ต้องยอมรับจริงๆว่าตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ยุค Mobile Payment หรือพฤติกรรมแบบใหม่ของผู้บริโภค ที่จะมี “กระเป๋าเงินดิจิตอล” อยู่ในโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน โดยแค่ลงทะเบียนบัตรเครดิตทางออนไลน์ครั้งเดียว ก็จะใช้จ่ายเงินซื้อของจริงๆ ได้ตลอดตามห้างร้านต่างๆ โดยไม่ต้องหยิบกระเป๋าเงินออกมานับแบงค์หรือนับเงินทอน และอาจไม่ต้องหยิบมือถือนั้นออกมาด้วยซ้ำ การจับจ่ายที่สะดวกรวดเร็วนี้จึงนับเป็นทางเลือกที่มาแรงและขยายขึ้นทุกปี ๆ เราจึงควรตามให้ทันใช่ไหมว่า mobile payment นั้นคืออะไรจริงๆ รวมถึงภาพรวมในประเทศไทย, ข้อแตกต่าง และข้อดีข้อเสียนั่นเอง

Mobile Payment คืออะไร

Mobile Payment คืออะไร

Mobile Payment คือ การทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านเครือข่ายของระบบโทรศัพท์มือถือ โดยใช้โทรศัพท์มือถือเป็นสื่อในการโอนเงิน หรือชำระเงินให้แก่ร้านค้า รวมทั้งการชำระค่าสินค้าหรือบริการต่าง ๆ โดยเราสามารถจ่ายเงินชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการด้วยวิธีต่างๆ ผ่านทางโทรศัพท์ เช่น โทรศัพท์เข้าไปจ่ายผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ (IVR), ส่ง SMSเข้าไปชำระเงิน หรือแม้แต่ต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ (WAP) ทั้งนี้ทุกวิธีจะเป็นการเชื่อมต่อเข้ากับระบบการชำระเงินที่เรามีอยู่ ซึ่งสามารถเลือกใช้ ว่าจะตัดเงินชำระค่าสินค้าหรือบริการต่างผ่านบัญชีธนาคาของเรา (Direct Debit), ผ่านบัตรเครดิต (Credit Card) หรือผ่านกระเป๋าเงินสดย่อย (Cash). ซึ่งแต่ละรูปแบบก็จะเหมาะกับการชำระเงินในแต่ละรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป โดยเงื่อนไขในการเปิดใช้บริการ M-Payment นั้นจำเป็นต้องทำการลงทะเบียนขอใช้บริการกับทางผู้ให้บริการก่อน หลังจากนั้นระบบจะทำการเชื่อมโยงบัญชีของเราเข้ากับเบอร์โทรศัพท์ ถือเป็นอันเสร็จสิ้น. “เงินอิเล็กทรอนิกส์” แบบนี้จึงเข้ามาแก้ไขจุดอ่อนของเงินสด หรือบัตรพลาสติกที่คุ้นเคยไม่ว่าจะเป็นแถบแม่เหล็กหรือชิป เพราะเมื่อสมาร์ทโฟนพัฒนาจนถึงจุดที่แพร่หลายพอ ราคาถูกพอ การใช้สมาร์ทโฟนจึงเป็น “อุปกรณ์จ่ายเงิน” ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม Mobile Payment เป็นคำที่ค่อนข้างกว้าง และมีผู้ให้บริการจำนวนมากในตลาด ซึ่งแต่ละรายก็จะมีระดับของบริการที่แตกต่างกันไป ดังนี้

