เป็นความจริงว่าบนโลกดิจิตอลเวลานี้ ทุกสิ่งทุกอย่างมักจะออนไลน์หรืออยู่บนแอพลิเคชั่นกันหมด  ไม่เว้นแม้กระทั่งอั่งเปาในช่วงเทศกาลตรุษจีน! เพราะในยุคใหม่ของการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนแบบนี้ การมอบอั่งเปา(หงเปา) หรือเจ้าซองใส่เงินสีแดงแบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ก็ได้กลายมาเป็นประเพณีสมัยใหม่อย่างนึงสำหรับวันตรุษจีนไปแล้ว เนื่องจากประเพณีของคนจีนที่สืบต่อกันมาช้านาน ผู้ที่เกิดในครอบครัวเชื้อสายจีนก็จะคุ้นเคยกันดีกับธรรมเนียมการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่และนับถือบรรพบุรษ โดยลูกหลานที่มาขอหรืออวยพรญาติๆผู้ใหญ่ ก็จะได้รับแจกอั่งเปาหรือซองแดงๆบรรจุเงินเป็นของขวัญด้วยความชื่นมื่นยินดีกันถ้วนหน้า ซึ่งเรื่องราวดีๆและการอยู่ร่วมกันครอบครัวใหญ่ๆแบบนี้ก็เป็นช่องทางในการตลาดที่ทำให้บริษัทอินเทอร์เน็ตต่างๆ ในจีนต่างแข่งขันกันนำ อั่งเปา หรือซองแดง ดิจิตอล ออกมาสู่ผู้ใช้งานในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่มักจะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้น แม้เราที่เป็นคนไทยหรือคนไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ทั่วทุกแห่งก็น่าจะมาลองสนใจเจ้าอั่งเปาดิจิตอลแนวใหม่นี้ที่กำลังมาแรงและตีตลาดไม่น้อยเลย แต่ก็มีคำถามที่น่าสนใจต่อมาคือ อังเปาดิจิตอลนี้คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร รวมถึงแนวโน้มในอนาคตเรื่องการใช้งานอังเปาดิจิตอลแบบนี้ ไปดูกัน

อั่งเปาดิจิตอลคืออะไร

อั่งเปาดิจิตอลคืออะไร

ปกติแล้วเราเคยรู้ว่า อั่งเปา ก็คือ เงินของขวัญที่มีการให้และรับกันในวัฒนธรรมจีน ชื่ออั่งเป่าก็หมายถึง ซองสีแดง ที่มอบให้โดยมีเงินบรรจุอยู่ด้านใน จะนิยมมอบให้กันในงานสำคัญๆ ของครอบครัว เช่น พิธีแต่งงาน หรือ วันตรุษจีน (วันปีใหม่ของจีน) โดยในวันตรุษจีนผู้ที่มีอายุสูงกว่าหรือทำงานมีเงินเดือนแล้ว จะเป็นคนให้อั่งเป่าแก่เด็กหรือญาติที่ยังไม่ได้ทำงาน และตามความเชื่อของคนจีนจะบอกว่าสีแดงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความโชคดี และเงินที่บรรจุภายบางครั้งจะเป็นเลขคู่ เพราะหลายเลขจะมีความหมายเชิงบวกสำหรับความเชื่อของคนจีน เช่น “8” ที่อ่านในภาษาจีนจะมีความหมายถึงความรุ่งเรือง หรือความร่ำรวย , เลข “6” หมายถึงทุกอย่างราบรื่นได้ด้วยดี ส่วนเลข “9” หมายถึงอายุยั่งยืน เป็นต้น ดังนั้น เวลาส่งอั่งเปาออนไลน์คนจีนมักชอบให้จำนวนเงินลงท้ายด้วยเลขที่เป็นมงคล เช่นเลข “8.88” และ “6.88” เป็นที่นิยมมากในหมู่ผู้ใช้ที่ยังเป็นวัยรุ่น แต่สำหรับซองแดงที่มอบให้คนอื่นด้วยตนเอง ส่วนมากยังคงต้องใส่ในจำนวนมาก โดยปกติแล้วจะไม่ต่ำกว่า 100 หยวน (ประมาณ 500 บาท) นี่ก็เป็นความเชื่อกันไปแต่ละบุคคล

