ยุคดิจิตอลแบบนี้ การทำธุรกรรมออนไลน์มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆสมัยนี้ยังทำให้ทุก ๆ คนก็สามารถกลายเป็นผู้ซื้อและผู้ขายผ่านทาง Social Media ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น รวมไปถึงธุรกิจ E-Commerce การพรีออเดอร์ การซื้อขายตาม Facebook, Instagram หรือ Line@ หากเราไม่ระวังแน่ล่ะ มันอาจมีกลโกงแอบแฝงอยู่ได้ด้วย หรืออาจตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจจฉาชีพได้จากความง่ายและรวดเร็วของอินเทอร์เน็ต ช่องโหว่ การปลอมแปลง แอบอ้าง หรือแฮ็กข้อมูล เพื่อใช้สร้างความเสียหายและความเข้าใจผิดกับเราได้. แม้เราจะคิดว่าฉันไม่ใช่คนดัง ไม่ใช่ดารานักร้อง เรื่องการถูกแฮ็กหรือนำภาพไปใช้ ปลอมแปลงข้อมูลเพื่อหาประโยชน์คงไกลตัวล่ะม้าง มันไม่ใช่แล้ว! เพราะทุกวันนี้การใช้อินเทอร์เน็ต เชื่อมต่อไวไฟ และเล่นโซเชียลมีเดีย แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้เรามีสิทธิ์ตกเป็นเป้าและอยู่ในความเสี่ยงแล้วไปครึ่งหนึ่ง! ยิ่งการทำธุรกรรมการเงินผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ถือเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน อีกทั้งข้อมูลส่วนตัวหลายอย่างของเราก็อยู่บนโลกออนไลน์ไม่น้อยล่ะก็ หากเราไม่ระวังตัวมิจฉาชีพอาจสามารถสวมรอยและทำธุรกรรมแทนเราได้ เงินหายไม่รู้ตัวแน่ๆ ดังนั้น เราควรรู้อะไรบ้าง และป้องกันตัวอย่างไร มาดูด้วยกัน
มัลแวร์
มัลแวร์ (Malware) ย่อมาจากคำว่า Malicious Software เป็นสิ่งหนึ่งที่มิจฉาชีพมักใช้กัน เพราะเป็นโปรแกรมประสงค์ร้ายต่างๆ ทำงานในลักษณะที่เป็นการโจมตีให้ระบบเสียหาย รวมไปถึงการโจรกรรมข้อมูล เช่น ไวรัส, เวิร์มหรือหนอนอินเทอร์เน็ต , ม้าโทรจัน , การแอบดักจับข้อมูล (Spyware) หรือคีย์ ล๊อกเกอร์ (Key Logger) บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งาน ตลอดจนโปรแกรมประเภทขโมยข้อมูล (Cookie) และการฝัง Malicious Mobile Code (MMC) ผ่านทางช่องโหว่ของโปรแกรม Internet Browser โดยโปรแกรมจะทำการควบคุมการทำงานโปรแกรม Internet Browser ให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ที่ไม่หวังดี เช่น การแสดงโฆษณาในลักษณะของการ Pop-Up หน้าต่างโฆษณาออกมาเป็นระยะ การแอบดักเก็บทุกข้อมูลที่กรอกผ่านหน้าเว็บไซต์ต่างๆ ที่ใช้งานได้ โดยเฉพาะ user และ password ของเว็บไซต์ธนาคารที่เราใช้งาน แม้จะเป็นเว็บไซต์จริงของธนาคารก็ตาม ดังนั้น ต่อให้เป็นคนที่ระวังตัวเพียงใด หรือมีการตรวจสอบหน้าเว็บไซต์ทุกครั้งก่อนใช้งาน แต่หากเครื่องคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนที่ใช้งานอยู่ถูกฝังมัลแวร์เมื่อไร ก็จะถูกมิจฉาชีพแอบดักเก็บข้อมูลการใช้งานได้อย่างแน่นอน หรือมาจากการที่เราถูกหลอกให้ติดตั้งโปรแกรมในอุปกรณ์ของเรา ซึ่งอาจจะเกิดจากการตั้งใจติดตั้งโปรแกรมจริงๆ เพียงแต่ไม่รู้ว่าโปรแกรมนั้นเป็นมัลแวร์ หรืออาจจะแค่เพียงเผลอคลิกลิงก์ที่มิจฉาชีพแนบมาพร้อมกับ SMS / e-mail ปลอม ก็ได้ ยิ่งมัลแวร์บางประเภทที่ฝังตัวในสาร์ทโฟนสามารถส่งต่อ SMS ได้ ดังนั้นแม้เป็นธุรกรรมการเงินที่ต้องใช้ OTP ที่ได้รับทาง SMS ก็ใช่ว่าปลอดภัย เพราะ SMS OTP นั้นจะถูกส่งต่อให้มิจฉาชีพด้วยเช่นกัน
