เคยไหมคะที่จะต้องประสบปัญหาว่าทำไมเงินเดือนใช้ได้ไม่ชนเดือนกันสักที ได้รับเงินเดือนมาใช้ยังไม่ถึงสิ้นเดือนก็หมดเสียแล้ว บางทีก็เงินเกือบหมดกันตั้งแต่กลางเดือนเลยก็มีใช่ไหมคะ กว่าวันเวลาจะเลยผ่านไปเข้าใกล้สิ้นเดือน ความรู้สึกก็จะประมาณว่าแทบใกล้จะสิ้นใจตามทุกครั้งไป ความหวังจะมีเงินเหลือเก็บเหมือนคนอื่นๆก็เป็นได้แค่ในฝันเท่านั้น เพราะอาศัยค่าใช้จ่ายภายในเดือนยังแทบจะไม่พอกันเลย หลายๆคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมเราประหยัดมากขึ้นแล้ว แต่ผลออกมาเงินก็ยังคงไม่พอใช้เหมือนเดิม เป็นเพราะอะไร?

แม้การบริหารเงินให้พอใช้ไปตลอดเดือนนั้นจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ เนื่องจากรายได้และภาระที่มีของแต่ละคนแตกต่างกัน แต่ก็ใช่ว่าความมากหรือน้อยของรายได้นั้นจะเป็นตัวแปรกำหนดให้เรามีเงินพอใช้หรือไม่พอใช้ต่อเดือนเสมอไปค่ะ เพราะแท้จริงแล้วสาเหตุหลักของการมีเงินไม่พอใช้ตลอดเดือนนั้นเป็นเพราะพฤติกรรมบางอย่างของเรานั่นเองค่ะ ในวันนี้เราจึงขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับพฤติกรรมที่หากได้นำไปใช้กันแล้ว รับรองได้ว่าคุณจะมีเงินพอใช้ไปตลอดเดือนได้อย่างแน่นอน แถมเผลอๆยังมีเงินเหลือเก็บฝากธนาคารกันอีกด้วยกับ “4 เรื่องง่ายๆ…ทำได้ไม่มีจน (แถมเหลือเก็บด้วย)”  คงอยากรู้กันแล้วสิคะว่าจะมีพฤติกรรมอะไรบ้าง ถ้าอย่างนั้นเชิญไปติดตามกันได้เลยค่ะ

1. ลดการทานข้าวนอกบ้าน

1. ลดการทานข้าวนอกบ้าน

ในปัจจุบันที่ชีวิตมีแต่ความเร่งรีบ เพราะต้องแข่งกับเวลาเพื่อออกจากบ้านไปทำงานทุกวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น หลายๆคนคงเลือกจะฝากท้องในแต่ละวันไว้กับร้านอาหารข้างนอกเพราะความสะดวกกันใช่ไหมคะ ราคาอาหารในทุกวันนี้ของร้านข้าวแกง ร้านอาหารตามสั่งธรรมดาข้างทางหากคิดรวมน้ำดื่มด้วยก็ต้องมีอย่างน้อยๆก็มื้อละ 100 บาทถึงจะพออิ่มท้องได้ ยิ่งถ้าซื้อทานหลายมื้อด้วยก็ยิ่งเป็นจำนวนเงินรวมต่อเดือนที่ไม่น้อยเลย แม้ว่าค่าอาหารจะเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นที่ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ แต่เราก็สามารถเลือกที่จะประหยัดกับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ด้วยการลดการทานข้าวนอกบ้านให้น้อยลงมากที่สุดค่ะ อาจใช้วิธีง่ายๆด้วยการเข้าครัวเป็นพ่อครัวแม่ครัวกันเสียเอง แล้วแพ็คอาหารไปรับประทานที่ทำงานด้วย ก็จะช่วยประหยัดกับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ถึงเท่าตัวเชียวค่ะ เพราะโดยทั่วไปหากราคาอาหารตามร้านที่เราจ่ายนั้นมื้อละ 100 บาท ต้นทุนของร้านก็มักจะอยู่ที่ประมาณ 30 -50 บาทค่ะ นั่นแสดงว่าหากค่าอาหารต่อเดือนของเรา 10,000 บาท การทำอาหารทานเองก็สามารถประหยัดได้อย่างน้อยๆก็ประมาณ 5,000 บาทต่อเดือนเชียวค่ะ ไม่ใช่จำนวนที่น้อยๆเลยใช่ไหมคะ

