เมื่อเวเนซุเอลาต้องเจอกับฝันร้ายที่กลายเป็นจริง!! ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เงินไร้ค่า ผู้คนอดอยาก ไม่มีน้ำและไม่มีไฟฟ้าใช้ รวมถึงการแตกแยกทางการเมือง ทั้งหมดนี้่ได้เกิดขึ้นกับประเทศหนึ่งซึ่งเมื่อย้อนไปในอดีต เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก เพราะมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นกว่า 20% ของปริมาณน้ำมันดิบทั่วโลก ทำให้รายได้ของเวเนซุเอลากว่า 90% มาจากการส่งออกน้ำมันดิบ

จากเศรษฐีที่เคยกินดีอยู่ดีกลับต้องมาเจอปัญหารอบด้านแบบนี้ ผู้คนอดอยากหิวโหย ขาดแคลนทั้งอาหารและยา ซึ่งจากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UNHCR) พบว่ามีชาวเวเนซุเอลาอพยพออกนอกประเทศกว่า 2.3 ล้านคน และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกวัน สาเหตุทั้งหมดได้มาจากปัญหาใหญ่เรื่อง วิกฤตการเงิน ดังนั้น จากข่าวที่โด่งดังเป็นกระแสทั่วโลกแบบนี้ คงถึงคราวแล้วล่ะที่เราจะต้องมาเข้าใจจริงๆ ถึงวิกฤตการเงินคืออะไร สาเหตุและการรับมือควรเป็นเช่นไร และอนาคตของบ้านเราเมื่อได้ข้อคิดจากประเทศเวเนซุเอลาแบบนี้ มาดูไปพร้อมๆ กันเถอะ

วิกฤตการเงิน เวเนซุเอลา คืออะไร

วิกฤตการเงิน เวเนซุเอลา คืออะไร

เมื่อกล่าวถึง ‘วิกฤตการเงิน’ ปัจจุบันสรุปได้ว่า ประกอบด้วยปัญหาหลักสองประการ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องอย่างรุนแรง บางแห่งสถาบันการเงินล้มละลาย และตลาดตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนก (Panic) กันไปใหญ่ ปัญหานั้นก็คือ

  • การปล่อยสินเชื่อมากเกินควร (Excessive Credit)  เกิดขึ้นได้เมื่อรัฐบาลของประเทศที่เผชิญกับภาวะวิกฤตดําเนินนโยบายอย่างอนุรักษ์นิยมมากกว่าเดิม เช่น ออมเงินที่ได้รับจากการส่งออกมากขึ้น หรือลงทุนน้อยลง จึงทำให้เกิดตราสารการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงและมีอายุสั้น ส่งผลให้ธนาคารกลางดําเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ระดับการลงทุนของภาครัฐและเอกชนทั่วโลกเติบโตไม่ทันความต้องการลงทุนของเงินออมที่ เพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่า ก่อให้เกิดภาวะ “เงินออมล้นโลก” (Savings Glut) แล้วในที่สุดก็ไหลเข้าสู่ตลาดที่เปิดรับการลงทุน รวมทั้งตลาดอสังหาริมทรัพย์

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่งผลให้ทั้งราคาบ้านและอัตราการก่อสร้างบ้านใหม่ถีบตัวสูงขึ้น หรือ ลดทอนคุณภาพของสินเชื่อแบบต่างๆ ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการชําระหนี้ ซึ่งปกติมีทั้ง ข้อมูลเชิงตัวเลขและข้อมูลเชิงคุณภาพ เหลือเพียง ข้อมูลเชิงตัวเลขเท่านั้น จึงตามด้วยปัญหามากมาย