โฆษณาชวนเชื่อ
เตือนง่ายๆว่า โฆษณาชวนเชื่อแบบนี้มักมุ่งไปที่จุดอ่อนของคนทั่วไปก็คือความโลภของคน โดยอาจนำเงินหรือสินค้ามีมูลค่าสูงมาเป็นเหยื่อล่อ ให้ทำการกรอกข้อมูลส่วนตัวต่างๆ เช่น หลอกว่าสามารถซื้อสินค้านี้ได้ในราคาถูกมาก แต่ต้องชำระเงินด้วยบัตรเครดิตโดยการกรอกข้อมูลผ่านหน้าเว็บไซต์นี้ทันที ส่งผลให้มิจฉาชีพได้รับข้อมูลบัตรเครดิตเพื่อไปทำธุรกรรมแทนตัวจริงได้. หรือการที่เราซื้อสินค้าออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าตามกำหนด เพราะมิจฉาชีพอาจสร้างบัญชีเพจร้านค้าตาม Social Media ต่างๆ เช่น Facebook , Instagram หรือ Line@ แม้มีการโพสรูปสินค้า แต่กลับทำโปรโมชั่นลดราคาถูกเกินท้องตลาดเพื่อจูงใจ เหยื่อที่ไม่รู้อาจหลงกลและโอนเงินไปแต่ก็ไม่มีการติดต่อกลับ หรือเมื่อติดต่อกลับไปไม่มีคนรับสาย ไม่มีเลขพัสดุสินค้าทำให้สูญเงินไปโดยไม่มีโอกาสได้คืน
บางกรณีอาจแอบอ้างเป็นบุคคลต่าง ๆ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กร หน่วยงานราชการ หรือ ชาวต่างชาติจากแอพหาคู่รัก หลอกว่าจะโอนเงินหรือส่งของขวัญมาให้ หรือเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากเหยื่อ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ค่าดำเนินการ ค่าภาษีศุลกากร ค่าทนาย โดยจะเรียกเก็บในจำนวนน้อยแล้วเพิ่มจำนวนเงินขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกว่าเหยื่อจะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็อาจหมดเงินไปจำนวนมากแล้ว บางครั้งการประกาศรับสมัครงานผ่านอินเทอร์เน็ตก็อันตรายด้วย โดยหลอกเหยื่อว่าเป็นบริษัทต่างประเทศที่ขายสินค้าในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จึงขอให้เหยื่อทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมเงินให้ โดยจ่ายเป็นค่านายหน้า เมื่อมีเงินโอนเข้าบัญชีของเหยื่อ บริษัทจะแจ้งเหยื่อให้หักค่าจ้างไว้ แล้วโอนเงินที่เหลือทั้งหมดให้แก่บริษัทแม่ในต่างประเทศทันทีผ่านบริการโอนเงินที่ไม่ต้องใช้เอกสารแสดงตน โดยที่เหยื่อไม่รู้เลยว่า เงินที่โอนเข้ามาในบัญชีเหยื่อนั้นเป็นเงินผิดกฎหมายที่มิจฉาชีพหลอกให้คนอื่นโอนมาให้ กว่าเหยื่อจะรู้ตัวก็อาจถูกตำรวจจับด้วย
เว็บไซต์ปลอม - อีเมล์ปลอม
เว็บไซต์ปลอมตัวนี้อาจมีหน้าตาใกล้เคียงกับเว็บไซต์ของสถาบันการเงินจริงๆ เพื่อหลอกให้เราทำการกรอก user และ password โดยเมื่อกรอกแล้วเว็บไซต์ปลอมนั้นอาจแจ้งว่า “ชื่อผู้ใช้หรือรหัสผ่าน ไม่ถูกต้อง" หรือ "ระบบขัดข้อง ไม่สามารถใช้งานได้ขณะนี้" ทำให้แม้เรายังเข้าเว็บไซต์ไม่ได้ก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจหรือต้องตรวจสอบอะไรเป็นพิเศษ. และที่มีการพบเจอบ่อยๆเลยก็คือSMS / e-mail ปลอม คือมักจะมีการแนบลิงก์มากับข้อความให้ผู้รับคลิกลิงก์ เพื่อนำไปสู่เว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกให้กรอกข้อมูล user password หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ที่อาจนำไปสู่การสวมรอย ด้วยการสมัครสมาชิกหรือเปลี่ยนแปลง password ของเรา. บางครั้งก็มาในรูปแบบมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้ผ่านโฆษณาเว็บไซต์ กลุ่ม Facebook สาธารณะ หรือส่งอีเมลหาเหยื่อโดยตรง ใช้คำจูงใจในรูปแบบต่าง ๆ เช่น บริการกู้นอกระบบ ดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติง่าย รวดเร็ว ไม่ต้องตรวจสอบเครดิตบูโร เมื่อเหยื่อหลงกลติดต่อไป แก๊งมิจฉาชีพจะส่งสัญญาและขอให้เหยื่อลงลายเซ็น พร้อมโอนเงินชำระค่าทำสัญญา ค่าเอกสาร ค่ามัดจำ ภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งเหยื่ออาจจะเสียรู้ด้วยความรีบร้อน เมื่อโอนและติดต่อกลับไปเพื่อต้องการเงินกู้กลับไม่สามารถติดต่อผู้ให้กู้อีกได้เลยและสูญเงินไปโดยไม่มีโอกาสได้คืน.
วิธีป้องกันตัวเรา
-
หากทำได้เปลี่ยนพาสเวิร์ดทุก 2 เดือน โดยเฉพาะบรรดาโซเชียลมีเดีย ถือเป็นพื้นฐานในการป้องกันการถูกแฮกข้อมูล ซึ่งได้รับการยืนยันจากทีมงานความปลอดภัยของเฟซบุ๊กมาแล้ว
-
ควรใช้พาสเวิร์ดที่มีความปลอดภัยสูง คือ ต้องมีทั้งตัวเลข ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็กผสมกัน เลิกคิดถึงคำง่ายๆ อย่าง 123456 อะไรทำนองนี้ไปได้เลย
-
เช็คลิงค์หลอก เช่น ที่อยู่ของลิงค์ที่ขึ้นบริเวณด้านล่างของเว็บบราวเซอร์ตรงกับลิงค์ที่เราต้องการจะคลิก , ข้อความที่อ้างว่าได้แนบไฟล์พาสเวิร์ดขอเรา ข้อความที่แจ้งให้กรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น พาสเวิร์ดของบัญชีผู้ใช้งาน หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี หมายเลขบัตรเครดิต/รหัส PIN ข้อความที่อ้างว่าบัญชีผู้ใช้งานของเราจะถูกลบหรือระงับ หากเราไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำในทันที เป็นต้น
-
สแกนผู้เข้าใช้ด้วยรหัสพิเศษ เช่น Facebook มี "การอนุมัติการเข้าสู่ระบบ" (login approvals) เพื่อเพิ่มขีดความปลอดภัยสูงสุดให้กับบัญชีผู้ใช้งาน โดยสามารถเลือกใช้ฟีเจอร์นี้ เมื่อเราเข้าใช้งานจากคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ที่เราไม่เคยใช้มาก่อน
-
สังเกตการรายงานสิ่งที่ไม่เหมาะสม ใน Facebook หรือ IG จะมี ลิงค์ "Report" ที่ใช้การรายงานทางสังคม หรือสิทธิส่วนบุคคล หากเราถูกคุมคามผ่านกล่องข้อความ สามารถคลิกรายงานพฤติกรรมซึ่งจะบล็อกผู้ที่ส่งข้อความดังกล่าวอัตโนมัติ
-
เปิดเผยข้อมูลใน Social Network เท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำข้อมูลไปแอบอ้างใช้ทำธุรกรรม และติดตามข่าวสารกลโกงอย่างสม่ำเสมอ
-
การช่างสังเกต การถูกสวมรอยหรือการถูกฝังมัลแวร์ มักเกิดจากถูกหลอกให้คลิกลิงก์ที่มาจาก SMS / e-mail ปลอม จึงควรดูว่ามาจากสถาบันการเงินนั้นๆจริงหรือไม่ ด้วยการสังเกตที่ ชื่อผู้ส่ง, SMS / e-mail , ลิงก์ที่แนบมา , เนื้อหา , ภาษา เป็นต้น
-
ตั้งสติทุกครั้งเมื่อเห็นโฆษณาชวนเชื่อ เพราะทุกข้อมูลที่เราให้ผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนตัว เช่น วันเดือนปีเกิด เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ หรือข้อมูลการเงิน เลขบัตรเครดิต ไม่โลภต่อเงินที่ไม่มีที่มา ผลตอบแทนที่สูงเกินจริงหรือดอกเบี้ยต่ำ ควรพิจารณาให้รอบคอบถึงความเป็นไปได้ในความเป็นจริง
-
ติดตั้งโปรแกรมป้องกันมัลแวร์ (Anti-malware) บนคอมพิวเตอร์ และตรวจหาไวรัสในเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นประจำ เพื่อป้องกันการขโมยข้อมูลการใช้งานรวมทั้งแฟลชไดรฟ์ (USB) ควรทำการสแกนไวรัสทุกครั้งก่อนใช้งาน และไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เสี่ยงต่อการมีมัลแวร์แฝงอยู่
