ประกันภัย คืออะไร

ประกันภัย คืออะไร

หลายคนเข้าใจว่าการทำประกันภัยคือการจ่ายเงินไว้ล่วงหน้าเผื่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งก็ถูก แต่รู้ไหมคะว่าจริงๆแล้ว การทำประกันภัยยังเป็นการกระจายความเสี่ยงทางการเงินวิธีหนึ่งและถือเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารเงินด้วย ทำไมถึงบอกแบบนั้น?

อย่างที่หลายคนเข้าใจว่า การทำประกันภัยเป็นการจ่ายเงินไว้ล่วงหน้าเผื่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเราไม่รู้ว่าเหตุการณ์ในอนาคตที่อาจส่งผลกระทบกับสภาพการเงินของเราและชีวิตของเราจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ดังนั้น การทำประกันภัยก็จะเป็นการกระจายความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เมื่อเราเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพการเงินหรือชีวิตของเรา เราซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย จะไม่ต้องแบกรับความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่บริษัทประกันภัยที่เราทำประกันภัยไว้ด้วยก็จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น และเราซึ่งเป็นคนทำประกันภัยหรือผู้เอาประกันภัย ก็มีหน้าที่ ที่จะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามที่บริษัทประกันภัยกำหนดไว้ด้วย

แต่ทุกวันนี้มีประกันภัยหลากหลายประเภท ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจทำประกันภัยกับที่ไหน ก็อย่าลืมทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขประกันภัยและรายละเอียดกรมธรรม์ก่อน อย่างในเว็บไซต์ MoneyDuck ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับประกันภัยเพื่อให้เราได้เปรียบเทียบบริการต่างๆ จะได้เลือกซื้อประกันภัยตัวที่คุ้มค่าที่สุด เหมาะกับตัวเราที่สุดและทรัพย์สินของเราที่สุดด้วย

ทำไมควรทำประกัน

บางคนอาจรู้สึกว่า การทำประกันเสียดายตังค์เปล่าๆ ถึงเราจะมีความคิดแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะการทำประกัน เป็นการจ่ายเงินเพื่อประกันความเสียหายล่วงหน้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และคำว่า "อาจจะ" ทำให้หลายคนกลัวว่าจะต้องเสียค่าเบี้ยประกันไปเปล่าๆถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ซึ่งที่จริงแล้วก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เพราะอนาคตเป็นสิ่งเดียวที่เราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าและกำหนดอะไรไม่ได้เลย เราไม่รู้เลยว่าในวันพรุ่งนี้จะมีเกิดอะไรขึ้นบ้าง และหลายครั้งที่ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้กระทบแค่ตัวเราคนเดียว แต่ยังกระทบถึงคนที่เรารักด้วย เมื่อคิดดีๆแล้ว การทำประกันเอาไว้ ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และทุกวันนี้ก็มีประกันภัยหลายรูปแบบ ค่าเบี้ยประกันก็ไม่ได้แพงอย่างที่เราคิดด้วย

ข้อดีของการทำประกัน

"ประกันภัยไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ถูกออกแบบมาเพื่อให้เราสร้างหลักประกัน ให้กับตัวเราเอง ให้กับคนที่อยู่ข้างหลัง หรือแม้แต่ให้กับธุรกิจ ซึ่งนี่ก็เป็นประโยชน์หลักๆของการทำประกันเลยก็ว่าได้ แต่เพื่อนๆรู้ไหมว่า จริงๆแล้ว "ประโยชน์ของประกัน" มีอะไรบ้าง อยากพูดถึงข้อดีของการทำประกันไว้ นอกเหนือจากการเป็นหลักประกันทางการเงินกัน อย่างเช่น ใช้เพื่อลดหย่อนภาษี เป็นมรดกปลอดภาษี เครดิตด้านการเงินดีขึ้น และช่วยสร้างนิสัยการออม

ถึงจะเห็นข้อดีหลายอย่างของการทำประกันไว้ แต่ก็อย่าลืมอ่านรายละเอียดและเงื่อนไขของประกันภัยกันก่อนทำ

ประเภทของประกันภัย

หลายคนอาจจะคิดว่าประกันภัยก็เหมือนกันหมดนั่นแหละ แต่รู้ไหมคะว่า ถ้าแยกกันตามหลักกฎหมาย และก็หลักพาณิชแล้ว ประกันชีวิต และประกันรถยนต์ ถูกจัดให้อยู่คนละประเภทกัน ซึ่งแต่ละประเทศก็จัดประเภทของประกันภัยต่างกัน และในบ้านเรา เมื่อแยกประเภทของประกันภัยตามหลักกฎหมายและพาณิชย์แล้วก็จะแบ่งออกมาได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆค่ะ ก็คือประกันชีวิต และประกันวินาศภัย

