เราอาจจะคุ้นหูกับคำว่าภาษีย้อนหลัง เพราะเวลามีคนดัง ไม่ว่าจะเป็นดารานักแสดง เหล่า Influencer คนมีชื่อเสียง ถูกสรรพากรตรวจสอบ และเรียกเก็บภาษีในอดีต มันก็มักจะกลายเป็นข่าวดังอยู่เสมอ ทำเอาหลายคนถึงขั้นหวาดผวาต้องรีบตรวจสอบเลยว่าตัวเองยื่นภาษีเรียบร้อยแล้วหรือไม่ เสียภาษีครบถ้วนแล้วหรือเปล่า ภาษีที่โดนเรียกเก็บย้อนหลังนั้นจะไม่เท่ากับจำนวนที่เราต้องจ่ายในตอนแรก แต่จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว อย่างล่าสุดในกรณีของท๊อฟฟี่เป็นตุ๊ดซ่อมคอม ถูกเรียกเก็บภาษีเป็นจำนวนกว่า 2,600,000 บาทย้อนหลัง เราเลยจะพาทุกคนไปเจาะลึกเหตุการณ์โดนเก็บภาษีย้อนหลังดังกล่าวกันว่าเป็นอย่างไร

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ข้อควรรู้ยื่นภาษีเงินได้ ที่นี่

เปิดไทม์ไลน์สถานการณ์หลังท๊อฟฟี่เป็นตุ๊ดซ่อมคอมโดนเก็บภาษีย้อนหลัง

เปิดไทม์ไลน์สถานการณ์หลังท๊อฟฟี่เป็นตุ๊ดซ่อมคอมโดนเก็บภาษีย้อนหลัง

ท๊อฟฟี่เป็นตุ๊ดซ่อมคอมเป็น Influencer ชื่อดังที่สร้างความบันเทิง ความสนุกสนาน และมอบความรู้ให้กับผู้คนมากมาย ล่าสุดเจ้าตัวได้ออกมาโพสต์ข้อความบน Facebook Page ท๊อฟฟี่เป็นตุ๊ดซ่อมคอม แชร์ประสบการณ์โดนสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเป็นจำนวนเงินสูงถึง 2.6 ล้านบาทเลยทีเดียว เจ้าตัวได้เล่าเรื่องราวเป็นวิทยาทานเพื่อให้ความรู้สำหรับคนที่กำลังจะก้าวขึ้นมาอยู่ในแวดวง Influencer บนโลกอินเตอร์เน็ต หรือแม่ค้าออนไลน์ที่กำลังขายดิบขายดี รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอื่นที่อยากรู้เกี่ยวกับเรื่องภาษี

แรกเริ่มเดิมทีทอฟฟี่เป็นตัวซ่อมคอมนั้นทำงานเป็นพนักงานบริษัทธรรมดา ในภายหลังหันมาทำอาชีพ Influencer เป็นอาชีพเสริมในช่วงปลายปี 2557 ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีรายได้จากอาชีพเสริม ยังไม่มีชื่อเสียง จึงมีรายได้จากการทำงานประจำเพียงแค่ทางเดียวเท่านั้น ช่วงเวลานั้นรายได้ยังไม่เกินปีละ 150,000 บาท ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำในการเสียภาษี แต่ก็มีการยื่นแบบภาษีเป็นประจำ

หลังจากนั้นปี 2560 เริ่มมีชื่อเสียง และมีงานเข้ามามากขึ้นกว่าเดิม รายได้จึงมี 2 ทาง ท๊อฟฟี่จึงตระหนักได้ว่ารายได้ของตนเองเกินกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ได้รับการละเว้นภาษีเรียบร้อยแล้ว แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวท๊อฟฟี่ยังคงรับงาน และทำเอกสารด้วยตนเอง มันจึงมีเหตุการณ์ตามมา อย่างเช่น เอกสารไม่ครบ

เมื่อต้องยื่นภาษีประจำปีจึงทำให้ยื่นเอกสารตามที่มี ได้ตรวจสอบกับกรมสรรพากรเรียบร้อยแล้วว่าจะมีปัญหาหรือไม่ กรมสรรพากรรับเอกสาร และแจ้งรายละเอียดว่ารายได้ยังไม่ถึง 8 ล้าน แต่เสียภาษีมากกว่าเดิม ท๊อฟฟี่จึงตกลงตามนั้น หลังจากนั้นก็ตั้งใจเก็บเอกสารมากขึ้น ถึงอย่างนั้น เมื่อมีงานล้นมือก็ทำเอกสารเองเริ่มไม่ไหว แต่ก็ยังคงทำเอกสารคนเดียวเหมือนเดิม ดูเอกสารส่งมาที่บ้านว่ามีเท่าไหร่ นับรวมแล้วเกิน 8 ล้านบาทมาเรื่อยๆ และยังคงยื่นภาษีออนไลน์ได้เรื่อยๆ มาโดยตลอด

