จะยิ้มหน้าระรื่นได้อย่างไรในเมื่อราคาสินค้าข้าวของอุปโภคบริโภคที่แพงขึ้น ค่านั่นค่านู่นค่านี่ ไหนจะค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าเทอมลูก ค่า…สารพัดที่รออยู่…ทุกเดือน!! เพราะคนเราต้องกินต้องใช้ โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำ อาบเหงื่อต่างน้ำทำงานแลกเงิน แล้ว…ถ้าคนที่ต้องแบกภาระความรับผิดชอบดูแลครอบครัว มีลูก มีพ่อแม่ มีคนที่ต้องคอยจุนเจือก็อดไม่ได้ที่จะคิดว่า “จะเอาอะไรมาเลี้ยงพวกเขา!!” ในเมื่อค่าจ้างค่าแรงมันน้อยเหลือเกิน ไม่ได้บ่น!! แต่ลองคิดสักนิดระดับรากหญ้า วันละ 300 บาท ซื้ออะไรได้บ้าง? อย่าว่าแต่ซื้อเลย ลองดูว่า ออกจากบ้านค่าน้ำมัน ค่าข้าว รายจ่ายก็รออยู่หน้าประตูทุกเช้า...สมมุติว่า ซื้อข้าวราดแกงอย่างอิ่มก็จานละ 40 บาท หรือก๋วยเตี๋ยวน้ำ 1 ชามก็ 35 บาท (ไม่อิ่มนะ อยากอิ่มต้อง 2 ชามหรือไม่ก็ต้องเพิ่มข้าวเปล่า) ตัวคนเดียว ออกจากบ้านยังไงวันหนึ่งก็ต้องจ่ายที่จำเป็นค่าข้าว ค่ารถ อย่างน้อยๆ ก็เกือบ 200 บาท นับประสาอะไรคนมีครอบครัวที่จะต้องเลี้ยงหลายปากหลายท้อง เอาให้พอเพียง เป็นเรื่องยาก!! หลายคนก็เลยเฝ้ารอ…ความหวังที่ค่าจ้างขั้นต่ำจะขึ้น น่าดีใจขึ้นมานิดหนึ่งว่าเบื้องบนเขาฟังเสียงประชาชน… แม้ไม่เยอะแต่ก็ดีกว่าไม่ขึ้นเลย ว่ามั้ย? มาดูกันดีกว่าว่า ค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดต่างๆ ค่าจ้างปรับขึ้นหรือมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง?

minimum wage

Backgroundy/shutterstock.com

ค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดต่างๆ

ค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดต่างๆ

ค่าจ้างขั้นต่ำหมายถึงอะไร? “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เป็นค่าตอบแทนต่ำสุดซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายแก่ลูกจ้างเป็นรายชั่วโมง รายวันหรือรายเดือนตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีความหมายเหมือนกับค่าแรงต่ำสุดซึ่งลูกจ้างจะขายแรงงานของตน” (ดังนั้นเมื่อเราเห็นความหมายหรือคำนิยามของคำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ไปแล้วเราอาจจะสบายใจได้ระดับหนึ่งเพราะหมายความว่าแรงงานหรือลูกจ้างอย่างน้อยก็ได้รับการปกป้องจากกฎหมายไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการจ้างที่ไม่เป็นธรรม. “เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ (ฉบับที่ 9) ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง มีมติเห็นชอบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัดประจำปี 2561 มาอยู่ในช่วง 308-330 บาท/วัน (เฉลี่ย 315.97 บาท/วัน) จากอัตรา 300-310 บาท/วัน ในปี 2560 (เฉลี่ย 305.44 บาท/วัน) โดยมีผลบังคับใช้แก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป.” การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ ปี 2561 เป็นการปรับขึ้นแต่ละพื้นที่จังหวัดไม่เท่ากันทั่วประเทศขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)ที่ปรับเพิ่มขึ้น, รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP), ตัวแปรเหล่านี้เข้ามาในสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบใหม่ของประเทศไทย มีผลให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำถึง 7 ระดับ.