ประกันชีวิต ก็คือประกันภัยที่เน้นให้การคุ้มครองต่อคนที่ทำประกันภัยไว้แล้วเสียชีวิต หรือที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งแบบการประกันชีวิตนั้นจะมีอยู่ 4 แบบหลักด้วยกัน คือ การประกันชีวิตแบบตลอดชีพ การประกันชีวิตแบบเฉพาะการ การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และการประกันชีวิตแบบมีรายได้ประจำ

การประกันวินาศภัย ก็คือหลักประกันเพื่อคุ้มครองเราจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เรียกได้ว่านอกจากประกันชีวิตแล้ว ที่เหลือทั้งหมดก็ถือได้ว่าเป็นประกันวินาศภัยทั้งนั้นค่ะ และการประกันวินาศภัยก็มีอยู่ด้วยกัน 4 แบบค่ะ คือ การประกันภัยอัคคีภัยหรือการประกันภัยทรัพย์สิน การประกันภัยการขนส่งและภัยทางทะเล การประกันภัยเบ็ดเตล็ด และการประกันภัยรถยนต์

ประกันชีวิต

เหตุผลที่เราต้องรู้จักประเภทของประกันชีวิต เพื่อจะได้เลือกแบบที่เหมาะกับเราที่สุด มาดูกันค่ะว่าแบบไหนเหมาะกับเรา

ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term) ส่วนใหญ่แล้วประกันชีวิตประเภทนี้จะเป็นการคุ้มครองแบบระยะสั้นๆ ข้อดีคือเพราะเป็นการประกันชีวิตแบบระยะสั้นทำให้ค่าเบี้ยประกันจะถูก แต่ข้อเสียคือเป็นเบี้ยประกันภัยแบบที่จ่ายแล้วทิ้งคือ เราจะไม่ได้ค่าเบี้ยประกันที่เราจ่ายไปคืนมา

ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life) ประกันชีวิตประเภทนี้จะเป็นแบบที่เราต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันระยะยาวขึ้นอยู่กับสัญญาที่เราทำไว้กับบริษัทประกันภัยค่ะ ข้อดีของประกันชีวิตแบบตลอดชีพก็คือเมื่อเราจ่ายค่าเบี้ย ประกันไปจนถึงอายุที่บริษัทประกันภัยกำหนดหรือเมื่อเราเสียชีวิต ก็จะเป็นมรดกที่ส่งต่อให้คนที่รับผลประโยชน์ทางประกันภัยของเรา

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment Lnsurance) อาจจะเรียกได้ว่าเป็นประกันชีวิตแบบที่ได้รับความนิยมมากๆในตอนนี้เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นประกันชีวิตที่จะได้เงินคืนมากกว่าค่าเบี้ยประกันที่จ่ายไป เมื่อสัญญาประกันชีวิตของเราครบกำหนดก็จะได้ผลตอบแทนรายปี

ประกันชีวิตแบบบํานาญ (Annuity) เป็นประกันชีวิตที่ช่วยให้มีเงินใช้หลังจากที่เราเกษียณตัวแล้ว โดยค่าเบี้ยประกันชีวิตที่เราจ่ายไปก็จะเป็นเหมือนเงินออมของเรา คล้ายๆกับเงินบำนาญนั่นเอง

ประกันชีวิตแบบที่ควบการลงทุน ยูนิตลิ้งค์ (Unit Link) และ ยูนิเวอร์แซล (Universal) ประกันภัยประเภทนี้ เมื่อเราจ่ายค่าเบี้ยประกันไปแล้วทางบริษัทประกันภัยก็จะแบ่ง ค่าเบี้ยประกันของเราออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะเอาไปเป็นค่าใช้จ่ายในการทำประกันชีวิตของเรา และส่วนที่เหลือทางบริษัทประกันภัยก็จะนำไปลงทุน สรุปง่ายๆก็เหมือนเรายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว จ่ายเบี้ยประกันอย่างเดียว ก็ได้รับทั้งความคุ้มครอง และก็มีเงินออมในการลงทุนไปในตัวด้วย เห็นกันไหมคะว่าแค่ประกันชีวิตตัวเดียวก็แยกออกมาได้ตั้งหลายแบบแล้ว