-
ไม่คลิกข้อความที่แสดงโฆษณาหรือหน้าต่าง pop-up ปลอม (Adware) บนเว็บไซต์ที่เยี่ยมชม เพราะจะเป็นการเริ่มดาวน์โหลดมัลแวร์ จะต้องเช็คและตรวจสอบก่อนคลิกเสมอ รวมไปถึงไฟล์แนบที่ต้องสงสัยใดๆที่ส่งมาจากอีเมลที่เราไม่รู้จัก และต้องตรวจสอบทุกครั้งก่อนดาวน์โหลดหรือเปิดไฟล์ขึ้นมา
-
การซื้อสินค้าทางออนไลน์ควรซื้อจากเว็บไซต์บัญชีทางการที่สามารถตรวจสอบได้ สังเกตยอดไลค์แฟนเพจ การรีวิวได้รับสินค้าจากผู้ซื้อต่าง ๆ , เช็คราคาจากเพจร้านค้าหลาย ๆ ที่ ว่าราคาใกล้เคียงกันหรือไม่ หรือดูชื่อและเลขที่บัญชีผู้ขายจาก Social Media ต่าง ๆ เช่น กระทู้ Pantip หรือ กลุ่มซื้อขายสาธารณะ Facebook ว่าเคยมีผู้โดนโกงหรือไม่
-
เมื่อได้รับการติดต่อแจ้งให้โอนเงินให้ ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนโอนเงิน หรือติดต่อหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมศุลกากร โทร. 1164 ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213 หรือสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของหน่วยงานต่างชาติ
-
แจ้งความดำเนินคดีกับสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ โอนเงินที่ไหนให้ไปแจ้งความที่เขตนั้น ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่รู้ว่าโดนหลอก เช่น ถึงกำหนดส่งของแล้วไม่ส่ง ติดต่อไม่ได้ ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคาร B ชั้น 4 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทร. 02-142-2556-7 หรือ เว็บไซต์ tcsd.go.th
สรุป
โดยสรุปแล้ว เราจะเห็นว่าเพราะความง่ายของโลกออนไลน์ ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพส่วนใหญ่หรือกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยเข้ามาฉวยโอกาสกันมากขึ้น เช่น ขายสินค้าถูกกว่าท้องตลาดเกินไป , การล่อลวงให้โอนเงินค่าสินค้าล่วงหน้า โดยไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพียงพอ , การปลอม เว็บไซต์ อีเมล์ หรือSMS เพื่อหลอกโอนเงิน และอีกมากมายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจนแทบอ่านข่าวไม่ทัน ดังนั้น เราต้องกลับมาสนใจเรื่องการสวมรอยทางออนไลน์นีัอย่างจริงจัง เพราะหากไม่ระวังจะสูญเสียเงินจำนวนมากหรือเครดิตดีๆไปด้วย. เราได้รู้ตัวอย่างของกลโกงที่มิจฉาชีพใช้กันแล้ว ทั้งวิธีการป้องกันตนเองจากความเสี่ยง รวมถึงวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อคลี่คลายปัญหา แต่หนทางที่ดีและปลอดภัยที่สุด คงจะหนีไม่พ้นการดูแลการใช้งานของตนเอง หากตัวเรานั้นยังใช้งานด้วยพฤติกรรมไร้ความเสี่ยง และหมั่นตรวจสอบระดับความปลอดภัยให้ตนเองอยู่เสมอ เชื่อว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายคงไม่มีโอกาสกล้ำกลายเราได้มากแล้วล่ะ แต่หากว่าเกิดเรื่องร้ายแรงหรือเสื่อมเสียแก่ตัวเราจากอาชญากรรมทางไซเบอร์เข้าในซักวัน การรีบแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับวายร้ายให้สิ้นซาก คงจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดกับตัวเราและสวมรวม.
Phara
เคยได้ยินข่าวไม่นานมานี้ว่ามีมิจฉาชีพโทรศัพท์เข้ามาในเบอร์มือถือของผู้เสียหายบอกว่า โทรมาจากค่ายโทรศัพท์มือถือแห่งหนึ่งแจ้งว่า มีเบอร์เดียวกันกับผู้เสียหาย แล้วก็บอกเลขบัตรประชาชนของผู้เสียหายได้ถูกต้อง ผู้เสียหายเลยหลงเชื่อ โดยหลอกถามรหัส otp ผู้เสียหายไม่รู้...ก็เลยบอกไป ปรากฎว่าเงินในบัญชีหายหมดเลย เดี๋ยวนี้ต้องระวังกันให้มากๆเลย
สุดา
ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะเป็นประโยชน์มาก ก็เดี๋ยวนี้ใครๆก็มีข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับธนาคารหรือสมุดบัญชีทางโทรศัพท์กันหมดแล้ว ดังนั้นถ้ามีผู้ที่มีความรู้เรื่องนี้ สามารถขโมยข้อมูลหรือหลอกลวงเราเอาข้อมูลจากในโทรศัพท์ไปได้ เขาก็จะสามารถเอาเงินในบัญชีธนาคารของเราออกไปใช้ได้น่ากลัวมากค่ะ ขอบคุณสำหรับคำแนะนำจากบทความนี้ค่ะช่วยได้มากทีเดียว
น้ำหนึ่ง
เดี๋ยวนี้การใช้โทรศัพท์มือถือในการทำธุรกรรมการเงินก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สะดวกสบายกันไปแล้ว ไม่ว่าอยู่ไหนก็สามารถทำธุรกรรมการเงินได้เพียงแค่มีโทรศัพท์กับอินเทอร์เน็ต แต่ถึงอย่างนั้นก็มีอันตรายอยู่นะครับเพราะว่าการสวมรอยเพื่อที่จะทำธุรกรรมการเงินแทนเราก็น่ากลัวเหมือนกันค่ะ เดี๋ยวนี้มีช่องทางการสวมรอยเยอะแยะเต็มไปหมดอย่างที่บทความนี้ได้บอกเราค่ะ
Pasika
ต่อให้มีเทคโนโลยีมาใหม่ล้ำสมัยแค่ไหนพวกมิจฉาชีพก็หาทางมาหลอกและขโมยเอาข้อมูลส่วนตัวของเราได้เสมอ มีข่าวออกมาอยู่เรื่อยๆว่ามีคนมากมายถูกหลอกจากมิจฉาชีพพวกนี้ ดีที่บทความนี้ให้คำแนะนำที่ดีเพื่อเราจะระมัดระวังมากขึ้นและรู้กลโกงของพวกมันค่ะ แต่ละคนก็ต้องระแวดระวังภัยด้วยตัวเองด้วย มีอะไรน่าสงสัยก็ถอยออกมาก่อนค่ะ
รตนพร
คนเรามันจะโกง ยังไงมันก็หาวิธีการได้อย่างที่เราทราบๆกันอยู่ แต่ ถ้าหากเราป้องกันข้อมูลของเราไว้เสมอ มันก็จะเพิ่มความยากให้คนพวกนี้ คะ แล้วเชื่อเถอะคะ ต่อให้เปลี่ยนรหัสยากแค่ไหน มันจะเอายังไงมันก็เอาจนได้ คือ เราต้องระวังๆจริงๆเลย อย่ากดรหัสผ่านหรือทำอะไร ในที่ที่มีคน ไม่รู้จักมายืนใกล้ๆเรา น่าจะเป็นการป้องกันได้ด้วยนะคะ
Robot
คนโกงก็ส่วนคนโกงนะ เขาก้หาหลายวิธีมาหลอกล่อเรามากมาย แต่ส่วนมากกลโกงมักถูกจริตคนโลภนะ ถ้าคนไม่โลภยังไงก็ไม่ติดกับง่ายๆหรอกจริงมั้ย? แต่ส่วนมากคนเราโลภอยากได้เยอะได้ง่ายได้มาก จนสุดท้ายกลายเป็นเสียแทน ยกตัวอย่างกลโกงส่วนมากมักบอกว่า สมัครง่ายได้เงินเยอะ หรือ แชร์ต่อบอกต่อมีรางวัลใหญ่ ประโยคอะไรแบบนี้แหละที่เขาใช้กัน ใครโลภก็ถูกหลอกไปก่อนเลย
