ในทุกวันนี้ประเทศไทยเรากำลังก้าวไปสู่ยุคของสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ หมายความว่า ผู้ที่มี อายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับคนรุ่นอื่นๆ สังคมผู้สูงอายุเป็นอย่างไร? ในสังคมของผู้สูงอายุ ได้มีการแบ่งชั้น เป็นระดับด้วยว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุ ระดับไหน โดยจะดูจากเปอร์เซนต์ของจำนวนของประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการแบ่งชั้นแบบนี้

  • กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หมายความว่า สังคมแบบนี้มีแน้วโน้มของประชากรที่อายุ 60 ปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • สังคมสูงอายุ   หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า ร้อยละ 10 ของประชากรทั่วประเทศ หรือเป็นสังคมที่มีคนอายุ 65 ปีขึ้นไป เกิน ร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด
  • สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์   เป็นสังคมที่มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 20 ของประชากรทั่วทั้งประเทศ หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า ร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด
  • สังคมสูงอายุระดับสุดยอด  เป็นสังคมที่คนมีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั่วประเทศ  หรือมีคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

เมื่อเห็นการแบ่งระดับสังคมผู้สูงอายุแบบนี้แล้ว สรุปได้เลยว่า ประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะในทุกวันนี้มีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 17.1 และประเทศเรากำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบประมาณ ปี พ.ศ. 2564  มีการคาดว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ

แน่นอนว่า ถ้ามีผู้สูงอายุมากขึ้นขนาดนี้ลูกๆ ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแล เอาใจใส่ ทั้งด้านร่างกาย  จิตใจ และหน้าที่นี้เป็นธรรมเนียมปฎิบัติของคนไทยอยู่แล้ว ใครดูแลพ่อแม่ในยามแก่เฒ่า ในชีวิตจะมีแต่ความเจริญ รุ่งเรื่อง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่มีปัญหานะ โดยเฉพาะ ปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะผู้สูงอายุมักจะสูขภาพไม่ค่อยแข็งแรง เจ็บป่วยบ่อยลูกต้องดูแลอย่างใกล้ชิด  ดังนั้น ลูกจำเป็นต้องมีเงินเพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย ถ้าเราต้องทำงานทุกวัน ดูแลพ่อแม่ตลอดเวลาไม่ได้ ต้องจ้างให้คนอื่นมาดูแลแทน เมื่อรู้ว่า ตัวเองจะต้องดูแลพ่อแม่ ต้องเริ่มเตรียมตัว เริ่มวางแผนทางด้านการเงินเอาไว้ได้แล้ว ทั้งเงินที่จะใช้จ่ายเพื่อดูแลพ่อแม่ใน เรื่องอาหารการกิน ค่าใช้จ่ายยามเจ็บป่วย ทั้งค่ายา  ค่าหมอ ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งเก็บเงินเอาไว้สำหรับตัวเองเพื่อใช้ยามฉุกเฉิน และยามเกษียณด้วย ถ้าไม่เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ รับรองได้ว่าจะมีปัญหาแน่นอน

เพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้น ลูกควรจะรู้ว่ามีวิธีอะไรบ้างในการเก็บเงินเอาไว้ใช้ดูแลพ่อแม่ตอนแก่ และเก็บเงินเพื่อตัวเองเพื่อใช้หลังจากเกษียญอายุ ในบทความนี้เราได้เอาวิธีง่ายๆ มาฝาก 4 วิธีด้วยกัน  ลองอ่านและลองทำตามดูนะคะ..

