เพื่อชีวิตอันแสนสุขในยามเกษียณ ระหว่างทางก็สามารถเพิ่มเงินออมจากการลงทุนในระยะยาว  และวางแผนเพื่อประหยัดภาษีในแต่ละปีได้ด้วย เราต้องไม่พลาดที่จะรู้จักกับ 2 กองทุนคู่แฝดซึ่งมีความคล้ายคลึง และขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์สถานการณ์เฉพาะบุคคลได้เป็นอย่างดี คือ ‘กองทุนรวมเพื่อการออม’ หรือ SSF [Super Savings Fund]  และ ‘กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ’ หรือ RMF [Retirement Mutual Fund]

เพราะก่อนที่เราจะตกลงปลงใจไปกับใคร ก็คงอยากจะทำความรู้จักเขาคนนั้นให้มากขึ้นซะก่อน!!  จึงต้องมาเช็คกันหน่อยแล้วค่ะ กับข้อมูลที่จะช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างฉลาดจากการลงทุนในกองทุนรวม SSF และ RMF

ความเหมือนที่แตกต่างของ SSF และ RMF

ความเหมือนที่แตกต่างของ SSF และ RMF

กองทุน SSF ถือว่าเป็นตัวตายตัวแทนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ที่ได้สิ้นสุดลงไปเมื่อ 2 ปีก่อน ดังนั้น จึงบอกได้ว่า กองทุนรวม SSF ก็ได้ออกมาโลดแล่นในตลาดมาสักพักแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยจนถึงปานกลาง สามารถเข้าสู่การออมในระยะยาวเพิ่มมากขึ้น

เพราะ SSF ลงทุนได้ในหลักทรัพย์ทุกประเภท  สามารถนำมาลดหย่อนภาษีสูงสุด 30 % หรือ ไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับการออมเพื่อการเกษียณอื่นๆแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทในแต่ละปีภาษี

ไม่มีกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ ไม่ต้องซื้อแบบต่อเนื่องในทุกปี แต่ระยะเวลาการถือครองต้องไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ และเปิดให้เริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่ปี 2563 - 2567 ค่ะ

ส่วน กองทุน RMF ที่พึ่งมีการ Update หลักเกณฑ์ใหม่มาตั้งแต่ปี 63 และจัดเป็นกองทุนเพื่อการส่งเสริมให้คนวัยทำงานสามารถออมเงินในระยะยาวเพื่อใช้จ่ายในยามเกษียณ พร้อมแรงจูงใจคือสิทธิประโยชน์ในด้านภาษีที่ปรับสัดส่วนจาก 15 % เป็นลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30 % หรือ ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับการออมเพื่อการเกษียณอื่นๆ

และยกเลิกการกำหนดจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ ที่จากเดิมกำหนดให้ซื้อไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี เป็นจำนวนใดที่ต่ำกว่านั้นได้ แต่ยังคงกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี(เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี)  ระยะเวลาถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ซื้อ และจะขายได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ค่ะ

แต่ละกองทุนเหมาะกับใคร

แต่ละกองทุนเหมาะกับใคร

เมื่อเข้าใจความหมายของกองทุนรวมทั้ง 2 แบบแล้ว การที่เราจะเลือกแฝดคนพี่ หรือ แฝดคนน้องดี คราวนี้คงต้องมาดูที่ความต้องการและเป้าหมายในการลงทุนของเราแล้วล่ะค่ะ

กองทุนรวม SSF จะเหมาะสำหรับ...

  • ผู้มีเงินได้ที่อยากออมเงินแบบระยะยาว โดยการลงทุนพร้อมลดหย่อนภาษี
  • ยอมรับเงื่อนไขของ SSF และสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้
  • มีเงินเย็น และสามารถจัดพอร์ตเพื่อกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ หรือ อสังหาริมทรัพย์

และ SSF จะมีทั้งกองทุนที่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายปันผล  ตัวเราเองจะต้องมีวินัยในการออม เพราะเป็นการลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปค่ะ

ส่วนกองทุนรวม RMF จะเหมาะสำหรับ..

  • บุคคลที่มีเงินได้ซึ่งต้องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี และออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณอายุ
  • เป็นผู้ที่เข้าใจและยอมรับเงื่อนไขของ RMF โดยจะต้องไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณอื่นมาก่อน
  • มีเงินเย็น และสามารถจัดพอร์ตเพื่อกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ หรือ อสังหาริมทรัพย์

โดย RMF ในทุกกองทุนจะไม่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้ในระหว่างทาง ตัวเราเองยังต้องมีวินัยในการออมอย่างสม่ำเสมอ และพร้อมสำหรับการลงทุนแบบระยะยาวจนอายุครบ 55 ปีค่ะ

หมายเหตุ

กองทุนรวมในทั้งสองแบบ การผิดเงื่อนไขการลงทุน คือ “ซื้อเกินสิทธิ” ซึ่งจะมีผลตอนขายคืน และกำไรที่ได้เกินมา ในเฉพาะส่วนที่เกินสิทธิ จะต้องนำไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีด้วย

ขั้นตอนเลือกลงทุนใน SSF/RMF อย่างฉลาด

ขั้นตอนเลือกลงทุนใน SSF/RMF อย่างฉลาด

หลังจากเข้าใจหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และเช็คความพร้อมสำหรับแต่ละท่านกันแล้ว ตอนนี้ก็มาขึ้นกลยุทธ์ในการลงทุนสำหรับขั้นตอนที่เราจะลงมือเลือกหา SSF/RMF อย่างฉลาดกันแล้ว โดยควรเริ่มจาก..