  • การใช้เงินกู้ในการดําเนินธุรกิจมากเกินควร (Excessive Leverage) หลังจากที่แปลงสินเชื่อเป็นหลักทรัพย์ไปแล้ว สถาบันการเงินหลายแห่งยังมี หลักทรัพย์ที่โยงกับซับไพร และเมื่อลูกหนี้เริ่มชําระคืนไม่ได้ มูลค่าของหลักทรัพย์ที่อ้างอิงซับไพรมก็ตกลงอย่างฮวบฮาบ ไม่มีใครอยากซื้อขายหลักทรัพย์ เจ้าหนี้เงินกู้ระยะสั้นก็เริ่มเรียกเงินกู้คืน สถาบันการเงินประสบปัญหา ในการหาเงินมาชําระหนี้ ส่งผลกระเพื่อมต่อเนื่องไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ ผ่านการดิ้นรนขายทำเลหลังหลักทรัพย์เหล่านี้ ทำให้ก่อความ เดือดร้อนให้กับภาคเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพราะทําให้ลูกหนี้คุณภาพดีพลอยกู้ไม่ได้และเผชิญกับต้นทุน ทางการเงินที่สูงกว่าปกติ

สาเหตุของวิกฤตการเงิน เวเนซุเอลา

  • ย้อนไปในปี 1976 รัฐบาลของประธานาธิบดีคาร์ลอส แอนเดรส เปเรซ ออกนโยบายที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงประเทศก็ว่าได้ ด้วยการให้รัฐบาลเข้าไปควบคุมธุรกิจพลังงานทั้งหมดในประเทศ แทนที่จะเป็นบริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้รัฐบาลเวเนซุเอลาตอนนั้นรวยขึ้นแบบสุด ๆ จากการขายน้ำมัน แต่กลับบริหารจัดการทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์นี้อย่างไร้ประสิทธิภาพ

  • ในปี 1999  ฮูโก ชาเวซ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ เขามีแนวคิดรัฐสวัสดิการ โดยนำเงินจำนวนมากมาใช้กับโครงการประชานิยมแบบสุดโต่ง เพื่อเอาใจประชาชนด้วยหวังจะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน เช่น:

  • การอุ้มราคาสินค้า กำหนดราคาสินค้าให้ถูกกว่าความเป็นจริงมากแล้วนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทดแทน

  • สร้างบ้านราคาถูกกว่าท้องตลาด กว่า 2 ล้านหลัง เป็นเหตุให้ภาคเอกชนไม่สามารถแข่งขันได้

  • อุ้มราคาน้ำมันและไฟฟ้าให้ถูกราวกับแจกฟรี ทำให้ผลาญพลังงานอย่างสิ้นเปลืองได้

  • สนับสนุนให้คนหยุดทำการเกษตร นำเข้าอาหารแทบทั้งหมดจากต่างประเทศ

  • ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนม่ให้เงินไหลออกนอกประเทศ จนทำให้ตลาดค่าเงินเวเนซุเอลาพัง

  • แต่เขา "ฮูโก ชาเวซ” ก็กลายเป็นที่รักของคนยากจนในประเทศ เพราะสามารถทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ยกคุณภาพชีวิตคนจนในเวลานั้นอย่างทั่วถึงจริง ๆ แม้จะเสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2013

  • ในปัจจุบัน นิโกลัส มาดูโร ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่แทน รัฐบาลก็ยังไม่หยุดใช้นโยบายประชานิยมต่อไป

ดังนั้น สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตการเงินในเงินเวเนซุเอลา คือ ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เพราะมีรัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดการผลิตสินค้าและบริการ โดยพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเพียงอย่างเดียว จากเมื่อก่อนนั้นที่เคยเป็นผู้ส่งออกกาแฟและโกโก้  รัฐบาลกลับใช้นโยบายประชานิยม ยกเลิกกิจกรรมภาคกษตรกรรม ควบคุมราคาสินค้าและให้บริการที่มีราคาต่ำเพื่อเอาใจประชาชน จนผู้ผลิตรายย่อยขาดทุนและต้องปิดกิจการไป รวมทั้งการเน้นนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพวกกข้าวของเครื่องใช้ หรืออาหารและยา พอเศรษฐกิจตกต่ำ ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลดลงมาก จึงทำให้ประเทศมีรายได้ที่ลดลง รัฐบาลต้องกู้เงินจากประเทศจีนและรัสเซียกว่า 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2014

