การประกันภัย คือ การบริหารความเสี่ยงในทรัพย์ต่างๆที่เรามีอยู่ เช่น ชีวิต บ้าน หรือรถยนต์ โดยที่ทางบริษัทประกันภัยจะเป็นผู้ชดเชยความเสียหายหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันให้ แต่ผู้เอาประกันจะต้องทำการจ่ายเบี้ยที่อาจเริ่มต้นเพียงปีละหลักพัน แต่จะได้ความคุ้มครองไปถึงหลักล้าน..

โดยประกันภัยที่เราคุ้นเคยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ หรือประกันวินาศภัยรถยนต์  แต่สำหรับทุกท่านที่ใช้ชีวิตในคอนโดฯ คุณคุ้นเคยดีรึยัง?! กับ ‘ประกันคอนโดมิเนียม’ ซึ่งพร้อมจะตอบโจทย์ชีวิตในเมืองใหญ่ ที่ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหน ซ้าย-ขวา ก็เต็มไปด้วยตึกสูงและอาคารต่างๆ ทั้งกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและกรรมสิทธิ์ร่วม

ประกันภัยคอนโดมิเนียมสำคัญยังไง ..ไม่แน่ว่าห้องที่เรานอนอยู่ทุกวันอาจจะมีประกันตัวนี้โดยที่ไม่ทราบมาก่อนก็ได้!!  หากเกิดเหตุการณ์น้ำรั่วซึมไปจนถึงอัคคีภัยในช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ จะหาความรับผิดชอบจากใครได้บ้าง ..บทความนี้ จะมาตอบข้อสงสัยค่ะ..

เมื่อต้องรับมือกับปัญหาคอนโดฯ น้ำรั่วซึม

เมื่อต้องรับมือกับปัญหาคอนโดฯ น้ำรั่วซึม

น้ำรั่วซึมลงมาจากเพดาน วัสดุกันซึมหรือยาแนวเสื่อมสภาพ ระบบท่อน้ำภายในอาคารเกิดการชำรุดเสียหาย พื้นที่ส่วนกลางอย่างสระว่ายน้ำชั้นดาดฟ้าทำเพดานฝ้าของชั้นล่างชื้น ตลอดจนฝนตกหนักน้ำขังบนหลังคาและเกิดจุดรั่วต่าง ๆ นอกจากจะดูไม่งามแล้ว ยังส่งผลให้เกิดเชื้อรา ทำให้ห้องมีกลิ่นอับ หรืออาจถล่มลงมาและสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินและเฟอร์นิเจอร์ภายในห้องได้

หากเกิดปัญหาลักษณะนี้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?!.. คำตอบคือ เราต้องรู้ก่อนว่าสาเหตุของปัญหามาจากไหน แล้วค่อยแจ้งนิติบุคคลของคอนโดฯทราบ เพื่อดำเนินการหาสาเหตุที่แน่ชัด และแยกเป็นลักษณะกรณี เช่น

อย่างแรกคือ มีสาเหตุมาจากพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ดาดฟ้า สปริงเกอร์ขัดข้อง ทางนิติบุคคลจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลและซ่อมแซมให้

ต่อไปคือ มีสาเหตุมาจากยูนิตอื่นที่เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าของยูนิตคอนโดห้องนั้น เช่น ท่อน้ำในห้อง A แตก จนมีน้ำรั่วซึมมาในห้อง B เจ้าของห้อง A ก็จะต้องจ่ายค่าซ่อมแซมให้ รวมไปถึงถ้า ห้อง B มีการทำประกันคอนโดฯไว้ ก็จะสามารถเคลมค่าเสียหายได้ เพราะปัญหาคอนโดน้ำรั่วซึมครั้งนี้เกิดมาจากปัจจัยภายนอก

หาทางออกด้วย.. ‘ประกันภัยคอนโดมิเนียม’

หาทางออกด้วย.. ‘ประกันภัยคอนโดมิเนียม’

จากปัญหาในข้างต้น.. ‘ประกันภัยคอนโดมิเนียม’ จึงจะช่วยบรรเทาค่าเสียหายได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะระบบอุปกรณ์เสื่อมสภาพ หรือเกิดอุบัติเหตุ. โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

นิติบุคคลเป็นผู้ทำประกันภัยสำหรับพื้นที่ส่วนกลาง เช่น โครงสร้างตัวอาคาร รั้ว ทางเดิน อุปกรณ์ในส่วนกลาง ลิฟต์  งานระบบไฟฟ้าและท่อประปา  กับ ในส่วนที่เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล เจ้าของห้องชุดจะต้องเป็นผู้ทำประกันไว้เอง โดยเวลายื่นกู้ทางธนาคารก็มักจะเสนอให้ทำประกันภัยในส่วนนี้กันอยู่แล้ว และมักจะครอบคลุมสำหรับประกันอัคคีภัยด้วยเพื่อป้องกันความเสียงของธนาคารที่ให้กู้เอง จึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในกรมธรรม์นั้น ๆ ว่าจะคุ้มครองความเสียหายที่มาจากการเสื่อมสภาพ ปัจจัยภายนอกอื่นๆ อุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ หรือไฟไหม้ ว่ามีการระบุค่าเสียหายชดเชยไว้มากน้อยเพียงใด

ส่วนในช่วงเวลาก่อนการสร้างคอนโด ผู้ประกอบการก็จะต้องทำประกันอัคคีภัยตามที่กฎหมายกำหนด แต่จะให้ความคุ้มครองในเฉพาะพื้นที่ส่วนกลางของคอนโดเท่านั้น.  แต่พอก่อสร้างเสร็จและมีการโอนกรรมสิทธิ์เกิดขึ้น ความคุ้มครองของประกันระหว่างการก่อสร้างตรงนี้ก็จะหมดอายุลง หรืออยู่ได้ 1 ปีหลังจากมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องแรก.  จึงต้องอยู่ที่ Developer หรือนิติบุคคลของคอนโดมิเนียมนั้นๆ จะเลือกทำประกันภัยตัวใดต่ออย่าง ประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิด (All Risks)  หรือ ประกันความรับผิดชอบต่อสาธารณชน (Public Liability)  พร้อมการเรียกเก็บเงินค่าเบี้ยประกันจากลูกบ้านเพื่อค่าใช้จ่ายส่วนกลางต่อตารางเมตร  ..ซึ่งเราสามารถเช็คได้กับทางนิติบุคคลอาคารค่ะ!

