ทำไมเราต้องวางแผนภาษี !? คำตอบสำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราก็คงหนีไม่พ้น มันคือหน้าที่ของเราคนไทยทุกคนที่มีเงินได้กัน เพื่อเราจะทำหน้าที่ประชาชนที่ดีโดยเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องเจอกับโทษหรือผลจากการเสียภาษีผิดพลาด ทำให้เรามีรูปแบบที่จะช่วยเราประหยัดภาษีได้สูงที่สุด. แต่ถ้าพูดถึงการวางแผนภาษี  เราก็ยังอาจคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะหรือซับซ้อนเกินกว่าจะมานั่งเข้าใจ ไม่ว่าทำวิธีไหนก็ไม่ช่วยให้ประหยัดขึ้นมาได้ แต่จริงๆแล้ว การวางแผนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ถือว่าสำคัญมาก ควรใส่ใจ เพราะเคยมีคำพูดที่ว่า คนรวยเสียภาษีน้อย คนจนเสียภาษีมาก ดังนั้น เพื่อจะไม่เป็นอย่างนั้น เราควรมีความรู้เรื่องภาษีและเตรียมการเพื่อเสียภาษีได้อย่างถูกต้อง พร้อมใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีอย่างครบถ้วนได้ด้วย สามารถทำให้เราประหยัดภาษีและมีเงินออมเพิ่มขึ้นได้ โดยแบ่งเป็น 5 วิธีการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่มนุษย์เงินดือนอย่างเราต้องรู้ ไปดูพร้อม ๆ กันเลยจ้า

รู้ประเภทเงินได้ของเรา

รู้ประเภทเงินได้ของเรา

ประเภทเงินได้ ก็คือ เงินที่ได้ประเมิน เช่น  เงิน หรือทรัพย์สินที่มีประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณเป็นเงินได้ เราจึงต้องรู้ว่าเงินได้ของเราอยู่ในประเภทไหน นำมาหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่ ซึ่งค่าใช้จ่ายของแต่ละอาชีพก็ย่อมแตกต่างกันไป มีความยากง่ายหรือต้นทุนไม่เหมือนกัน เพื่อความยุติธรรม กฎหมายจึงแบ่งลักษณะเงินได้ออกเป็นกลุ่มๆ ตามความเหมาะสม ดังนี้

  • ประเภทที่ 1 อาชีพที่ได้เงินจากการจ้างแรงงานแบบที่ตกลงกับนายจ้าง เช่น  เงินเดือน , ค่าจ้าง หรือโบนัส , เบี้ยเลี้ยง หรือ เบี้ยหวัด , บำเหน็จ หรือ บำนาญ , เงินค่าเช่าบ้านที่นายจ้างช่วยเหลือตามราคาเช่าบ้าน หรือ เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้แทนลูกจ้าง เป็นต้น
  • ประเภทที่ 2 อาชีพที่ได้เงินจากตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือ การรับทำงานให้ เช่น  ค่าธรรมเนียมที่ได้รับ , ค่านายหน้า หรือ ค่าส่วนลดต่างๆ หรือพวกเบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส และ เงินค่าเช่าบ้านจากตำแหน่งงานที่ทำ ไม่ว่าเป็นการประจำหรือชั่วคราว
  • ประเภทที่ 3 เป็นรายได้ที่มาจากทรัพย์สินทางปัญญา , ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ หรือ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ ,พวกเงินรายปี จากพินัยกรรม หรือ นิติกรรม และคำพิพากษาของศาล ที่ได้รับเงินมา เป็นต้น
  • ประเภทที่ 4 รายได้ที่มาจาก เงินปันผลหรือผลตอบแทน เช่น ดอกเบี้ย , ส่วนแบ่งกำไร หรือ เงินลดทุน - เงินเพิ่มทุน รวมถึงผลประโยชน์จากการโอนหุ้น, พันธบัตร ,ดอกเบี้ยเงินฝาก ต่างๆ โดยเราเลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนการนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นก็ได้
  • ประเภทที่ 5 คือ รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เช่น บ้านเช่า ,อพาร์ตเมนท์ ,คอนโด ,ที่ดิน หรือรถเช่า หรือการซื้อขายเงินผ่อน เป็นต้น
  • ประเภทที่ 6 คือ อาชีพที่ได้เงินจากวิชาชีพต่างๆ เช่น ทนายความ , แพทย์ ,นักบัญชี ,วิศวกร หรือ ช่างสถาปัต เป็นต้น
  • ประเภทที่ 7 คือ เงินที่ได้จากการรับเหมาที่ต้องมีการจัดหาสัมภาระต่างๆ  เช่น รับเหมาก่อสร้าง
  • ประเภทที่ 8 คือ เงินที่ได้จากการธุรกิจต่างๆ เช่น พาณิชยการ, เกษตรกรรม,  อุตสาหกรรม หรือ การขนส่ง เป็นต้น

