ประกันชีวิตคืออะไร?

ประกันชีวิตคืออะไร?

ประกันชีวิตคือ การชดเชยรายได้ที่ต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากความตาย ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงหรือชราภาพ ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างผู้ให้ประกันหรือที่เรียกว่า "บริษัทประกัน" กับผู้เอาประกันโดยที่ผู้เอาประกันได้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งที่เรียกว่า "เบี้ยประกันภัย" ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ต้องจ่ายเบี้ยประกันให้ผู้รับประกัน หลังผู้เอาประกันเกิดเสียชีวิตขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับใช้ในเงื่อนไขของกรมธรรม์ หรือ ผู้เอาประกันยังทรงชีพอยู่จนถึงเวลาตามที่ได้ตกลงกันไว้ บริษัทจะจ่ายเป็นเงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้รับผลประโยชน์จะเรียกว่า "สินไหมทดแทน"

เมื่อคุณทำประกันชีวิต คุณจะได้ยินคำว่า "ผู้ให้ประกัน" "ผู้เอาประกัน" และ "ผู้รับผลประโยชน์" บ่อยๆ คุณต้องเข้าใจความหมายของ 3 คำนี้เพื่อเข้าใจเรื่องประกันชีวิตอย่างถูกต้อง

ผู้ให้ประกัน หรือ บริษัทประกัน

ผู้ให้ประกัน หมายถึง บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิต เพื่อรับประกันต่อความสูญเสียหรือความเสียหายต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยสัญญาว่าจะจ่ายชดเชยให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับผลประโยชน์กรณีผู้เอาประกันภัยมีการเสียชีวิต และอาจมีความคุ้มครองอื่นๆ เช่น การประกันอุบัติเหตุและสูญเสียอวัยวะ การประกันกรณีทุพพลภาพ หรือการประกันภัยสุขภาพ เป็นต้นไป

ผู้เอาประกัน

ผู้เอาประกันคือ บุคคลที่ตกลงทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันชีวิตโดยอาศัยสาเหตุของการมีชีวิตหรือการตายเป็นเงื่อนไขในการจ่ายเงินประกันชีวิต

ผู้รับผลประโยชน์

ผู้รับผลประโยชน์ คือ บุคคลที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตว่าจะเป็นผู้ได้รับเงินประกันชีวิตตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา ผู้รับผลประโยชน์อาจจะเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้เอาประกันก็ได้

ประเภทของประกันชีวิต

ประเภทของประกันชีวิต

ประกันชีวิตแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท คือ

  • แบบชั่วระยะเวลาหนึ่ง (Term Life Insurance)
  • แบบคุ้มครองชีวิต (Whole Life Insurance)
  • แบบสะสมทรัพย์ (Savings / Endowment Insurance)
  • แบบประกันควบกับการลงทุน (UnitLink Insurance)
  • แบบบำนาญ (Annuity Insurance)
แบบชั่วระยะเวลาหนึ่ง (Term Life Insurance)

แบบชั่วระยะเวลาหนึ่ง(Term Life Insurance) เป็นการประกันชีวิตที่มีเงื่อนไขการจ่ายเงินเอาประกันชีวิตให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต ในระยะเวลาประกันภัย เช่น 1 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี การประกันชีวิตแบบนี้มีลักษณะเป็นการให้ความคุ้มครองความเสี่ยงภัยอันเกิดจากการเสียชีวิตอย่างเดียว ไม่มีการสะสมทรัพย์รวมอยู่ด้วย เบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าแบบอื่นๆและไม่มีเงินคืนให้หากผู้เอาประกันภัยอยู่ครบกำหนดสัญญา เหมาะกับบุคคลที่มีขีดความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันไม่มาก เช่น บุคคลที่มีภาระหนี้สิน

ถ้าทำประกันประเภทนี้จะได้รับประโยชน์ในเรื่องของการคุ้มครองหนี้สินถ้าเกิดกรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงไม่ต้องกลัวว่าภาระหนี้สินจะตกไปเป็นของครอบครัว บริษัทจะเป็นผู้จ่ายหนี้สินหากผู้เอาประกันเสียชีวิตไปในระยะเวลาคุ้มครองตามกรมธรรม์ โดยส่วนมากเจ้าหนี้จะเป็นผู้ขอให้เป็นผู้เอาประกันทำประกันประเภทนี้ไว้ซึ่งเจ้าหนี้จะเป็นผู้รับผลประโยชน์

ข้อดีของการประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา

ข้อดีคือ ผู้เอาประกันจะได้ชำระเบี้ยประกันต่ำ แต่ได้รับความคุ้มครองสูง เหมาะสำหรับสร้างความคุ้มครอง กรณีผู้เอาประกันมีความสามารถในการชำระเบี้ยประกันต่ำ ช่วยรับความเสี่ยงกรณีที่หัวหน้าครอบครัวมีภาระมาก

ข้อเสียของการประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา

เมื่อครบกำหนดเวลาหรือสิ้นสุดสัญญาหากผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่ผู้รับประกันภัยจะไม่จ่ายเงินชดเชยให้เนื่องจากเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันได้ชำระมาแล้วนั้นถือเป็นความคุ้มครอง

แบบคุ้มครองชีวิต (Whole Life Insurance)

แบบ คุ้มครองชีวิต (Whole Life) เป็นการประกันชีวิตที่มีระยะเวลาการคุ้มครองตลอดชีวิตของผู้เอาประกัน ซึ่งจะมีการจ่ายเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาหนึ่งเช่น 5 ปี 10 ปี 15 ปีหรือ 20 ปี โดยที่บริษัทประกันตกลงว่าจะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันชีวิตเสียชีวิต ประกันภัยแบบคุ้มครองชีวิตแบบนี้เพื่อจัดหาเป็นเงินทุนสำหรับจุนเจือ บุคคลที่อยู่ในความอุปการะเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหรือเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับการเจ็บป่วยหลังสุดท้ายและค่าทำศพ เพื่อไม่ให้ตกเป็นภาระของคนอื่น ในปัจจุบันประกันแบบนี้จะให้ความคุ้มครองถึงอายุ 99 ปีซึ่งถ้าหากผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่ถึง 99 ปีบริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินตามที่ระบุไว้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย ประกันชีวิตแบบคุ้มครองชีวิตส่วนใหญ่จะไม่มีเงินคืนหรือ ถ้ามีก็จะมีประเภทตลอดชีพที่จ่ายเงินปันผล

ข้อดีของประกันชีวิตแบบคุ้มครองชีวิตจะมีเบียร์ประกันค่อนข้างถูก และยังคุ้มครองนานอีกด้วยเหมาะกับผู้ที่มีปลาร้ารับผิดชอบยาวนาน หรือต้องการวางแผนสร้างกองมรดกให้ลูกหลาน ข้อเสียคือ ไม่มีเงินคืน ต้องการเงินคืนเป็นก้อนใหญ่ต้องปิดคนมาทันแล้วเวนคืนมูลค่าเงินสดซึ่งจะทำให้หยุดการคุ้มครองไปด้วย

แบบสะสมทรัพย์ (Savings / Endowment Insurance)

ประกันแบบสะสมทรัพย์ (Savings / Endowment Insurance) ประกันแบบสะสมทรัพย์เป็นการคุ้มครองและออมทรัพย์โดยบริษัทประกันชีวิตตกลงจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันให้แก่ผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันให้ผู้รับประโยชน์หากผู้เอาประกันเสียชีวิตไปในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้การประกันแบบสะสมทรัพยเป็นเครื่องมือออมไว้ใช้ในยามชราหรือออมไว้เพื่อเก็บเป็นทุนการศึกษาของบุตรหลาน ไม่สามารถถอนเงินในลักษณะของการฝากเงินได้ แต่สามารถเวนคืนกรมธรรม์ ซึ่งมูลค่าเวนคืนตามกรมธรรม์ที่ได้จะถูกหักค่าธรรมเนียมในการเวนคืนจำนวนหนึ่ง

