โดนใจจริงๆเลย.. ที่ได้รู้จัก กับ เจ้าเครื่องบินเล็กๆ 4 ใบพัด หรือ ที่เรียกกันว่า ‘โดรน’ (Drone) เนี่ย! ซึ่งในปัจจุบัน การใช้โดรนก็กำลังได้รับความนิยมกันเป็นวงกว้างสำหรับผู้ที่ชื่นชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ บ้างก็ใช้ในงานอดิเรกอย่างการถ่ายภาพมุมสูง-วิวทิวทัศน์ , อัดคลิป VDO เพื่อตัดต่อ , การถ่ายภาพยนตร์ ไปจนถึงใช้เพื่อการช่วยชีวิต หรือ ประยุกต์ใช้สำหรับเกษตรกรยุคใหม่

แต่ก่อนอื่นนั้น สำหรับใครที่มีโดรนอยู่แล้ว หรือ กำลังคิดว่าอยากจะซื้อโดรนเพื่อใช้งานบ้าง เราก็ควรจะเช็คกฎ-ข้อบังคับเพื่อใช้งานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและไม่เป็นการสร้างความรบกวนให้แก่บุคคลอื่นด้วย รวมไปถึงข้อสังเกตที่จำเป็นเพื่อจะตัดสินใจเลือก 'ประกันภัยโดรน' ได้ในแบบที่ตรงใจที่สุดค่ะ

ข้อบังคับการใช้โดรนในประเทศไทย

ข้อบังคับการใช้โดรนในประเทศไทย

ตามประกาศของกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งได้ระบุไว้ตามวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. ใช้ในงานอดิเรก, เพื่อความบันเทิง หรือ การกีฬา โดยมีน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม ไม่ติดตั้งกล้อง ไม่ต้องทำการขึ้นทะเบียน
  2. การใช้งานนอกเหนือจากประเภท 1 หรือ ใช้ในรายงานข่าว, รายการโทรทัศน์, ภาพยนต์, งานวิจัย หรืออื่นๆ โดยมีน้ำหนักระหว่าง 2-25 กิโลกรัม และติดตั้งกล้อง จะต้องทำการขึ้นทะเบียน

กรณีที่มีน้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัม ยังจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก่อนด้วย. และทุกประเภทยังเงื่อนไข  คือ ห้ามเข้าใกล้สนามบิน/เครื่องบิน , ห้ามทำการบินในสถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ โรงพยาบาล (ยกเว้นได้รับอนุญาต), ห้ามบินสูงเกินระยะ 90 เมตรเหนือพื้นดิน และ ผู้ที่ปล่อยโดรนจะต้องมองเห็นโดรนของตนตลอดเวลา ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น หรือ ก่อความเดือนร้อนในพื้นที่ชุมชน

รวมทั้งห้ามบินในพื้นที่กรุงเทพฯ บางส่วน เช่น ท่าอากาศยานดอนเมือง, สนามบินสุวรรณภูมิ, พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน, กองพันทหารช่างรักษาพระองค์, สวนรถไฟ, สวนลุมพินี, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, สนามราชมังคลากีฬาสถาน, สวนหลวงร.9, สะพานพระราม8, ท่ามหาราช, วันอรุณฯ และ วัดพระแก้ว เป็นต้น

ทั้งนี้ หากผู้ใดทำการฝ่าฝืน จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี / ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ หนังสือการขึ้นทะเบียน จะมีอายุ 2 ปี ตั้งแต่วันที่ออกหนังสือค่ะ

ขึ้นทะเบียนโดรนที่ไหน

2 หน่วยงานที่ควรไปติดต่อ คือ ขึ้นทะเบียน กับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ (กสทช.) เพื่อแสดงว่าเรามีโดรนอยู่ในครอบครอง  หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็จะคล้ายกับป้ายทะเบียนรถยนต์ เพื่อการทราบว่าโดรนลำนี้เป็นของใคร หากโดรนหาย หรือ เกิดอะไรขึ้นก็จะเช็คได้ง่ายขึ้น

อีกส่วน คือ ขึ้นทะเบียน กับ กรมการบินพลเรือน (CAAT) ซึ่งอาจมาแนวๆ การทำใบขับขี่ที่เราคุ้นเคยนั่นแหละ แต่ทำง่ายกว่าและยังสามารถลงทะเบียนในแบบออนไลน์ได้ด้วย. สรุปแล้ว เราจึงควรทำการขึ้นทะเบียนโดรนในทั้ง 2 แห่ง จะได้สบายใจหายห่วงและถูกต้องที่สุดค่ะ

เอกสารการที่ต้องใช้

ขึ้นทะเบียนโดรน กับ กสทช. เอกสารที่ใช้ คือ คำขอขึ้นทะเบียน เครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน คท.30 (รับได้ที่ สำนักงานของ กสทช. ตอนลงทะเบียน), รูปถ่ายของโดรน (ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง รุ่น และ Serial Number ทั้งของโดรนและตัวรีโมตควบคุม), ใบเสร็จ หรือ ใบกำกับภาษีที่ได้จากการซื้อที่ร้านค้า และ บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา

ส่วนของการลงทะเบียนโดรน กับ กรมการบินพลเรือน แบบทางออนไลน์จะต้องใช้เอกสาร คือ หนังสือรับรองตนเองของผู้ขอ (สามารถดาวน์โหลดได้ในเว็บไซต์), กรมธรรม์ประกันภัย ต่อบุคคลที่ 3, รูปถ่าย Seial Number ของโดรน พร้อมสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขอขึ้นทะเบียน ผู้บังคับหรือปล่อย Drone