ค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 มี 7 ระดับ

ค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 มี 7 ระดับ

ระดับที่ 1) อัตราค่าจ้าง 308 บาท/วัน (สามร้อยแปดบาท) มี 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี ระดับที่ 2) อัตราค่าจ้าง 310 บาท/วัน (สามร้อยสิบบาท) มี 22 จังหวัด คือ สิงห์บุรี นครศรีธรรมราช ตรัง แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงราย สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ศรีสะเกษ ตาก ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ ราชบุรี ระนอง มหาสารคาม ชุมพร หนองบัวลำภู และสตูล ระดับที่ 3) อัตราค่าจ้าง 315 บาท (สามร้อยสิบห้าบาท) มี 21 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยโสธร พะเยา บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี และอ่างทอง ระดับที่ 4) อัตราค่าจ้าง 318 บาท/วัน (สามร้อยสิบแปดบาท) มี 7 จังหวัด คือ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ และปราจีนบุรี ระดับที่ 5) อัตราค่าจ้าง 320 บาท/วัน (สามร้อยยี่สิบบาท)มี 14 จังหวัด คือ อุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และพังงา ระดับที่ 6) อัตราค่าจ้าง 325 บาท/วัน (สามร้อยยี่สิบห้าบาท) มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา ระดับที่ 7) อัตราค่าจ้าง 330 บาท/วัน (สามร้อยสามสิบบาท) มี 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำโดยเฉลี่ยในปีนี้ที่อยู่ในระดับ 315.97 บาท/วัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 305.44บาท/วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเกือบ 10 บาทแล้วแต่พื้นที่ จะเห็นได้ว่า แรงงานได้รับประโยชน์โดยตรง ถึงแม้ว่าการปรับขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ไม่เท่ากันทั่วทั้งประเทศ แต่ก็ช่วยให้ลูกจ้างคนทำงานไม่ต้องรัดเข็มขัดมากนัก อีกทั้งช่วยลดแรงกดดันเรื่องค่าครองชีพที่สูง พอได้หายใจหายคอคล่องขึ้น…

หลายคนสงสัยว่าในเมื่อค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นไม่กี่บาทจะกังวลอะไรนักหนากับผลกระทบ ถ้านั่งนับหัวเป็นรายบุคคลอาจดูเหมือนไม่มากอะไร แต่ตามกฎอุปสงค์อุปทานของหลักเศรษฐศาสตร์มีผลกระทบโดยรวมแน่นอน!! ไม่ว่านักเศรษฐศาสตร์ หรือผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย รายใหญ่ และรวมทั้งผู้บริโภคไม่ว่าระดับไหนขั้นไหน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจทุกภาคส่วนได้รับผลมากบ้างน้อยบ้างตามวงจร มีงานวิจัยหลายค่ายออกมาประเมินว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะการทำงานส่วนใหญ่พึ่งเทคโนโลยีไม่ได้พึ่งแรงงานคนเป็นหลัก ส่วนผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อยอาจต้องมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเพราะต้องจ้างแรงงานในราคาที่สูงกว่าเดิม ส่วนผู้บริโภคสินค้าก็ต้องรับผลกระทบจากราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้นไปตามกลไกตลาดเศรษฐกิจและตัวแปรอย่างเลี่ยงไม่ได้ นอกจากทำใจ.

มองภาพรวม

มองภาพรวม

รายได้ของแรงงานไม่มีฝีมือและแรงงานกึ่งมีฝีมือที่เพิ่มขึ้นมาจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพบางส่วนของแรงงานให้เบาบางลงได้บ้าง รวมถึง…ช่วยแรงงานให้มีเงินในมือจับจ่ายได้คล่องขึ้นหนุนการใช้จ่ายตามกำลังซื้อที่สูงขึ้น ส่งผลบวกต่อมูลค่าจีดีพี (GDP)ในประเทศ และอาจส่งผลต่อค่าจ้างของแรงงานที่มีฝีมือหรือผู้ชำนาญงานในระดับอื่นๆ ที่อาจต้องปรับเพิ่มขึ้นด้วย (ที่จะขอเพิ่ม…จากผู้ประกอบการ) แต่ในขณะเดียวกันการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการในส่วนแรงงานของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเมื่อหลายปัจจัยรวมกันกับต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นก็อาจทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนบางรายตัดสินใจผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาผ่านมาทางด้านราคาสินค้าและบริการซึ่งจะทำให้ระดับราคาสินค้าและบริการของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น หรือผู้ประกอบการรายย่อย รายเล็กที่ได้รับผลกระทบบางรายอาจตัดสินใจลดแรงงานลูกจ้างบางส่วนลงเพื่อธุรกิจจะอยู่ได้ และคาดหมายได้ด้วยว่าอาจมีภาวะเงินเฟ้อตามมา ซึ่งเราต้องดูกันต่อไป.