ข้อดีของประกันแบบสะสมทรัพย์ เป็นลักษณะการออมของการทำประกันภัยในลักษณะแบบกึ่งบังคับ ผู้เอาประกันภัยจะต้องมีหน้าที่ในการจ่ายเบี้ยประกันอย่างสม่ำเสมอ การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นการออมเงินที่มีผลตอบแทนแน่นอน คุ้มครองชีวิตและสร้างความมั่นคงให้กับคนข้างหลัง มีเงินก้อนไว้ใช้ในอนาคตเมื่อส่งเบี้ยครบตามอายุสัญญา ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000 บาท ผลตอบแทนของประกันชีวิตไม่เสียภาษีเหมือนดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์ ข้อด้อยของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ มีสภาพคล่องน้อยกว่าการฝากเงินบัญชีออมทรัพย์ ทุนประกันไม่สูง ผลตอบแทนไม่สูงมาก

แบบประกันควบกับการลงทุน (UnitLink)

ประกันชีวิตแบบประกันควบคู่กันลงทุน (Unit Link) คือการประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองชีวิตและการลงทุนในกองทุนรวมซึ่งไม่มีการรับประกันมูลค่ากรมธรรม์ แต่ขึ้นอยู่กับมูลค่าหน่วยลงทุนที่อาจสูงขึ้นหรือต่ำลงตามผลประกอบการของกองทุนรวม ประกันชีวิตแบบควบคู่การลงทุนนี้เป็นกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองระยะยาวเช่นเดียวกันกับแบบตลอดชีพและยังเปิดโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นจากการเลือกลงทุนด้วยตัวเองโดยเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์แบบยูนิต บริษัทประกันภัยจะทำการแยกออกเป็น 3 ส่วน คือ:

เบี้ยประกันส่วนของความคุ้มครองชีวิต

ผู้ขอเอาประกันสามารถเลือกสัดส่วนความคุ้มครองได้ตามความต้องการ

เบี้ยประกันส่วนที่เป็นค่าธรรมเนียม

เบี้ยประกันนี้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆตามกรมธรรม์ที่บริษัทเรียกเก็บ เพื่อเป็นค่าดำเนินการค่าดูแลรักษากรมธรรม์ และค่าบริการในการลงทุน ซึ่งจะกำหนดแตกต่างกันไปแล้วแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท

เบี้ยประกันในส่วนที่นำไปลงทุนในกองทุนรวม

นี่เป็นส่วนที่จัดสรรเข้าไปเป็นการลงทุนตามสัดส่วนที่ผู้เอาประกันภัยเลือก ซึ่งบริษัทประกันชีวิตจะนำไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตามคำสั่งของผู้เอาประกันภัย บริษัทที่รับจัดการเงินดังกล่าวจะออกหน่วยลงทุนให้แก่ผู้เอาประกันภัย และบริษัทประกันชีวิตจะเป็นผู้ดูแลระบบบัญชีกรมธรรม์ของผู้เอาประกันภัย

สำหรับจุดเด่นของประกันชีวิตแบบควบการลงทุนก็คือมีความยืดหยุ่นสูง สามารถกำหนดเบี้ยจ่าย ทุนประกัน ระยะเวลาจ่ายเบี้ย และระยะเวลาคุ้มครองเองได้ และมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าแบบประกันทุกรูปแบบรวมถึง มีระบบในการบริหารการลงทุนอัตโนมัติ จุดด้อยคือ มีความเสี่ยงจากการลงทุนเพิ่มเข้ามาทำให้เกิดความไม่แน่นอนของผลตอบแทนเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ลงทุนอื่น

แบบบำนาญ (Annuity)

ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity Insurance) คือ ประกันชีวิตที่เน้นผลตอบแทนมากกว่าความคุ้มครอง เป็นประกันชีวิตที่ผู้เอาประกันต้องการรายได้ในยามชราภาพ โดยผู้เอาประกันต้องชำระเงินค่าเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ รูปแบบการคืนเงินจะไม่มีการคืนเงินระหว่างทาง แต่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเป็นรายเดือนให้แก่ผู้เอาประกันภัยเป็นประจำตั้งแต่สัญญาครบกำหนด ในกรณีที่เอาประกันภัยยังมีชีวิตอยู่ในวันที่ครบกำหนดสัญญา การประกันแบบนี้จะแตกต่างจากการประกันชีวิตแบบอื่นๆ ประกันแบบนี้เน้นการออมทรัพย์ไว้เพื่อใช้จ่ายในยามเกษียณมากกว่าการคุ้มครองชีวิตโดยที่บริษัทจะต้องจ่ายเงินให้ผู้เอาประกันต่อไปจนตลอดชีพของผู้เอาประกันหรือครบอายุสัญญาแล้วแต่เงื่อนไขของกรมธรรม์ และขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เอาประกันชีวิตที่จะเลือกซื้อ

