เงินใครๆ ก็จำเป็นต้องใช้ แต่การใช้เงินได้ ใช้เงินเป็น กับการหาเงินได้ต่างกันมากทีเดียว บางคนหาเงินเก่งแต่ไม่มีเงินเก็บ บางคนใช้เงินได้แต่ใช้เงินไม่เป็น ไม่ว่าจะอย่างไหนจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจ เพราะถ้าไม่มีความรู้ไม่มีความเข้าใจสุดท้ายต่อให้มีเงินก็ใช้เงินหมดอยู่ดี แล้วการใช้เงินกับการหาเงินเกี่ยวยังไงกับชีวิต? เพราะถ้าหาเงินเก่งแต่ไม่มีเงินเก็บพอเกิดปัญหาในชีวิตขึ้น ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเขามากลายเป็นหนี้และสุดท้ายอาจจะใช้หนี้ไม่ได้ เราอาจจะได้ยินข่าวบ่อยๆ ที่หลายคนมีเงินหรือไม่มีเงินก็มักจะทุกข์หรือเสียใจทีหลัง จนถึงกับคิดสั้นฆ่าตัวตาย หรือบางคนหาเงินไม่เก่งแต่อยากมีเงินเก็บ และมีเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินหรือยามแก่ชรา จะเห็นด้วยว่า เรื่องเงินสำคัญมากจึงต้องรู้วิธีใช้เงินและมีความเข้าใจเกี่ยวกับเงิน เรามาดูกันว่าการวางแผนการเงินและการบริหารเงินจะช่วยชีวิตเราได้อย่างไร?

investing plan

Khakimullin Aleksandr/shutterstock.com

การวางแผนการเงิน

การวางแผนการเงิน

ถ้าพูดถึงการวางแผนหลายคนก็มักจะบอกว่าปวดหัวไม่อยากคิดแต่เรื่องการวางแผนการเงินยังไงก็ต้องคิดเพราะถ้าไม่คิดตอนนี้วันหลังหรือวันหน้าก็จะปวดหัวอย่างหนักไม่มีใครช่วยได้ การวางแผนการเงินก็เหมือนกับการที่เราจะไปที่ไหนสักที่ สมมุติว่าเราอยากจะไปเชียงใหม่ สิ่งที่เราต้องรู้แล้วเราต้องคิดก็คือ?

  • เชียงใหม่อยู่ที่ไหน?
  • ไปอย่างไร?
  • ค่าใช้จ่าย หรืองบประมาณเท่าไหร่?
  • ไปเมื่อไหร่?
  • สิ่งที่ต้องเตรียมไปมีอะไรบ้าง?
  • ในกระเป๋าของเราตอนนี้มีเงินอยู่เท่าไหร่ แล้วต้องหาเพิ่มไหม?

อันนี้แค่ ตัวอย่าง คำถามเหล่านี้เหล่านี้เป็นคำถามที่เราสามารถเช็คและใช้ถามตัวเองในทุกเรื่องของชีวิต ไม่ใช่แค่แผนการเงินว่าจะสร้างบ้าน ซื้อรถหรือการมีครอบครัวต้องคิดและวางแผนเพื่อจะไม่เกิดปัญหามากหรือถ้าเกิดก็ให้ปัญหาน้อยที่สุด

แล้วขั้นตอนการวางแผนการเงินทำยังไง?

แล้วขั้นตอนการวางแผนการเงินทำยังไง?

