ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมากระแสการล้มละลายของธนาคารในสหรัฐฯ ได้แพร่สะพัดไปตามข่าวทั้งสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่ Silicon Valley Bank (SVB) ถูกหน่วยงานกำกับการเงินของสหรัฐฯ เข้าควบคุมและสั่งปิด ทำให้เกิดแรงกดดันต่อภาพการลงทุนในสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก

หลาย ๆ คนที่ได้ติดตามข่าวสารเรื่องการลงทุนคงทราบกันแล้วว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร วันนี้ MoneyDuck เลยหยิบยกเรื่องราวที่น่าสนใจ และเป็นแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้อีกในอนาคต มาเล่าให้เพื่อน ๆ ได้ฟังกัน

ถอดบทเรียนที่ควรรู้หลังแบงก์ SVB ล่ม

https://img.moneyduck.com/article_attachment/1679554848-2KZTBKDLLBNEDNM2FJFN74C4NE.jpg

เนื้อหาจากบทความนี้เป็นการสรุปจากบทความของ BCG ซึ่งเป็น 1 ใน 3 บริษัทให้คำปรึกษาธรุกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากหัวข้อที่มีชื่อว่า “Post SVB – Call To Action For The Banking Industry” โดย BCG ได้สรุปแนวทางที่ควรปฏิบัติเพิ่มเติม 4 ข้อ ดังนี้

1. การทดสอบศักยภาพในการรับมือกับสภาวะวิกฤตขั้นสูง ควรทำในทุกแง่มุมของความเสี่ยง

โดยทั่วไปแล้ว ธนาคารมีการทดสอบความสามารถในการรับมือกับสภาวะวิกฤตเป็นประจำอยู่แล้ว (Stress Testing) แต่คำถามคือ ความเสี่ยงที่หยิบมาเป็นบททดสอบนั้นเพียงพอหรือไม่? การทำ Stress Testing เป็นการจำลองเหตุการณ์ที่อาจจะกระทบต่อธนาคารในภาพกว้าง หรือเหตุการณ์ที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวม จึงอาจทำให้มีความเสี่ยงจำเพาะบางอย่างที่ไม่ได้หยิบเข้ามาใส่ในบททดสอบได้

ดังนั้น BCG จึงแนะนำว่าควรลองทำการทดสอบโดยมองมุมกลับ (Reverse Stress Testing) คือการวิเคราะห์ธุรกิจแล้วสมมติเหตุการณ์ที่อาจจะทำให้ธุรกิจของธนาคารมีปัญหา แล้วทดสอบเงื่อนไขหรือจำลองเหตุการณ์เหล่านั้นเพิ่มเข้าไปในการทดลองด้วย จะทำให้การประเมินและการรับมือกับความเสี่ยงทำได้ดีมากขึ้น

2. สภาพคล่องไม่ใช่เงินสดเสมอไป

โดยทั่วไป เราอาจมองว่าคนที่มีสภาพคล่องสูงคือคนที่ถือเงินสดเยอะ ๆ แต่ความจริงอาจไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เนื่องจากการถือครองเงินสดมาก ๆ มันมีค่าเสียโอกาสแฝงอยู่ ธนาคารหรือสถาบันการเงินส่วนใหญ่จึงนำเงินสด “ส่วนเกิน” เหล่านั้นไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่นเดียวกับกรณีของ SVB อย่างไรก็ตาม ธนาคารเองก็ควรคำนึงถึงศักยภาพในการแปลงสินทรัพย์ลงทุนกลับมาเป็นเงินสดเช่นกัน จากเหตุการณ์ของ SVB ทำให้เห็นว่า ณ ช่วงเวลานั้น SVB ไม่มีศักยภาพมากพอในการแปลงสินทรัพย์ลงทุนกลับมาเป็นเงินสด ทำให้จำเป็นต้องขายขาดทุนตราสารหนี้เป็นจำนวนมาก