ใช้แทนบัตรเครดิตหรือบัตรเครดิตเสมือน

M-Payment ในรูปแบบนี้ คือใช้งานสมาร์ทโฟนแทนบัตรเครดิต หรือ บัตรเครดิตเสมือน (Virtual Credit Card) ซึ่ง M-Payment รูปแบบนี้สามารถใช้จ่ายเงินได้เหมือนบัตรเครดิตทุกประการ ซึ่งวงเงินที่ใช้ชำระนั้น ทางระบบจะทำการตัดผ่านวงเงินในบัตรเครดิตจริงของเราที่ทางธนาคารเป็นผู้ออกให้ ส่วนรูปแบบการใส่เงินก็ดึงจากวงเงินเครดิตในบัตรจริงได้เลย กระบวนการออกบัตร กำหนดวงเงิน จ่ายหนี้ค่าบัตรเครดิต ยังเป็นความรับผิดชอบของธนาคารผู้ออกบัตรเหมือนเดิม ผู้ให้บริการกลุ่มนี้ ก็จะมี Samsung Pay ที่เปิดบริการแล้ว และ Apple Pay กับ Android Pay ที่กำลังตามมาติดๆ

Mobile Wallet

คือการนำ “ เงินสด ” ใส่เข้าไปในบัญชีอิเล็คทรอนิคส์บนอินเตอร์เน็ต โดยผ่านวิธีการต่างๆ เช่น ซื้อบัตรเติมเงิน โอนเงินจากบัญชีธนาคาร-บัตรเครดิต จากนั้นค่อยนำมูลค่าเงินเหล่านี้ไปจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าตามแต่ที่ร้านค้าแต่ละรายจะรองรับบริการจ่ายเงินเจ้านั้นๆ ซึ่ง M-Wallet นี้ยังสามารถใช้แทนบัตรเดบิตได้อีกด้วยโดยจะมีผู้ให้บริการหลักๆ ได้แก่ True Money, AIS mPay, AirPay, PaySocial, Rabbit LINE Pay Mobile Wallet นั้นนับเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับชำระค่าสินค้า บริการ.

ปัจจุบันเราเห็นการใช้ Wallet แบบนี้จ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์กันค่อนข้างเยอะพอสมควร เช่น จ่ายบิลค่าสาธารณูปโภค สินเชื่อ ประกันภัย นำไปจ่ายซื้อสินค้าอย่าง McDonald’s หรือ 7-Eleven ด้วย ต้นแบบของบริการนี้ย่อมหนีไม่พ้นประเทศจีนอย่างAlipay ของกลุ่ม Alibaba และ WeChat Pay ของกลุ่ม Tencent ที่ใช้งานได้ครอบจักรวาล ไปที่ไหนก็ใช้งานได้โดยแทบไม่ต้องมีเงินสดเลย ตอนนี้ TrueMoney จึงไปจับมือกับ MasterCard ออกบัตรเดบิตเสมือน WeCard ที่สามารถนำไปใช้จ่ายเงินออนไลน์ได้เหมือนกับบัตรเดบิตจริงๆ ตามมา

กลุ่มธนาคาร-Mobile Banking หรือ PromptPay

จุดเด่น Mobile Banking คือการที่ผู้ใช้มีเงินเก็บอยู่ในบัญชีธนาคารอยู่แล้ว ทำให้การนำเงินเข้าไปในระบบนั้นเป็นเรื่องง่ายแทบไม่ต้องทำอะไรเลย แอพพลิเคชั่นประเภท Mobile Banking หรือ PromptPay จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการมาถึงของ PromptPay ย่อมทำให้การโอนเงินผ่าน Mobile Banking แพร่หลายเข้าไปอีก เพราะเราไม่ต้องเสียเวลาเพิ่มบัญชีของผู้รับเงินในตัวแอพ แค่กรอกหมายเลขโทรศัพท์ในช่องผู้รับโอนก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว

บัตรจ่ายเงินเฉพาะทาง

Mobile Payment รูปแบบนี้จะมีลักษณะคล้ายกลุ่มที่ 2 คือต้องทำการ “ เติมเงิน ” เป็นเครดิตเก็บไว้ก่อน เพียงแต่เครดิตจะสามารถใช้ได้เฉพาะร้านค้าสาขาของผู้ให้บริการเท่านั้น เช่น Starbucks Card ซึ่งเราสามารถจ่ายเงินซื้อบัตรเติมเงิน แล้วนำมูลค่าของบัตรไปใส่ไว้ในแอพ และเมื่ออยากดื่มกาแฟ Starbucks ก็สามารถจ่ายผ่านแอพได้เลย โดยไม่ต้องใช้เงินสด แต่ถึงแม้สามารถใช้ได้เฉพาะร้าน Starbucks เท่านั้น ร้านนี้มีสาขามากที่สุดในโลก มีลูกค้าจำนวนมหาศาล จำนวนผู้ใช้บัตร Starbucks Card และเงินที่เติมเข้าไปในระบบจึงเยอะมากตามไปด้วย และในต่างประเทศมีร้านอาหารอย่าง Dunkin Donut หรือซูเปอร์มาร์เก็ต Walmart ที่มีระบบจ่ายเงินในลักษณะนี้