1.เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้ประหยัด

1.เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตให้ประหยัด

ในตอนนี้เราอาจจะใช้ชีวิตแบบสบายๆ เพราะว่า การดำเนินชีวิตในแต่ละวันยังปกติอยู่ ทั้งของตัวเอง และพ่อแม่  เราจะไปไหน ทำอะไร ก็ทำได้ หลายคนจึงมักจะคิดว่า ทำงานมาก็เหนื่อยมากแล้ว จะประหยัดไปทำไมนักหนา ให้รางวัลกับตัวเองบ้างสิ! ถ้าชีวิตของตัวเองเป็นแบบนี้ไปตลอด คือ ยังไปทำงานได้ หาเงินได้  ไม่เจ็บป่วย ไม่แก่ และไม่ต้องดูแลใคร ย่อมทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเรามามองตามความเป็นจริง จากตัวเลขที่เราเห็น ประเทศของเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว  พ่อแม่จะอยู่กับเรานานขึ้น เราเองก็จะมีความสุขมากขึ้นที่พ่อแม่ได้อยู่กับเรานานๆ แต่ในความสุขนี้ยังคงมีความกังวลปนอยู่นิดๆโดยเฉพาะ เรื่องค่าใช้จ่าย ยิ่งพ่อแม่มีลูกคนเดียว เราต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

เราจะเริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตให้ประหยัดมากขึ้นได้มั้ย? ทำเหมือนที่พ่อแม่เคยทำสมัยที่เลี้ยงดูเรามาตอนเล็กๆ ท่านคงจะเก็บเล็กผสมน้อย มีอะไรที่สามารถประหยัดได้ก็ทำ เพื่อจะมีค่าใช้จ่ายสำหรับลูกๆ ในการเรียนหนังสือ

ตอนนี้เราเองอยู่ในยุคที่เงินหาได้ง่ายก็จริง แต่ขอบอกว่า ทุกอย่างแพงมาก! หามาได้เท่าไหร่ก็รู้สึกว่ายังไม่พอกับค่าใช้จ่าย เราจะใช้ชีวิตแบบประหยัดและเรียบง่ายขึ้นได้อย่างไร ? ส่วนตัวผู้เขียนเองเคยใช้วิธีนี้แล้วประหยัดได้จริงๆ เช่น การซื้อของใช้ในบ้านทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็นของใช้ส่วนตัว อย่าง สบู่ แชมพู ยาสีฟัน และของใช้อื่นๆอย่าง น้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน ซอส น้ำปลา และทิชชู ถ้าเราซื้อทีละชิ้น หมดเมื่อไหร่ก็ค่อยซื้อเพิ่ม เราจะเห็นว่า ราคาต่อชิ้นก็แพงอยู่นะ ถ้าเราเปลี่ยนมาเป็น ซื้อยกแพ็ค หรือ ซื้อชิ้นใหญ่ไปเลย ดีกว่ามั้ย เมื่อเทียบราคาแล้ว ราคายกแพ็คต่อชิ้นจะถูกกว่าไปหลายบาท เมื่อเอาหลายๆ บาทมารวมกันเป็นเดือน เป็นปี คิดดูสิว่า เราประหยัดได้เป็นหลักพันเลยนะ

ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือ ทำอาหารกินเองที่บ้าน แทนที่จะซื้ออาหารสำเร็จเป็นถุงๆ มากินทุกวัน เราเปลี่ยนมาเป็นซื้ออาหารสดมาทำกินเองดีกว่ามั้ย อาจจะทำเยอะหน่อย จะได้ไม่เสียเวลาและยังเก็บเอาไว้กินมื้อต่อไปได้อีก หรือจะเอาไปกินเป็นมื้อเที่ยงที่ทำงาน ช่วยประหยัดไปเกือบ100 บาทเลยนะ แถมยังได้กินอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และอร่อยด้วยเพราะเราทำเองกับมือ ส่วนอีกวิธีหนึ่งตอนแรกอาจจะรู้สึกว่ายากและอึดอัดมาก แต่พอทำนานๆ ไปจะเริ่มชินคือ เอาเงินใส่กระเป๋าตังค์เท่าที่จำเป็นต้องใช้จริงๆในแต่ละวัน ฟังดูเหมือนโหดนะ แต่ช่วยได้มากจริงๆ ถ้าคุณเป็นคนใช้ง่าย จ่ายคล่อง และชอบจ่ายตามเพื่อน ถ้าคุณเอาเงินไปจำกัด คุณก็ไม่สามารถซื้ออะไรได้อีก เพื่อวิธีนี้จะสำเร็จได้ต้องมีแรงกระตุ้นที่ดีด้วย โดยคิดถึงค่าใช้จ่ายในวันข้างหน้าที่ต้องดูแลพ่อแม่และเพื่อตัวเอง จะทำให้คุณอดทนและคิดว่า “ไม่เป็นไร ลำบากก่อน แล้วค่อยสบายทีหลัง ค่อยๆ ทำไปเดี๋ยวก็ชินไปเอง”