ในช่วงเวลานั้นอาชีพ Influencer ยังไม่เป็นที่รู้จัก จึงไม่แน่ใจว่าต้องยื่นภาษีด้วยรายได้พึงประเมินวงเล็บไหน นิยามในช่วงเวลานั้นจึงถือว่าเป็นการทำงานฟรีแลนซ์ รับจ้างรีวิวสินค้า ไปออกอีเวนท์ ได้รับรายได้จาก Youtube และการสตรีมเกม ช่วงหลังจึงไม่สามารถจดจำได้ว่ารายได้อะไรมาจากรายได้ข้อไหน อะไรที่ต้องเสียภาษี จะเลือกอย่างไรให้เราสามารถรักษาผลประโยชน์ได้มากที่สุด ในช่วงนั้นเจ้าหน้าที่แนะนำให้เลือกยื่นภาษีด้วยรายได้พึงประเมิน 40(7)

ภาษีบุคคลธรรมดาสามารถลดหย่อนได้ และท๊อฟฟี่ลดหย่อนภาษีทุกปี ดังนั้น จึงมีการเสียภาษีประมาณ 10,000 บาทถึง 50,000 บาทเพียงแค่บางปีเท่านั้น บางปีก็ได้ภาษีคืนกรณีที่รายได้น้อย จนกระทั่งเข้าสู่ปี 2563 คิดว่ารายได้น่าจะเกิน 1,800,000 บาท จึงไปจดทะเบียนบริษัทเพื่อลดภาษี และเมื่อจดทะเบียนบริษัทรายได้ที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายสรรพากรจะรับรู้ 100%

เข้าสู่ปี 2566 ได้รับจดหมายจากกรมสรรพากรให้ไปชำระภาษี ท๊อฟฟี่ได้เข้ารายงานตัวตามปกติ และเจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีเบี้ยปรับ แต่ในช่วงเวลานั้นเจ้าหน้าที่ยังไม่สรุปยอด ท๊อฟฟี่จึงไปตรวจข้อมูลย้อนหลังจนพบว่ามีรายได้สูง จนสุดท้ายทราบว่าต้องจ่ายภาษีย้อนหลังเป็นจำนวนถึง 2,600,000 บาทเลยทีเดียว เพราะมีรายได้สุทธิเกินกว่า 1,800,000 บาทมาตั้งแต่ปี 2561 และเมื่อมีรายได้เกินกว่าจำนวนดังกล่าวก็ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อไม่ได้จดจึงมีเบี้ยปรับประมาณ 2 - 4 เท่าในแต่ละยอด

ท๊อฟฟี่ชี้แจงว่าไม่ได้เจตนาหนีภาษี และมีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีบุคคลธรรมดาเป็นประจำ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นการยื่นภาษีผิดประเภท เมื่อยื่นภาษีผิดประเภทก็จะโดนเบี้ยปรับอีก สรุปแล้ว กรณีดังกล่าวเกิดจากปัญหาการยื่นแสดงรายได้เพื่อเสียภาษีผิดประเภท การไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้สุทธิเกิน 1,800,000 บาทต่อปี และเอกสารไม่ครบถ้วน

รวมเรื่องน่ารู้ ภาษีย้อนหลังคืออะไร ทำไมจึงโดนเรียกเก็บ

รวมเรื่องน่ารู้ ภาษีย้อนหลังคืออะไร ทำไมจึงโดนเรียกเก็บ

ภาษีย้อนหลังเป็นสิ่งที่คนดังหลายคนรู้สึกหวาดกลัว และไม่อยากโดนเรียกเก็บสุดๆ หลายคนจึงแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการยื่นภาษีอย่างถูกต้อง แต่บางคนก็มิวายโดนเรียกเก็บภาษีอยู่ดี ผู้ที่รับผิดชอบในการจัดเก็บภาษีแบบย้อนหลังจะประกอบไปด้วย 3 หน่วยงาน นั่นก็คือกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร แต่สำหรับข่าวที่ออกมาหน่วยงานที่รับผิดชอบคือกรมสรรพากร ผู้ดูแลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สาเหตุที่ทำให้เราโดนเรียกเก็บภาษีแบบย้อนหลังเกิดขึ้นได้จาก 2 กรณีด้วยกัน ประกอบไปด้วย การไม่จ่ายภาษีตามระยะเวลาที่กำหนด และกรณีจ่ายภาษีแล้ว แต่ดันจ่ายไม่ถูกต้อง หรือจ่ายไม่ครบตามจำนวน ประเด็นคือมันไม่ได้มาเฉพาะภาษีที่เราต้องจ่ายย้อนหลังเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม หรือในบางกรณีอาจต้องรับโทษความผิดทางอาญาอีกต่างหาก