ภาพรวมของ Mobile Payment ในไทยและ ความแตกต่างในการใช้งาน

ภาพรวมของ Mobile Payment ในไทยและ ความแตกต่างในการใช้งาน

จะเห็นว่า การชำระค่าสินค้าและบริการที่นอกเหนือจากบริการเสริมด้วย Mobile Payment ในประเทศไทยนั้นยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ผู้ให้บริการหลายรายจึงพยายามเต็มที่ในการสร้างความเชื่อมั่นและเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ยอมรับการการชำระเงินผ่านทางอุปกรณ์ไร้สายให้มากขึ้น สิ่งแรกๆ ที่จะต้องทำเพื่อให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการนี้ ก็คือสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยของระบบ คือเมื่อทำการจ่ายเงินไป จะต้องไม่มากกว่าเงินที่ผู้บริโภคต้องการจ่ายจริงๆ นอกจากนี้ หากมีปัญหาเกิดขึ้น จะมีระบบการจัดการตรวจสอบแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน อย่างต่อมาที่เห็นความแตกต่างในการใช้งานชัดเจนคือ ความสะดวกใช้งานง่าย หากผู้บริการใดเริ่มต้นสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้บริโภคด้วยการเสนอบริการที่ง่ายต่อการเข้าใจและใช้งานในการทำธุรกรรมน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ถูกทางแล้ว เมื่อผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยแล้ว จึงนำเสนอระบบการจ่ายเงินที่มีความซับซ้อนและปลอดภัยสูงขึ้น เช่นระบบการจ่ายเงินด้วยการส่งผ่านข้อมูลทีมีการเข้ารหัสข้อมูลในระดับสูงขึ้นตามมา.

สิ่งที่โดดเด่นคือ Mobile Wallet ที่มีความพัฒนาอย่างมาก เช่น TrueMoney Wallet ที่ได้ขยายการให้บริการ โดยมีการโอนเงินข้ามพรมแดน, Payment gateways, การเติมเงินในแอพต่างๆ เหล่านี้ในทำนองเดียวกันกับ LINE, Garena และ Lazada ซึ่งก็ใช้ประโยชน์จากฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่ เพื่อโปรโมตบริการ Wallet Service เช่น LINE มี Rabbit LINE Pay ซึ่งให้บริการผู้ใช้ 4.5 ล้านคนในประเทศไทย Garena ให้บริการกระเป๋าเงิน AirPay และ Lazada เปิดตัว Lazada Wallet ในเดือนมกราคม ปี 2018 ที่ผ่านมา. เมื่อเร็ว ๆ นี้ Grab บริษัท ที่ให้บริการรถในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกาศว่า จะร่วมมือกับกับธนาคารกสิกรไทยในการเปิดตัว GrabPay ที่เป็น Mobile Wallet และบริการทางการเงินอื่นๆ ในประเทศไทย และคาดจะเริ่มในปี 2019. ต่อมาคือ ระบบ PromptPay ที่ผูกกับ ID หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือกับบัญชีธนาคารเพื่อให้ผู้ใช้สามารถโอนเงินได้ง่ายขึ้น แพลตฟอร์มนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการชำระเงินดิจิทัลแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมที่ไม่มีเงินสด ตามโครงการ Thailand 4.0 ของรัฐบาลที่พยายามสร้างเศรษฐกิจฐานมูลค่าที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งระบบ PromptPay เปิดตัวในปี 2017 มีผู้ใช้ 97 ล้านรายการคิดเป็นเงินโอน 370,000 ล้านบาทครอบคลุม 37 ล้านบัญชีออมทรัพย์ มีผู้ลงทะเบียน 42.6 ล้านราย ในเดือนกรกฎาคม 2018.