กังหันลม
จริงๆพวกไวรัสมัลแวร์อะไรพวกนี้เราสามารถที่จะป้องกันได้นะคะ โดยที่อัพเดทคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ของเราอยู่เสมอ และอย่าเข้าไปในเว็บไซต์ที่แปลกๆน่าสงสัยบางทีเวปไซด์พวกนี้อาจจะเสนออะไรฟรีให้เรา การที่เราไปดาวน์โหลดมาใช้มันจะทำให้เราติดมัลแวร์ได้ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือถ้ามีคนไม่รู้จักส่งเมลมาหาเราอย่าดาวน์โหลดไฟล์ของเขาเด็ดขาด เพราะอาจจะเป็นผู้ไม่หวังดีได้
มีมี่
จริงๆสมัยนี้เนี่ยการซื้อของออนไลน์เป็นเรื่องปกติเลยค่ะ พอๆกับที่การโดนหลอกทางออนไลน์ก็เป็นเรื่องปกติ บางทีซื้อของดูเว็บไซต์น่าเชื่อถือแล้วนะคะ แต่ก็ยังเจอเว็บไซต์ปลอม บางที่คล้ายของจริงๆ แต่ว่าเป็นของก๊อปบ้างของไม่ได้คุณภาพบ้าง รูปไม่ตรงปกบ้าง โกงแบบนี้มีกันเยอะค่ะในเน็ตต้องคอยระวัง แล้วก็เรื่องรหัสเนี่ยเราใช้รหัสแต่ละอันไม่เหมือนกันค่ะไม่อย่างนั้นถ้าใช้รหัสเดียวกันทั้งหมดเนี่ยมันจะโดนโจรกรรมทีเดียวหมดกระเป๋าเลย
ศรวัตส์
น่ากลัวจริงเรื่องพวกนนี้ แล้วก็ยิ่งน่ากลัวไปใหญ่ด้วยถ้าคนแก่ๆแถวบ้านใช้ระบบการเงินแบบออนไลน์ บางทีลูกก็สอนแค่การใช้งานนะว่าต้องทำยังไงบ้าง แต่ไม่ได้สอนว่าจะป้องกันอย่างไงบ้าง อย่างวันก่อน เราไปซื้อของที่ห้าง มีลุงคนหนึ่งจะจ่ายเงินผ่านแอพฯแต่ทำไม่เป็นเลยให้พนักงานกดไง แบบนี้ละน่ากลัวสุดๆเลยถ้าพนักงานโกงขึ้นมาแย่เลยนะ
แมก
การโดนขโมยก็นอนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นต้องระวังนะครับ สิ่งที่ผมเห็นเป็นประจำก็คือการโฆษณาชวนเชื่อให้ไปทำงานออนไลน์ โดยการทิ้งอีเมลหรือข้อมูลบางอย่างไว้เพื่อที่จะให้ติดต่อกลับไป แล้วพอติดต่อกลับไปแล้วก็ให้เรากรอกรายละเอียดเกี่ยวกับบัญชีเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของเราเพื่อขโมยข้อมูลดังกล่าวไปด้วยอันนี้ต้องระวังครับ
ART
รู้ไว้ จะได้ทันโจรกลับ ความดีจริงจะแชร์ให้เพื่อนๆอ่านบ้าง คนในวัยรุ่นอย่างผม ส่วนมากชีวิตก็อยู่แต่กับมือถือ ข่าวโซเชียลเป็นประจำ หนังดูซีรีย์ดูหนังเข้าแอปนั้นแอปนี้ เล่นเกมต่างๆ เกมออนไลน์ก็มีโฆษณาอะไรไม่รู้เยอะแยะบางครั้งเราก็ต้องรู้เอาไว้บ้าง ไม่งั้นกดมั่วเงินหายไม่รู้ตัว เดี๋ยวนี้พวกโกงมิจฉาชีพในโลกออนไลน์เก่งมากนะครับ แทบจะตามไม่ทันละ