ประกันสุขภาพ

"การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ" คิดว่าหลายคนคงรู้จักสำนวนนี้กันดี เพราะไม่มีใครอยากจะป่วย หรือไม่สบาย แต่สภาพของโลกเราในปัจจุบัน รวมทั้งอาหารการกินของเราในสมัยนี้ จะให้ไม่ป่วยเป็นโรคอะไรเลยก็คงยากจริงไหมคะ แล้วเพราะแบบนี้ทำให้หลายๆคนนึกถึงการทำ "ประกันสุขภาพ" กันมากขึ้นค่ะ เพราะเมื่อเราทำประกันสุขภาพ แล้วเราเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ทางบริษัทประกันภัยที่เราทำก็จะจ่ายเงินให้กับเรา ทำให้เราไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้เองคนเดียว ซึ่งประกันสุขภาพก็จะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆคือ ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุแบบเดี่ยวเป็นรายบุคคลและประกันสุขภาพและอุบัติเหตุแบบเป็นกลุ่ม

ข้อดีของการทำประกันสุขภาพคือ เมื่อประสบอุบัติเหตุหรือว่าเจ็บป่วยและต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล บริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบค่าห้องพักในโรงพยาบาล ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล หรือค่าบริการอื่นๆในการรักษา รวมทั้งเงินชดเชยรายได้ระหว่างที่เราต้องนอนโรงพยาบาลด้วย แต่ความคุ้มครองหรือเงินชดเชยที่บริษัทประกันภัยแต่ละที่ให้นั้นก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ก่อนเลือกซื้อประกันสุขภาพ เราต้องศึกษาประเภทของประกันสุขภาพ และความคุ้มครองดีๆก่อนการตัดสินใจ

ประกันรถยนต์

สิ่งที่คนพึ่งถอยรถใหม่ออกมาจะคิดถึงเลยก็คือการทำ "ประกันภัยรถยนต์" แต่จริงๆแล้วไม่ว่ารถยนต์ที่เรามีจะเป็นรถใหม่หรือรถที่ใช้งานมานานแล้ว การทำประกันภัยรถยนต์ก็เป็นสิ่งที่เราทุกคนควรจะคิดถึงกัน ตราบใดที่เรายังต้องเดินทางและใช้ชีวิตส่วนหนึ่งบนท้องถนน เราทุกคนก็มีสิทธิ์จะประสบกับอุบัติเหตุบนท้องถนนจากการขับขี่ได้ ดังนั้น เมื่อคิดถึงความเสี่ยงของชีวิตที่เราแต่ละคนต้องเจอ ทำให้หลายคนคิดถึงการทำประกันภัยรถยนต์กันมากขึ้น และในปัจจุบันก็มีกฎหมายออกมา เพื่อกำหนดให้เจ้าของรถยนต์ทุกคันจะต้องทำประกันภัยรถยนต์ เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความคุ้มครองต่อการสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งสามารถแบ่งออกมาได้ 2 ประเภท คือ

ประกันรถยนต์ภาคบังคับหรือก็คือพรบ.รถยนต์ ที่เรารู้จักกันนั่นเอง พรบ.รถยนต์ ตัวนี้จะให้ความคุ้มครองกับบุคคลที่สามเป็นหลัก ก็คือเป็นการที่ให้ความคุ้มครองค่าเสียหายที่เราทำให้กับคนอื่นค่ะ และคนที่ไม่ทำพรบ.รถยนต์ เอาไว้ก็จะเท่ากับว่าทำผิดกฎหมายด้วย

ประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ ก็คือเป็นประกันรถยนต์ที่ไม่มีการบังคับ เราสามารถเลือกที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ ซึ่งประกันรถยนต์ภาคสมัครใจก็จะมีระดับการให้ความคุ้มครองที่ต่างกัน

ที่คุณอาจจะเคยได้ยินในชื่อของ ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ประกันภัยรถยนต์ชั้น 2 ซึ่งความคุ้มครองที่ให้และค่าเบี้ยประกันภัยก็จะต่างกัน ดังนั้น ถ้าเราใช้ชีวิตบนท้องถนนบ่อย ก็อย่าลืมศึกษาข้อมูล เพื่อเลือกซื้อประกันภัยรถยนต์ที่เหมาะกับตัวเองไว้ด้วย

