บางท่านอาจจะเคยผ่านตากันมาบ้างกับ สินเชื่อ SME ซึ่งเป็นสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย  ที่มีสินทรัพย์ในการลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท หรือตามจำนวนที่กระทรวงฯกำหนดค่ะ สินเชื่อชนิดนี้มีจุดเด่นในการสนับสนุนด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมของกลุ่ม SMEs อาทิเช่น ธุรกิจอุตสาหกรรม, กิจการค้าปลีก-ค้าส่ง, ธุรกิจด้านการบริการ และกิจการอื่น ๆ ตามจำนวนที่กระทรวงฯ อนุญาติ

สินเชื่อ SME จึงถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมีเงินทุนเพื่อจัดตั้ง เพิ่มส่วนขยาย และปรับปรุงศักยภาพของกิจการ แต่สิ่งที่เจ้าของธุรกิจยังต้องให้ความสำคัญยังรวมไปถึงเรื่องประวัติการค้างชำระ การมีหนี้บัตรเครดิตเยอะๆ หรือแม้กระทั่งการติดแบล็กลิสต์ที่จะส่งผลโดยตรงต่อการขอสินเชื่อด้วย

บทความนี้ จึงเตรียมคำตอบมาให้ในเรื่องสินเชื่อ SME และ วิธีเคลียร์แบล็กลิส-ประวัติค้างชำระให้สามารถกู้ผ่าน!! มาติดตามกันได้เลยค่ะ..

สินเชื่อ SME มีอะไรบ้าง

สินเชื่อ SME มีอะไรบ้าง

สินเชื่อ SME เหมาะกับผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าเกณฑ์ตามผู้ให้บริการแหล่งเงินทุนได้กำหนดไว้ แต่รูปแบบใดจึงจะเหมาะต่อธุรกิจที่สุด จะต้องตัดสินจากเงื่อนไขที่สินเชื่อจะให้ได้ คือ

เงินกู้เบิกเกินบัญชี (OD)

เงินกู้เบิกเกินบัญชีเหมาะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเงินในธุรกิจ และเป็นสินเชื่อการกู้ในระยะสั้น มีข้อดี คือ มีดอกเบี้ยที่คิดจากจำนวนเงินต้นซึ่งผู้ประกอบการได้เบิกถอนออกมาเท่านั้น หากคืนเงินต้นครบ ดอกเบี้ยก็จะหยุดทันที แต่ข้อเสียก็คืออัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงค่ะ

ใช้อสังหาริมทรัพย์ค้ำประกัน

สินเชื่อรูปแบบนี้จะเป็นการกู้ยืมเงินในระยะยาว ที่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้นานสูงถึง 30 ปี แต่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ จึงเหมาะกับการลงทุนเพิ่มหรือขยายในส่วนธุรกิจ โดยที่ผู้ประกอบจะสามารถใช้สินทรัพย์ในการค้ำประกันได้ เช่น การจำนองบ้าน หรือ ที่ดิน เป็นต้น

ใช้รถยนต์ในการค้ำประกัน

สินเชื่อที่ใช้รถยนต์ในการค้ำประกันก็จะคล้ายกับการจำนองบ้าน แต่จะต้องใช้รถยนต์ที่เป็นชื่อของตัวผู้ประกอบการเองและผ่อนชำระหมดแล้วเท่านั้น ข้อดี คือ อนุมัติง่าย มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ประมาณ  3–21% ต่อปี แต่หากผิดนัดชำระก็มีสิทธิ์ที่จะถูกยึดรถเอาได้

สินเชื่อแฟคตอริ่ง (Factoring)

สินเชื่อแบบนี้จะเหมาะกับธุรกิจ SME ที่ต้องการเพิ่มสภาพคล่องในระยะสั้น โดยการนำเอาบัญชีลูกหนี้ทางการค้าที่ยังไม่ครบกำหนดชำระ มีใบกำกับสินค้าหรือใบแจ้งหนี้ค้างชำระ มาเปลี่ยนให้เป็นเงินทุนจากสถาบันการเงิน เพื่อเมื่อถึงครบกำหนดจ่ายเงิน (Credit term) ลูกหนี้จะจ่ายคืนให้กับธนาคารส่วนผู้ประกอบการก็จะได้รับเงินส่วนต่างหลังหักค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากธนาคารคืนกลับมา โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกหักเท่ากับ MRR + 1 - 4% ต่อปี

วิธีเคลียร์ประวัติค้างชำระหนี้สำหรับเจ้าของธุรกิจ SME

วิธีเคลียร์ประวัติค้างชำระหนี้สำหรับเจ้าของธุรกิจ SME

เนื่องจากประวัติการค้างชำระหนี้จะถูกบันทึกไว้ในเครดิตบูโร หากมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งมีอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงตาม ซ้ำร้ายยังต้องเจอกับปัญหาการถูกทวงหนี้ จนถึงขั้นถูกฟ้องหรือยึดทรัพย์ในกรณีร้ายแรงด้วย

หากเรามีประวัติค้างชำระหนี้ก่อนขอสินเชื่อครั้งใหม่ควรทำอย่างไร? เจ้าของธุรกิจ SME ควรหาหนทางในการจัดการเพื่อการดำเนินธุรกิจให้ไปต่อได้ โดยวิธี..

วิธีแรกที่แนะนำคือ ตั้งสติและรวบรวมหนี้ทั้งหมดที่มีทั้งที่จ่ายตรง-จ่ายไม่ตรง หรือยังไม่ได้จ่าย ออกมาเป็นลิสต์ เพื่อทำเป็นตารางสำหรับประวัติค้างชำระหนี้ จะได้ทราบจำนวนที่ต้องจ่ายต่อเดือน หนี้ก้อนไหนรอได้-รอไม่ได้ โดยระบุชื่อสถาบันการเงิน, ชนิดของหนี้, จำนวนเงิน ณ วันที่ปัจจุบัน, จำนวนเงินการขั้นต่ำในแต่ละเดือน เพื่อรักษาบัญชีและเครดิต, จำนวนเงินที่สามารถชำระได้ และสถานะของหนี้แต่ละตัวให้ชัดเจน

อีกวิธีหนึ่งจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายส่วนบุคคลแบบง่าย ๆ เพื่อทราบจำนวนเงินที่เหลือพอนำไปชำระหนี้ที่ค้างอยู่ หลังจากหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อเดือนออกไปแล้ว และทำให้รู้ว่าควรต้องหาเงินเพิ่มอีกจำนวนเท่าไหร่ จึงจะพอใช้จ่ายในการผ่อนชำระหนี้ต่อไปด้วย

หรือ ลงมือเริ่มต้นชำระหนี้ที่ค้างออกไปซะ โดยอาจเริ่มต้นจากหนี้ก้อนเล็ก ๆ ก่อน เพื่อเวลาที่เหลือจะได้เอาไปโฟกัสกับหนี้ก่อนใหญ่กว่า หรืออาจเริ่มจากหนี้ก้อนที่ใกล้กำหนดชำระ/กำลังจะถูกดำเนินการฟ้องร้อง  ตามตารางหนี้ที่ได้ทำไว้

เมื่ออยู่ในสถานะกำลังจ่ายหนี้ ก็จะยิ่งต้องเพิ่มรากฐานของพฤติกรรมการเงินที่ดี โดยรักษาวินัยการชำระหนี้ที่ค้างอยู่จะได้ไม่กลับเข้ามาอยู่ในวงจรการค้างชำระหนี้อีกครั้ง

นอกจากนั้น สร้างประวัติทางการเงินที่ดีขึ้นมาใหม่ได้ แม้จะเคยมีข้อมูลในเครดิตบูโร เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือจากผู้ให้บริการแหล่งเงินทุนอีกครั้ง โดยเริ่มต้นจากการชำระหนี้ที่ตรงเวลา และสม่ำเสมอ เพื่อให้สถาบันฯจะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเราโดยง่ายในครั้งหน้า

