เราต่างทราบกันดีว่า เมื่อต้องการวางแผนการเงินผ่านกองทุนรวมเพื่อเก็บเงินไว้ใช้หลังวัยเกษียณ ส่วนใหญ่จะเลือกกองทุนประเภทที่มีนโยบายไม่จ่ายเงินปันผล เพราะมีโอกาสเกิดความมั่งคั่งได้เร็ว มีผลกำไรที่กองทุนทำได้จะนำกลับไปลงทุนต่อ (Reinvest) และที่สำคัญคือไม่ต้องเสียภาษี. แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีผู้ลงทุนที่ต้องการมีรายได้เป็นประจำ ก็จะลงทุนกับกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล เพื่อนำมาเป็นรายได้และช่วยค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่ก็ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายถึง 10% ด้วย ดังนั้น จะดีแค่ไหนเมื่อเรามีตัวเลือกที่น่าสนใจมาอยู่ในมือ เพราะมีกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ผู้ลงทุนยังได้รับเงินระหว่างทางและไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย ดีเลยไม่ไหมล่ะ?! ดังนั้น เราควรมาทำความรู้จัก กองทุนรวมประเภทนี้ที่เรียกว่า กองทุนที่มีการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ หรือที่รู้จักกันดีว่ากองทุน Auto Redemption ว่าคืออะไร มีลักษณะการลงทุนอย่างไร เหมาะสมกับใคร และมีข้อดี - ข้อเสียอย่างไร ไปดูกันเลย
กองทุน Auto Redemption คืออะไร
กองทุนชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Auto Redemption) คือกองทุนที่จะขายหน่วยลงทุนเองอัตโนมัติ เปรียบเสมือนเราได้เงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วย เพราะเงินปันผลนั้นปกติจะถูกหักภาษี 10% ทำให้เหมือนเงินเราหายไป แต่การขายคืนหน่วยลงทุนไม่เสียภาษี กองทุนประเภทนี้จะมีการจ่ายเงินปันผลคือ ผู้ลงทุนจะได้รับกระแสเงินสดรับตามที่แต่ละกองทุนหรือแต่ละบริษัทกำหนด แต่จะมีการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติแบบไม่ถือเป็นการจ่ายเงินปันผลจึงไม่ต้องเสียภาษี โดยเงินที่มาจากการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติอาจมาจากผลตอบแทนที่กองทุนลงทุนหรือมาจากเงินต้นก็ได้ วิธีการจะทำเสมือนเป็นการขายคืนหน่วยลงทุน ซึ่ง บลจ.จะมีการประกาศกำหนดวันขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติให้ผู้ลงทุนทราบล่วงหน้า เช่น ทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน เป็นต้น และเมื่อถึงวันที่กำหนด บลจ. จะทำรายการดังกล่าวให้ผู้ลงทุนในทุก ๆ เดือน ผู้ลงทุนเพียงแค่รอรับรายได้อย่างสม่ำเสมอโดยไม่ต้องกรอกเอกสารใด ๆ ให้ยุ่งยากอีกเลย
ตัวอย่างเช่น T-Lowbeta ของธนาคารธนชาต จะเห็นได้ว่ามีหน่วนปันผล/รับซื้อคืนอัตโนมัติ กองนี้ไม่มีนโยบายการจ่ายปันผล แต่จะมีนโยบายเรื่องของการรับซื้อคืนอัตโนมัติเข้ามาแทน ซึ่งวิธีการของการรับซื้อคืนอัตโนมัติก็จะคล้ายๆกับแบบปันผลตรงที่เมื่อมีประกาศออกมาจะมีการจ่ายเงินให้กับผู้ที่ลงทุนในกองนั้นๆ เช่น
กรณี ปันผล