และในที่สุดภาคธนาคารก็ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มการชำระเงินใหม่และลงทุนอย่างมากในการแปลงระบบดิจิทัลของพวกเขา โดนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ธนาคารกสิกรไทยทุ่มเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์หลังจากร่วมมือกับ Singtel เพื่อเปิดตัว VIA การชำระเงินมือถือข้ามพรมแดนที่ใช้ QR โค้ดในประเทศไทย ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าจะลงทุน 20,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มธนาคารดิจิทัล ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์มีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนสร้างและจัดหาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในระยะเวลาเพียง 3 ปีหลังจากนี้.

สำหรับการชำระเงินบางอย่างที่ต้องการความรวดเร็วในการชำระ เงิน เช่น ชำระค่ารถเมล์, รถไฟฟ้า, ค่าสินค้าบางประเภท ดังนั้นจึงได้มีการนำเทคโลยีแบบ การไร้สัมผัส (Contactless) หรือ เทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุเพื่อระบุลักษณะเฉพาะของวัตถุแต่ละชิ้น RFID (Radio Frequency Identification) มาประยุกต์ใช้กับการชำระเงินผ่านโทรศัพท์ ซึ่งจะช่วยทำให้การชำระเงินสามารถ ทำได้รวดเร็วและสะดวกมากขึ้นสำหรับผู้ใช้งาน โดยในอนาคตจะมีการฝังชิพเทคโนโลยีต่างๆ ลงไปในตัวโทรศัพท์เพื่อจะทำการติดต่อสื่อสารกับ ระบบการชำระเงินรูปแบบต่างๆ ได้อย่างง่ายดายมากขึ้น โดยเพียงแค่ผู้ใช้เพียงแค่ยกโทรศัพท์มาวางใกล้ๆ หรือเดินผ่าน เครื่องรับสัญญาณ ระบบก็จะทำการติดเงินและชำระค่าสินค้าหรือบริการให้อัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องกดปุ่มอะไรในตัวโทรศัพท์เลยนั่นเอง

ข้อดีและข้อเสียของการมี Mobile Payment

ข้อดีและข้อเสียของการมี Mobile Payment

  • ไม่ต้องเดินทางไปร้านค้าหรือรับชำระเงินได้โดยตรง
  • ไม่จำเป็นต้องพกเงินสด, บัตรเอทีเอ็ม, บัตรเครดิตติดตัวตลอดเวลาแค่มีโทรศัพท์มือถือก็ชำระเงินได้
  • เพิ่มช่องทางในการเก็บเงินจากลูกค้าได้มากขึ้น
  • ลดความเสี่ยงต่อการจัดการความปลอดภัยเงินสดในร้านค้า
  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีและทันสมัยแก่ร้านค้า
  • ต้องระวังพาสเวิร์ดที่ง่ายต่อการคาดเดา
  • ต้องศึกษารูปแบบหลักการและวิธีรักษาความปลอดภัยก่อนการใช้บริการ
  • กรณีเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตตรวจสอบโปรโมชั่นและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม

ดังนั้นในวันนี้เรา พอจะเห็นความสะดวกของการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือหรือ Mobile Payment มากขึ้นแล้วว่าว่ามันจะช่วยทำให้การซื้อ-ขายสินค้าสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น การบริการรวมถึงการจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ก็สะดวกสบาย ตอนนี้จึงอยู่ที่การตัดสินใจของเราในการเลือกผู้ให้บริการว่าอะไรเหมาะสมกับการใช้ชีวิตและตัวเราที่สุด แต่ก็ต้องใช้จ่ายแบบที่คิดถึงเงินจริงๆในกระเป๋าด้วย อย่าใช้เพลินจนเกินตัวจะแบกรับนั่นเอง