ดังนั้น จากวัฒนธรรมการฉลองของคนจีนนี้เอง จึงมีวิวัฒนาการในการมอบอั่งเปาเริ่มเกิดขึ้นและเปลี่ยนไปหลังจากที่อินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย เพราะช่วงหลายปีมานี้ มีกรรมวิธีในการแจกซองแดงแบบใหม่ นั่นคือ การมอบอั่งเปาออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต โดยผลสำรวจของธนาคาร United Overseas Bank พบว่าร้อยละ 75 ของประชากรชาวจีนตั้งใจจะแจกอั่งเป่าดิจิตอลในปีนี้ ซึ่งถือเป็นเปอร์เซนต์ที่เพิ่มกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับจำนวนร้อยละ 30 ของปีที่ผ่านมา และเหตุผลหลักๆที่ทำให้เจ้าอั่งเปาออนไลน์นี้ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆก็คือคนจีนมองว่าเป็นของเล่นใหม่และรู้สึกสนุกที่ได้มีส่วนร่วม เหตุผลถัดลงมาก็คือความสะดวกและรวดเร็ว จึงมีหลายแอพพลิเคชั่นที่ให้บริการอังเปาออนไลน์ รวมถึงแอพพลิเคชั่นยักษ์ใหญ่อย่าง WeChat และ Alipay ด้วย

สำหรับในส่วนของวิธีการใช้งาน ก็คือ หลังจากที่ผู้ใช้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นแล้ว เราก็สามารถส่งอั่งเปาไปให้แบบส่วนตัว หรือให้เป็นกลุ่มก็ได้ หรือนายจ้างก็สามารถใช้วิธีนี้มอบอั่งเปาให้พนักงานทั้งบริษัทหรือทั้งโรงงานได้อย่างง่ายดาย. เมื่อผู้รับคลิกไปที่ซองอั่งเปาสีแดง จำนวนเงินจะปรากฎให้เห็น จำนวนเงินจะมีตั้งแต่ 1 หยวนไปจนถึงหลายร้อยหยวน ซึ่งการใช้ระบบบัญชีธนาคารผูกกับหมายเลขโทรศัพท์จะทำให้จำนวนเงินถูกโอนเข้าบัญชีของผู้รับโดยอัตโนมัติ เป็นการมอบ-รับอั่งเปาที่สะดวกรวดเร็วเพียงแค่คลิกปลายนิ้ว. หรือมีการตลาดที่น่าสนใจมาเสริม เช่น นายเจีย เผิงเฟ่ย ผู้อำนวยการของเทนเซนต์ ให้ความเห็นว่า อั่งเปาดิจิทัลปีนี้มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมสุขภาพของผู้คน เพราะช่วงตรุษจีนผู้คนมักกินและเล่นกันอย่างเต็มที่แต่ไม่ยอมออกกำลังกาย บริษัทจึงออกโปรแกรมอั่งเปาเดินได้

เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนมีการออกกำลังกายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นนับแต่ตรุษจีนเป็นต้นไป ผู้คนที่หันมาเล่นอั่งเปาดิจิทัลนี้จึงเน้นความสนุกสนานและการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมมากกว่ามูลค่าของอั่งเปาดิจิทัลที่ได้รับ หรือ นายหลี หยงเจี้ยน ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของสถาบันกลยุทธเศรษฐกิจจีน ก็ให้ความเห็นว่า การแย่งชิงลูกค้าของบริษัทอินเทอร์เน็ทในจีนนั้นรุนแรงมาก บางทีอาจต้องทุ่มถึง 300 หยวนเพื่อจะได้ลูกค้าดีๆ สักคนและหวังว่า อั่งเปาดิจิทัล จะเป็นสิ่งเชื่อมต่อระหว่างการจับจ่าย เครือข่ายสังคม การบันเทิงและความมั่งคั่งเข้าด้วยกันซึ่งจะประสบผลสำเร็จในอนาคตได้. เราจึงเห็นว่าแนวโน้มของกระแสอั่งเปาดิจิตอลนี้จึงได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้หลายคนเกรงว่าการมอบซองแดงแบบดั้งเดิมจะค่อย ๆ เลือนหายไปจากสังคมเลยล่ะ

มีความเป็นมาอย่างไร

มีความเป็นมาอย่างไร

จากธรรมเนียมของคนจีนแล้ว ในช่วงเทศกาลตรุษจีนก็จะคึกคักกันอยู่แล้วที่ผู้ใหญ่จะให้ซองแดงหรือ อั่งเปาแก่เด็กๆ บริษัทอินเทอร์เน็ตในจีนจึงถือโอกาสแข่งขันกันแย่งส่วนแบ่งการตลาด ในการเสนอ อั่งเปาดิจิทัล ให้แก่ผู้ใช้ ซึ่งเริ่มมาเมื่อ 2-3 ปี ที่แล้ว และปีนี้ถือว่ามีการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นมากด้วย เช่น  บริษัทเทนเซนต์ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตในจีน วางแผนที่จะออกโปรแกรมอั่งเปาดิจิทัลมูลค่า 200 ล้านหยวนออกมา  , บริษัทไชน่าอาลีบาบา ก็มีการออกอั่งเปาดิจิตอลในมูลค่า 500 ล้านหยวน , บริษัท จินริ โทเทียว ก็มีโปรแกรมอั่งเปาดิจิทัล มูลค่ากว่า 100 ล้านหยวน จึงเป็นที่น่าสนใจของชาวจีนส่วนใหญ่กันจริงๆ  อีกทั้งเพิ่มยอดจับจ่ายใช้สอยในประเทศอย่างทวีคูณด้วย

สำหรับแอพพลิเคชันเริ่มต้นยอดฮิต หลายคนคงทราบดีว่าคือ วีแชท (Wechat) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมของชาวจีน และเป็นแอปที่ผู้คนนิยมใช้ส่งอั่งเปาหรือซองแดงกัน โดยมีการรายงานด้วยว่าบริษัท Tencent Holdings เป็นหนึ่งในสามธุรกิจอินเตอร์เน็ตที่มีอิทธิพลสูงสุดในจีน (BAT - Baidu, Alibaba, Tencent) มีผู้ใช้ชาวจีนมากที่สุด และยังมีทั้งรายได้และกำไรเติบโตเฉลี่ยเกินกว่า 20% อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยสำนักข่าว China Daily รายงานว่า ยอดจำนวนซองอั่งเปาที่มีการส่งให้กันบนแอพพลิเคชั่น WeChat ตั้งแต่วันที่ 7-12 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีผู้ใช้รายวันมากกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก ในปี 2018 รวมแล้วมีจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 3.2 หมื่นล้านครั้ง ด้วยจำนวนผู้ใช้ 768 ล้านคน คิดเป็นจำนวนคนเกือบครึ่งหนึ่งของขนาดประชากรชาวจีน ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าเมื่อปีที่แล้วถึง 10 เท่า เลยทีเดียว ตัวเลขนี้แสดงถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดครั้งใหญ่ เมื่อเทียบกับ5 ล้านคน ในปี 2014 ที่วีแชทเปิดตัวฟังก์ชั่นนี้เป็นครั้งแรก.