จัดการกับ ‘แบล็คลิส’ เหตุผลที่ทำให้ขอสินเชื่อไม่ผ่าน

จัดการกับ ‘แบล็คลิส’ เหตุผลที่ทำให้ขอสินเชื่อไม่ผ่าน

การติด ‘แบล็คลิส’ คือ คำที่ใช้กันเพื่อพูดถึงผู้ที่มีประวัติการชำระเงินล่าช้า การผิดนัดการชำระหนี้ ข้อมูลบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปรากฏอยู่บนข้อมูลเจ้าของบัญชีในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี แต่จริงๆแล้ว บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร จะไม่ได้ขึ้นแบล็คลิสเพื่อระงับการให้สินเชื่อกับผู้ขอสินเชื่อใหม่ แต่ข้อมูลในส่วนนี้จะมีไว้เพื่อผู้ให้สินเชื่อพิจารณาเท่านั้น

ผู้ให้สินเชื่อจึงมักจะอนุมัติผู้กู้ที่มีแนวโน้มในการชำระหนี้คืนตรงเวลามากที่สุด แต่ถ้ามีประวัติเครดิตบูโรไม่ค่อยดี  ไม่มีประวัติการเงินเข้า-ออกในบัญชีธนาคารอย่างสม่ำเสมอ และขาดความน่าเชื่อถือ เช่น สถานที่ทำงานอย่างเป็นหลักแหล่ง ก็จะมีหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์เพื่ออนุมัติเงินกู้ที่แตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการสินเชื่อ SME ยังคงเลือกสินเชื่อที่เหมาะสมกับตัวเองได้ โดยการทำประวัติการเงินให้ดีขึ้น ไม่สร้างหนี้เพิ่ม และนำเงินไปชำระหนี้ที่ค้างอยู่ ให้สถานะบัญชีในข้อมูลเครดิตบูโรกลับสู่สถานะปกติเร็วที่สุด เพียงเท่านี้..คุณก็สามารถยื่นกู้เพิ่มได้อีกครั้งแล้ว!!

เจ้าของกิจการ SME ต้องรู้.. เพื่อแหล่งเงินทุนในการประกอบธุรกิจและวิธีในการกู้ที่ไม่พลาด!

เจ้าของกิจการ SME ต้องรู้.. เพื่อแหล่งเงินทุนในการประกอบธุรกิจและวิธีในการกู้ที่ไม่พลาด!

จึงเห็นว่า..สินเชื่อ SME นั้นมีหลายประเภทให้ผู้ประกอบการที่สนใจ  สามารถเลือกพิจารณาได้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจ โดยจะต้องเลือกสินเชื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์  กำหนดระยะเวลา และคุณสมบัติของตัวผู้ขอสินเชื่อเป็นหลัก หากอยากให้กู้ไม่พลาดก็ต้องจัดการกับประวัติหนี้ค้างชำระ ให้ดีซะก่อน และอย่าให้คำว่า ‘แบล็คสิสต์’ มาหน่วงเหนี่ยวเราไว้.. เพราะนี่เป็นแค่คำพูดที่ใช้กันเท่านั้น เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลที่ผ่านมา แต่ไม่ได้จะกำหนดว่าสถาบันฯจะไม่ปล่อยกู้ให้กับใคร แค่ท่านจะต้องมีความสามารถในการชำระเงินคืนให้กับผู้ให้บริการแค่นั้น

เพียงเท่านี้ โอกาสในการขอสินเชื่อสำหรับธุรกิจของ เจ้าของกิจการ SME ในครั้งต่อไปก็ทำได้ไม่ยากแล้วล่ะค่ะ  อย่าลืมว่า ประวัติทางการเงินที่ดีนั้นสร้างได้และจะทำให้มีชัยไปกว่าครึ่ง เคลียร์ให้ดี ยังไงก็กู้ผ่านแน่นอน!