สมมติกองทุน A มีราคา 10 บาท จ่ายปันผลออกมา 0.5 บาทต่อหน่วย ราคาต่อหน่วย ก็จะประมาณ 10-0.5 = 9.5 (อาจจะไม่เท่า 9.5 เสมอ เพราะมีปัจจัยอื่นๆเกี่ยวข้อง แต่มีจำนวนหน่วยเท่าเดิม ราคาลด และต้องเสียภาษีของการปันผล)
กรณี รับซื้อคืนอัตโนมัติ
สมมติกองทุน A มีราคา 10 บาท รับซื้อคืนอัตโนมัติ 1.5 บาท/หน่วย สมมติว่าเรามีหน่วยลงทุน 10,000 หน่วย จะมีการจ่ายให้เรา 1.5*10,000 = 1,500 บาท หมายความว่า จะขายให้เรา 1,500/10 = 150 หน่วย จะคงเหลือถือครอง 9,850 หน่วย (จำนวนหน่วยลดลง ราคาเท่าเดิม แต่ไม่เสียภาษี)
ดังนั้น สำหรับกองทุนแบบขายคืนอัตโนมัติ แบบนี้อาจจะมีเงื่อนไขกำกับ เช่น ขายแล้วได้มูลค่าไม่เกิน 1,000 บาท จะไม่ทำรับซื้อคืนอัตโนมัติให้ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็สามารถแจ้งทาง บลจ. ไม่ทำตามนโยบายส่วนนี้ก็ได้ จึงเป็นทางเลือกนึงที่ดีถ้าเราต้องการได้รับเงินจากกองทุนรวม ที่ไม่ใช่แบบปันผล อาจจะพิจารณากองลักษณะนี้เพิ่มเติมได้ด้วย
ลักษณะของกองทุน
กองทุน Auto Redemption แบบนี้จะเป็นกองทุนที่มีการจ่ายเงินคืนให้ผู้ลงทุนเป็นงวด ๆ เพียงแต่เงินที่ผู้ลงทุนได้รับ “ไม่ใช่เงินปันผล” แต่เป็นเงินที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนแบบอัตโนมัติตามเงื่อนไขที่กองทุนนั้นกำหนดไว้ ซึ่งเงินก้อนนี้ผู้ถือหน่วยที่เป็นบุคคลธรรมดาจะไม่ถูกหักภาษีเหมือนกับเงินปันผล ทำให้ได้รับเงินจากการขายคืนแบบอัตโนมัตินี้เต็มจำนวน หมายความว่า หลังจากจ่ายเงินคืน จำนวนหน่วยลงทุนของผู้ลงทุนจะลดลง ขณะที่ NAV ยังคงที่ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อกำหนดกับการในการตั้งชื่อกองทุนเพื่อระบุว่าเป็นกองทุนประเภท Auto Redemption ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องเข้าไปศึกษาจากเอกสารกองทุนรวมนั้นๆ เช่น หนังสือชี้ชวน หรือเข้าไปในเว็บไซต์ของ บลจ. ซึ่งหากมีการจ่ายปันผลโดยอัตโนมัติ ก็จะประกาศผ่านเว็บไซต์ ซึ่งระบุวันที่จ่ายปันผลและจำนวนเงินปันผล อีกเพิ่มเติมได้
สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) อธิบายว่ากองทุน Auto Redemption เป็นกองทุนเปิดแต่มีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ มีทั้งกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ และแบบผสม โดยกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้จะทำการขายคืนอัตโนมัติให้แก่ผู้ลงทุนโดยมีกำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจน เช่น ขายคืนอัตโนมัติทุก 3 เดือน หรือทุก 6 เดือน โดยให้ผลตอบแทน 3% เป็นต้น แต่หากเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นหรือแบบผสม อาจกำหนดเงื่อนไขว่าจะขายคืนอัตโนมัติเมื่อราคาของหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นถึงระดับที่กำหนด
กรณีตัวอย่างข้างบน สมมติว่ากองทุนรวม ABC เป็นกองทุน Auto Redemption นาย ก. ตัดสินใจซื้อ 1,000 บาท มูลค่าต่อหน่วย 10 บาท ได้หน่วยลงทุน 100 หน่วย ต่อมา NAV เพิ่มเป็น 11 บาท กองทุนนี้ประกาศขายคืน 100% ของกำไร