การเมืองกับวิกฤตการเงิน เวเนซุเอลา

  • ราคาน้ำมันตกต่ำ : เมื่อเกิดวิกฤตราคาน้ำมันตกต่ำ ในช่วงปี 2014-2016 ที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลงต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากที่เคยสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ถือว่าเวเนซุเอลาซึ่งพึ่งพารายได้จากน้ำมันเป็นหลัก ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ จนรายได้หายไปอย่างมหาศาล แม้มีสัญญาณเตือนถึงปัญหาเศรษฐกิจเช่นนี้ แต่รัฐบาลกลับยังคงเดินหน้าอัดฉีดเงินเพื่อประชานิยมต่อไป และหมดเงินจำนวนมากไปกับการซื้อเครื่องบินรบ รถถัง เพื่อเสริมกองทัพ จนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ก็เจอกับภาวะขาดทุน เพราะการบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพของภาครัฐด้วย

  • พิมพ์เงินจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหา : การแก้ปัญหาโดยพิมพ์เงินออกมาดื้อ ๆ จำนวนมากแบบนี้ ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้นอย่างมหาศาล เกิดเงินเฟ้อรุนแรง เมื่อกลไกค่าเงินเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ค่าเงินเวเนซุเอลาอ่อนค่าลง สินค้านำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพงขึ้น รัฐบาลก็ได้ยกเลิกการนำเข้าสินค้าบางอย่าง ส่งผลให้อาหารและยารักษาโรคเริ่มขาดแคลน ประชาชนจึงเริ่มอดอยาก ยิ่งเกิดภาวะเงินเฟ้อมากขึ้นเท่าไร รัฐบาลกลับยิ่งพิมพ์เงินเพิ่มแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนค่าเงิน Bolivar เป็นเหมือนเศษกระดาษ

เมื่อภาวะเงินเฟ้อทะลุ 80,000% ในปี 2018 ราคาสินค้าในเวเนซุเอลาแพงขึ้นอย่างมหาศาล เช่น ไก่สด ขายอยู่ที่ตัวละ 14.6 ล้านโบลิวาร์ หรือ 1,900 บาท เนื้อวัว ราคากิโลกรัมละ 9.5 ล้านโบลิวาร์ หรือ 1,200 บาท , ข้าวสารบรรจุถุงกิโลกรัมละ 2.5 ล้านโบลิวาร์ หรือ 330 บาท , กระดาษชำระม้วนละ 2.6 ล้านโบลิวาร์ หรือ 340 บาท ซึ่งถือว่าแพงมาก เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของชาวเวเนซุเอลาที่ได้รับประมาณเดือนละ 1.8 ล้านโบลิวาร์ หรือราว 240 บาทเท่านั้น

ถึงแม้ตอนนี้ รัฐบาลต้องเปลี่ยนสกุลเงินใหม่ กลายเป็น Sovereign Bolivar ด้วยการตัดเลขศูนย์ 5 ตัว เพื่อให้เงิน 100,000 Bolivar มีค่าเท่ากับ 1 Sovereign Bolivar และยังปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 3,000% หวังจะให้ประชาชนมีเงินมาใช้จ่าย เพราะต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ดูเหมือนสถานการณ์จะมีแแย่ลงเรื่อย ๆ  นักวิเคราะห์ต่างออกมาพูดว่าไม่อาจชะลอปัญหาได้เลย

