พ.ร.บ. รถยนต์ กับ ประกันภัยรถยนต์ ที่คนใช้รถใช้ถนนทุกท่านคงเคยได้ยินกันมาบ้าง หากดูเพียงเผินๆ แล้ว เจ้าสองสิ่งนี้อาจมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก. ถ้าอย่างนั้น จริงๆแล้ว ‘พ.ร.บ. รถยนต์’ ย่อมาจากอะไร ‘ประกันภัยรถยนต์’ คืออะไรกันแน่ ทั้งเจ้า พ.ร.บ. รถยนต์ กับ ประกันรถยนต์เนี่ย แตกต่างกันยังไง ให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง มีประโยชน์ต่อเราในการขับขี่แค่ไหน

ยิ่งใกล้ช่วงเวลาจะต้องต่อ พ.ร.บ. แบบนี้ จะเลือกทำเพียงอย่างเดียว หรือซื้อแค่ประกันชั้น 1 ไปเลยแค่นั้นได้รึป่าว?! ลองมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน กับ MoneyDuck สิค่ะ!

พ.ร.บ. รถยนต์ คืออะไร

พ.ร.บ. รถยนต์ คืออะไร

พ.ร.บ. ย่อมาจาก พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จึงเป็นประกันในภาคบังคับ ที่กฎหมายกำหนดให้ยานพาหนะที่ได้จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกทุกประเภทจะต้องมี เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้รถใช้ถนน ในเรื่องค่ารักษาพยาบาลยามเกิดอุบัติเหตุ และจ่ายเงินชดเชยในกรณีที่ผู้บาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือกรณีเสียชีวิตอย่างทันท่วงที

ในแง่ของกฎหมายจึงเป็นการแบ่งเบาภาระค่าเสียหายที่เกิดขึ้น และบรรเทาความเดือนร้อนให้กับครอบครัวผู้ประสบเหตุ ทั้งยังเป็นหลักประกันว่าสถานพยาบาลจะได้รับค่ารักษาพยาบาลอีกด้วย จึงบังคับให้รถยนต์ทุกคันต้องมี หากไม่ทำก็ถือเเป็นการทำผิดกฎหมายแบบตรงๆ ค่ะ

โดยการทำ พ.ร.บ. รถยนต์นั้น จะต้องมีการต่ออายุในทุกๆปี หากเจ้าของรถยนต์คันใดฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือถ้ามี พ.ร.บ. แต่ไม่ติดไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่เห็นชัดเจนตรงกระจกหน้ารถ ก็มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท. และหากใครไม่ทำ พ.ร.บ. ให้เรียบร้อย ก็จะไม่สามารถต่อภาษีทะเบียนรถยนต์ได้ ทำให้ป้ายทะเบียนขาดอายุ หากติดต่อกันเกิด 3 ปี เลขทะเบียนก็จะถูกระงับจนต้องไปจนทะเบียนใหม่แบบพ่วงค่าปรับ จึงถือว่าไม่ทำไม่ได้!

ความคุ้มครองที่ได้รับ

วงเงินคุ้มครองจาก พ.ร.บ. รถยนต์ มีการกำหนดไว้ในกฎหมายว่าจะต้องมีการจ่ายใน 2 รูปแบบ คือ

ค่าเสียหายเบื้องต้นโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด(ทั้งผู้ขับและคู่กรณี)

เงินค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บตามที่จริง ไม่เกิน 30,000 บาท, กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพถาวร จำนวน 35,000 บาท, กรณีเสียชีวิตจะมีเงินชดใช้ค่าปลงศพเป็นจำนวน 35,000 บาท/คน, กรณีบาดเจ็บแล้วเสียชีวิตในภายหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับเงินชดเชยและค่าปลงศพรวมไม่เกิน 65,000 บาท/คน พร้อมเงินชดเชยแบบรายวันกรณีสูญเสียรายได้ในฐานะคนไข้ใน วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน หรือสูงสุดไม่เกิน 4,000 บาท

ค่าเสียหายส่วนเกินเพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทนกรณีพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิด

เงินค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ สูงสุดไม่เกิน 80,000 บาท, กรณีสูญเสียอวัยวะ, ทุพพลภาพถาวรหรือขั้นเสียชีวิต จำนวนไม่เกิน 300,000 บาท และเงินชดเชยรายได้กรณีพักฟื้นในโรงพยาบาล วันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน รวมเป็นจำนวนเงินที่จ่ายได้ รวมกันไม่เกิน 304,000 บาท

ประกันภัยรถยนต์ คืออะไร

ประกันภัยรถยนต์ คืออะไร

มาถึงฝั่งประกันกันบ้าง ประกันภัยรถยนต์ที่เรารู้จักกันในชั้น 1, 2, 3, 2+ หรือ 3+ คือ กลุ่มประกันภาคสมัครใจ ที่ต้องซื้อเพิ่มเพื่อการคุ้มครองที่มากกว่า เพราะ พ.ร.บ. จะให้ความคุ้มครองในเฉพาะตัวบุคคล จึงไม่ครอบคลุมรถยนต์หรือทรัพย์สินใดๆ ทำให้เจ้าของรถหรือคู่กรณีจะต้องผู้รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดด้วยตัวเอง ประกันภัยรถยนต์จึงเข้ามาช่วยเหลือผู้เอาประกันในตรงนี้ค่ะ

ความคุ้มครองที่ได้รับ

ประกันภัยรถยนต์ยังให้ความคุ้มครองเผื่อกรณีสูญหาย น้ำท่วม ไฟไหม้ ภัยธรรมชาติ หรือการก่อการร้าย พร้อมวงเงินประกันตัวผู้ขับขี่หากเกิดเป็นคดีอาญา และเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาล ที่ พ.ร.บ.จะให้ความคุ้มครองเบื้องต้น เพียง 30,000 บาท/คน หากเกิดการบาดเจ็บหนัก หรือเข้ารับการรับษาในโรงพยาบาลที่แพง การทำประกันรถยนต์เอาไว้ก็จะช่วยให้เราไม่ต้องแบกรับหนี้จากค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นมาก. โดยแต่ละชั้น ก็จะให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกัน คือ

ประกันชั้น 1

ประกันชั้น 1 จะเป็นความคุ้มครองที่ครอบคลุมที่สุด เพราะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งกับบุคคลในรถ บุคคลภายนอก และรถยนต์ที่เอาประกันภัย ทั้งยังคงความคุ้มครองกรณีสูญหาย น้ำท่วม ไฟไหม้ หรือภัยธรรมชาติด้วย

ประกันชั้น 2

ประกันชั้น 2 จะเป็นความคุ้มครองรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลในรถ กับบุคคลภายนอก และยังเผื่อแผ่ความดูแลหากเกิดความเสียหายในกรณีสูญหายและไฟไหม้ค่ะ

ประกันชั้น 2+

ประกันชั้นนี้จะคล้ายคลึงกับชั้น2 แต่จะเพิ่มความรับผิดชอบเข้ามาในส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถยนต์ที่เอาประกัน แต่ต้องมีคู่กรณีและเป็นยานพาหนะทางบกเท่านั้น

ประกันชั้น 3

ประกันชั้นนี้จะรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลภายนอกหรือคู่กรณี และดูแลความเสียหายให้การคุ้มครองหากรถยนต์เกิดไฟไหม้หรือการสูญหายค่ะ

ประกันชั้น 3+

ส่วนประกันชั้นนี้ ก็จะมีความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับประกันชั้น 3 แต่จะเพิ่มความคุ้มครองต่อรถยนต์คันที่เอาประกันภัยในอีกวงเงินนึง และต้องมีคู่กรณีที่เป็นยานพาหนะทางบกเท่านั้น

เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือซื้อแค่ประกันชั้น 1 เพียงอย่างเดียวได้รึเปล่า?

เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือซื้อแค่ประกันชั้น 1 เพียงอย่างเดียวได้รึเปล่า?