ประกันการเดินทาง

หลายคนที่เคยไปเที่ยวทริปต่างประเทศ อาจมีประสบการณ์ซื้อประกันการเดินทาง ถ้าเราลองคิดถึงอุบัติเหตุที่เกิดจากการเดินทางท่องเที่ยวในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็น ไม่สบายตอนอยู่ต่างประเทศ กระเป๋าเดินทางหาย หรือแม้แต่การโดนเทที่สนามบิน เรื่องพวกนี้อาจจะไม่เคยเกิดขึ้นแต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีทางเกิดขึ้น งั้นทำประกันไว้หน่อยย่อมดีกว่า แต่ประกันการเดินมีแบบไหนและคุ้มครองอะไรบ้าง? แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆคือ

ประกันการเดินทางแบบรายเที่ยว เป็นประกันที่จะให้ความคุ้มครองเรา ตั้งแต่ที่เราออกจากเมืองไทย ไปเที่ยวที่ประเทศอื่น และความคุ้มครองจะสิ้นสุดลงเมื่อเรากลับมาถึงประเทศไทย

ประกันการเดินทางแบบรายปี คือจะคุ้มครองเราใน 1 ปี ไม่ว่าเราจะไปเที่ยวที่ไหน หรือจะไปกี่ครั้งก็ได้ แต่จำกัดว่าทริปแต่ละเที่ยวที่ไปจะต้องไม่เกิน 90 วัน

ประกันการศึกษาบุตร

พ่อแม่หลายคนพยายามส่งลูกเข้าโรงเรียนดีๆ เพราะการศึกษาที่ดี จะทำให้เด็กๆมีอนาคตที่สดใส แต่การส่งเด็กคนนึงให้เรียนจบอย่างที่คาดหวังไว้ก็อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยสัก 10 ปี หรือมากกว่านั้น ช่วงแรกๆค่าใช้จ่ายในการศึกษาอาจจะยังไม่มาก แต่เพื่อจะจบระดับมหาวิทยาลัยค่าใช้จ่ายก็อาจจะพุ่งถึงหลักแสนเลย ถ้าอย่างนั้น การเริ่มต้นออมเงินให้ลูกตั้งแต่เขายังเล็กๆและวางแผนการศึกษาไว้ล่วงหน้า ก็จะช่วยทำให้คุณพ่อคุณแม่มั่นใจว่าเด็กๆจะได้รับการศึกษาที่ดีอย่างแน่นอน และสิ่งที่จะช่วยให้เราวางแผนการศึกษาของลูกได้ก็คือการ "ทำประกันการศึกษาบุตร" และในทุกวันนี้ก็มีธนาคารหรือสถาบันการเงินหลายที่ รวมทั้งบริษัทประกันภัยหลายแห่ง ที่มีประกันการศึกษาบุตร ข้อดีของการทำประกันการศึกษาบุตรไว้ก็คือ เราจะรู้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ต้องใช้เพื่อการศึกษาของลูกตั้งแต่ตอนนี้ แล้วจะมีคนช่วยเราออมเงินแล้วก็ลงทุนด้วย คุณพ่อคุณแม่สามารถกำหนดเป้าหมายได้ว่า อยากจะให้ลูกเรียนในโรงเรียนอะไร? อยากให้เรียนถึงชั้นไหน? และยังป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตผ่านทางประกันชีวิต เมื่อเรื่องที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับเรา ลูกๆก็จะยังได้รับการศึกษาที่ดีซึ่งเป็นของขวัญที่มีค่าที่เราสามารถให้เขาได้ แต่การทำประกันศึกษาบุตรเป็นเหมือนการลงทุนระยะยาว ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องศึกษารายละเอียดและข้อมูลดีๆก่อนตัดสินใจ เพื่อการวางแผนจะเป็นไปตามเป้าหมายที่เราตั้งใจไว้

ประกันทรัพย์สิน

นอกจากชีวิตของเราเอง รถยนต์ที่เราขับ และค่าความเสี่ยงต่างๆที่เราสามารถทำประกันภัยได้ด้วยแล้ว ทรัพย์สินต่างๆที่เรามีก็สามารถทำประกันภัยได้เหมือนกัน ที่เราเรียกว่า "ประกันทรัพย์สิน" และทรัพย์สินที่เราสามารถนำไปทำประกันภัยได้ก็จะมีตั้งแต่ ตัวอาคาร ตึกรามบ้านช่อง เครื่องจักรต่างๆ สต๊อกของสินค้า ไปจนถึงการประกันภัยทรัพย์สินของโรงงานอุตสาหกรรมและก็การค้าขนาดใหญ่เลยด้วย เมื่อทำ "ประกันภัยทรัพย์สิน" ทรัพย์สินหรือสิ่งของที่เราทำประกันภัยไว้ด้วย ก็จะได้รับความคุ้มครองมาตรฐาน ตามกรมธรรม์

ทำประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองอย่างไร

ทุกวันนี้บริษัทประกันภัย ได้ออกสินค้าที่เราเรียกว่า "ประกัน" มาหลายรูปแบบ แต่ทำประกันภัยแล้วจะได้รับความคุ้มครองยังไง? เวลาทำประกันภัยคราวหน้า เราจะได้รู้ว่าค่าเบี้ยประกันที่เราจ่ายไปวิ่งไปตรงไหนบ้าง ซึ่งประกันภัยจะประกอบไปด้วยบุคคลหลักๆอยู่ 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

ผู้รับประกัน หรือบริษัทประกันภัยนั้นเอง

ผู้เอาประกัน หรือผู้ถือกรมธรรม์คือคนที่ทำประกันภัยไว้นั่นแหละค่ะ

ผู้รับผลประโยชน์ ก็คือคนที่ได้รับผลประโยชน์ นอกเหนือจากเจ้าของประกัน เช่น คนในครอบครัวค่ะ เมื่อสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นที่ตรงตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยที่เราทำไว้ ทางบริษัทประกันภัยก็จะจ่ายค่าเสียหายให้กับเราหรือที่เรียกกันว่า "ค่าสินไหมทดแทน" ให้กับ "ผู้เอาประกันภัย" หรือ "ผู้รับผลประโยชน์"

การประเมินและจัดระดับความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยคืออะไร

ถึงแม้ว่าบริษัทประกันภัยจะมีประกันภัยหลายประเภท แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเรามีสิทธิ์เลือกว่าจะเอาประกันภัยตัวนั้น จะทำประกันภัยตัวนี้ได้ซะทีเดียว เพราะบริษัทประกันภัยก็จะต้องพิจารณาความเสี่ยงของเราก่อนที่เขาจะรับประกันภัย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่บริษัทประกันภัยจะต้องพิจารณา ก็จะมีอยู่ 4 อย่างด้วยกันนั่นคือ

ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ สุขภาพของตัวเรา และวิธีการดำเนินชีวิตด้วย

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพ คืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรานอกเหนือจากสุขภาพ

ปัจจัยเสี่ยงทางการเงิน เพื่อจะสามารถชำระค่าเบี้ยประกันภัยได้ตามกำลังของตัวเอง

ปัจจัยเสี่ยงส่วนบุคคลอย่าง อาชีพของเรา หรือแม้แต่รูปแบบการดำเนินชีวิตของเราด้านศลีธรรมด้วยซ้ำ ดังนั้น ก่อนจะเลือกประกันตัวไหนก็อย่าลืมเช็คความเสี่ยงที่บริษัทประกันภัยจะเอาไปเป็นเกณฑ์ในการพิจารณากันด้วย

ข้อกำหนดทั่วไปของประกันภัยส่วนใหญ่

ทุกวันนี้มีประกันภัยออกมาหลายรูปแบบ เพื่อรองรับความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆไม่ว่าจะเป็น ประกันชีวิต ประกันรถยนต์ ประกันทรัพย์สิน ประกันการศึกษาบุตร หรือประกันการเดินทาง มีประกันระยะสั้นตั้งแต่ไม่กี่วัน ไปจนถึงระยะยาวอย่างประกันภัยตลอดชีวิต แต่ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยประเภทอะไรก็ตามแต่ ข้อกำหนดทั่วไปของประกันภัยส่วนใหญ่ก็จะคล้ายๆกัน ที่เราควรรู้ไว้นั่นก็คือ ถ้าเราอยากจะได้รับการประกันภัย เราก็ต้องทำประกันภัยและจ่ายค่าเบี้ยประกันตามที่บริษัทประกันภัยกำหนดไว้ ไม่ว่าเราจะได้ใช้ประกันภัยตัวที่ว่าหรือไม่ก็ตาม และถ้าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ตรงกับกรมธรรม์ประกันภัยที่เราทำไว้ เราก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากตัวประกันภัยที่ทำไว้ และการไม่ทำตามเงื่อนไขที่บริษัทประกันภัยกำหนดไว้จะทำให้เราสูญเสียผลประโยชน์ทางประกันภัยค่ะ

และทั้งหมดนี้คือข้อกำหนดพื้นฐานทั่วไปของประกันภัยส่วนใหญ่ ดังนั้น ถ้าอยากจะทำประกันภัยตัวไหนก็อย่าลืมศึกษารายละเอียดข้อมูลกันดีๆก่อนทำกันด้วย หรือเลือกปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจาก MoneyDuck ได้ฟรี ที่ลิงก์ด้านล่าง