เมื่อความรักของคนสองคนนั้นเริ่มสุกงอม คนสองคนจึงตัดสินใจขอใช้ชีวิตร่วมกันโดยผ่านพิธีวิวาห์ และทั้งสองก็ถูกรวมเป็นหนึ่งทางนิตินัยในทันทีที่ได้จดทะเบียนสมรสร่วมกัน ซึ่งถัดไปจากนี้ทุกๆสิ่งทั้งทางพฤตินัยและนิตินัยนั้นก็ถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันโดยปริยาย แน่นอนด้วยว่าทุกสิ่งต่อไปจากนี้ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นได้หมายรวมไปถึงเงินในกระเป๋าของทั้งคู่ด้วยค่ะ หรือที่เราเข้าใจ และเรียกอีกอย่างกันว่า “สินสมรส” นั่นเองค่ะ หลายๆคนอาจพอทราบความหมายและรู้เรื่องเป็นอย่างดีในเรื่องของสินสมรสกันแล้ว แต่ทราบไหมคะนอกจากในเรื่องของสินสมรสแล้ว ก็ยังมีเรื่องของหนี้สมรสอีกด้วยค่ะ

หลายคนอาจงงว่า “เอ๊ะ! มีด้วยหรือ หนี้สมรสเนี่ยะ?” ตอบได้เลยว่า “มีค่ะ” เพราะว่าเมื่อคนสองคนนั้นจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ทั้งเงินและสินทรัพย์ที่หาได้ก็ยังถูกหลอมรวมเป็นหนึ่ง ในส่วนของหนี้สินเองก็เช่นกันก็ต้องถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งด้วย สิ่งนี้เราจึงเรียกว่าหนี้สมรสค่ะ วันนี้เราจึงขอนำเรื่องราวของหนี้สมรสมาให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกันค่ะ กับ “4 หนี้สินหลังแต่งงาน ที่เธอและฉันต้องรับผิดชอบ” ซึ่ง 4 หนี้สินที่จะหยิบยกมากล่าวถึงกันต่อไปนี้นั้น บอกได้เลยว่าเป็นหนี้สินที่คู่สมรสนั้นจะต้องรับผิดชอบร่วมกันไปตลอด ไม่ว่าในอนาคตคนทั้งสองคนจะยังมีสถานะเป็นคู่สมรสกันอยู่หรือไม่ก็ตามทีค่ะ จะมีอะไรกันบ้างนั้น เรามาติดตามไปพร้อมๆกันได้เลยค่ะ

หนี้สินที่เกี่ยวกับสินสมรส

หนี้สินที่เกี่ยวกับสินสมรส

คำว่า “หนี้สินที่เกี่ยวกับสินสมรส” นี้คือ หนี้สินที่ถูกสร้างขึ้นไม่ว่าจะจากสามี ภรรยา หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตามมาใช้เพื่อก่อประโยชน์ในการสร้างสินทรัพย์ระหว่างจดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้อง ให้นับว่าเป็นหนี้สินที่ทั้งคู่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ตัวอย่างเช่น สามีอาจทำการกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน  บ้านจึงนับว่าเป็นสินสมรส และในส่วนของเงินที่กู้มาเพื่อซื้อบ้าน จึงเป็นหนี้สินที่เกี่ยวกับสินสมรส ภรรยาจึงต้องร่วมรับผิดชอบในหนี้สินนี้ด้วย หรือสามีอาจกู้เงินมาเพื่อใช้ในการต่อเติม ซ่อมแซมบ้านที่เป็นสินสมรสนั้น หนี้สินที่เกิดขึ้นจากการกู้นี้ ภรรยาก็ต้องร่วมรับผิดชอบในหนี้สินด้วยเช่นกันค่ะ เพราะเงินที่กู้มานั้นใช้เพื่อต่อเติม ซ่อมแซมบ้านหลังที่เป็นสินสมรสของทั้งคู่นั่นเอง เป็นต้น

หนี้สินที่เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือนและสิ่งจำเป็นในครอบครัว

หนี้สินที่เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือนและสิ่งจำเป็นในครอบครัว

หนี้สินที่เกี่ยวกับการจัดการบ้านเรือนและสิ่งจำเป็นในครอบครัว หนี้สินในหัวข้อนี้ก็อย่างเช่น หนี้สินที่เกิดจากการรักษาพยาบาลของคนในครอบครัว เกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตร การศึกษาของบุตร เป็นต้นค่ะ โดยหนี้สินที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ทั้งสองคนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบค่ะ แม้ว่าอีกคนจะไม่ได้ใช้ชื่อยื่นขอกู้ก็ตามที ก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วยค่ะ โดยกฎหมายระบุว่า จำนวนบุคคล และจำนวนหนี้ต้องสมเหตุสมผลตามอัตภาพ ซึ่งหากมากเกินไป ก็จะกลายเป็นหนี้ส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายที่ไปก่อหนี้นั้นค่ะ