ส่วนบริษัทกลุ่ม BAT ก็ไม่พลาดที่จะสร้างกระแสการส่ง "อั่งเปาแบบดิจิตอล" ด้วยเช่นกัน โดยให้ลูกค้าผู้ใช้งานเทคโนโลยีของบริษัทสามารถแลกเปลี่ยนอั่งเปากันได้บนเครือข่ายออนไลน์ที่มีผู้ติดตามอยู่หลายร้อยล้านคน. จึงเห็นว่า ช่วงเวลาแห่งการพบปะกันของครอบครัวชาวจีน ซึ่งมีธรรมเนียมส่งอั่งเปาให้ลูกหลานในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้นคึกคักจริงๆ

น่าสนใจอย่างไร

น่าสนใจอย่างไร

มีการแย่งอั่งเปากัน ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในตอนนี้ คือ มหกรรมการแย่ง แลก แจก อั่งเปาในระบบออนไลน์  โดยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกดิจิตอลที่หยิบยื่นความสะดวกสบายให้กับสังคมผู้บริโภคปัจจุบันนี้ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่พึ่งพาเทคโนโลยีในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น แม้กระทั่งการแจกอั่งเปาในวันตรุษจีนที่ปฎิบัติกันมาเป็นพัน ๆ ปี ยังถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นอั่งเปาอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องด้วยความสะดวกรวดเร็ว และความปลอดภัย มีมากกว่า จึงเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคจีนปัจจุบันไม่อาจปฏิเสธได้.  สำหรับตัวเงินอั่งเปานั้น ยังเป็นเงินขวัญถุงที่สามารถใช้ในการเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ ในชีวิตสำหรับหลายคนทีเดียว ยิ่งในโลกดิจิตอลทุกวันนี้ผู้บริโภคยิ่งเปลี่ยนมาจับจ่ายซื้อขายกันผ่านทางออนไลน์มากขึ้น  ธุรกรรมทางการเงินจากที่เคยให้บริการผ่านธนาคารพาณิชย์ เบิก ถอน โอนเงินสด จึงเปลี่ยนมาอยู่บนโลกออนไลน์แทนด้วยนั่นเอง

ยิ่งช่วงโปรโมชั่นก่อนวันตรุษจีน บริษัท Alibaba และ Tencent มักจัดกิจกรรมคืนกำไรให้ลูกค้าด้วยการกระหน่ำแจกอั่งเปาอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน Alipay และ Wechat โดยอั่งเปาอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับนั้นสามารถใช้จ่ายได้ตามเครือข่ายร้านค้า หรือบริการที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศจีน เช่น แท็กซี่ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ จึงดึงดูดความสนใจผู้คนอย่างล้นหลาม  และยังสามารถเก็บสะสมเพิ่มยอดฝากในธนาคารเป็นการออมได้อีกทางหนึ่งด้วยหรือผู้ใช้บริการสามารถนำไปแจกจ่ายต่อแก่เพื่อนของตัวเองได้ ซึ่งจากสถิติพบว่ากิจกรรมนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี เพราะมีตัวเลขผู้ใช้บริการมากกว่าร้อยล้านบัญชี มีการแจก แลก แย่งอั่งเป่าอิเล็คทรอนิกส์มากกว่า 3 พันล้านซอง ยอดเงินจึงสะพัดในระบบออนไลน์มากกว่า 4 พันล้านหยวน ภายในวันหยุดตรุษจีนได้เพียงไม่กี่วันเลยทีเดียว