2.เอาใจใส่ดูแลสุขภาพของพ่อแม่

2.เอาใจใส่ดูแลสุขภาพของพ่อแม่

เมื่อคิดถึงการดูแลพ่อแม่ตอนแก่ ค่าใช้จ่ายหลักๆ คือ ค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าหมอ ค่าตรวจสุขภาพประจำปี   ค่าประกันชีวิต ค่ารักษาฟัน รักษาตา เราต่างก็รู้ว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่สุขภาพร่างกายไม่ค่อยจะแข็งแรง บางคนก็มีโรคประจำตัว บางคนก็ป่วยเรื้อรัง ลูกหลานที่ดูแลต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก เรื่องของอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนไม่มีใครบอกได้ หรือกำหนดได้ว่า จะป่วยหรือไม่ป่วย  สิ่งที่ลูกๆ ต้องทำตั้งแต่ตอนนี้ก็คือ การเอาใจใส่ดูแลสุขภาพของพ่อแม่และดูแลในเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องรอให้แก่ก่อน หรือ ป่วยก่อนค่อยทำ เพราะถ้าถึงเวลานั้นจริงๆ คงจะทำไม่ไหวแล้ว ไม่ว่าพ่อแม่คุณจะอายุเท่าไหร่แล้วในตอนนี้ สิ่งที่คุณทำได้ คือ เรื่องอาหาร เมื่ออายุมากขึ้น การใช้พลังงานน้อยลง ควรจะลดอาหารจำพวก แป้ง น้ำตาล และไขมันลง เพิ่มโปรตีนจากเนื้อสัตว์และถั่วต่างๆ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด หวานจัด มันจัด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่เพิ่มวิตามินเกลือแร่จากผักและผลไม้ ที่สำคัญควบคุมน้ำหนักด้วย  ดูแลเรื่อง  การออกกำลังกาย ถ้าไม่มีโรคประจำตัว ควรจะออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที อาทิตย์ละ 3-4 ครั้ง เพื่อช่วยให้การทำงานของหัวใจ หลอดเลือด กล้ามเนื้อดีขึ้น ที่สำคัญอีกอย่างควรหลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง เพราะเราไม่รู้ว่า เราจะมีอาการแพ้ยาหรือเปล่า จะให้ดีควรไปหาหมอถ้ามีอาการผิดปกติและตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำทุกปี  และทำจิตใจให้สงบ ผ่อนคลาย ไม่เครียด วิธีต่างๆเหล่านี้ช่วยทำให้ ห่างไกล และเลื่อนความเจ็บป่วยออกไปได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

3.เตรียมทุกอย่างที่จำเป็นตั้งแต่เนิ่นๆ

3.เตรียมทุกอย่างที่จำเป็นตั้งแต่เนิ่นๆ

การเตรียมการตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกเรื่อง โดยเฉพาะ การดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุ เราได้รู้มาบ้างแล้วว่า เพื่อจะดูแลพ่อแม่ตอนแก่อย่างสบายใจต้องเริ่มตั้งแต่ การประหยัดค่าใช้จ่ายในบ้าน  การดูแลสุขภาพ อาหารการกิน การออกกำลังกาย นอกจากเรื่องเหล่านี้ เพื่อจะทำให้การวางแผนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ยุ่งยากเมื่อถึงเวลา สิ่งที่น่าจะทำอีกคือ การทำประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ เตรียมที่อยู่อาศัย จัดบ้าน ห้องนอน ห้องน้ำ ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย เพราะผู้สูงอายุมักจะเกิดอุบัติเหตุ ลื่นล้มบ่อยๆ  และการปรึกษาหารือ พูดคุยกันกับพ่อแม่ว่า ท่านได้มีการวางแผนเรื่องค่าใช้จ่ายตอนแก่อย่างไร ? มีเงินเก็บมั้ย ? และเมื่อถึงเวลานั้นจะพอใช้จ่ายหรือเปล่า? ถ้าในครอบครัวมีลูก หลายคน เราควรจะปรึกษากันว่า ใครสามารถดูแลพ่อแม่ในส่วนไหนได้บ้าง พอเรารู้สถานการณ์คร่าวๆ แบบนี้แล้ว จะช่วยเราเตรียมการได้ง่ายขึ้น ไม่เครียด ไม่กดดัน แต่ที่สำคัญที่ควรเตรียมด้วยคือ การเตรียมใจ เพื่อรับมือกับ สภาพจิตใจ และอารมณ์ของพ่อแม่ให้ได้ รวมถึงต้องกินให้ได้ นอนให้หลับด้วย

