สำหรับการตัดสินทำ ประกันชีวิต (Life Insurance) นั้น เราคงจะต้องดูไว้ในหลายๆเรื่อง เช่น แบบประกันและจำนวนเงินเอาประกันที่เหมาะสม ราคาค่าเบี้ยประกันภัยที่เราจ่ายไหว  การได้เปรียบเทียบผลประโยชน์และความคุ้มครองจากในหลายๆบริษัทฯ

แต่นอกจากนั้น ยังมีอีกอย่างนึงที่มีการพูดถึงกันบ่อยๆ ก็คือ สัญญาเพิ่มเติมในกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือไม่ว่าจะเป็นประกันรูปแบบไหนก็มักมีการเสนอขายสัญญาเพิ่มเติมแนวนี้อีกเช่นกัน

บทความนี้ เราจึงจะมาอธิบายสั้นๆ ว่าสัญญาเพิ่มเติมคืออะไร มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน พร้อมแนะเงื่อนไขที่เราจะต้องเช็คให้ดีก่อนตัดสินใจค่ะ ..ตามมาดูกันเลย..

สัญญาเพิ่มเติมคืออะไร

สัญญาเพิ่มเติมคืออะไร

สัญญาเพิ่มเติม (Rider) ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นสัญญาที่ให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมจากกรมธรรมประกันชีวิตสัญญาหลัก เพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้นเหมือนการเลือกหน้าเครปให้มีเยอะขึ้นกว่าปกติ (แต่ก็ต้องจ่ายเพิ่มด้วยนะ..)  เพราะบางครั้งประกันชีวิตในมือเราอาจจะไม่ได้ครอบคลุมในทุกความเสี่ยงเสมอไป

และสัญญาเพิ่มเติมนี้จะให้ความคุ้มครองได้ก็ต่อเมื่อสัญญาหลักยังมีผลบังคับใช้อยู่เท่านั้น ดังนั้น เราจะต้องมีสัญญาหลักที่ยาวพอจากประเภทของสัญญาหลักที่มีด้วยกันอยู่ 4 แบบ คือ

  • แบบตลอดชีพ
  • แบบชั่วระยะเวลา
  • แบบบำนาญ
  • แบบออมทรัพย์ (ปกติแล้วจะให้ความคุ้มครองในระยะสั้น ไม่จำเป็นต้องซื้อสัญญาเพิ่มเติมพ่วงท้ายก็ได้ค่ะ..)

โดยใน1สัญญาหลัก สามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้มากกว่า 1 เเบบ และสัญญาเพิ่มเติมของที่เราผ่านตาบ่อยจะประกอบไปด้วย..

สัญญาเพิ่มเติมประกันอุบัติเหตุ

สัญญาเพิ่มเติมประกันอุบัติเหตุจะมีแบบจ่ายตามจริง และจ่ายค่าชดเชย เมื่อทำการรักษาพยาบาลอันเนื่องจากอุบัติเหตุ ทั้งผู้ป่วยใน/ผู้ป่วยนอก การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือกรณีเสียชีวิต โดยสามารถขยายความคุ้มครองเพิ่มได้ เช่น กรณีถูกทำร้ายร่างกาย การเล่นกีฬาผาดโผน  การถูกลอบทำร้าย เกิดเหตุจราจล หรือ กรณีถูกฆาตกรรม

สัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรง

คุ้มครองการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ แต่หากไม่ได้ซื้อไว้ถ้าตรวจพบเข้าในภายหลังก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยในส่วนนี้ค่ะ

สัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายได้

เมื่อต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลฐานะผู้ป่วยในติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง สัญญาเพิ่มเติมตรงนี้จะชดเชยรายได้เป็นรายวันให้ (แต่ต้องศึกษาด้วยว่าจะชดเชยสูงสุดเท่าไหร่และจำนวนกี่วัน)

สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ

สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพจะเป็นความดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยเพิ่มเติมจากกรมธรรม์หลัก โดยมีวงเงินการรักษาให้เลือกได้ทั้งแบบจำกัดวงเงินแยกแต่ละรายการ เช่น ค่าห้อง ค่ารักษา ค่าผ่าตัด ค่าแพทย์ตรวจรักษา หรือจะเป็นแบบเหมาจ่ายต่อปีค่ะ

สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองผู้ชำระเบี้ยประกันภัย

สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองผู้ชำระเบี้ยประกันภัยคือการให้ความคุ้มครองในกรณีที่ผู้ชำระเบี้ยประกันภัย (อาจจะเป็นผู้ปกครอง) เสียชีวิต ก็จะมีการยกเว้นค่าเบี้ยประกันภัยให้ต่อผู้เอาประกันภัย (ที่เป็นผู้เยาว์) เพื่อยังคงได้รับผลประโยชน์และความคุ้มครองตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ต่อไปเช่นเดิม

สัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์การยกเว้นเบี้ยประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยตกเป็นบุคคลทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ทางบริษัทฯ จะยกเว้นเบี้ยประกันที่ต้องชำระ (แทนที่จะถูกยกเลิกเพราะไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้)

สัญญาเพิ่มเติมจำเป็นหรือไม่

สัญญาเพิ่มเติมจำเป็นหรือไม่

เมื่อทำประกันชีวิตจำเป็นต้องอ่านสัญญาอย่างละเอียด ว่าในสัญญาหลักให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง และมีความคุ้มครองแบบไหนที่เราจะต้องซื้อเพิ่ม  เพราะรูปแบบของสัญญาเพิ่มเติมก็ไม่ได้มีการกำหนดตายตัวว่าจำเป็นต้องซื้อเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสัญญาหลักแต่ละบริษัทค่ะ

คำถามจึงมีอยู่กับว่า ในกรมธรรมประกันชีวิตสัญญาหลักนั้นจะมีความครอบคลุมครบในทุกความเสี่ยงที่เราต้องการอยู่รึป่าว?!

หากมีความครอบคลุมที่ตรงตามความต้องการแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องซื้อสัญญาเพิ่มเติมในกรมธรรม์ประกันชีวิต  แต่หากว่าให้กรมธรรม์หลักนั้น ไม่ได้คุ้มครองครบในความเสี่ยงบางอย่าง ก็เป็นเหตุผลที่จำเป็นจะต้องซื้อสัญญาเพิ่มเติมในส่วนนั้นเพิ่มค่ะ

เงื่อนไขที่เราต้องใส่ใจให้ดี

เงื่อนไขที่เราต้องใส่ใจให้ดี

ปกติแล้วสัญญาเพิ่มเติมในกรมธรรม์ประกันชีวิตจะไม่มีการคืนค่าเบี้ยประกันให้เมื่อสิ้นสุดสัญญา และรูปแบบในการจ่ายเบี้ยประกันจะมี 2 ลักษณะ คือ

  1. แบบที่ค่าเบี้ยจะเพิ่มขึ้นตามความเสี่ยง เช่น ในช่วงอายุน้อย มีความเสี่ยงต่ำก็จ่ายเบี้ยน้อย แต่หากมากขึ้น ความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น ก็จะต้องจ่ายเบี้ยสูงตามไปด้วย

  2. การจ่ายเบี้ยคงที่ตลอดอายุสัญญา แต่ส่วนมากจะใช้ได้กับกรมธรรม์ชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) ค่ะ

โดยหากเป็นสัญญาเพิ่มเติมประกันอุบัติเหตุจะให้คุ้มครองทันทีในวันที่ได้ตกลงทำประกัน แต่ถ้าเป็นสัญญาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพ , โรคร้ายแรง และค่าชดเชยต่างๆ จะต้องมีระยะเวลารอคอยตามเงื่อนไขที่ได้ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ เช่น 30 วัน, 90 วัน หรือ 120 วันด้วย