กำหนดเป้าหมายทางการเงิน เป้าหมายทางการเงินอาจจะมีหลายเป้าหมาย อย่างเช่น มีเงินเพื่อซื้อรถ มีเงินสำหรับวัยเกษียณ มีเงินสำหรับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายอะไรก็ควรจะมีระยะเวลาที่ชัดเจน ระบุจำนวนเงินที่ต้องใช้สำหรับเป้าหมายนั้นๆ และมีความเหมาะสมมีความเป็นไปได้ด้วย เช่น ต้องการจะไปเที่ยวญี่ปุ่น โดยใช้เงินประมาณ 200,000 บาท ภายในเดือนตุลาคม ปี####? เมื่อมีเป้าหมายชัดเจน เราก็จะพยายามบรรลุเป้าหมายนั้นได้ง่ายขึ้น. รวบรวมข้อมูลทางการเงิน เพื่อจะให้บรรลุเป้าหมายเราจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับกระเป๋าของเราด้วย ข้อมูลทางการเงินของเรา รายรับ รายจ่าย ทรัพย์สินที่มี รวมถึงข้อมูลทางการลงทุนในอนาคต. ประเมินสถานะทางการเงิน เมื่อเราได้รวบรวมข้อมูลทางการเงินจะสามารถวิเคราะห์หรือประเมินสถานะการเงินของเราว่าเราสามารถบรรลุเป้าหมายที่จะไปเที่ยวหรือเป้าหมายในการมีเงินเกษียณตอนอายุเท่านั้นเท่านี้ได้ ข้อมูลที่เราได้รับจากการประเมิน บางครั้งจะเห็นว่ามีอุปสรรคหรือมีปัญหาอะไรบ้างข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยให้เราวางแผนในเรื่องต่างๆของชีวิตหรือแม้แต่การวางแผนที่จะลงทุนในเรื่องต่างๆได้. จัดทำแผนการเงิน เมื่อเรามีข้อมูลทางการเงินและประเมินสถานการณ์ทางการเงินแล้วเราก็สามารถที่จะจัดทำแผนการเงินของเราได้ว่าเราจะไปทิศทางไหนของเป้าหมายที่เราวางไว้ หลายคนใช้วิธีเขียนมันลงไปในกระดาษทำให้เห็นชัดเจนว่าแผนจะไปทิศทางไหน และจะบรรลุเป้าหมายอย่างไร? และอาจจะมีอุปสรรคอะไรบ้าง ? วิธีเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้น? ปฎิบัติตามแผนการเงิน เมื่อมีแผนและมีข้อมูลทั้งหมดแล้วสิ่งที่ต้องทำก็คือการลงมือทำ ปฏิบัติตามแผนที่ได้ตั้งใจไว้! ติดตามให้เป็นไปตามแผน ระยะเวลาที่ปฎิบัติตามแผนก็ต้องมีการตรวจสอบและประเมินผลที่เกิดขึ้นว่าได้ผลลัพธ์หรือเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้ไหม ? และทำตามกรอบระยะเวลาที่ตั้งใจไว้ไหม? เนื่องจากชีวิตของคนเราอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือ สภาพการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นที่ต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ ถ้าไม่มีอุปสรรคอะไร ถ้ามีวินัยมีความตั้งใจที่แน่วแน่ ผลลัพธ์ก็จะออกมาตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้และแผนการเงินนั้นก็จะสำเร็จ!

วิธีบริหารเงินที่ใช้ได้จริง

วิธีบริหารเงินที่ใช้ได้จริง

สถาบันการเงินและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินหลายแหล่งแนะนำให้ใช้ 5 วิธีในการบริหารเงิน

1.เก็บออม หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าการเก็บออมเป็นเรื่องของคนที่มีเงินเดือนมากๆหรือเป็นเรื่องของคนที่มีเงินเท่านั้น แต่จริงๆแล้วการเก็บออมเงินควรเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก ยิ่งเล็กเท่าไหร่ก็ควรที่จะต้องเรียนรู้ให้เป็นนิสัย เมื่อมีวินัยในการเก็บออมเงินที่ดี เมื่อโตขึ้นเขาก็จะใช้เงินบริหารเงินได้ดีขึ้นด้วย ผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินหรือกูรูทั้งหลายมักจะบอกว่า ถ้าคุณอยากจะสบายตอนแก่ให้เก็บออมหรือกันเงินไว้ เป็นอันดับแรกเมื่อรายรับเข้ามาก่อนที่จะใช้ มักจะมีสูตรว่า รายรับ-เงินออม = รายจ่าย หมายความว่า เมื่อรายรับเข้ามาในกระเป๋าให้หักเงินส่วนหนึ่งหรือฝากเงินนั้นไว้ในบัญชีธนาคารทันทีจะดีกว่า เพราะอะไรน่ะหรือเพราะจะควบคุม ป้องกันไม่ล่อใจให้เราเอาเงินนั้นมาใช้เด็ดขาด แล้วเมื่อเก็บเงินออมแล้วเงินที่เหลือมีเท่าไหร่ก็เอามาบริหารอีกทีเพื่อจะใช้เป็นรายจ่าย ซื้อสิ่งของจำเป็นทั้งของกินของใช้ในแต่ละเดือน แต่ละวัน.

2.ตั้งงบประมาณหรือจะให้ละเอียดลงไปอีกก็คือการจดรายรับ-รายจ่าย บัญชีครัวเรือนหรือบัญชีส่วนตัวให้ละเอียดโดยวิธีนี้จะรู้ว่าเงินไปไหน? เก็บออมเท่าไหร่? ฟุ่มเฟือยหรือใช้อย่างคุ้มค่า? เป้าหมายก็เพื่อจะรู้ว่าตัวเองมีรายรับ-รายจ่ายเท่าไหร่และใช้น้อยกว่ารายรับของตัวเองหรือไม่.

3.วางแผนหรือกำหนดเป้าหมาย เพื่อจะซื้อรถ ผ่อนบ้านหรือเก็บออมเงินเพื่ออนาคต ทุกคนต้องมีแผน แม้แต่แม่ทัพจะทำศึกสงครามยังต้องมีแผนการรบ ทุกวันนี้ เราก็สู้รบกับชีวิตเหมือนกัน จึงต้องมีแผนเพื่อจะชนะในการรบสงครามสนามชีวิต อย่างเช่น ถ้าเราอยากซื้อรถ เราก็ต้องกำหนดยี่ห้อ ราคา และกำหนดระยะเวลา ในการที่จะมี หรือบรรลุเป้าหมายนั้น และถึงแม้ว่าเราจะมีการวางแผนไว้แล้วเราก็ควรที่จะตรวจ สอบแผนของเราอย่างสม่ำเสมอว่ามีความก้าวหน้าหรือว่าต้องปรับปรุงแผนการเงิน หรือเป้าหมายของเราได้อย่างเหมาะสม.

4.เรียนรู้ อย่ากลัวที่จะรู้และยอมรับว่าเราไม่รู้หลายเรื่อง และอย่าเป็นคนที่อยู่เฉยๆ คนเราควรพัฒนาให้สมองมีความรู้อยู่เรื่อยๆ แหล่งความรู้ในสมัยนี้มีมากมายให้ค้นหา ค้นคว้าเรื่องที่เราอยากรู้ อยากจะซื้อหนังสือเหรอ? ร้านหนังสือเยอะแยะแล้วราคาก็ไม่แพง ถ้าคุณอยากรู้เรื่องการลงทุนหาข้อมูลจาก Internet ก็หาได้ง่ายแค่คลิก หรือเข้าไปคุยเลยกับสถาบันการเงิน เจ้าหน้าที่เต็มใจให้ความรู้กับคุณอยู่แล้วว่าจะลงทุนหรือจะเก็บออมในแผนไหนยิ่งคุณรู้เกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำ รู้เรื่องที่คุณสนใจมากเท่าไหร่ สิ่งดีสำหรับชีวิตคุณจะมีมาแน่ๆ.

5.สมดุล สิ่งที่ต้องยอมรับกับยุคสมัยนี้ก็คือการหาเงิน เก็บเงิน การลงทุนเรื่องเหล่านี้ ก่อให้เกิดความเครียดมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่คน! ที่จะบริหารจัดการกับความคิดของตัวเองได้ เนื่องจากความไม่แน่นอนในชีวิตจะมีแน่ๆ ถึงเราทำทุกอย่างทั้ง 4 ขั้นตอนก่อนหน้านี้แล้ว ก็ต้องสมดุลด้วย ถ้าอยากเก็บเงินก็อย่าขี้เหนียวจนคนรอบข้างคนอื่นๆ เอือมระอากับความเค็ม หรือต้องดูแลสุขภาพของตัวเองด้วย หลายคนสาหัสเพราะทำแต่งานไม่มีเวลากินข้าวไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัวหรือลงทุน 100 ฝันอยากจะได้ 1,000,000% มันก็เกินไปไหม?