ในส่วนของความคุ้มครองชีวิตผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตช่วงก่อนจะเกษียณก็จะได้รับเงินชดเชยที่สูงกว่าเบี้ยที่จ่ายมาแล้วทั้งหมดเล็กน้อย หรือจ่ายมูลค่าเวนคืนเงินสดกรมธรรม์ที่มีอยู่แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะมากกว่า แต่ถ้าผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตช่วงหลังเกษียณก็จะได้เงินชดเชยเป็นมูลค่าปัจจุบันของเงินบำนาญส่วนที่ยังไม่ได้รับ

สำหรับเงื่อนไขการประกันชีวิตแบบบำนาญ

  • กรมธรรม์ปรกันชีวิตมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
  • ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในประเทศไทย
  • ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบก่อนได้รับผลประโยชน์
  • กำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อมีอายุตั้งแต่ 55 ถึง 85 ปี
  • บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ

การมีประกันชีวิตสำคัญขนาดไหน?

หลายคนมองว่ามีการประกันชีวิต เป็นสิ่งที่ ไม่สำคัญและไม่จำเป็นต้องมี บางคนอาจคิดว่าเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย การทำประกันชีวิตเปรียบเสมือนการเดินทางของเราโดยที่เรามีร่มติดตัวไว้ตลอดเวลา ในระหว่างทางเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ฝนจะตก แต่ถ้าเมื่อฝนตกเราจะใช้ร่มกางเพื่อที่จะทำให้เราไม่เปียกฝน เช่นเดียวกันกับการทำประกันเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตการมีประกันทำให้เรามั่นใจว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นกับเรา เราและคนในครอบครัวจะไม่ลำบาก เพราะบริษัทประกันจะรับความเสี่ยงของเราเมื่อเกิดกรณี สิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับตัวเรา

คุณจะได้รับประโยชน์อะไรจากประกันชีวิต?

การทำประกันชีวิตมีประโยชน์ใน 4 ด้านนี้:

ด้านการออม

ประกันชีวิตเป็นการทำประกันภัยในลักษณะออมแบบกึ่งบังคับ โดยผู้เอาประกันจะต้องมีหน้าที่ในการจ่ายเบี้ยประกันภัยอย่างสม่ำเสมอ เมื่อผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่ครบตามที่กรมธรรม์กำหนดไว้จะได้รับเงินคืนตามเงื่อนไขของสัญญา

ด้านการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตของผู้เอาประกันภัย

ประกันชีวิตสามารถเพื่อสร้างความมั่นคงของรายได้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยในกรณีการทำประกันคุ้มครองการเจ็บป่วยหรือการประกันอุบัติเหตุซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้เงินทดแทนเพื่อใช้ใน กรณีทุพพลภาพโดยสิ้นเชิง

ด้านการให้ความคุ้มครองและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ที่อยู่ในอุปการะคุณ

การทำประกันชีวิตจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องการเงินรวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นของครอบครัวอันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของผู้เอาประกัน

ด้านการจ่ายสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ผู้ที่ทำประกันชีวิตสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตไปใช้เป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาสนใจการทำประกันชีวิตเพิ่มขึ้นเพื่อความมั่นคงในชีวิต

ผู้คนมักผิดพลาดอย่างไรเมื่อซื้อประกันชีวิต?

หลายคนซื้อประกันชีวิต และเมื่อได้รับกรมธรรม์แล้วจะไม่เปิดอ่านเลย ซึ่งอันที่จริงกรมธรรม์จะมีเงื่อนไขเยอะมากที่จะต้องอ่านและทำความเข้าใจ เพื่อผลประโยชน์ของผู้เอาประกันเอง และบางคนไม่ทราบว่ากรมธรรม์ที่ตัวเองได้รับ จะได้รับความคุ้มครองอะไรบ้างหรือไม่คุ้มครองอะไรบ้าง

