหมาะกับใคร สำหรับเพื่อนๆที่ต้องการเงินบำเหน็จในวัยเกษียณก็ขอแนะนำ กองทุนประกันสังคมมาตรา 40 และสำหรับเพื่อนๆที่อยากได้บำนาญก็แนะนำเป็น กอช. ที่นี้ก็อยู่ที่เพื่อนๆแล้วล่ะครับว่าอยากจะได้แบบไหน
FiFi
สนใจประกันสังคมมาตรา 40 จริงๆก็ทำงานประจำแต่ทางบริษัทเป็นบริษัทเล็กไม่มีสวัสดิการประกันสังคมให้ คิดว่าอยากจะทำประกันสังคมที่เป็นการประกันตนเอง รู้สึกว่าความคุ้มครองก็คุ้มค่าอยู่ส่วนเบี้ยประกันก็ไม่แพง ถ้าทำประกันสังคมมาตรา 40 สามารถจะทำประกันอื่นได้อีก ขอช่วยแนะนำขั้นตอนและสิ่งที่จะต้องเตรียมสำหรับการทำประกันสังคมมาตรา 40 หน่อยค่ะ
ประดิษฐ์
ผมก็เคยคิดนะครับ ว่าจะเข้า ม.40 น่าจะเข้าท่าดีครับ แต่ติดปัญหาในช่วงที่ผ่านมาครับ ได้ได้ออกไปไหนเลย งานที่ผมทำ ไม่สามารถเดินทางออกไปหาลูกค้าได้ ต้องนำเสนองาน ออนไลน์อย่างเดียวเลยครับ ผมขอทราบข้อมูลเรื่องนี้ได้ไหมครับ ว่ากรณีที่เราทำ ม.40 เราจะได้แค่เงินที่เราฝากเอาไว้อย่างเดียวใช่ไหมครับ แล้วถ้าอยากได้ ค่ารักษาด้วยจะได้ไหม
MK.
ผมเห็นตอนนี้หลายคนลงทะเบียนประกันสังคมมาตรา 40 กันเยอะเลยนะครับ ว่าไปแล้วประเทศไทยเราก็มีคนทำงานฟรีแลนซ์หรือทำงานอิสระเยอะเหมือนกันนะเนี่ย เปอร์เซ็นต์ของคนทำงานอิสระเยอะกว่าคนทำงานประจำนะสำหรับประเทศไทยบ้านเรา ผมเองก็เป็นคนนึงที่ทำงานอิสระครับ เราก็จัดสรรเวลามีเวลาให้ตัวเองได้มากกว่า สามารถทำงานได้หลากหลาย
น้องอมยิ้ม:)
ใครๆก็ต้องการความมั่นคงหรือต้องการตัวช่วยเมื่อถึงคราวเดือดร้อนกันทั้งนั้น คนที่ทำงานอิสระไม่ได้มีสวัสดิการใดๆ ไม่เหมือนคนที่ทำงานกับบริษัทหรือองค์กร การมีประกันสังคมก็เป็นตัวช่วยหนึ่งเหมือนกันนะคะ อย่างน้อยเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมายังพอมีค่ารักษาพยาบาล ถ้ามีเงินมากหน่อย ซื้อประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพเพิ่มอีกก็ยังได้
คุณานนท์
ประกันสังคม ม.40 ผมมารู้จักแล้วก็ทำตอนที่รัฐบาลบอกว่าจะจ่ายเงินเยียวยาให้กับคนมีประกันสังคมเลยครับ ก่อนหน้านั้นไม่ทราบเลยว่ามีประกันตัวนี้ด้วย ตอนแรกคิดว่าคนทำงานประจำเท่านั้นสามารถทำได้ ตอนนี้ผมจ่ายมางวดที่3แล้วครับ ได้รับการคุ้มครองกรณีที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแล้วครับ เป็นตัวช่วยเลยครับตอนที่นอนรักษาตัว
ชนายุส682
คนที่ทำอาชีพอิสระ ไม่มีสวัสดิการจากบริษัทหรือนายจ้าง การส่งเงินสมทบกับประกันสังคมมาตรา 40 ก็ดีนะครับ ได้รับสิทธิและความคุ้มครองหลายรายการอยู่่นะ ลองเข้าไปอ่านรายละเอียดกันให้ดี แถมเรายังเลือกเองได้อีกว่าอยากส่งเงินสมทบเดือนละเท่าไหร่ เราเลือกที่เราจ่ายไหว แค่นี้ก็ไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายตรงนี้มากละครับ
ชนิดาภา
ใช่ๆ ประกันสังคม ม.40 น่าจะเป็นที่รู้จักแล้วคนมาสมัครใช้งาน ก็ตอนที่มีเงินเยียวยาแหละคะ ถ้าไม่มีก็คงไม่ได้ทำกันหลอกคะ แต่เราสงสัยนะคะ ว่าคนที่ทำ ม.40 แล้วได้เงินเยียวยาไปแล้ว ไม่ทราบว่ายังได้ส่งต่อกันอยู่ไหมคะ อย่าจ่ายแค่เดือนเดียวนะคะ เพราะว่าจริงๆแล้วประกัน ม.40 มีอีกหลายอย่างที่น่าใช้งานนะคะ อย่าปล่อยทิ้งนะคะ