เช็คเงินลงทุนในกระเป๋าโดยคำนวณจากรายได้ในแต่ละปี

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้สม่ำเสมอ ก็จะง่ายหน่อยเพราะเราสามารถมองออกว่ารายได้ที่จะต้องเสียภาษีในแต่ละปีนั้นจะอยู่ที่เท่าใด อยู่ในฐานภาษีไหน ก็จะทราบเงินทุนในกระเป๋าที่แน่นอน แต่ถ้าเป็นอาชีพอื่น หรือ ฟรีแลนซ์ ก็อาจลองดูคร่าวๆจากรายได้ในปีก่อนหน้า และคำนวณว่าจะซื้อเพิ่มได้เท่าใดถ้าเห็นว่ามีรายได้เพิ่มมากขึ้น

เลือกกองทุนที่ใช่ แล้ววางแผนต่อเพื่อการลดหย่อนภาษี

การที่เราศึกษาข้อมูลของ SSF/RMF อย่างละเอียดแล้ว ก็จะสามารถเปรียบเทียบและตัดสินใจได้ว่ากองไหนถึงจะเหมาะกับตน เช่น นโยบายการลงทุน  ลงทุนในสินทรัพย์ใด-สัดส่วนเท่าไหร่ จำนวนผลตอบแทนย้อนหลัง รวมถึงเรื่องค่าธรรมเนียม และการจ่ายเงินปันผล

โดยถ้าเป็นกรณีมีเงินปันผล เงินก้อนนั้นเรายังจะถูกหักภาษีด้วย จึงต้องมานั่งคิดอีกว่าควรเลือกแบบหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% หรือ Final Tax สำหรับผู้ที่มีฐานภาษีมากกว่า หรือเท่ากับ 10% จะได้ไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มอีกในปลายปี  หรือ แบบที่สอง คือ หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และนำเงินปันผลมารวมเป็นเงินได้ 40(8) เพื่อเสีย/ขอคืนภาษี สำหรับผู้ที่มีฐานภาษีน้อยกว่า 10% จะได้มาขอคืนทีหลังด้วย

การลงสนามจริงโดยเปิดบัญชีกองทุน

ขั้นตอนสุดท้าย คือ การลงสนามจริงเพื่อเปิดบัญชีกองทุน โดยเริ่มจากเตรียมเอกสารให้พร้อม ทั้งสำเนาบัตรประชาชน และ สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีธนาคารที่ต้องการหักบัญชี/โอนเงินเข้า แล้วไปติดต่อที่สาขาของ บลจ.ที่เราต้องการซื้อกองทุน หรือ ตัวแทนจำหน่ายกองทุนที่ได้รับการอนุญาต รวมไปถึงช่องทางออนไลน์อย่างเว็บไซต์/แอพพลิเคชั่น

โดยอาจเริ่มต้นทยอยลงทุนในวิธีแบบ DCA หรือ การลงทุนอย่างสม่ำเสมอในจำนวนเงินเท่าๆกันตามช่วงเวลาที่กำหนด เช่น ทุกวันที่ 25 ของเดือนๆ ละ 1,000 บาท ที่จะเหมาะกับมือใหม่หรือผู้ที่ไม่มีเวลาติดตามข่าวสารการลงทุนทุกวัน ส่วนอีกวิธี คือ การลงทุนแบบเงินก้อน ที่จะต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์เพื่อดูทิศทางของตลาดแล้วเลือกการลงทุนในจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นในระดับมือโปรขึ้นมาค่ะ. แต่ไม่ว่าจะเป็นเป็นเวอร์ชั่นไหน ก็คือ เราจะได้เริ่มลงทุนและนำไปลดหย่อนภาษีได้ และเพิ่มแต้มต่อเป็นเงินออมสำหรับวัยเกษียณอีกด้วย

ออมเพื่อลงทุนแบบระยะยาวพร้อมประหยัดภาษี SSF และ RMF คู่แฝดตัวใหม่ช่วยคุณได้!

ออมเพื่อลงทุนแบบระยะยาวพร้อมประหยัดภาษี SSF และ RMF คู่แฝดตัวใหม่ช่วยคุณได้!

อ่านมาแล้วถึงตรงนี้ หวังว่าทุกคนจะรู้จักกับเงื่อนไขและข้อกำหนดของทั้ง 2 กองทุนกันมากขึ้นนะคะ  ใครถูกใจหรือชอบแบบไหน ก็ลองไปเปรียบเทียบและเลือกซื้อกันได้ตามอัธยาศัย ไม่ว่ากองไหนก็ดีทั้งนั้น เพื่อเราจะสามารถเริ่มต้นการออมในระยะยาว พร้อมๆกับการลดหย่อนภาษีกันได้

ทั้งกองทุนรวม SSF และ RMF จึงถือว่าเป็นคู่แฝดตัวใหม่ที่หลายคนหลงรักพี่แต่เสียดายน้อง เพราะช่วยเราประหยัดภาษีได้มากเลยในแต่ละปี แต่ก็จะต้องติดตามสถิติการลงทุนด้วยว่าควรซื้อในช่วงไหนถึงจะได้ราคาหน่วยลงทุนในช่วงที่ถูกที่สุดค่ะ. ถ้าใครยังไม่แน่ใจก็อาจลองวิธีที่ง่ายที่สุด คือ ค่อยๆทยอยลงทุนอย่างมีวินัยเพื่อเส้นชัยแห่งความสำเร็จค่ะ  เพียงเท่านั้น ทุกคนก็สามารถเป็นเจ้าของกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และไปต่อได้อย่างตลอดรอดฝั่งกันแล้ว. ขอให้ทุกคนได้พบเจอสิ่งดีๆกับทางที่เลือกนะคะ สวัสดีค่ะ :)