บางคนซื้อประกันชีวิตเพื่อเป้าหมายในการลดหย่อนภาษี

การทำประกันชีวิตมีวัตถุประสงค์เพื่อความคุ้มครองความเสี่ยงที่จะเกิดกับชีวิตของผู้เอาประกันเพราะว่าชีวิตของคนเรามีความเสี่ยงในหลายด้านและต้องรู้จักบริหารความเสี่ยงให้ได้ การทำประกันชีวิตเป็นหนึ่งในเครื่องมือของการบริหารความเสี่ยง และผู้เอาประกันยังสามารถได้รับความคุ้มครองจากเงื่อนไขของกรมธรรม์แล้วผู้เอาประกันยังสามารถซื้อประกันเพื่อในการลดหย่อนภาษีได้ด้วย

บางคนไม่เคยตรวจสอบแผนประกันภัยอย่างรอบคอบ

การซื้อประกันชีวิตบางคนคิดว่าเมื่อทำประกันแล้ว สบายใจได้เมื่อเกิดอะไรขึ้นจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันโดยที่ไม่ตรวจสอบแผนประกันภัยอย่างรอบคอบเสียก่อน การที่ไม่ตรวจสอบแผนประกันภัยอย่างรอบคอบจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ประกันบางตัวจะคุ้มครองเฉพาะระยะเวลาสั้นๆเช่น 10 ปี เมื่อถึงกำหนดความคุ้มครองก็จะสิ้นสุดลงทันที บางคนซื้อประกันสุขภาพและมีระยะรอคอยสำหรับบางโรคในการรักษา บางคนซื้อเฉพาะแค่ทุนประกันแต่ไม่ได้ซื้อสัญญาเพิ่มเติมก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองในกรณีการรักษาพยาบาล

บางคนซื้อประกันช้าเกินไปหน่อย

มีหลายคนที่มั่นใจในตัวเองมากเกินไปว่าตัวเองยังแข็งแรง ยังไม่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่ตายง่ายๆ และคิดว่าการทำประกันเป็นการจ่ายทิ้ง เอาเงินไปลงทุนอย่างอื่นดีกว่า และบางคนอาจจะบอกว่ามีสิทธิประกันสุขภาพทั่วหน้า 30 บาท รักษาทุกโรคอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องทำประกันอีก พวกเขามองข้ามความจริงที่ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีอะไรที่แน่นอนสำหรับชีวิต และเมื่อยามเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยบางโรคการรักษาในโรงพยาบาลของภาครัฐ ก็อาจจะมีเงื่อนไขการเข้ารักษาพอสมควรซึ่งตัวยาบางชนิดผู้ป่วยจะต้องจ่ายเงินเอง ดังนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งที่จะต้องการทำประกัน มันก็อาจจะช้าเกินไป

บางคนไม่คำนวณทุนประกันให้เพียงพอ

การทำประกันชีวิตเป็นความคุ้มครองตามเสี่ยง ที่เกิดขึ้นกับผู้เอาประกัน โดยมีทุนประกันคุ้มครองในกรมธรรม์ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมธรรม์นั้น ซึ่งผู้เอาประกันสามารถเลือกทุนประกันได้ว่าจะเอาเท่าไหร่ การเลือกทุนประกันสำคัญต่อผู้เอาประกัน เพราะว่าทุนประกันคือ จำนวนเงินที่ผู้เอาประกันจะได้รับหากเสียชีวิตหรืออยู่ครบสัญญาไม่ว่าจะเป็นกรณีใดผู้เอาประกันจะได้รับเงินทุนคืนตามที่ระบุไว้ในสัญญา ดังนั้นผู้เอาประกันควรทำการวางแผน อย่างดีว่าจะเลือกทุนประกันเท่าไหร่เพราะมันหมายถึงจำนวนเงินที่จะได้รับเมื่อครบสัญญา ซึ่งเงินจำนวนนั้น จะช่วยทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตและเพื่ออนาคตของลูกหลานของครอบครัวจะได้มีตัวรับประกันหากผู้เอาประกันไม่อยู่ซึ่งคนข้างหลังจะสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

แล้วจะเลือกประกันชีวิตที่ดีที่สุดสำหรับคุณอย่างไร?