โดยการขึ้นทะเบียนในทั้ง 2 หน่วยงานนี้ จะไม่มีค่าธรรมเนียม แต่ในฝั่งของกรมการบินพลเรือน จะต้องซื้อประกันภัยโดรนก่อนค่ะ

รู้จักกับ ‘ประกันภัยโดรน’

รู้จักกับ ‘ประกันภัยโดรน’

ประกันภัยโดรน นอกจากจะทำให้สามารถขึ้นทะเบียนกับกรมการบินฯ ได้สำเร็จแล้ว ก็ยังมีในส่วนของความคุ้มครองต่างๆ เพื่อให้สามารถบินโดรนได้อย่างอุ่นใจ คือ

  • คุ้มครองความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกาย หรือ การบาดเจ็บของบุคคลภายนอก
  • คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
  • คุ้มครองค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี/อุบัติเหตุ
  • คุ้มครองความเสียหายต่อโดรนของผู้เอาประกันภัยเอง ตามเงื่อนไขของแต่ละบริษัทที่ได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์

โดยก่อนที่จะซื้อประกันภัยโดรน ก็ควรที่จะทราบความต้องการของตน ตามแต่ละประเภทของโดรน หรือ ประเมินจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการใช้งาน รวมถึงเปรียบเทียบว่าประกันภัยแบบใดให้ความคุ้มครองที่คุ้มค่าต่อเราที่สุด

และต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไข หรือ ข้อจำกัดในกรมธรรม์  เช่น  บินโดรนแล้วหายจะเคลมได้มั๊ย  หากคนอื่นนำโดรนไปบินแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น บริษัทประกันฯ จะรับผิดชอบหรือป่าว  หรือ ต่อให้เจ้าของโดรนเป็นผู้บังคับโดรนเอง หากเป็นประกันที่คุ้มครองในบุคคลที่ 3 เท่านั้น ก็จะไม่มีความคุ้มครองเกี่ยวกับตัวโดรนของเราเมื่อเกิดอุบัติเหตุค่ะ

มือใหม่หัดบินควรซื้อประกันภัยแบบไหนดี

มือใหม่หัดบินควรซื้อประกันภัยแบบไหนดี

ต้องดูที่ความเชี่ยวชาญในการบังคับโดรนของเราก่อนค่ะว่าดีเพียงใด หากมักใช้งานในที่โล่งกว้าง เราก็พอจะเล่นเป็นและคล่องมืออยู่แล้ว การซื้อประกันภัยโดรนแบบคุ้มครองเพียงบุคคลที่ 3 ก็อาจจะเพียงพอแล้ว

แต่หากยังรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจ ก็ต้องเลือกประกันภัยโดรนแบบที่มีความคุ้มครองตัวโดรนด้วย ตามแพ็คเกจออนไลน์ในเว็บไซต์ชั้นนำ ของโดรนขนาดเล็ก (สำหรับนักเดินทาง, เน้นถ่ายภาพ) , โดรนสำหรับการเกษตร ที่ให้ความคุ้มครองต่อบุคคลภายนอกในวงเงิน 1 ล้านบาท (ขึ้นทะเบียนกับกรมการบินฯ ได้) โดยจะมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักพันค่ะ

นอกจากนี้ ยังมีหลายบริษัทประกันภัยที่เริ่มเข้ามารองรับความต้องการเกี่ยวกับประกันภัยโดนมากขึ้น เช่น ประกันภัย จาก AEON Insurance Service , มิตรแท้ประกันภัย (เบี้ย 1,800 บาท/ปี), ทิพยประกัน (เบี้ยประมาณ 3,000 บาท/ปี) และ จาก Falcon Insurance (มี 6 แผน ต้องลองไปสอบถามเพิ่มเติมดูจ้า)  เป็นต้น

บินโดรนได้อย่างถูกกฎหมาย และปกป้องตัวเองได้ดีที่สุดจาก ‘ประกันภัยโดน’

บินโดรนได้อย่างถูกกฎหมาย และปกป้องตัวเองได้ดีที่สุดจาก ‘ประกันภัยโดน’

หากเราอยากใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ได้อย่างถูกกฎหมาย (แบบมีกล้อง/น้ำหนักเกิน 2 ก.ก.) ก็ควรจะต้องมีการทำประกันภัยโดรนก่อน เพื่อขอขึ้นทะเบียนมีใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ กับ กสทช. และ กรมการบินพลเรือน (CAAT)

และต้องยอมรับว่าเจ้ากล้องจิ๋วที่ติดอยู่กับโดรนเนี่ย ถ่ายรูปสวยมาก เป็นมุมที่สูงแปลกตา แต่ก็จะขึ้นอยู่กับราคาเครื่องด้วย เพราะยิ่งโดรนมีราคาสูงคุณภาพของกล้องถ่ายภาพก็จะดีตามไปด้วย และอย่างที่ทุกคนทราบ แม้เจ้าอุปกรณ์คล้ายเครื่องบินบังคับนี้จะโฉบเฉี่ยวดีแค่ไหน เราก็ไม่ควรใช้งานแบบตามอำเภอใจ จนอาจไปสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ส่วนอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น หรือ โดรนหาย จะเคลมได้ไม่มั๊ย ก็จะขึ้นอยู่กับประกันภัยของแต่ละบริษัทและแบบประกันที่เราเลือก

หวังว่าบทความสั้นๆนี้ จะช่วยให้ผู้ต้องการใช้งานโดรนได้เข้าใจข้อบังคับในเรื่องนี้กันดีขึ้น และถึง Money Duck จะไม่มีประกันภัยโดรนมาขาย แต่เราก็มีที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งพร้อมจะตอบในทุกข้อสงสัยทางการเงินของเพื่อนๆกันจ้า ติดต่อได้เลยค่ะ!