  • ความขัดแย้งทางการเมือง : เมื่อปี 2015 ที่พรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 1999 แต่ศาลกลับมีมติให้  นิโกลัส มาดูโร ยังคงเป็นผู้นำรัฐบาลต่อไป เพราะมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ จากจำนวน ส.ส. ที่เข้าร่วมประชุมไม่ครบ ทำให้กลายเป็นเหตุความรุนแรงทางการเมืองมากขึ้น ล่าสุดในปี 2018 ได้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยมี 2 แคนดิเดต คือรัฐบาลปัจจุบันอย่าง  นิโกลัส มาดูโร และฝ่ายค้านที่นำโดย ฮวน กุยโด ผลปรากฏว่า "นิโกลัส มาดูโร" เป็นผู้ชนะ แต่ก็โดนวิจารณ์อย่างหนักเรื่องความไม่โปร่งใส เพราะมีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่ถึง 50% ด้วยซ้ำ จนทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐอเมริกา

  • "ฮวน กุยโด" จึงใช้โอกาสนี้ตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดี โดยมีสหรัฐฯ หนุนหลัง ขณะที่ "นิโกลัส มาดูโร" ก็ไม่ยอมแพ้เช่นกัน ยังคงนั่งในสภาต่อไป ซึ่งสนับสนุนโดยจีนและรัสเซีย ทำให้ตอนนี้เวเนซุเอลา กลายเป็นประเทศที่มีประธานาธิบดี 2 คน โดยทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านต่างก่อเหตุปะทะกันรุนแรง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน ความบาดหมางนี้ยิ่งเหมือนเป็นการซ้ำเติมปัญหาในประเทศให้เลวร้ายขึ้นไปอีกด้วย

  • เงินเฟ้อขั้นรุนแรง : ปัญหาเงินเฟ้อนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะควบคุมได้ อาจทะลุ 1 ล้านเปอร์เซ็นต์ในปีนี้ เห็นจากภาพจากสื่อทั่วโลกที่มีคนออกมาโยนเงินทิ้งเกลื่อนถนน เพราะเหลือค่าเพียงแค่เศษกระดาษ ขณะที่สินค้าราคาแพงอย่างมหาศาล สวนทางกับค่าแรงคนในประเทศ ภาวะนี้ เรียกว่า เงินเฟ้อขั้นรุนแรง หรือ Hyperinflation.

  • ไฟฟ้าดับทั่วประเทศและไม่มีน้ำสะอาดใช้ : เดือนมีนาคม 2019 พื้นที่ส่วนใหญ่กว่า 70% ในประเทศเวเนซุเอลา เจอกับปัญหาไฟดับติดต่อกันถึง 1 สัปดาห์ เนื่องจากโรงไฟฟ้าของเวเนซุเอลาไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้อีกต่อไป ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะหยุดชะงัก โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตถูกตัดขาดไปโดยปริยาย ส่งผลให้โรงพยาบาลเดือดร้อนอย่างหนัก การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบากมาก และมีผู้ป่วยโรคไตเสียชีวิต เพราะเครื่องฟอกไตและอุปกรณ์ทางการแพทย์ใช้งานไม่ได้  หลาย ๆ เมืองยังต้องเจอปัญหาไม่มีน้ำสะอาดใช้ จากการปิดระบบประปา โดยบางเมืองรัฐบาลจะปล่อยน้ำประปาให้ใช้เพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้นด้วย

  • สงครามกลางเมืองที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก : เมื่อการเมืองของเวเนซุเอลาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย จนเกิดเหตุปะทะกันต่อเนื่องจากฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน  โดยนายมาดูโร มีเสียงสนับสนุนจากประเทศจีนและรัสเซีย ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย กลับเลือกยืนข้างนายกุยโด ทำให้ชาติยุโรปอีกหลายประเทศ ออกมาเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ ขณะที่ความยากจนข้นแค้น ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาสร้างความรุนแรง ก่ออาชญากรรม ปล้นสะดม พยายามกักตุนทุกอย่างเอาไว้ เพื่อความอยู่รอดของชีวิตและจนถึงปัจจุบัน มีคนเวเนซุเอลามากกว่า 3 ล้านคนแล้วที่เลือกอพยพออกนอกประเทศ หวังไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยส่วนใหญ่เลือกที่จะหนีไปประเทศเพื่อนบ้านอย่าง โคลอมเบีย บราซิล เปรู และชิลี

มองประเทศไทยกับวิกฤตการเงิน เวเนซุเอลา

มองประเทศไทยกับวิกฤตการเงิน เวเนซุเอลา

เนื่องจากข่าว “วิกฤตการเงินในเวเนซุเอลา” หรือ ภาวะเงินเฟ้อสูงแบบผิดปกติขั้นรุนแรงนี้  เลยเป็นภาพที่เราเห็นว่าเงินเกลื่อนพื้นเกลื่อนถนน คนแบกกระสอบเงินไปซื้อไข่ไก่ที่แชร์กันจนชินตา แต่เหตุผลหลักหรือจุดเริ่มต้นของความพังพินาศนี้ก็เริ่มมาจากสิ่งที่เรียกว่าการทำนโยบายแบบ “ประชานิยม” หรือการที่รัฐบาลแจกเงินให้ใช้เพื่อแลกกับฐานเสียง แม้เราอาจจะกังวลกับนโยบายของประเทศเราในตอนนี้

แต่ก่อนอื่นเลยก็ต้องย้อนกลับไปดูกันก่อน ในปี 2014 มี เวเนซุเอลามี GDP เท่ากับ 409.562 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าประเทศไทยทั้งที่มีประชากรน้อยกว่า นั่นก็คือว่าหากคิดเป็นรายได้ต่อหัวแล้ว คนในประเทศเวเนซุเอลาจะมีรายได้มากกว่าคนไทยเราโดยเฉลี่ยประมาณ 2-3 เท่าเลยทีเดียวแต่เบื้องหลังความร่ำรวยนั้นคือ “แหล่งน้ำมัน” ทั้งๆที่เมื่อก่อนเวเนซุเอลาทำการเกษตรเป็นหลักเหมือนบ้านเรา แต่ก็ไปพบบ่อน้ำมันใหญ่ชนิดที่เรียกว่าใช้ได้หลายร้อยปี  ถึงขนาดกว่า 90% ของ GDP ประเทศเวเนซุเอลามาจากน้ำมัน แล้วในปี 2016 พบว่าเกินกว่า 95% ของการส่งออกสินค้าของประเทศเวเนซุเอลา คือ น้ำมัน จึงอาจกล่าวได้ว่าประเทศเวเนซุเอลาเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันเป็นอย่างมาก

แต่เมื่อรัฐบาลควบคุมการผลิตน้ำมันของประเทศ ยึดมาผลิตและบริหารเองในสมัยของประธานาธิบดี คาร์ลอส เปเรซในช่วงปี 1976 นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการจำนวนมากมองว่านโยบายเหล่านี้ไม่ได้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือไม่ได้ทำให้ประชาชนในประเทศพัฒนา แต่เป็นนโยบายสายตาสั้นที่มองแค่ผลประโยชน์ในช่วงสั้นๆเพื่อการกอบโกยคะแนนเสียงเพียงอย่างเดียว ประชาชนอยู่เฉยๆก็มีเงินใช้ และถูกมอมเมาด้วยนโยบายประชานิยมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การพัฒนาต่างๆของประเทศเวเนซุเอลาเริ่มหยุดนิ่ง หรือการนำเข้าสินค้าจำนวนมาก ก็พบปัญหาคอรัปชั่นอย่างรุนแรงมาก

สิ่งที่รัฐบาลทำกลับเป็นการพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อมาใช้หนี้และใช้เอง จึงเกิด “ค่าเงินเสื่อมค่า”  บริษัทเอกชนหลายแห่งได้ทยอยปิดไป สินค้าที่ผลิตได้ก็มีน้อยตามลงไปด้วย แต่เมื่อเงินถูกพิมพ์ออกมาเรื่อยๆเลยทำให้ราคาสินค้าก็ยิ่งสูง หนำซ้ำยังเกิดตลาดมืดขึ้นอีกด้วย ยิ่งเมื่อนานาประเทศต่างคว่ำบาตรทางการค้า และตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับเวเนซุเอลา เพื่อที่จะกดดันให้ผู้นำประเทศอย่างประธานาธิบดี จึงมีการยึดอำนาจเบ็ดเสร็จจากรัฐสภาโดยไม่ให้อำนาจคัดค้านผู้นำประเทศ เรียกว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดหนักเข้าไปอีก

สำหรับประเทศไทยเราแม้มีบ้างที่จะมีนโยบายประชานิยมแบบเดียวกัน แถมหาเสียงเลือกตั้งคราวนี้แต่ละพรรคส่วนใหญ่เน้นนโยบายใช้เงินกันเยอะซะด้วย หลายคนก็กลัวว่าประเทศเราจะเป็นแบบเวเนซุเอลา แต่ถ้าเราย้อนกลับไปในประเทศที่มีปัญหาหนักเรื่อง ราคาน้ำมันตกก็ทำให้รายรับของรัฐหาย ต้องนำเข้าสินค้าเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะเป็นประเทศที่เรียกว่าเน้นใช้แรงงานเป็นหลัก (Labor Intensive) สามารถรองรับการโยกย้ายแรงงานได้ดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลกเลยทีเดียว

ซึ่งในปี 2018 พบว่า GDP ของประเทศไทยมีสัดส่วนจากภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 30% และสัดส่วนจากภาคบริการอีกมากกว่า 50% แม้ภาคเกษตรที่มีสัดส่วนต่อ GDP น้อย แต่ภาคเกษตรเป็นภาคที่รองรับแรงงานได้มากที่สุดด้วย ประเทศไทยเราจึงมีการกระจายตัวของภาคการผลิตที่หลากหลายกว่าเวเนซุเอลามากนัก ถ้าเปรียบให้เหมือนการลงทุนก็คือ เวเนซุเอลาลงทุนในหุ้นตัวเดียว แต่ประเทศไทยลงทุนหุ้นหลายตัวมีการกระจายความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี

แต่เราก็ต้องยอมรับด้วยว่าประเทศไหนก็ตามที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ชนะการเลือกตั้ง แม้รัฐบาลอาจพูดถึงนโ่ยบายประชานิยมบ้าง แต่หลายยุคหลายสมัยก็ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญไว้ เช่น โครงการสนามบิน โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการทางหลวงต่างๆ รวมถึงประเทศไทยยังคงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาโดยจะพบว่างบของกระทรวงศึกษาธิการจะค่อนข้างสูงมาโดยตลอด แต่เมื่อเทียบกับเวเนซุเอลารัฐบาลเค้าไม่ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศเลย นโยบายต่างๆเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เน้นที่ผลประโยชน์ระยะสั้นแต่ขาดการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต จึงเหมือนระเบิดเวลาที่ได้ถูกจุดขึ้นมาแล้ว

และประเทศของเรานั้นยังคงมีเงินคงคลังมากกว่า สามแสนล้านบาท ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ออกมาแถลงว่าเป็นระดับฐานะการคลังที่ค่อนข้างเข้มแข็ง รวมถึงการเลือกตั้ง ประเทศไทยยังคงมีเส้นทางของประชาธิปไตยอยู่จึงไม่น่าที่จะถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากนานาประเทศแบบเวเนซุเอลาได้ แต่ถ้าเรามองในแง่ร้าย หากต่างชาติมองว่าการเลือกตั้งไม่โปร่งใส แล้วโดนคว่ำบาตรขึ้นมาไม่ติดต่อการค้าด้วยเหมือนเวเนซุเอลา แน่นอนว่าเศรษฐกิจบ้านเราก็จะตกต่ำ แต่ด้วยประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรมก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าปัจจัยหลายๆอย่างแบบเวเนซุเอลา ปัญหาก็จะไม่หนักหน่วงเท่าประเทศอื่นๆที่ไม่สามารถผลิตสินค้าสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคเองได้

ส่วนเรื่องเงินเฟ้อในประเทศไทย อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกและไทยมักจะเป็นตัวเลขหลักเดียว ถือว่าเป็นภาวะที่ค่อนข้างปกติในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ และเศรษฐกิจไทยในปีนี้ก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะรากฐานของเศรษฐกิจไทยเน้นเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม พื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะกับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ในภาคเกษตรกรรม ส่วนภาคการผลิต ราคาสินค้าและบริการก็เป็นไปตามกลไกราคาตลาด ยิ่งหากเราดำรงชีวิตโดยยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและซื่อสัตย์สุจริต เศรษฐกิจไทยจะไม่เป็นเหมือนอย่างประเทศเวเนซุเอลาอย่างแน่นอน

เราจะเห็นข้อสรุปจากข้อมูลทั้งหมดว่า วิกฤตการเงิน เวเนซุเอลา ก็เกิดจากต้นตอของหลายๆปัญหาที่มาผูกกันและใช้เวลาค่อนข้างยาวนานในการฟูมฟักปัญหา เมื่อจะเปรียบเหมือนเชื้อโรคก็คือค่อยๆลามไปทั้งระบบแล้ว ซึ่งเมื่อปัญหาปะทุขึ้นมาแล้วก็ย่อมยากที่จะหยุดยั้งและแก้ไข แต่หากเทียบกับในบ้านเราแล้ว ประเทศไทยถือว่าเริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่คล้ายกับเวเนซุเอลาในช่วงแรก เช่น นโยบายประชานิยมที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรายจ่ายที่มากกว่ารายรับของภาครัฐ ดังนั้น ด้วยบทเรียนของประเทศเวเนซุเอลา เราก็ควรต้องเริ่มหันมาพิจารณานโยบายต่างๆในตอนนี้ให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้นสำหรับบ้านเราและมองในระยะยาวให้มากขึ้นด้วย รวมถึงต้องสร้างเบาะรองรับทางเศรษฐกิจให้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น การพัฒนาภาคเกษตรให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้มากกว่าเดิม

และสำหรับตัวเรา ถึงแม้ว่าจะดีกว่าที่ได้อยู่ในประเทศที่มีเงินเฟ้อในอัตราที่ไม่สูงเท่ากับเวเนซุเอลา แต่ก็ควรจะเตรียมพร้อมไว้เสมอ เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร โดยควรจะวางแผนการเงินของเรา ด้วยการลงทุนให้ชนะเงินเฟ้อ หากเราคาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 3% ต่อปี เช่น ถ้าวันนี้เราอายุ 31 ปี และต้องการเกษียณตอนอายุ 55 ปี ปัจจุบันเราจ่ายค่าอาหารเดือนละ 15,000 บาท หากเวลาผ่านไป 24 ปี เมื่อเราอายุ 55 ปี เราจะต้องใช้เงิน 30,000 บาท เพื่อซื้ออาหารในปริมาณที่เท่าเดิม และในส่วนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาบุตรและค่ารักษาพยาบาล เราก็ต้องประมาณการเงินเฟ้อ แนะนำให้คิดเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ต่อปี ถ้าเราออมเงินไว้ในเงินฝากออมทรัพย์เพียงอย่างเดียว ดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่เราจะได้รับคือ 0.50% ต่อปี ก็ยังถือว่าน้อยกว่าเงินเฟ้ออยู่ดี  หากต้องการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าอาจจะพิจารณาทางเลือกในการลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ โดยกระจายเงินลงทุนในหลายๆ สินทรัพย์ เช่น เงินฝากประจำ สลากออมสิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น หุ้นรายตัว กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทองคำ ก็ทำได้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มสามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญจาก MoneyDuckได้ฟรี ที่ลิงก์ ด้านล่าง

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ แนวโน้ม เศรษฐกิจ ประเทศไทย ที่นี่ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ หนี้สาธารณะ ที่นี่