การเลือกซื้อประกันชีวิตที่ดีเราต้องเลือกที่ เบี้ยประกัน ที่จะต้องจ่ายให้กับบริษัทประกัน ทุกปี ที่ปรับเปลี่ยนไปตามอายุของผู้เอาประกัน เหมาะสมกับรายรับและค่าใช้จ่ายที่เรามีหรือไม่ วงเงินคุ้มครอง ประกันสุขภาพต้องมีวงเงินคุ้มครองเท่าไหร่ที่จะครอบคลุมค่ารักษาทั้งหมด เพราะถ้าค่ารักษาทั้งหมดไม่ครอบคลุมค่ารักษาที่เกิดขึ้นจริงหรือผู้เอาประกันจะต้องจ่ายส่วนต่างตรงนี้ซึ่งอาจจะทำให้การเงินของผู้เอาประกันสะดุดได้ ความเสี่ยง ความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงเรื่องสุขภาพส่วนตัว กรรมพันธุ์ หรือโรคประจำตัว เนื่องจากประกันแต่ละบริษัทครอบคลุมไม่เหมือนกันดังนั้นเราต้องประเมินความเสี่ยงตัวเองว่าสามารถเกิดโรคอะไรขึ้นได้บ้าง ซึ่งจะทำให้เราเลือกซื้อประกันที่เหมาะสมที่จะได้คุ้มครองเมื่อกรณีที่เราเกิดเป็นโรคนั้นขึ้นมา โรงพยาบาลที่สามารถรักษาได้ การรักษาภายใต้ประกันสุขภาพส่วนใหญ่จะกำหนดเครือโรงพยาบาลมาให้ในบางครั้งการเจ็บป่วยอาจไม่ได้เกิดขึ้นแต่เราแพทย์ที่โรงพยาบาลในเครือข่ายเสมอไปดังนั้นผู้เอาประกันจึงควรเลือกประกันสุขภาพที่ให้คุณรักษาที่โรงบาลพยาบาลได้หลากหลายจะได้ครอบคลุมความเสี่ยงด้านสุขภาพทุกพื้นที่

วางแผนการเงินกับประกันชีวิตให้ดี

ชีวิตของเราทุกคนมีค่าต่อตัวเองและคนอื่น การทำประกันชีวิตก็เหมือนกับร่ม เมื่อฝนไม่ตกแดดไม่ออก ร่มจะเป็นภาระและ ไม่คล่องตัว แต่เมื่อฝนตกแดดออก ร่มนั้นจะช่วยเราได้ เช่นเดียวกันกับการทำประกัน การวางแผนการเงินกับประกันชีวิตให้ดี มีผลอย่างไรต่อคุณ ก่อนที่จะทำประกันอันดับแรกต้องรู้ว่าคุณมีภาระอะไรบ้าง ทั้งภาระค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน เช่น ต้องสะสมเงินเป็นค่าเล่าเรียนของลูก ต้องออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ คุณควรทำประกันให้ครอบคลุมความเสี่ยงและ ภาระการเงินทั้งหมดที่มีอยู่ วิธีการทำประกันแบบไม่รู้สึกว่าเป็นภาระติดตัวคือทำพอดีมีกำลังส่งไปตลอดรอดฝั่ง เพราะการทำประกันอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควรเมื่อคุณคิดว่าเป็นเป้าหมายต้องจ่ายในระยะยาวก็ลองคำนวณรายรับรายจ่ายของตัวเองดูว่าในแต่ละเดือนหรือปีนั้นคุณมีกำลังส่งค่าเบี้ยประกันได้เท่าไหร่ที่จะไม่เกินตัว จะช่วยให้ไม่ต้องลำบากสำหรับตัวคุณและครอบครัว