ดังนั้น นาย ก. ได้ผลตอบแทนทั้งสิ้น 100 บาท (โดยไม่เสียภาษี) แต่หน่วยลงทุนจะลดลง วิธีการคำนวณ คือ จำนวนเงินที่ได้รับจากการขายคืนโดยอัตโนมัติหารด้วย NAV ในวันที่มีการขายคืนโดยอัตโนมัติ
กรณี นาย ก. ก็คือ 100 บาทหาร 11 บาท เท่ากับ 9.09 หน่วย หมายความว่า หลังจาก นาย ก. ได้รับเงิน 100 บาทจากการขายคืนโดยอัตโนมัติ จำนวนหน่วยลงทุนของ นาย ก. จะลดลง 9.09 หน่วย จึงเหลือหน่วยลงทุนเท่ากับ 90.91 หน่วย อย่างไรก็ตาม มูลค่าเงินลงทุนของนาย ก. ยังเหลือเท่าเดิม คือ 1,000 บาท (90.91 คูณ 11) หรืออีกนัยหนึ่ง มูลค่าหน่วยลงทุนยังเท่าเดิม คือ 11 บาท
ข้อดี - ข้อเสีย ของกองทุนแบบ Auto redemption
เนื่องจากเป็น กองทุนมีการปันผล ออกมาด้วยการบังคับขายหน่วยลงทุนหรือที่เรียกกันว่า "การขายคืนอัตโนมัติ" หรือ "Auto Redemption" เราจึงต้องเข้าใจก่อนว่า กองทุนที่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผล หรือ กองทุนที่มีการจ่ายเงินออกมาเป็นงวด ๆ ตามอัตราและระยะเวลาตามที่กองทุนกำหนดนั้นจะมีรูปแบบ เช่น กองทุนมีนโยบายจ่ายปันผล ไม่เกินปีละ 4 ครั้งครับ และจุดที่สำคัญก็คือ ตอนที่เรารับเงินปันผลนั้น ทาง บลจ. ที่เป็นผู้ออกกองทุนจะหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% หรือเราสามารถเลือกที่จะไม่ต้องจ่ายภาษีเงินปันผลก็ได้ ซึ่งเราก็ต้องนำเงินปันผลนั้นมารวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีตอนต้นปี แต่กองทุนรวมประเภท auto redemptionแบบนี้จะเป็นกองทุนที่มีการจ่ายเงินคืนให้ผู้ลงทุนเป็นงวด ๆ เหมือนกองทุนปันผล เพียงแต่เงินที่เราจะได้รับกลับมานั้นไม่ใช่เงินปันผล แต่กองทุนจะแจ้งเตือนเรา ทาง email และบังคับให้เราขายคืนหน่วยลงทุนแบบอัตโนมัติโดยจะมีเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่ ผู้จัดการกองทุนได้กำหนดไว้
แต่ในการซื้อกองทุนรวมแบบนี้นั้น เราก็จะต้องพิจารณาในเรื่องอื่นๆ ด้วย คือ ค่าธรรมเนียมและผลงานที่ผ่านมา โดยปกติแล้วเวลาปันผล จะไปหักใน NAV (มูลค่ากองทุน) อยู่แล้วจึงเท่ากับเงินที่ปันผลออกมา เงินต้นเราจะถูกดึงออกมาเหมือนกัน แต่ Auto Redemption จะไปลดหน่วยลงทุนแทนที่จะไปลดใน NAV สรุปสุดท้ายก็มีค่าเท่ากันแต่ ไม่ต้องเสียภาษีเพิ่ม โดยจะเหมาะกับคนที่ต้องการกระแสเงินสด หรือ ต้องการปันผลเป็นประจำ เพื่อนำเงินไม่จับจ่ายใช้สอย แต่ไม่ต้องการให้ถูกหักภาษี 10% (ปันผลจะเสียภาษี) ซึ่งหากเราคิดว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะได้เงินคืนเป็นช่วงๆ หรือไม่ต้องการ ขาย หน่วยลงทุนเลย อยากถือนานๆ ก็ ขอ ยกเลิก AR ได้โดยต้องติดต่อกองทุนที่เราเลือกอีกครั้งตามบริษัทกำหนด เช่น ถ้าเป็นกองทีโลว์เบต้า ของธนชาต เราสามารถเลือกที่จะไม่ทำก็ได้ ถ้าไม่อยากให้หน่วยลดลง โดยการแฟกซ์สำเนาบัตรประชาชนที่เขียนแสดงความจำนงว่าไม่ทำไป เขาจะบันทึกไว้ในระบบ และจะไม่ทำให้ทุกครั้งจนกว่าจะสั่งเปลี่ยน
