หากกล่าวถึงความร้อนแรงของตลาดการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ที่ผ่านมา หลายๆคนอาจจะนึกถึง “คริปโทฟีเวอร์” หรือกระแสการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปของกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ที่เล็งเห็นถึงความคุ้มค่าในการเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในระดับที่สูงขึ้น หลังจากค้นพบว่า ผลตอบแทนที่ตนมีแนวโน้มจะได้รับจากการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าว มีแนวโน้มจะสูงกว่าบรรดาหุ้นทั้งหลายในตลาดหลักทรัพย์ที่เคยได้รับความสนใจอย่างยิ่งในช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบกับมีหลักฐานเชิงประจักษ์ของผู้ที่ “รวยจริง” จากการถือครองสินทรัพย์ดังกล่าวผ่านมาให้เห็นอย่างต่อเนื่องบนสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้นักลงทุนหน้าใหม่จึงเริ่มหลั่งใหลเข้าสู่วงการคริปโทเคอร์เรนซีมากขึ้น ด้วยความเชื่อว่า เส้นทางนี้ จะนำพาพวกเขาไปสู่การเป็นเศรษฐีได้ในชั่วข้ามคืน

เมื่อเส้นทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี กฎเกณฑ์ที่ใช้ในการตรวจสอบความโปร่งใสของเส้นทางการเงินเหล่านั้นจึงต้องเปลี่ยนตาม ดังนั้น เครื่องมือทางภาษีที่รัฐบาลใช้เรียกเก็บเป็นหนึ่งในรายได้หลักจากประชาชน จึงถูกสร้างเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ทำให้ “คริปโทเคอร์เรนซี” กลายเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถสร้างเงินได้ตามประมวลรัษฎากรได้นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ “ภาษีคริปโทเคอร์เรนซี” จึงเกิดขึ้นครั้งแรกในราชอาณาจักรไทยในครึ่งปีแรกของปี 2565 ที่ผ่านมา

ภาษีคริปโท คืออะไร ทำไมต้องจ่าย

https://img.moneyduck.com/article_attachment/1660615637-finance-accounting-paper-desk-using%20%281%29.jpg

กรมสรรพากร ได้ให้เหตุผล 3 ประการในการเรียกเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซีจากบรรดาผู้ครอบครองไว้ดังต่อไปนี้

  1. ตามธรรมชาติของคริปโทเคอร์เรนซี การขายคริปโทเคอร์เรนซีที่ได้มาจากการขุดคริปโทเคอร์เรนซีได้ ก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะสามารถนำเงินได้ดังกล่าวมาหักค่าใช้จ่ายจริง อันเป็นต้นทุนที่ใช้ในการขุดได้ ทำให้ผู้ที่ได้รับเงินได้ประเภทนี้ในช่วงรอบปีภาษี จากการถือครองคริปโทเคอร์เรนซี จึงต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้
  2. เนื่องจากราคาของสินทรัพย์ทางการเงินหลายๆประเภท มีการเคลื่อนไหวของราคาอย่างสม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของตลาดและปัจจัยแวดล้อม ทำให้หลายๆครั้ง ผู้ที่ถือครองคริปโทเคอร์เรนซีได้รับกำไรจากการขายหรือการโอนสกุลเงินดังกล่าวด้วย ซึ่งตามบทบัญญัติของประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ฌ) เงินจำนวนนี้เฉพาะส่วนที่สามารถตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน อันคำนวณได้จากการนำราคาขายหักลบด้วยต้นทุนที่ตนซื้อมา จัดว่าเป็นเงินได้พึงประเมินที่ผู้ถือครองจำเป็นต้องเสียภาษีตามหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในรัฐธรรมนูญ
  3. ขึ้นชื่อว่าเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน การนำไปหาประโยชน์โดยมุ่งหวังผลตอบแทนที่มากกว่าการถือไว้เพื่อเก็งกำไร เป็นสิ่งที่พบเห็นได้โดยทั่วไปในหมู่นักลงทุน ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผลตอบแทนที่ได้รับมานี้ จัดว่าเป็นเงินได้พึงประมาณตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยเหตุนี้ การนำคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นสินทรัพย์ทางการเงินรูปแบบหนึ่ง ไปหาประโยชน์ จึงจำเป็นต้องเสียภาษีด้วย หากการกระทำนั้น ก่อให้เกิดผลตอบแทนตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้

จากเหตุผลทั้ง 3 ประการข้างต้น ทำให้บุคคลผู้ถือครองคริปโทเคอร์เรนซีที่มีเงินได้ตรงตามเงื่อนไขมาตรา 40 (4) (ฌ) และมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จำเป็นต้องเสียภาษีคริปโทเคอร์เรนซีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบในฐานะประชาชนคนไทย

สินทรัพย์รูปแบบไหนถึงต้องเสีย ภาษีคริปโท

https://img.moneyduck.com/article_attachment/1660615627-closeup-golden-bitcoins-dark-reflective-surface-histogram-decreasing-crypto%20%281%29.jpg

แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักคริปโทเคอร์เรนซีในฐานะสกุลเงินดิจิทัลที่เป็นกระแสการลงทุนแห่งยุค แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในนิยามของ “ภาษีคริปโท” คริปโทเคอร์เรนซีไม่ใช่สินทรัพย์เพียงอย่างเดียวที่ทางกรมสรรพากรให้ความสนใจเรียกเก็บภาษี ยังคงมี “โทเคนดิจิทัล” สินทรัพย์ทางการเงินอีกรูปแบบหนึ่ง ถูกเพ่งเล็งให้เข้าร่วมการพิจารณาสำหรับการจ่ายภาษีด้วย ซึ่งตามพระราชกำหนด การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้บัญญัตินิยามของสินทรัพย์ทั้งสองไว้ดังต่อไปนี้

“คริปโทเคอร์เรนซี” หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบ หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

“โทเคนดิจิทัล” หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบ หรือเครือข่าย อิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ 2. กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดใน ข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

นอกจากประเด็นที่ได้กล่าวไปข้างต้น “ภาษีคริปโทเคอร์เรนซี” ยังคงมีประเด็นอื่นๆให้น่าติดตาม ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณต้นทุนคริปโทเคอร์เรนซีก็ดี หรือแม้แต่รายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆเกี่ยวกับการดำเนินการสำหรับการเสียภาษีประจำปี ตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นภาษีก็ดี ซึ่งทั้งหมดนี้ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เอกสารเผยแพร่ของทางกรมสรรพากรที่สรุปใจความสำคัญไว้อย่างครบถ้วน ตามลิงก์ดังต่อไปนี้ https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/lorkhor/information/manual_crypto_310165.pdf หรือเลือกปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากMoneyDuckได้ตามลิงก์ด้านล่าง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้ทุกย่างก้าวของการลงทุนเป็นก้าวที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน