หากพูดถึงเรื่องภาษี (Tax) เรื่องที่หลายคนฟังแล้วอาจจะปวดหัวทั้งที่ในชีวิตประจำวันก็เกี่ยวข้องกับภาษีแทบทุกวัน เช่น จากการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT 7% แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงการหักภาษีเงินได้ว่าคืออะไร มีกี่ประเภท ใครบ้างที่ต้องถูกหักภาษีเงินได้และนำไปลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ พร้อมทิ้งท้ายด้วยแบบการยื่นภาษีต่าง ๆ เตรียมพร้อมก่อนยื่นในปี 2566

การหักภาษีเงินได้ คืออะไร

https://img.moneyduck.com/article_attachment/1666675664-closeup-economist-using-calculator-while-going-through-bills-taxes-office%20%281%29.jpg

หากจะพูดให้เข้าใจง่ายเกี่ยวกับภาษีเงินได้ซึ่งเป็นภาษีที่เก็บโดยตรงกับคนที่มีรายได้ คือ ใครมีรายได้ก็ต้องถูกเสียภาษีโดยแบ่งการหักภาษีเงินได้ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาจะมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนมากกว่า

  1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปที่มีเงินได้ไม่ว่าประเภทใด ชนิดใด ถ้าไม่มีกฎหมายยกเว้นให้แล้วก็อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีซึ่งจะกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตั้งมกราคมถึงมีนาคม
  2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีอากรประเภทหนึ่งที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรซึ่งจะจัดเก็บจากเงินได้ของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

ใครบ้างที่ต้องถูกหักภาษีเงินได้

https://img.moneyduck.com/article_attachment/1666675651-asian-woman-working-through-paperwork%20%281%29.jpg

ตามกฎหมายประมวลรัษฏากรกำหนดให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เงินได้จำเป็นต้องเสียภาษี โดยกำหนดหน่วยภาษีเงินได้ของผู้ที่ต้องเสียภาษีไว้ ดังนี้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  1. บุคคลธรรมดา
  2. ผู้ที่ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
  3. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
  4. ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล
  5. คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

  1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
  2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
  3. กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้า หรือหากำไร โดย
    (ก) รัฐบาลต่างประเทศ (ข) องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ (ค) นิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
  4. กิจการร่วมค้า (Joint Venture) กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไร
  5. มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ (ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล) 6. นิติบุคคลที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม กรมสรรพากร ที่นี่

รายได้ประเภทใดบ้างที่มีการหักภาษีเงินได้

**ประเภทเงินได้ **

  1. เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน ฯลฯ

  2. เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงาน อาทิ ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน ฯลฯ

  3. ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล

  4. เงินได้ที่เป็น (ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ข) เงินปันผล (ค) เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น (ง) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (จ) เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่ง (ฉ) ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากัน หรือรับช่วงกัน หรือเลิกกัน (ช) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วน (ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดใน (ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคน

  5. เงินที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการเกษตร ยานพาหนะ ทรัพย์สินอื่น การผิดสัญญาเช่าซื้อ การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน

  6. เงินได้จากวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลปะ วิชากฎหมาย วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม

  7. เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ

  8. รายได้อื่น ๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ตามข้อ 1 - 7

อ้างอิงจากตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่629) พ.ศ.2560

ภาษีเงินได้สามารถนำไปหักหย่อนภาษีได้หรือไม่

ได้ โดยกฎหมายกำหนดให้นำไปหักออกจากเงินได้อีกหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว โดยมีการหักหย่อนในกรณีต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป เช่น มีเงินได้ บริจาค แต่งงาน มีบุตรทั้งชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรม เลี้ยงดูบิดามารดา ค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้พิการ หรือทุพพลภาพ ค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าเบี้ยสุขภาพบิดามารดา เงินกองทุนที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม ฯลฯ

การยื่นภาษีมีแบบใดบ้าง

  1. แบบ ภ.ง.ด.90 จะเป็นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี

    สำหรับผู้ที่มีเงินได้ในกรณีทั่วไปตามประเภทที่ 1 - 8 ซึ่งได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วโดยให้ยื่นแบบฯ ภายเดือนมีนาคมของปีภาษีถัดไป

  2. แบบ ภ.ง.ด.91 จะเป็นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี

    สำหรับผู้ที่มีเงินได้จากการจ้างแรงงานประเภทที่ 1 เพียงอย่างเดียวโดยให้ยื่นแบบฯ ภายเดือนมีนาคมของปีภาษีถัดไป

  3. แบบ ภ.ง.ด.93 จะเป็นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

    สำหรับใช้ยื่นก่อนถึงกำหนดเวลายื่นแบบฯ ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปจากปีที่ได้รับเงินพึงประเมิน

  4. แบบ ภ.ง.ด.94 จะเป็นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี

    สำหรับผู้มีเงินได้ประเภทที่ 5-8 ที่ได้รับมาตั้งแต่เดือนมกราคม - ถึงเดือนมิถุนายน และไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นรวมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม ให้ยื่นแบบฯ ภายในเดือนกรกฎาคม - เดือนกันยายน ของปีภาษีนั้น

  5. แบบ ภ.ง.ด.95 จะเป็นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

    สำหรับคนต่างด้าวผู้มีเงินจากการจ้างแรงงานจากสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคให้ยื่นแบบฯ ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ รู้จักประเภทภาษี ที่นี่

การหักภาษีเงินได้จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป MoneyDuck เราขอสนับสนุนให้ทุกคนมีความรู้เรื่องภาษีและการลงทุนผ่านการให้คำปรึกษาเรื่องการเงิน การลงทุนทั้งบุคคลทั่วไปและนิติบุคคลเพื่อช่วยในการบริหารจัดการบัญชีของคุณให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดอย่างคุ้มค่าและถูกต้องตามกฎหมาย