การรับเงินจากการขายคืนหน่วยลงทุนจึงมีข้อดี คือ เหมือนได้รับเงินปันผลแต่เราไม่ต้องเสียภาษีเพราะว่าเป็นการขายกองทุนออกมา และในส่วนของเงื่อนไขการขายคืน หรือ การทำ Auto redemption ก็ขึ้นกับทาง บลจ ว่าจะกำหนดเงื่อนไขที่ขายคืนอัตโนมัติเมื่อราคาของหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นถึงระดับไหน และจะจ่ายคืนเท่าไหร่ด้วย เช่น กองทุนจะขายคืนอัตโนมัติให้ ครึ่งนึงของหน่วยลงทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นมา 2.5 บาทเมื่อราคาหน่วยลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้น 5 บาท หรือเราสามารถดูตัวอย่างการตั้งระดับการขายคืนหน่วยลงทุน จาก หนังสือชี้ชวนได้ด้วย
ข้อเสีย อาจจะเป็นเรื่องของหน่วยลงทุนเราจะน้อยลง ต้องซื้อหน่วยลงทุนแพงขึ้น เพราะจำนวนเงินเท่าเดิมซื้อหน่วยลงทุนได้น้อยลง ถ้า NAV เขยิบสูงขึ้นไปตลอด และก็มีข้อสังเกตว่า หากวันที่ทำรายการขายคืนในวันนั้น ตลาดเกิดมีแนวโน้มสดใส เราก็อาจพลาดโอกาสที่จะสะสมกำไรหรือลงทุนอย่างต่อเนื่องได้เพราะถูกทำรายการขายอัตโนมัติไปแล้ว และเนื่องจากวิธีการนี้เป็นเหมือนการขายคืนหน่วยลงทุน ดังนั้น หน่วยลงทุนของผู้ลงทุนก็จะลดลงเรื่อย ๆ ต่อการขายคืนหนึ่งครั้งและจะลดลงจนหมดหากไม่มีการลงทุนเพิ่มเข้ามาอีก.
สรุป
เราจะเห็นถึงข้อดีได้หากเป็นผู้สนใจลงทุนกับกองทุนประเภท Auto Redemption หรือ กองทุนขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ เพราะสามารถลงทุนได้เหมือนกับกองทุนรวมทั่วไป นั่นคือ ลงทุนครั้งเดียว หรือลงทุนแบบถัวเฉลี่ยด้วยจำนวนเงินเท่ากัน เช่น ลงทุนเดือนละ 1 ครั้ง เป็นต้น จากนั้นก็ถือหน่วยลงทุนไปเรื่อยๆ เพื่อรับเงินปันผลแบบตามเวลา แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนกองทุนประเภท Auto Redemption ถึงแม้ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนอย่างต่อเนื่องเป็นงวดๆ ไม่ต้องถูกหักภาษีแต่อย่างใด แต่ สำนักงาน ก.ล.ต. เตือนว่าอย่าลืมกฎพื้นฐานของการลงทุน นั่นคือ “การลงทุนทุกอย่างล้วนมีความเสี่ยง” แม้แต่กองทุนรวม Auto Redemption ก็ไม่ได้มีความแตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไป เพราะมูลค่าหน่วยลงทุนมีโอกาสขึ้นลงได้ตามความเสี่ยงของตราสารที่ถืออยู่ เพียงแต่จะมีมีวิธีการรับซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนที่แตกต่างให้เราไปบ้างเท่านั้น แต่จะช่วยให้เรารักษาสิทธิของตัวเองได้โดยไม่ต้องเสียภาษีเพิ่ม แต่อย่าลืมการเลือกลงทุนในกองทุนต้องดูหลายๆปัจจัย มิใช่ดูแค่เป็นกองแบบไหน หรือจะเลือกแต่กองที่เป็น Auto Redemption เพราะมันไม่ใช่สิ่งยืนยันว่าผลการดำเนินงานจะดีกว่า ดังนั้น กฎเหล็กจริงๆที่เราต้องใส่ใจคือการศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนลงทุนนั่นเอง
Kachawuth