ซึ่งแต่ละประเภทจะคำนวณหักค่าใช้จ่ายได้โดย : เงินได้ ประเภทที่ 1 และ 2   จะใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  โดนกฎหมายให้หัก ค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ส่วนเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียว ถ้ามีเหตุให้ออกจากงาน ให้คำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48(5) แต่ถ้าเป็นเงินได้ ประเภทที่ 3 ให้คำนวณภาษีเงินได้แบบบุคคลธรรมดา หักค่าใช้จ่ายได้เฉพาะเงินที่มาจากค่าลิขสิทธิ์ ไม่เกิน 60,000 บาท/ปี แต่สำหรับประเภทที่ 4 เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่กฎหมายไม่ยอมให้หัก ค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนประเภทที่ 5 - 8 จะคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่หักค่าใช้จ่ายได้.

รู้รายการภาษีเงินได้

รู้รายการภาษีเงินได้

รายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถือเป็นภาษีทางตรงที่บุคคลธรรมดาอย่างเราต้องเสีย โดยโครงสร้างในการคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มนุษย์เงินเดือนรวมอยู่ด้วย จะคำนวณจากสูตร : ภาษีที่เราจะต้องชำระ  = เงินได้สุทธิ X อัตราภาษี โดยขณะเงินได้สุทธิจะมาจาก เงินได้สุทธิ  = เงินได้พึงประเมิน  - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน  - เงินบริจาค

ดังนั้น เราจึงต้องมีกลยุทธ์ในการวางแผนเมื่อรู้รายการภาษีเงินได้ ก็คือ การลดยอดเงินได้ให้ต่ำลง  ทำได้โดย แยกรายได้ที่ได้สิทธิยกเว้นภาษีออกไป , แยกรายได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและเป็นประเภทภาษีสุดท้าย ( final tax ) ออก ,แยกรายได้จากต่างประเทศออก หรือ เปลี่ยนเงินได้เป็นสวัสดิการ และเลือกลงทุนในหลักทรัพย์. หลังจากนั้นจะต้อง เพิ่มค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น ทำได้โดย เลือกอาชีพที่หักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด แยกรายได้ให้มาจากหลากหลายอาชีพ และเรื่องเครดิตภาษีเงินปันผล. แล้วก็ดำเนินการ เพิ่มค่าลดหย่อนต่าง ๆ โดยพยายามใช้สิทธิค่าลดหย่อนตามที่กฎหมายกำหนดให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนบุตร  , ค่าเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย , การทำประกันชีวิต หรือการซื้อกองทุนต่างๆ. และสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การเพิ่มยอดเงินบริจาคให้สูงขึ้น เช่น เงินที่ได้บริจาคให้วัด  โบสถ์ หรือมัสยิด , เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา เป็นต้น

หากเรารู้รายการภาษีเงินได้ของตัวเอง และเพิ่มกลยุทธ์เข้าไป  ก็เชื่อได้เลยว่า การวางแผนภาษีของเราจะช่วยแบ่งเบาภาระให้เราได้มากเลยทีเดียว  และยังสามารถนำเงินส่วนที่ประหยัดได้ไปเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิต และบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้รวดเร็วขึ้นแน่นอน