ตรวจสอบชื่อเสียงของบริษัทประกันก่อน

การทำประกันผู้เอาประกันต้องตรวจสอบชื่อเสียงของบริษัทประกันก่อนทำประกัน เพราะว่าเมื่อผู้เอาประกันจ่ายเบี้ยประกันให้บริษัทประกันแล้ว ทางบริษัทรับประกันจะให้บริการความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ ซึ่งผู้เอาประกันบางคนได้ทำประกันเกี่ยวกับสุขภาพเอาไว้ กรณีไม่สบายต้องไปนอนรักษาที่โรงพยาบาลหลายคืน ทางโรงพยาบาลได้ติดต่อกับบริษัทประกันเพื่อที่จะเคลมประกัน แต่ทางบริษัทประกันปฏิเสธที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นกับผู้เอาประกันและให้เหตุผลว่า โรคที่รักษาไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของกรมธรรม์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยมาก หรือบางครั้งบริษัทประกันภัยให้ผู้เอาประกันออกเงินจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลไปก่อน ทั้งที่ผู้เอาประกันได้มีระยะเวลารอคอยตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ทุกอย่าง ดังนั้นเพื่อที่ผู้เอาประกันจะได้รับประโยชน์เต็มที่จะต้องตรวจสอบชื่อเสียงของบริษัทประกันก่อนว่าบริษัทที่จะทำประกันเคยมีประวัติที่ทำให้ผู้เอาประกันไม่ได้รับผลประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ การตรวจสอบชื่อเสียงของบริษัทที่ดีจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้เอาประกันหรือผู้รับผลประโยชน์จะได้รับการคุ้มครองหรือเงินชดเชยตามที่ได้ทำประกันไว้

ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของบริษัทประกัน

ทำไมการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับฐานะต่างการเงินของบริษัทประกันจึงสำคัญ เพราะเมื่อเราได้ทำประกันและได้จ่าย เบี้ยประกันให้กับบริษัทตามสัญญา บางคนเลือกซื้อประกันชีวิตที่มีการคุ้มครองชีวิตในวงเงินที่สูง การจ่ายเบี้ยประกันก็จะสูงขึ้นตามจำนวนวงเงินที่ผู้เอาประกันได้รับเมื่อ เกิดกรณีที่ผู้เอาประกัน เสียชีวิตหรืออยู่ครบตามเงื่อนไขกรมธรรม์ บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายเงินให้กับผู้เอาประกันหรือผู้รับผลประโยชน์ เป็นจำนวนเงินคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ซึ่ง บางคนอาจจะเลือกซื้อประกันเป็นวงเงินที่สูง และบริษัทประกันภัยไม่สามารถที่จะจ่ายเงินส่วนตรงนี้ให้กับผู้เอาประกันหรือผู้รับผลประโยชน์ได้ ดังนั้นเพื่อที่ผู้เอาประกันจะได้รับผลประโยชน์จากความคุ้มครองเต็มจำนวน ผู้เอาประกันจะต้องเลือกบริษัทประกันที่มีความมั่นคงทางการเงินเพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคงในยามที่ต้องประสบความสูญเสีย เพื่อให้ได้บริษัทผู้รับประกันภัยที่ดีที่สุด ผู้เอาประกันควรหาข้อมูลบริษัทประกันหลายหลายแห่งเพื่อเปรียบเทียบอย่างรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจฝากอนาคตของตัวเองและสมาชิกในครอบครัวไว้กับผู้รับประกันโดยข้อมูลสำคัญจะต้องเปรียบเทียบประกอบด้วยข้อมูลทางการเงิน ชื่อเสียงของบริษัท ประวัติการดำเนินงาน รูปแบบของกรมธรรม์ การให้บริการ และค่าใช้จ่ายต่างๆซึ่งผู้เอาประกันสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของกรมการประกันภัย  http://www.oic.or.th/th/home

คุณสมบัติและเอกสาร

ผู้ที่ต้องการยื่นขอประกัน

  • จะต้องมีอายุระหว่าง 1 เดือนถึง 65 ปี แต่อายุที่รับประกันจะมีความแตกต่างกันตามผลิตภัณฑ์การประกันภัยของบริษัท
  • จะต้องมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงไม่มีโรคต้องห้ามในการทำประกัน

เอกสารในการขอเอาประกันภัย

ใบขอเอาประกันซึ่งส่วนนี้จะแตกต่างกันในแต่ละแบบประกัน แต่ส่วนใหญ่ต้องการ 2 อย่างนี้:

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่มีหมายเลขประจำตัว 13 หลัก
  • เอกสารแสดงสถานะสุขภาพในกรณีที่ต้องตรวจสุขภาพ

หากสนใจในการทำประกันชีวิต ลองนำข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณาเลือกประกันที่ถูกใจ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจาก MoneyDuck ได้ฟรี ที่ลิงก์ด้านล่าง