เท่าที่เคยทราบมา กองทุน Auto Redemption มีข้อดีคือเราจะได้เงินกลับมาโดยไม่ต้องเสียภาษี (พูดง่ายๆว่าจะได้รายได้คืนมา โดยไม่เสียภาษี ) แต่เมื่อกองทุนเราโดนขายคืนอัตโนมัติแล้วจำนวนหน่วยลงทุนลดลง กำไรจะน้อยลงตามเพราะจำนวนหน่วยน้อยลง ไม่เหมือนกันเงินปันผลที่ต้องเสียภาษีคนเลยเลือกที่จะลงทุนกับ กองทุน Auto Redemption
นับดาว
กองทุนประเภท Auto Redemption ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนอย่างต่อเนื่องเป็นงวดๆ โดยไม่ถูกหักภาษีด้วย จริงเหรอคะ ก็น่าสนใจน่ะสิ แต่เราไม่ค่อยรู้เรื่องการลงทุนต้องไปปรึกษาผู้รู้ก่อน ขึ้นชื่อว่าการลงทุน ต้องมีความเสี่ยงอย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย จริงมั้ยคะ ไม่ใช่แค่เห็นผลประโยชน์ที่จะได้รับอย่างเดียว ต้องมีความรู้ด้วย ถ้าไม่มีลงทุนไปมันก็ขาดทุนได้เหมือนกันนะ
วินัย
Auto Redemption เป็นรูปแบบการลงทุนนึงที่น่าสนใจให้การลงทุนนะครับ เพราะว่ามีการปันผลหรือผลกำไรให้กับเราและมีการหักภาษีอะไรเรียบร้อยแล้ว เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่สามารถ ที่จะคิดถึงกันลงทุนในรูปแบบนี้ได้ ซึ่งเราจำเป็นต้องคิดถึงผลกำไรที่จะได้รับด้วย ถ้าผลตอบแทนดีก็จะได้รับการตอบแทนที่ดีขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ในตอนนั้นครับ
Wirakorn
การลงทุนแต่ละอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียละครับ อยู่ที่ว่าเป้าหมายการลงทุนของคุณคืออะไรและคุณรับได้กับการลงทุนประเภทไหน ซึ่งกองทุนประเภท Auto Redemption ถือเป็นอีกตัวเลือกของนักลงทุนที่ต้องการเงินสด ไม่โดนหักภาษี แต่ถูกหักหน่วยลงทุน ดังนั้นเมื่อจะซื้อหน่วยลงทุนใหม่อาจต้องจ่ายมากกว่าเดิม ถ้ายอมรับได้..จัดไปเลยครับ!
FANGO
เรื่องการลงทุน อย่างที่เขาเตือน บ่อยๆว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง เท่าที่อ่านมา เรื่องการลงทุนแบบนี้ เราก็มีความเสี่ยงจริงๆ เพราะว่าการซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ เราจะไม่ทราบเลยว่าเขาจะซื้อคืนตอนไหน แล้วถ้าเขาซื้อคืน หน่วยลงทุนเราไม่มากพอ กำไรที่ได้ ก็ไม่ดี ถ้าอยากลงทุนแบบนี้ต้องคอยจับจังหวะเวลา การซื้อขายเขาให้ดีๆเลยละ
Wiily
กองทุนแบบนี้ก็เหมาะกับคนที่ไม่ชอบการถูกหักภาษีได้เลยนะคะ แต่ว่าได้อย่างก็เสียอย่างนั่นแหละ ไม่ถูกหักภาษีแต่หน่วยลงทุนจะน้อยลงๆ เงินปันผลก็น้อยลง น่าจะมีแบบขายอัตโนมัติให้แล้วมีซื้ออัตโนมัติให้ด้วยนะคะจะดีมากเลย หน่วยกองทุนจะได้ขึ้นลงๆไม่มีวันหมด ถ้ามีแบบนั้นนะแจ๋วเลย สบายมากเลยแบบนั้น เพราะลงทุนทุกวันนี้เซ็งกับการซื้อขายเองแล้วเสียภาษี
แคนดี้
Auto Redemtionแตกต่างจากกองทุนแบบปันผลยังไงคะ? ตามที่เราเข้าใจคือ มันคือการจ่ายคือกระแสเงินสดให้กับผู้ลงทุนเหมือนกัน แต่เงินปันผลจะจ่ายให้ในแต่ละงวด vs. Auto Redemtion ทำได้หลากหลายมากกว่าขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของกองทุนนั้นๆ เงินปันผลจะจ่ายได้คือต้องมีกำไร vs. Auto Redemtion ทำได้ทุกกรณีอัตโนมัติไม่ต้องรอว่าจะต้องได้กำไรเท่านั้น เราเข้าใจถูกต้องไหมคะ?...