ดังนั้น BCG จึงแนะนำว่า ธนาคารควรประเมินและพิจารณาความสามารถในการแปลงสินทรัพย์ลงทุนให้กลับมาอยู่ในรูปแบบของเงินสดอย่างจริงจัง และทดสอบสมมติฐานเหล่านั้นว่าสามารถปฏิบัติได้จริงในสภาวะวิกฤตหรือไม่ นอกจากนี้ การมองหาแหล่งเงินทุนสำรองเพิ่มเติมก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ธนาคารควรทำ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องขายขาดทุนสินทรัพย์ของธนาคาร

3. ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวต้องถูกทำความเข้าใจให้ดีมากขึ้น

กลุ่มลูกค้าหลักของ SVB คือ กลุ่มธรุกิจ Start-up หรือ Venture Capital (VC) ที่เน้นลงทุนใน Start-up ส่งผลให้รูปแบบธุรกิจของ SVB ค่อนข้างขึ้นอยู่กับ กลุ่ม Start-up เป็นอย่างมาก ดังนั้นหากเกิดเหตุไม่คาดคิดกับทิศทางธุรกิจ Start-up ก็ทำให้ SVB เกิดปัญหาไปด้วยเช่นกัน ดังกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นกันไปก็ค่อนข้างชัดเจนทีเดียว

ดังนั้น BCG จึงเสนอว่าธนาคารจำเป็นต้องประเมินความเสี่ยงเรื่องการกระจุกตัวอย่างจริงจัง (Concentration Risk) โดยคำนึงในหลากหลายแง่มุม เช่น ภูมิภาค กลุ่มอุตสาหกรรม และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ธนาคารสามารถประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้แม่นยำมากขึ้น และสามารถหาหนทางรับมือหรือแผนการฉุกเฉิน เมื่อเกิดเหตุวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4. แนวทางการปฏิบัติในยุคที่ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งที่ต้องมี

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นถึงการไม่เตรียมพร้อมในกระบวนการภายในและการสื่อสารสู่บุคคลภายนอกของ SVB ทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องการตอบคำถาม หรือการจัดการการถอนเงิน ส่งผลให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อเหตุการณ์และกระทบต่อความเชื่อมั่นตามมา

ดังนั้น BCG มองว่า ธนาคารจำเป็นต้องมีคู่มือและฝึกอบรมพนักงานให้เข้าใจถึงขั้นตอนปฏิบัติที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่า หากเกิดเหตุการณ์วิกฤตขึ้น พนักงานทุกตำแหน่งงานจะรู้ถึงสิ่งที่ตนควรต้องทำ และสามารถประสานงานกับฝ่ายงานอื่นได้อย่างไม่ติดขัด โดยการฝึกซ้อมเป็นประจำจะช่วยให้การประสานงานเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากข้อแนะนำของ BCG ทั้ง 4 ข้อ เป็นสิ่งที่หลายคน รู้กันดีอยู่แล้ว แต่มักถูกละเลยไป บทเรียนของ SVB เป็นภาพนึงที่ย้ำเตือนเราว่าความแน่นอน ไม่ได้มีอยู่เสมอไป การเตรียมความพร้อมเองก็เป็นสิ่งที่จำเป็น.

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การท่องเที่ยวไทยซบเซาจากเศรษฐกิจโลก ที่นี่

ในด้านการลงทุนเองก็เช่นกัน ความไม่แน่นอนเป็นของคู่กัน ดังนั้นเราต้องประเมินความเสี่ยงและวางแผนการเงินเราอย่างมีวินัยและมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนให้เพียงพอ

เพราะความเสี่ยงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวเสมอไป ความเสี่ยงมักมาพร้อมกับโอกาส ดังนั้นเราจึงควรประเมินความเสี่ยงแล้วจึงมา “จำกัด” หรือ “กำจัด” ความเสี่ยงที่เราคิดว่าไม่เหมาะสมไป

หากไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร MoneyDuck สามารถแนะนำเพื่อน ๆ ที่สนใจอย่างเริ่มต้นลงทุนให้เลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับเพื่อน ๆ ได้

ข้อมูลอ้างอิง : BCG, March 2023