เมื่อรู้และบริหารเงินได้ดี มีรากฐานของการเก็บออมที่ดี หลายคนจึงอยากมีมากขึ้นก็อาจจะอยากมองหาแหล่งลงทุนเพื่อจะมีบ้าน มีรถ มีเงินเก็บที่มากขึ้นซึ่งมันก็คือการลงทุนให้ได้เงินมา แล้วเพื่อจะลงทุนต้องทำยังไงหรือต้องมีความรู้อะไรบ้างเรามาดูกัน?

การหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุน

การหาความรู้เกี่ยวกับการลงทุน

เพื่อจะลงทุนในอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะลงทุนในด้านตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนเพื่อการศึกษา การลงทุนลงแรงจะทำนั่นทำนี่ ก็ต้องมีความรู้ และการหาความรู้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอันดับแรกก่อนการลงทุน ทำไมเรื่องนี้สำคัญ? เพราะกันความเสี่ยง!! หรือจะพูดอีกอย่างก็คือทำให้เราไปถึงเป้าหมายในการลงทุนหรือบรรลุเป้าหมายที่เราได้วางแผนเอาไว้โดยไม่เจ็บตัวหรือถ้าเจ็บก็เจ็บน้อยหน่อย เช่น ถ้าเราอยากจะลงทุนในด้านตลาดหลักทรัพย์ อยากเล่นหุ้นแต่ไม่มีความรู้เรื่องนี้ หรือก็รู้นะแค่งูๆปลาๆก็เหมือนกับแมงเม่าบินเข้ากองไฟเพราะคิดว่าคนอื่นเขารุ่ง รวยได้รวยเอา อยากเอาบ้าง ก็แห่…ลงทุนเล่นหุ้นตามชาวบ้านเขา โดยที่สมองไม่มีคลังความรู้ในเรื่องหุ้นเลยสักนิด สุดท้าย! ก็ตายกับตาย หรือไม่ได้ตายก็หมดเนื้อหมดตัว หรืออยากจะเอาเงินไปลงทุนในการเปิดร้านอาหาร แต่ตัวเองไม่มีความรู้เรื่องอาหารเลย ไม่มีความรู้เรื่องบริหารจัดการอะไรสักอย่าง นับวัน…รอไปเลยว่าเจ๊งกับเจ๊ง การเรียนรู้ด้านการลงทุนในทุกวันนี้มีหลายแหล่ง อย่างเช่น ถ้าเราอยากจะเรียนรู้เรื่องหุ้น Internet ก็มีข้อมูลมากมายก่ายกองจนเรียนไม่หวาดไม่ไหว หรือเราจะเดินเข้าไปหาที่สถาบันการเงินเพื่อสอบถามทันทีก็ยังได้ เมื่อมีความรู้เรื่องการลงทุนแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะกระโจนลงไปลงทุนทันที ยังมีเรื่องอื่นที่ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี?

การวางแผนเงินทุนสำรองที่อาจจะต้องใช้ยามฉุกเฉิน

การวางแผนเงินทุนสำรองที่อาจจะต้องใช้ยามฉุกเฉิน

เงินทุนสำรอง เป็นเงินที่มีไว้ใช้ยามฉุกเฉิน อย่างเช่น อาจจะตกงาน เกิดอุบัติเหตุทำงานไม่ได้ คนในครอบครัวเจ็บป่วย แต่เงินทุนสำรองที่จะต้องใช้ยามฉุกเฉินจะต้องมีจำนวนเท่าไหร่ ก็พอจะบอกได้คร่าวๆ เพราะคำว่าพอหรือครอบคลุมแต่ละคนแต่ละครอบครัวไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่อาจจะต้องกันเงินไว้อย่างน้อย 3 - 6 เดือน ของรายรับ-รายจ่ายที่เคยใช้แต่ละเดือนอยู่แล้ว สมมุติว่า รายจ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 10,000 ก็ต้องมีเงินสดสำรองอย่างน้อย 30,000-60,000 ซึ่งเงินจำนวนนี้แต่ละคนความพอและสบายใจไม่เท่ากัน เงินสำรองหลายคนฝากไว้ในรูปเงินสดกับธนาคารเผื่อว่า เมื่อจำเป็นก็เอาออกมาใช้ได้ทันที หรืออยู่ในรูปสินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันทีเช่น ทอง