หนี้สินจากอาชีพการงานที่ทำร่วมกันระหว่างคู่สมรส

หนี้สินจากอาชีพการงานที่ทำร่วมกันระหว่างคู่สมรส

อีกหนึ่งหนี้สินที่คู่สมรสจะต้องร่วมกันรับผิดชอบนั่นคือ หนี้สินจากอาชีพการงานที่ทำร่วมกันระหว่างคู่สมรส ซึ่งอาจเป็นหนี้สินจากการยื่นขอกู้เพื่อทำธุรกิจร่วมกันของสามีภรรยา อย่างเช่น การเปิดร้านขายของด้วยกัน ซึ่งหนี้สินที่เกิดขึ้นนั้นว่าจะเป็นเรื่องของค่าสินค้า อุปกรณ์ค้าขาย ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ ก็ให้จัดเป็นหนี้สินที่ทั้งสองสามีภรรยาจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน แม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่ได้ใช้ชื่อในการขอยื่นกู้ด้วยค่ะ

หนี้สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน

หนี้สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน

มาถึงหนี้สินหลังแต่งงานอย่างสุดท้ายที่ทั้งสองจะต้องแบกความรับผิดชอบไว้ร่วมกันนั่นก็คือ หนี้สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน หนี้สินในข้อนี้หมายความว่า หากเป็นหนี้สินที่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ไปก่อไว้ในขณะที่จดทะเบียนสมรสกันนั้น หากอีกฝ่ายได้ลงชื่อเป็นพยานไว้ หรือให้ความยินยอมไม่ว่าจะเป็นทางวาจาหรือการทำเป็นหนังสือก็ตาม อีกฝ่ายจะต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบด้วย แม้ว่าชื่อของการสร้างหนี้สินนั้นจะใช้ชื่อของคู่สมรสเพียงคนเดียวก็ตามทีค่ะ ตัวอย่างเช่น หากสามีได้ไปทำสัญญาสินเชื่อ หรือสัญญากู้ต่างๆ  หากภรรยาเป็นพยานโดยการลงชื่อไว้ หรือให้ความยินยอมด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ตาม หนี้สินที่เกิดขึ้นนั้นจะตกเป็นหนี้สินร่วมกันของสามีภรรยาในทันทีค่ะ อย่างไรก็ตามหนี้สินในหัวข้อนี้ หากทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นก่อนการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แม้ว่าอีกฝ่ายจะลงชื่อเป็นพยาน หรือยินยอมก็ตามที ก็จะยังคงเป็นหนี้สินส่วนตัว ไม่ใช่หนี้สินร่วมกันค่ะ ซึ่งลักษณะนี้อีกฝ่ายไม่ต้องร่วมรับผิดชอบค่ะ

คิดจะมีคู่..ก็ต้องสู้ทุกอย่างไปด้วยกัน..

คิดจะมีคู่..ก็ต้องสู้ทุกอย่างไปด้วยกัน..

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับ ”4 หนี้สินหลังแต่งงาน ที่เธอและฉันต้องรับผิดชอบ” คงพอให้ทุกคนได้รู้จัก และเข้าใจคำว่าหนี้สมรสกันได้มากขึ้นนะคะ ว่าหนี้สินแบบไหนบ้างที่ทั้งคู่จะต้องแบกความรับผิดชอบร่วมกันไป ในส่วนเรื่องของหนี้สินที่เกิดมาก่อนจดทะเบียนสมรส ซึ่งแน่นอนว่านั่นถือเป็นหนี้สินส่วนตัว ก็จะต้องนำสินส่วนตัวมาใช้ในการชำระหนี้ แต่หากมีไม่เพียงพอก็จะต้องนำสินสมรสในส่วนของตัวเองมาใช้ในการชำระหนี้ต่อไปให้หมดค่ะ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันนั้น การเปิดใจคุยกันเรื่องเงินทอง หรือภาระหนี้สินก่อนการสมรสนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งคู่ควรจะรับทราบ และทำความเข้าใจระหว่างกันมาก่อนหน้าเป็นอย่างดีแล้ว เพราะการสร้างครอบครัวหลังจากนี้อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้กับหนี้สินในอนาคตที่อาจต้องเกิดขึ้นหลังแต่งงาน การช่วยกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ และช่วยกันวางแผนการเงินของครอบครัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้สินในครอบครัวขึ้นได้ในภายหลังค่ะ