2. ลดการรูดบัตรเครดิต

2. ลดการรูดบัตรเครดิต

บัตรเครดิตหากว่าเรามีติดกระเป๋าไว้และรู้จักใช้ ก็จะเป็นประโยชน์ได้หลากหลายค่ะ ทั้งในเรื่องของส่วนลดจากร้านค้าหรือบริการที่หลากหลาย สิทธิพิเศษต่างๆ หรือแม้จะยามที่เรามีเหตุฉุกเฉินต่างๆเกิดขึ้นการมีบัตรเครดิตก็สามารถช่วยแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าให้กับเราได้ค่ะ แต่น่าเสียดายที่พฤติกรรมในการใช้จ่ายของคนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้กลับไม่ได้มีการใช้บัตรเครดิตให้เกิดประโยชน์ ซ้ำร้ายยังกลับใช้จนเกิดโทษอีกต่างหาก เป็นหนี้เป็นสินตามมาให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือนจนต้องตามใช้หนี้กันไม่หวาดไม่ไหว การลดการรูดบัตรเครดิตให้น้อยลง เลือกรูดบัตรเครดิตแต่ในเรื่องที่จำเป็นจริงๆหรือฉุกเฉินเท่านั้น และหันมาใช้จ่ายเงินสดเท่าที่เรามีแทน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการนำไปสู่ภาวะการเป็นหนี้สินได้ค่ะ เมื่อในแต่ละเดือนเราไม่มีหนี้สินที่จะต้องนำไปชำระให้กับบัตรเครดิต เราก็จะมีเงินเพียงพอในการใช้จ่ายไปได้ตลอดเดือนนั่นเองค่ะ เพราะสาเหตุหลักที่ทำให้คนเราเงินเดือนไม่พอใช้กัน นั่นก็เป็นเพราะว่าเรานำเงินเดือนไปจ่ายหนี้สินที่มีกันจนเกือบจะหมดกันตั้งแต่ต้นเดือนแล้วนั่นเองค่ะ

3. แยกบัญชีเงินออม

3. แยกบัญชีเงินออม

หากเราเป็นคนหนึ่งที่ต้องการอยากจะมีเงินเก็บไว้เพื่ออนาคตด้วยแล้วล่ะก็เราควรจะเปิดบัญชีธนาคารไว้สักเล่มหนึ่งค่ะ เป็นการแยกบัญชีเงินออมกับบัญชีใช้จ่ายออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อที่เราจะได้ไม่เผลอใช้จ่ายจนไปดึงเอาเงินส่วนที่ตั้งใจจะเก็บออมไว้ออกมาใช้ค่ะ ถึงแม้บางท่านจะได้เคยทำตามคำแนะนำในข้อนี้มาแล้ว แต่ผลสุดท้ายก็ดึงเอาเงินเก็บที่มีออกมาใช้จ่ายอยู่ดี จนในทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นคนที่ไม่มีเงินเก็บเหมือนเดิม เราจึงอยากเพิ่มทริคเล็กๆน้อยๆไว้ให้เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสในการเก็บเงินให้อยู่กันได้มากขึ้นค่ะ  คือบัญชีเงินออมที่เราไปเปิดไว้เพื่อใช้ในการออมเงินนั้น ควรใช้วิธีทำให้ขั้นตอนการถอนเป็นเรื่องยุ่งยากค่ะ เพราะยิ่งถอนยาก ถอนลำบากเท่าไหร่ โอกาสคิดก่อนไปถอนเงินจะมีเพิ่มมากขึ้นค่ะ ฉะนั้นบัตรเอทีเอ็มของบัญชีเงินออมนี้จึงไม่ควรเปิดใช้บริการ และควรเลือกเปิดบัญชีกับธนาคารที่เราไม่ค่อยสะดวกในการเดินทางก็จะช่วยได้ หรืออาจจะเพิ่มความยากในการถอนเข้าไปอีกด้วยการฝากประจำ หรือซื้อพันธบัตรก็ดีไม่น้อยค่ะ ที่นี้เงินเก็บของคุณก็จะสะสมอยู่ในบัญชีได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็ต้องรู้จักปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเองให้รู้จักประหยัด อดทน และต้องมีความตั้งใจจริงที่จะเก็บเงิน ไม่อย่างนั้นต่อให้การถอนจะมีขั้นตอนยุ่งยาก ซับซ้อนสักเพียงไหน คุณก็จะพยายามไปถอนออกมาจนได้ล่ะค่ะ

4. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย

4. ทำบัญชีรายรับรายจ่าย

การทำบัญชีรายรับรายจ่ายก็เป็นเครื่องมือวางแผนการเงินที่สำคัญที่จะช่วยให้เรามีเงินพอใช้ไปได้ตลอดเดือน หรืออาจถึงขั้นมีเงินเก็บกันได้เลยทีเดียวค่ะ เพราะจะช่วยทำให้เราสามารถตรวจสอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นของเราในแต่ละวัน แต่ละเดือนได้เป็นอย่างดีว่ามีรายจ่ายจำพวกใดที่เราจ่ายไปโดยไม่จำเป็น หรือมีค่าใช้จ่ายจำพวกไหนที่เราสามารถประหยัดเพิ่มได้อีก ซึ่งจะช่วยให้เราได้ทราบที่มาที่ไปของทั้งรายรับรายจ่ายแบบไม่ตกหล่นของเราเองทั้งหมดค่ะ โดยที่เราสามารถดูประวัติย้อนหลัง และตรวจสอบค่าใช้จ่ายของเราเพื่อใช้ในการวางแผนการใช้จ่ายต่อๆไปได้ดีขึ้นค่ะ ในยุคเทคโลโลยีที่ก้าวหน้าปัจจุบันเช่นนี้ การทำบัญชีรายรับรายจ่ายจึงไม่จำเป็นต้องใช้การจดลงสมุด และคอยเก็บรักษาใบเสร็จหลายๆใบเพื่อมาใช้ทำบัญชีเหมือนในสมัยก่อนกันแล้วค่ะ เพราะมีแอพพลิเคชั่นมากมายให้เลือกโหลดมาใช้กันฟรีๆในการทำบัญชีรายรับรายจ่ายอยู่มากมายหลากหลาย แถมยังมีฟังก์ชั่นต่างๆที่ง่ายและอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งานอีกด้วย ลองค้นหามาใช้กันดู รับรองว่าจะต้องติดใจค่ะ

งานนี้.. เริ่มก่อน.. ก็ได้เปรียบ..

งานนี้.. เริ่มก่อน.. ก็ได้เปรียบ..

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับ ”4 เรื่องง่ายๆ…ทำได้ไม่มีจน (แถมเหลือเก็บด้วย)” แต่ละวิธีก็เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายสมชื่อจริงๆเลยใช่ไหมล่ะค่ะ และแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย แต่หากไม่มีความใส่ใจที่จะทำแล้ว เรื่องง่ายๆก็กลับกลายไปเป็นเรื่องยากขึ้นมาได้ในทันทีเลยล่ะค่ะ ทั้งนี้การจะมีเงินพอใช้ไปตลอดเดือน หรือถึงขั้นมีเงินเก็บได้ก็ต้องอาศัยความตั้งใจจริงของตัวเราเองล้วนๆเป็นหลักสำคัญเท่านั้นถึงจะเห็นผลได้ดีที่สุดค่ะ นอกจากนี้การเริ่มที่จะลงมือทำได้เร็วมากเท่าใด ก็จะช่วยส่งผลดีให้กับเราในอนาคตได้มากขึ้นเท่านั้นอีกด้วยค่ะ งานนี้จึงเรียกได้ว่า “เริ่มก่อน ย่อมได้เปรียบ” ค่ะ