แหล่งเงินได้และถิ่นที่อยู่

แหล่งเงินได้และถิ่นที่อยู่

หลักแหล่งเงินได้ (Source Rule) จะเป็น รายได้ที่เกิดในประเทศไหน ประเทศนั้นก็จะเป็นผู้เก็บภาษี ไม่ว่าคนที่มีรายได้คนนั้นจะมาจากประเทศอะไร เช่น ทำงานอยู่ในประเทศไทย หรือ คนต่างชาติมีกิจการอยู่ในไทย พวก ร้านอาหาร ร้านขายสินค้า หรือมีทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทย เช่น การซื้อบ้านปล่อยเช่า รวมทั้งกิจการของนายจ้างในประเทศไทย เช่น บริษัทไทยชื่อ บริษัท A จากนาย B ไปประจำสาขาที่จีน เงินเดือนของนาย B ก็มาจากบริษัทในไทย เช่นกัน

หลักถิ่นที่อยู่ (Resident Rule) จะเป็น รายได้ที่เกิดในประเทศ A แต่ว่าตัวอยู่ในประเทศไทย ประเทศไทยก็จะเป็นผู้เรียกเก็บภาษีได้ เช่น ไปทำงานต่างประเทศ  คนต่างชาติเข้ามาทำงานในไทย หรือทรัพย์สินและกิจการของคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ

โดยต้องเข้าเงื่อนไข 2 ข้อ คือ

1.อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันในปีเดียวกัน หากอยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน จะไม่ถือว่าเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย จึงไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2.ผู้มีเงินได้เป็น “ผู้อยู่ในประเทศไทย” ในปีภาษีนั้น และเป็นผู้มีเงินได้นำเงินได้เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย

แต่ถ้าตรงแค่เงื่อนไขเพียงข้อใดข้อนึง จะยังไม่ถือว่าเข้าหลักถิ่นที่อยู่นั่นเอง

สิทธิลดหย่อนต่างๆ

สิทธิลดหย่อนต่างๆ

สิทธิหักลดหย่อนภาษี ก็จะเป็นรายการต่างๆ ที่กฎหมายได้กำหนดให้หักได้เพิ่มขึ้น  หลังจากได้หักค่าใช้จ่ายแล้วมาแล้ว เพื่อช่วยบรรเทาภาระภาษีให้กับผู้เสียภาษีอย่างเราได้  ซึ่งเป็นการนำเงินได้ที่เรียกว่าเงินได้สุทธิ ไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา.  หากเรารู้ว่ามีสิทธิอะไรบ้าง จะสามารถช่วยให้เราใช้สิทธิได้อย่างถูกต้องและครบถ้วนได้ เช่น

  • การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF เราสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 150,000 บาท ต้องถือหน่วยลงทุนอย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน
  • การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF จะเน้นในการลงทุนระยะยาว เหมาะกับเราด้วยหากต้องการวางแผนยามเกษียณ ซึ่งมีการลงทุนที่หลากหลายใช้เลือก เช่น พันธบัตรรัฐบาลไป, ทองคำ หรือ สามารถสับเปลี่ยนกองทุนได้ตามสถานการณ์ด้วย แต่ต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี ขายคืนได้เมื่ออายุ 55 ปีและลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยลดหย่อนไม่เกิน 15% และไม่เกิน 500,000 บาท
  • การเลือกประกันออมทรัพย์ จะเป็นประกันที่ให้ผู้ถือกรมธรรม์ออมเงินได้ และมีความคุ้มครองในรูปแบบประกันด้วย โดยจะจ่ายคืนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และในกรณีที่ผู้ถือกรมธรรม์เสียชีวิต ก็จะมีเงินเอาประกันให้ ตามที่สัญญากำหนดไว้ แต่ต้องอายุมากกว่า 10 ปี โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาทตามจำนวนปีที่มีการทำประกัน
  • ประกันแบบบำนาญ จะเน้นผลตอบแทนในรูปแบบเงินคืน มากกว่าเน้นความคุ้มครอง จะจ่ายเงินในรูปแบบเดียวกับเงินบำนาญคือหลังผู้ถือกรมธรรม์เกษียณอายุ จึงเหมาะกับคนที่อยากมีเงินไว้ใช้ในระยะยาวของชีวิต  โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท หากรวมกับกองทุน RMF และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท
  • ประกันแบบตลอดชีพ จะเน้นความคุ้มครอง มากกว่าผลตอบแทนจากประกันให้กับเรา แต่ผู้ถือกรมธรรม์จะต้องจ่ายเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์นั้นๆ แต่จะให้การคุ้มครองตลอดชีวิต โดยสามารถนำมาลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