การวางแผนสภาพคล่องทางการลงทุน

การวางแผนสภาพคล่องทางการลงทุน

การลงทุนมีความเสี่ยง! เราได้ยินได้ฟังคำเตือนนี้บ่อยครั้ง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องจริง ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง!! ตั้งแต่เรื่องหุ้นไปจนเรื่องความรัก เรื่องจุกจิกอื่นๆในชีวิต บางคนกลัวที่จะขาดทุนก็เลยลงทุนนิดๆหน่อยๆหรือที่เขาเรียกว่ากั๊ก บางคนไม่กลัวที่จะขาดทุนเพราะมีทุนเยอะแต่กลัวที่มากกว่าคือกลัวเจ็บและผิดหวัง แต่ไม่ว่ายังไง ชีวิตก็มีความเสี่ยงอยู่แล้วไม่ว่าจะลงทุนจริงๆในด้านการเงิน หรืออยู่เฉยๆเพราะหายใจทิ้งไปวันๆก็เสี่ยง และถ้าเงินอีกส่วนหนึ่งเอาไปลงทุน ไม่มีใครรับประกันว่าเราจะได้กำไร 100% หรือจะได้ทุนคืนกลับคืนมาไหม? เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ในโลกสมัยปัจจุบัน ดังนั้นสมมุติว่าเงินที่ลงทุนไปหายเกลี้ยง เราจะยังอยู่อีกได้ไหมก็ขึ้นอยู่กับเงินสำรองที่กันเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินนี่แหละ หรือจะเกิดเหตุไม่คาดฝันด้วยสาเหตุอะไรก็สุดจะแล้วแต่ อกเราไม่ระเบิดเพราะความเครียดอับจนหนทางเพราะพึ่งใครไม่ได้โดยเฉพาะปัญหาด้านการเงิน สินทรัพย์หรือเงินออมที่สามารถเบิกจ่ายได้โดยไม่ติดขัดก็เป็นสิ่งที่ต้องคิดให้รอบคอบและวางแผนให้มีพอ.

การตั้งเป้าหมายในการลงทุน

การตั้งเป้าหมายในการลงทุน

ทุกการลงทุนควรมีเป้าหมาย ถ้าไม่มีเป้าหมายก็เหมือนกับการที่ต้องวิ่งไปเรื่อยๆไม่มีเส้นชัย วิ่งๆไปแล้วก็เหนื่อยตายพอดี ดังนั้นเมื่อจะลงทุนอะไรสักอย่าง คุณอยากให้ผลลัพธ์ออกมายังไง ? เช่น ลงทุนในการศึกษา เราก็ต้องตั้งเป้าว่าจะเรียน 1ปี หรือ 4ปีแล้วก็จบมีความรู้เรื่องนั้นๆในสิ่งที่เรียน ถ้ารู้เป้าหมายก็ไม่ต้องเปลืองทั้งแรง กำลังและเงิน หรือเราอาจได้ยินมาจากผู้เชี่ยวชาญว่า การตั้งเป้าหมายในการลงทุนมีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว รู้กำหนดเวลา รู้เป้าหมายและรู้ว่าจะใช้ทุนเท่าไหร่ อยากได้กำไรเท่าไหร่? ก็เลือกให้เหมาะกับรูปแบบชีวิตของเรา ยุคข้าวยากน้ำมันแพง จะตัวคนเดียวหรือเลี้ยงดูทั้งครอบครัวยังไงก็ต้องใช้เงินและมีเงิน ดังนั้นเมื่อทำทุกอย่างและทุกขั้นตอนที่กล่าวไปแล้วตั้งแต่ต้น ถ้านึกอยากจะลงทุนก็ทำสิ่งที่ตัวเองถนัด มีความรู้และชอบ ผลลัพธ์มันก็น่าจะออกมาสมเหตุสมผลกันใช่ไหม?