แดน
เราก็ว่าการขายของทุนคืนแบบอัตโนมัติดีนะก็อย่างที่พี่บอก ไม่ต้องคิดว่าจะขายกองทุนเมื่อไหร่แถมไม่ได้เสียภาษีเพิ่มด้วยและเราเองก็ชอบกองทุนที่จ่ายเงินปันผลเป็นประจำ แถมภาษี 10% ยังไม่ต้องเสียด้วยแล้วว่าแบบนี้ดีออกเป็นแต่ก็เลือกกองทุนดีๆที่จ่ายเงินปันผลดีๆด้วยคิดว่าสิ้นปีนี้ก็จะดูพวกกองทุนอีกทีกำลังรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวกว่านี้ก่อน
ปาริชาต
แบบนี้ก็ไม่ดีสิกับการลงทุนแบบนี้ มีการมาบังคับให้เราขายหน่วยลงทุนของเราได้ด้วย ไปลงทุนอย่างอื่นกันจะดีกว่าไหมคะ ที่ไม่ต้องมาเสี่ยงอะไรขนาดนี้ อย่างไปลงทุนอสังหาฯ หรือว่าลงทุนในตลาดทองคำดีกว่า ไม่มีความเสี่ยงด้วย นับวันราคายิ่งจะพุ้งตัวสูงขึ้นทุกวัน แต่อย่างว่าละคะ เรื่องการลงทุนมันชอบใครชอบมันถนัดใครถนัดมันคะ
ฟอย
กองทุนแบบนี้ก็ดีเหมือนกันนะครับกองทุน ขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ ช่วยให้เราสามารถที่จะได้รับการขายคืนในกรณีที่เราเป็นห่วงเกี่ยวกับการลงทุนตัวนี้ เพื่อที่เราจะสามารถนำเงินคืนมาไปทำการลงทุนอย่างอื่นได้ เพราะบางคนเมื่อลงทุนไปแล้วก็มีความกังวลเกี่ยวกับ ความเสี่ยงที่จะต้องตามมานั้นเอง ถ้าขายคืนหน่วยการลงทุนอัตโนมัติได้ก็เป็นทางเลือกที่ดีครับ
Lore
ระวังกับเงื่อนไขการขายคืน หรือ สับเข้ากองตลาดเงิน หรือสับออกจากกองด้วยนะ เพราะบางกองเช่น ของ กรุงศรี ถ้าต่ำกว่าจำนวนหน่วยขั้นต่ำที่ บลจ กำหนด จะขายทิ้งทั้งหมด ทำให้ขาดทุนได้ เช่น 50,000 บาท ถ้า กองทุนมีมูลค่าต่ำกว่า อาจด้วยจาก อัตราแรกเปลี่ยน หรือ มูลค่าตอนนั้น ทำให้เงินต้น เหลือ <50,000 มันจะสับออกหมด แล้วปิดไปเลยนะ ซึ่งจริงๆ ถ้าถือต่อ มูลค่าอาจกลับมา บลจ ของ ธนาคาร ส่วนใหญ่จะไม่ทำแบบ แต่ของ กรุงศรี เข้าใจว่า กรุงศรี ต้องการประหยัดค่าจัดการ จึงกำหนดขั้นต่ำสูงกว่า ที่อื่นๆ แล้วไปเพิ่มส่วนกำไรแทน