4. เก็บออมเงินในวัยเกษียณของคุณไปด้วย

4. เก็บออมเงินในวัยเกษียณของคุณไปด้วย

เมื่อเรารู้ว่าจะต้องดูแลพ่อแม่ตอนแก่ตั้งแต่ตอนนี้แล้ว เราจะเริ่มวางแผนในการออมเงินส่วนหนึ่งเอาไว้เพื่อใช้จ่ายในส่วนของพ่อแม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่ารักษาพยาบาล ประกันชีวิต เมื่อลูกๆได้คุยกับพ่อแม่ และพี่ๆ น้องๆ ในครอบครัว เกี่ยวกับการดูแลพ่อแม่ตอนแก่แล้ว ได้ข้อมูลมาคร่าวๆ บ้างแล้ว สามารถเริ่มแผนได้เลยสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อพ่อแม่ สำหรับตัวเองจำเป็นต้องเก็บเงินเอาไว้ใช้ยามเกษียณไปพร้อมด้วย

บางครั้งหลายคนเป็นห่วงแต่พ่อแม่ จนลืมคิดถึงแผนการเก็บเงินของตัวเอง  ซึ่งสำคัญมากด้วย เพราะเราเองก็อายุมากขึ้นทุกวัน ยิ่งถ้าเราเป็นคนโสดด้วยละก็ยิ่งต้องคิดให้มาก เก็บให้มาก เพราะไม่มีใครมาดูแลเราและเราต้องดูแลพ่อแม่อีก ส่วนวิธีการออมเงินเพื่อเอาไว้ใช้หลังเกษียณ ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป ตามความถนัด ส่วนใหญ่มักจะเลือกการออมที่มีความเสี่ยงต่ำไว้ก่อน อาจจะเป็น การฝากแบบประจำกับธนาคาร ซื้อสลากออมสิน ซื้อกองทุน ไม่ว่าใครจะมีวิธีการเก็บเงินแบบไหน น่าจะ เริ่มตั้งแต่ตอนนี้  เริ่มต้นได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี จะได้มีเวลาเก็บเงินมากขึ้น จะทำให้คุณสามารถดูแลพ่อแม่ตอนแก่ และดูแลตัวเองได้อย่างสบายใจ ไร้กังวล เพราะว่าเราได้มีการเตรียมการ และวางแผนทุกอย่างเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆแล้ว

สรุป:

สรุป:

การดูแลพ่อแม่ในยามที่ท่านมีอายุมากขึ้น ดูแลตัวเองไม่ไหว ย่อมเป็นหน้าที่ของลูกๆ ที่จะต้องเอาใจใส่ดูแลท่านอย่างดี ลูกๆ หลายคนเต็มใจทำหน้าที่ส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าการดูแลพ่อแม่ตอนแก่ จะต้องใช้ทั้งกำลังกาย กำลังเงินและเวลามากก็ตาม การดูแลพ่อแม่ตอนแก่ เป็นธรรมเนียมปฎิบัติของคนไทยมานานแล้ว และลูกๆ ส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังในเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กๆ จึงทำให้ครอบครัวคนไทยมีความรัก ความผูกพัน และอบอุ่น

ผู้สูงอายุเองก็ไม่ได้เป็นภาระของสังคมด้วย เมื่อรู้ว่ามีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่อง ทำให้ลูกๆ หลายคนเริ่มทำการวางแผนทางการเงินและการดูแลสุขภาพ และเตรียมการต่างๆ เอาไว้แต่เนิ่นๆ ทำให้ไม่ต้องกังวล ไม่ว่าพ่อแม่จะอยู่กับเรานานแค่ไหนก็ตาม