ยังมีตัวอย่างของตรุษจีนปีในสิงคโปร์ ทางธนาคารเองก็พยายามดึงคนให้มอบอั่งเปาทางช่องทางดิจิทัลกันมากขึ้น เช่น ธนาคาร Standard Chartered ปรับแอปใหม่ให้สามารถส่งเงินพร้อมข้อความสวัสดีปีใหม่ โดยร่วมกับดิสนีย์ทำให้ผู้รับได้รับภาพมิกกี้และมินนี่ขณะที่รับเงินด้วย ทางด้าน Citibank ใช้ฟีเจอร์ PayNow ตามปกติแต่เพิ่มเมนูเป็นการส่งอั่งเปา , DBS มาแปลกที่สุดด้วยการเปิดตัว QR Ang Pao สามารถไปขออั่งเปา QR ได้จากธนาคาร จากนั้นจึงเติมเงินเข้าไปในตัว QR เพื่อยื่นให้ญาติมิตรภายหลัง ผู้ได้รับอั่งเปาก็สามารถสแกนเพื่อดึงเงินเข้าบัญชีได้ สาเหตุที่ธนาคารพยายามทดลองวิธีการต่างๆ กันไปแบบนี้ก็คงเป็นเพราะการยอมรับของตลาด เพราะผู้ใช้จำนวนหนึ่งมองว่าการมอบอั่งเปาจะสมบูรณ์ก็ควรเป็นการยื่นเงินให้จริงๆ มากกว่าการโอนอิเล็กทรอนิกส์

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเข้ามามีบทบาททางการเงินของธุรกิจออนไลน์ในปัจจุบันเมื่อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ กลับลดความสำคัญของการให้บริการธุรกรรมบางอย่างของธนาคารลง ทำให้รายได้ส่วนหนึ่งของธนาคารจึงลดลงตามไปด้วย และหากเหล่าธนาคารยังไม่ปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับสถานการณ์ตลาดปัจจุบัน อาจจะส่งผลกระทบแก่ผลประกอบการในอนาคตได้แน่ๆ ส่วนผู้ประกอบการในประเทศไทยก็ไม่ควรมองข้ามความก้าวหน้าของเศรษฐกิจจีนที่ควบคู่มากับเทคโนโลยีของจีนในวันนี้ จึงต้องติดตามต่อว่านโยบายธนาคารว่าจะมีกลยุทธ์ปรับใช้เทคโนโลยีเอาใจผู้บริโภคอย่างไร  หรือว่าด้วยเจ้าอั่งเปาดิจิตอลตัวนี้จะทำใหในอนาคตธุรกิจธนาคารกลับขาดรายในด้านค่าบริการธุรกรรมทางการเงินไปได้ไม่น้อย

สรุป

สรุป

เราจึงเห็นข้อมูลที่ว่า การส่งคำอวยพรและอั่งเปาให้คนในครอบครัวและเพื่อนๆ ผ่านแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ได้มาเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ หรือเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมาจริงๆ เช่น บน WeChat  ชาวจีนสามารถส่งอั่งเปาที่ภายในมีทั้งเงินและข้อความ โดยหากมีการส่งเข้าไปในกรุ๊ปแชท คนแรกๆ ที่เปิดซองจะได้รับเงิน หากเปิดข้อความเร็วเท่าไหร่ ก็มีโอกาสได้รับเงินมากขึ้นเท่านั้น หรือการที่ผู้ใช้งานราว 340 ล้านคน สร้างสถิติใหม่ด้วยการแชร์อั่งเปาบน QQ สื่อสังคมออนไลน์อีกแพลตฟอร์มของบริษัทเทนเซ็นต์ เพราะตอนนี้เป็นยุคของอินเตอร์เน็ต ซึ่งทำให้ทุกคนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และทำให้เราได้สัมผัสกับบรรยากาศการรวมใจกันในเทศกาลของครอบครัวและมิตรสหาย เราจึงควรรู้และเข้าใจในตัวอั่งเปาดิจิตอลมากขึ้น แต่ส่วนสำคัญในด้านความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าอั่งเปาจะมีมูลค่าเท่าใดก็ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่คือคำอวยพรที่ส่งผ่านซองสีแดง ทำให้มีการเพิ่มความใกล้ชิดระหว่างคนในครอบครัวและเพื่อนๆ  ต่างคนต่างได้รับความสุขในการให้ที่แสดงถึงความรักที่มีต่อกันต่างหาก