ครอบคลุมอะไรบ้าง

ครอบคลุมอะไรบ้าง

กรมธรรม์ประกันภัยคอนโดฯ โดยทั่วไปจะคุ้มครองสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุหรือปัจจัยภายนอก   ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงและไม่เกินทุนประกัน เช่น  น้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ภัยจากอากาศยานหรือ ภัยจลาจล รวมทั้งความเสียหายจากอุปกรณ์ไฟฟ้าลัดวงจร แต่จะไม่คุ้มครองในกรณีที่เกิดจากการเสื่อมสภาพจากอายุการใช้งาน เป็นต้น

โดยส่วนใหญ่โครงการต่างๆ มักจะทำประกันภัยในส่วนนี้อยู่แล้ว แต่ให้แค่เฉพาะทรัพย์สินส่วนกลาง หรืออาจขยายความคุ้มครองไปยังภายในห้องชุดด้วยวงเงินไม่สูงนัก ประมาณห้องละ 100,000 บาท จึงอยู่ที่ว่าเราต้องการซื้อประกันเสริมหรือไม่ หากมีทรัพย์สินหรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีราคา ก็สามารถทำเพื่อเพิ่มวงเงินความคุ้มครองให้มากตาม

สิ่งไม่ครอบคลุม

สิ่งไม่ครอบคลุม

แต่ประกันคอนโดมิเนียมจะไม่ครอบคลุมในทรัพย์สินที่ยกเว้นการคุ้มครอง คือ ทรัพย์สินที่พกพาได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค กล้องถ่ายรูป เงินสด เช็ค เอกสารทางธุรกิจ หรือทรัพย์สินมีค่าอื่นใด ที่อยู่ในการดูแลรักษาของตัวผู้เอาประกันภัยเอง

รวมไปถึงข้อจำกัดของคอนโดมิเนียมที่ต้องการเอาประกัน ซึ่งทางบริษัทประกันหรือสถาบันการเงินมีรายละเอียดที่เป็นข้อยกเว้น เช่น คอนโดมิเนียมที่ใช้เพื่อการค้า-ให้เช่า หรือแสวงหาผลกำไร , เขตอันตรายตามประกาศของสำนักงาน คปภ. ในบริเวณชุมชนแออัดคลองเตย สำเพ็ง เยาวราช จักรวรรดิ หรือพื้นที่ในเขต 4 จังหวัดทางภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา เป็นต้น

เรื่องที่คนอยู่คอนโดฯ ต้องรู้.. จะน้ำรั่วซึมหรืออัคคีภัย ให้ ‘ประกันคอนโด’ รับผิดชอบสิ!

เรื่องที่คนอยู่คอนโดฯ ต้องรู้.. จะน้ำรั่วซึมหรืออัคคีภัย ให้ ‘ประกันคอนโด’ รับผิดชอบสิ!

จะเห็นว่า การที่เราพักอาศัยอยู่ในห้องชุดหรือคอนโดฯ ซึ่งมีทั้งพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่กรรมสิทธิ์บุคคล  จะต้องเช็คให้ดีว่าประกันภัยคอนโดมิเนียมที่นิติบุคคลทำไว้จะมีความครอบคลุมเพียงใดต่อมูลค่าทรัพย์สินในห้อง สามารถให้วงเงินที่ต้องการได้ หรืออาจจะต้องทำเพิ่ม หากไม่อยากเข้าข่ายเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย

นี่จึงเป็นรายละเอียดที่สำคัญในส่วนของการทำประกันภัยคอนโดมิเนียมที่เราจำเป็นต้องทราบ เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ประกันภัยคอนโดจะได้เข้ามารับผิดชอบในส่วนของผลประโยชน์ด้านทรัพย์สิน ไม่อย่างนั้นหากมีปัญหาคอนโดน้ำรั่วซึม หรือสาเหตุอื่นที่ลุกลามมาจากห้องเรา ไปสร้างความเสียหายยังห้องอื่น ๆ ถ้าฝ่ายเราต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายเองทั้งหมด ก็จะเป็นภาระหนักมาก การทำประกันภัยไว้จึงเป็นช่วยลดเพื่อลดความเสี่ยงหรือพูดง่ายๆ ว่ากันไว้ดีกว่าแก้นั่นล่ะค่ะ

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็จะต้องสอบถามกับทางนิติบุคคลในเบื้องต้นด้วยว่า มีประกันภัยประเภทใดอยู่ ระบบอุปกรณ์ไฟฟ้าและแรงดันน้ำมีการตรวจสอบตามรอยต่อต่างๆ อย่างรัดกุม มีการเช็คสภาพอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อป้องกันปัญหาน้ำรั่วซึมหรือไฟฟ้าลัดวงจรที่อาจเกิดขึ้นได้. นี่ก็คือเกร็ดความรู้ที่เรานำมาฝากกัน หากเพื่อนๆอ่านแล้ว มีคอมเม้นท์ อยากติ-ชม ก็สามารถบอกกันได้เลยนะคะ. จะยินดีมากๆค่ะ