คำตอบคือ ไม่ได้ เพราะกฎหมายระบุว่า รถยนต์ทุกคันจะต้องทำ พ.ร.บ. ถ้าเราจะทำแค่ประกันรถยนต์แต่ไม่มี พ.ร.บ. รถยนต์ไม่ได้ และหากไม่ต่ออายุ พ.ร.บ. ก่อนก็จะไม่สามารถต่อภาษีทะเบียนรถยนต์ได้ด้วยอย่างที่กล่าวไปแล้ว มีทั้งค่าปรับอีกต่างหาก จึงไม่คุ้มกันแน่ๆ

หรือถ้าบางคนบอกว่า จะซื้อประกันรถยนต์ราคาเป็นหมื่นๆ อีกทำไม ในเมื่อมีพ.ร.บ.อยู่แล้ว คำตอบก็คือ คุณเลือกได้! เพราะไม่มีกฎหมายข้อไหนระบุว่าคุณจะต้องทำประกันรถยนต์. แต่ถ้าถามกลับว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุใหญ่ การแบกรับค่ารักษาพยาบาลที่แพงแสนแพง นอกเหนือจาก พ.ร.บ. และการซ่อมแซมรถยนต์ฝั่งเราและคู่กรณี เราจะแบกรับภาระตรงนี้ไหวรึเปล่า!! ดังนั้น การทำประกันรถยนต์ควบคู่ไว้ด้วย ก็จะช่วยให้เราปลอดภัยจากการเงินที่วิกฤติได้มากกว่าค่ะ

และการเลือกทำประกันภาคสมัครใจก็มีหลายประเภทความคุ้มครอง จึงไม่มีสูตรตายตัวที่แน่นอน แต่บางคนอาจเลือกมองหาประกันภาคสมัครใจร่วมกับบริษัทเดียวกันที่ซื้อ พ.ร.บ. เพื่อทำให้ยื่นเอกสารได้ง่ายขึ้น และต่อเนื่องในเรื่องการดำเนินการ แต่ไม่ว่าเราจะเลือกทำประกันภัยรถยนต์กับที่ไหน ก็จะต้องเข้าใจสิทธิประโยชน์และหน้าที่ของเราตามสัญญาประกันภัย อ่านรายละเอียดให้ดีจะได้ทราบเงื่อนไขของผู้เอาประกันตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ จะได้เลือกสิ่งที่ดีที่เหมาะกับเราที่สุด

ความคุ้มครองที่ครอบคลุมทั้ง พ.ร.บ. และ ประกันภัย คือสิ่งดีๆที่อยู่คู่รถเรา!

ความคุ้มครองที่ครอบคลุมทั้ง พ.ร.บ. และ ประกันภัย คือสิ่งดีๆที่อยู่คู่รถเรา!

ระหว่าง พ.ร.บ. รถยนต์ กับ ประกันภัยรถยนต์ ถึงจะให้ความคุ้มครองด้านอุบัติเหตุบนท้องถนนเหมือนกัน แต่พ.ร.บ. รถยนต์ คือ ประกันภาคบังคับที่กฎหมายกำหนด ส่วนประกันรถยนต์จะเป็นประกันภาคสมัครใจที่จะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้. โดย พ.ร.บ. รถยนต์นั้นจะให้ความคุ้มครองในเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบุคคลเป็นค่ารักษาพยาบาล จึงไม่คุ้มครองในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถ ประกันภัยรถยนต์ จึงให้ความดูแลที่เพิ่มเติมจาก พ.ร.บ. หากเกิดความเสียหายหนัก เจ้าของรถจะได้ไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก หรือจ่ายเพียงที่อยู่นอกเหนือความคุ้มครองในกรมธรรม์เท่านั้น

เพียงเท่านี้ เราก็เข้าใจกันมากขึ้นชัดเจนในเรื่องที่ไม่ไกลตัวอย่าง พ.ร.บ. vs ประกันภัย และหากเลือกแค่อย่างใดอย่างนึงก็ไม่ดี เพราะมี พ.ร.บ. ติดรถเพียงอย่างเดียว เกิดค่าซ่อมเราต้องจ่ายเองหมด ส่วนทำประกันชั้น1แค่นั้น ไม่มี พ.ร.บ. ก็ผิดกฎหมาย.. รู้อย่างนี้แล้ว ต่อ พ.ร.บ. และประกันภัยคราวหน้า ขอให้วางแผนให้ดีที่สุด เพื่อชีวิตที่ดีของคุณค่ะ!