วิธีการตรวจสอบภาษีย้อนหลังโดยสรรพากร

  • ออกตรวจบริเวณพื้นที่ความรับผิดชอบ ตามร้านค้า หรือผู้ให้บริการ ผู้ขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์
  • เข้าไปตรวจนับสินค้าในสต๊อกสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการค้าขาย ทั้งการค้าภายในประเทศ และต่างประเทศ
  • ตรวจสอบข้อมูลการรับเงินจากเอกสารหลักฐาน อย่างเช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ใบกำกับภาษี
  • ตรวจข้อมูลที่ได้มาจากธนาคาร สถาบันการเงิน รวมถึงผู้ให้บริการด้านการเงินอิเล็กทรอนิกส์
  • เข้าตรวจค้นในพื้นที่ต้องสงสัย มักพบในกรณีที่มีข้อสงสัยว่าเกิดเหตุการณ์เลี่ยงภาษีเป็นจำนวนมาก และเกิดขึ้นอย่างชัดเจน
  • ตรวจสอบข้อมูลจากการร้องเรียนโดยประชาชน
  • ตรวจสอบข้อมูลจากฐานระบบ Big Data Analytics
  • ออกหมายเรียกเพื่อขอเอกสารเพิ่มเติมสำหรับการตรวจภาษี

อายุความ และบทลงโทษในการเลี่ยงภาษี

หากเรายื่นภาษีไม่ครบถ้วน หรือไม่ถูกต้อง กรมสรรพากรมีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบภาษีเราย้อนหลังได้ยาวนานถึง 2 ปีเลยทีเดียว อย่างเช่น ในปีภาษี 2566 กรมสรรพากรจะสามารถตรวจสอบภาษีของเราย้อนหลังกลับไปได้ถึงปี 2564 โดยไม่นับปีปัจจุบัน

หากมีหลักฐานว่าเราจงใจที่จะหลีกเลี่ยงภาษีจริง กรมสรรพากรสามารถขยายระยะเวลาอายุความออกไปได้ยาวนานสูงสุดถึง 5 ปี และสำหรับใครที่ไม่มีการยื่นแบบแสดงรายได้ ไม่เคยเสียภาษี หากตรวจพบในภายหลังก็สามารถเรียกเก็บภาษีได้เหมือนกัน แถมยังสามารถยืดระยะเวลาอายุความได้ยาวนานสูงสุดกว่า 10 ปีด้วย สำหรับบทลงโทษ มีดังนี้

  • ยื่นภาษีทัน แต่จ่ายภาษีไม่ครบ ต้องเสียเบี้ยปรับตั้งแต่ 0.5 ถึง 1 เท่าจากภาษีที่ต้องจ่าย และยังต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน จากจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย นับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดยื่นแบบ ไปจนกว่าจะถึงวันที่จ่ายครบ
  • ไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด มีโทษทางอาญา ปรับสูงสุดเป็นเงิน 2,000 บาท ต้องเสียเบี้ยปรับอีก 1 - 2 เท่าจากภาษีคงค้าง และเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนจากภาษีที่ต้องจ่าย นับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดยื่นแบบ ไปจนกว่าจะถึงวันที่จ่ายครบ
  • เจตนาไม่ยื่นแบบภาษีเพื่อเลี่ยงภาษี มีโทษทางอาญา ปรับสูงสุดเป็นเงิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี ต้องเสียเบี้ยปรับ 2 เท่าจากภาษี และเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนจากภาษีที่ต้องจ่าย นับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดยื่นแบบ ไปจนกว่าจะถึงวันที่จ่ายครบ
  • จงใจแจ้งความเท็จเพื่อหนีภาษี มีโทษทางอาญา ปรับเป็นเงินตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 200,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าจากจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย และเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนจากภาษีที่ต้องจ่าย นับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดยื่นแบบ ไปจนกว่าจะถึงวันที่จ่ายครบ

สรุปแล้ว โดนเก็บภาษีย้อนหลังเป็นการที่กรมสรรพากรเรียกเราไปเสียภาษีย้อนกลับไปในอดีตได้ยาวนานสูงสุดถึง 10 ปี สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายกรณีด้วยกัน ดังนั้น เราจึงต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดีก่อนยื่นภาษี และยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีด้วย ว่าเรานั้นต้องยื่นแบบแสดงรายได้ตัวไหน มีรายได้เท่าไหร่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เอกสารของเราครบถ้วนหรือไม่ สามารถลดหย่อนอะไรได้บ้าง และหักค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง หากเราวางแผนภาษีให้ดี และมีความรู้เกี่ยวกับภาษีครบถ้วน ภาษีย้อนหลังก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป หากใครอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญจาก MoneyDuck ได้ฟรี ที่ลิงก์ด้านล่าง