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดที่ผู้ทำการจะต้องศึกษาว่ามีการเคลมค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่ระบุเอาไว้ในกลุ่มทำอย่างไรบ้าง เช่น บางเคสสัญญาเพิ่มเติมระบุว่าจะเคลมค่ารักษาพยาบาลได้ วันละ 3,000 บาท (สูงสุด 120 วัน) หากผู้ทำประกันเข้ารับการรักษาและต้องจ่ายค่ารักษา วันละ 6,000 บาท ก็เบิกตามสิทธิ ได้เพียงวันละ 3,000 บาทเท่านั้น

หรือในกรณีที่ ‘เคลมไม่ได้เลย’ ก็เกิดจากผู้ทำประกันมีประวัติการรักษาโรคก่อนหน้าที่ไม่ได้แจ้งให้ทางบริษัทฯทราบในวันทำสัญญา การรักษาโรคดังกล่าวก็จะไม่อยู่ในเงื่อนไขการคุ้มครองค่ะ หรืออาจเป็นในกรณีทำศัลยกรรมตกแต่ง การพยายามทำร้ายตัวเอง หรือเป็นโรคเอดส์ ก็จะไม่สามารถเคลมค่ารักษาได้เหมือนกัน

อีกกรณี คือ เคลมค่ารักษาพยาบาลในสัญญาเพิ่มเติมได้น้อย ก็เกิดจากผู้ทำประกันได้เข้า-ออกโรงพยาบาลด้วยโรคเดิมภายในเวลา 90 วัน ทางบริษัทฯ ก็จะถือว่าเป็นการรักษาครั้งเดียวกัน วงเงินจึงนับแบบต่อเนื่องจากการเคลมครั้งแรกค่ะ  แต่ถ้าเป็นการรักษาหลังจากออกจากโรงพยาบาลครั้งก่อนนานเกิน 90 วัน วงเงินในการเคลมก็จะเริ่มนับใหม่ให้เรา

สัญญาเพิ่มเติมเพื่อขยายความคุ้มครอง มักมีเงื่อนไขที่เราต้องใส่ใจ เพื่อประโยชน์สูงสุดจากการทำสัญญา!

สัญญาเพิ่มเติมเพื่อขยายความคุ้มครอง มักมีเงื่อนไขที่เราต้องใส่ใจ เพื่อประโยชน์สูงสุดจากการทำสัญญา!

จะเห็นว่าในการทำประกันชีวิตนอกจากสัญญาหลักที่เราจะต้องใส่ใจแล้วยังมีเงื่อนไขในการทำสัญญาเพิ่มเติมเพื่อขยายความคุ้มครองจากกรมธรรม์หลักด้วยที่เราจะต้องเข้าใจและศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อประโยชน์สูงสุดจากการทำสัญญาค่ะ

ซึ่งอาจมีหลากหลายชื่อสัญญาเพิ่มเติมที่เราจำเป็นต้องเลือกเพราะเหมาะกับความเสี่ยงที่กรมธรรม์หลักยังไม่ครอบคลุม และถึงลักษณะในการจ่ายเบี้ยประกันนี้มักจะเพิ่มขึ้นตามอายุก็ยังน่าสนใจอยู่ค่ะ เพราะช่วยลดภาระในเรื่องความเจ็บป่วย หรือ อุบัติเหตุ จนต้องเข้ารับรักษาในโรงพยาบาล แบบที่ประกันหลักอย่างเดียวให้ไม่ได้ เช่น ค่าแพทย์ ค่าอุปกรณ์ ค่าห้องพัก ซึ่งจะเป็นรายจ่ายที่สูงมาก. หวังว่าเรื่องราวที่เรานำมาฝากกันจะช่วยให้ทุกคนตัดสินใจง่ายขึ้นเมื่อต้องเลือกแผนประกันหลักและสัญญาเพิ่มเติมที่เหมาะกับคุณนะคะ