อัตราภาษี

อัตราภาษี

สำหรับเราทุกคน หากมีรายได้ถึงเกณฑ์กำหนด ก็จะต้องยื่นจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้กับกรมสรรพากร โดยในปีภาษี 2562 นี้ ที่จะต้องยื่นแบบในช่วงต้นปี 2563  ก็จะใช้โครงสร้างภาษีเหมือนที่ปรับใหม่ในปี 2560 แต่จะมีการเพิ่มค่าลดหย่อนใหม่หลายกรณี เช่น ปรับอัตราภาษี ร้อยละ 30 , หักค่าใช้จ่ายการรับเหมาได้ร้อยละ 50 ,เพิ่มค่าลดหย่อนผู้มีเงินได้และคู่สมรสเป็น 60,000 บาท , ค่าลดหย่อนบุตร ได้ 30,000 บาท และไม่จำกัดคน เป็นต้น ก็คือสิ่งที่เราจะได้ผลประโยชน์มากขึ้น

โดยดูจากเงินได้สุทธิต่อปี เช่น 0-150,000 บาท จะได้รับการยกเว้น ส่วนจำนวน 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี = 5% , 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี = 10% , 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี =15% , 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี =20%, 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี = 25% , 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี =30% และ 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษี  = 35% ตามลำดับ

เรื่องของภาษีเงินได้ ที่มนุษย์เงินเดือน ต้องรู้ !

เรื่องของภาษีเงินได้ ที่มนุษย์เงินเดือน ต้องรู้ !

เพราะภาษีเป็นสิ่งที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราทุกคนต้องเสีย แต่การเสียภาษีที่ดีที่สุด ก็คือ การรู้ว่าเราเสียภาษีแบบที่เหมาะสมกับรายรับตัวเองหรือไม่ และสามารถประหยัดภาษีที่ต้องจ่ายได้ในทางใดได้บ้าง ดังนั้น การวางแผนภาษีที่ดี ต้องเริ่มจากทำความเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ที่เราจะต้องเสีย และรู้จักใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้คุ้มค้า โดยวิธีในการวางแผนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือน ก็มี 5 วิธีดังที่กล่าวไป เช่น  รู้ประเภทของเงินได้ รู้แบบภาษี รู้แหล่งเงินได้และถิ่นที่อยู่ รู้ค่าลดหย่อนเพิ่มลดภาษี และ รู้อัตราการคำนวณภาษี ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เป็นเพียงข้อมูลพื้นฐาน เพื่อให้เรานำไปประยุกต์ใช้แบบที่เหมาะสมกับเราที่สุดได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการวางแผนลดหย่อนภาษี คือ การเข้าใจหลักเกณฑ์การลดหย่อน สิทธิประโยชน์ และข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้เราสามารถวางแผนภาษีได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ตามหลักการณ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และจัดการเงินได้ในระยะยาวอย่างคุ้มค่ามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจะประหยัดเงินได้รวมแล้วหลักแสนหรือหลักล้าน ก็ดีไม่น้อยเลย ! ดังนั้น หากเราเป็นคนนึงที่ เริ่มวางแผนภาษีตั้งแต่วันนี้ ก็จะช่วยลดภาระภาษีของเงินได้ ในแบบที่ไม่ผิดกฎหมาย เพิ่มความสบายใจ และเพิ่มเงินออมอย่างแน่นอน