3 จังหวัดที่ค่าจ้างขั้นต่ำแพงที่สุด

3 จังหวัดที่ค่าจ้างขั้นต่ำแพงที่สุด

จากโครงสร้างการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เท่าเทียมกัน จะเห็นได้ว่าโซนที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงที่สุดคือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยองปรับขึ้นเป็น 330 บาทต่อวัน (แรงงานมีเฮ!) ถ้าเปรียบเทียบการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้กับปีก่อนจะพบว่า จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ปรับเพิ่มขึ้น 22 บาท จากปีก่อนอยู่ที่ 308 บาทต่อวัน ที่มีการปรับค่าจ้างแพงกว่าจังหวัดอื่น น่าจะเป็นเพราะว่าเป็นจังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งไปสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการดึงดูดแรงงานลูกจ้างที่พอจะมีทักษะฝีมือให้เคลื่อนย้ายมาทำงานในเขต EEC มากยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่าเม็ดเงินก็สะพัดในท้องถิ่นหรือเขตจังหวัดนั้นๆ และมีการสร้างงานมากขึ้น.

3 จังหวัดที่ค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุด

3 จังหวัดที่ค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุด

ในขณะเดียวกัน จังหวัดที่ได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราน้อยที่สุดอยู่ที่ 308 บาทต่อวัน เทียบกับปีก่อนที่ไม่ได้ปรับ ก็เพิ่มขึ้น 8 บาทต่อวัน ยังเป็นกลุ่มจังหวัดที่มีนักลงทุนเข้าไปลงทุนน้อย ได้แก่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ นราธิวาส ยะลาและปัตตานี ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น น่าจะช่วยดึงดูดผู้ประกอบการหรือนักลงทุนเข้าไปลงทุนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างงานให้คนในพื้นที่มากขึ้นตามไปด้วย.

ค่าแรงค่าจ้างก็เพิ่มขึ้นกันไปแล้ว ส่วนภาคครัวเรือนก็ต้องจัดสรรเงินหรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเข้ามาอย่างถูกที่ถูกทาง เพื่อให้เหมาะสมตามกำลังครอบครัวของตัวเอง อย่าชะล่าใจ…ว่าค่าจ้างเพิ่มแล้ววางแผนจะซื้อนั่นนี่แล้วก็เป็นหนี้!! ทั้งที่ไม่จำเป็น สำรวจครัวเรือนทั้งรายรับ-รายจ่ายและจัดให้สมดุลจะเป็นมงคลชีวิตให้ทั้งตัวเองและครอบครัว ไม่ต้องปวดหัวเอามือก่ายหน้าผากกินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะชักหน้าไม่ถึงหลังอีก คิดดีทำดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ถึงแม้ค่าจ้างเพิ่มแล้ว ในส่วนของลูกจ้างจะต้องพัฒนาฝีมือและประสิทธิภาพของตัวเองต่อไปเพื่อเกิดประสิทธิผลในงานด้วย ซึ่งจะเป็นที่พอใจทั้งลูกจ้างและนายจ้าง เมื่อแต่ละฝ่ายทำหน้าที่ของตัวเอง น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ไม่ว่าจะเป็นส่วนขององค์กร สังคม และประเทศชาติก็จะพากันขับเคลื่อนและประคับประคองกันไปในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ได้อย่างยั่งยืน.

ขอบคุณข้อมูลจาก https://th.m.wikipedia.org https://www.sanook.com/