ธุรกรรมทางออนไลน์มีการขยายตัวและได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีช่องทางการใช้จ่ายผ่านอิเล็กทรอนิกส์โดยผูกบัญชีการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตได้ ส่งผลให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
บัตรเครดิตช่วยอำนวยความสะดวกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอมลูก ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าโทรศัพท์ ค่ารักษาพยาบาล และอื่นๆ อีกมากมาย แต่อย่าลืมว่าทุกครั้งที่เราใช้บัตรเครดิต คือ การนำเงินอนาคตของคนอื่นมาใช้ก่อน เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ต้องชำระหนี้บัตรเครดิต หากไม่มีการวางแผนการเงินหรือใช้เงินเกินรายรับ ทำให้ต้องผิดนัดชำระ จากคุณประโยชน์อาจกลับกลายเป็นภาระและหนี้สินในภายหลังได้ ยิ่งติดค้างชำระนาน ยิ่งก่อเกิดผลเสียหายตามมามากเท่านั้น
ผลงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ศึกษาข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร พบว่า “คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้นานขึ้น และเป็นหนี้มากขึ้น” ในช่วงอายุ 25 - 35 ปี เป็นกลุ่มคนวัยเริ่มทำงานมีสัดส่วนการเป็นหนี้มากที่สุด และเป็นหนี้เสียสูงถึง 1 ใน 5 นอกจากนั้น ในระยะเวลาเพียง 6 ปี (ช่วงปี 2553-2559) ยังพบว่าหนี้สินต่อคนโดยประมาณ สูงขึ้นเท่าตัว จาก 70,000 บาท เพิ่มมาเป็น 150,000 บาท มีประมาณ 3 ล้านคน ที่มีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (หนี้เสีย หรือที่เรียกกันว่า หนี้ NPL) ต้องถูกเจ้าหนี้ติดตามทวงถามหรืออาจอยู่ระหว่างการดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมาย ทำให้ประวัติทางการเงินขาดความน่าเชื่อถือ ส่งผลต่อการกู้หรือขอสินเชื่อในอนาคต
สังเกตเห็นว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยกำลังติดอยู่ในวงจรหนี้ โดยเฉพาะวัยเริ่มทำงานซึ่งกำลังเป็นเสาหลักของประเทศ มีสัดส่วนเป็นหนี้มากที่สุด เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะขาดวินัยและความรู้ทางการเงิน (financial literacy) และอีกเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะพฤติกรรมการใช้จ่าย หรือไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป จะมุ่งเน้นไปที่ความสะดวกสบาย รวดเร็ว ติดหรูและห่วงภาพลักษณ์ ทำให้ง่ายที่จะใช้จ่ายเกินตัว พบว่า ผู้ถือบัตรเครดิตจำนวนมากไม่สามารถจ่ายชำระบิลเต็มจำนวน ได้ และอีกหลายคนก็เคยผ่อนสินค้าแบบยอมเสียดอกเบี้ย
สิ่งแวดล้อมหลายๆ สิ่งอาจทำให้เรากลายเป็นหนี้ อาจเป็นเพราะพิษเศรษฐกิจ หรือต้องการหาเงินไปดูแลพ่อแม่ที่ป่วย กู้ในระบบ (Bank) จนเต็มวงเงิน จำใจต้องกู้หนี้นอกระบบ (Non-Bank) อีก นั่นอาจทำให้เราเป็นหนี้มากกว่าที่คิดไว้ มากกว่าที่เราจะจัดการได้
เคยคิดไหมว่าการเป็นหนี้บัตรเครดิตเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมได้ ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่เป็นหนี้ไม่มีเงินชำระ กู้เงิน เป็นหนี้เพิ่มเพื่อมาปิดหนี้ใบเก่าแต่ก็ไม่สำเร็จ ดอกเบี้ยก็แสนแพง ถูกติดตามทวงหนี้ทุกวัน มีชีวิตอยู่ด้วยความเครียด ลงอารมณ์กับลูก บางช่วงไม่มีเงินส่งลูกเรียนหนังสือ บางครั้งชักหน้าไม่ถึงหลัง มีความเครียด มองทางไหนก็มืดมน เก็บความทุกข์ไว้กับตัว ตกอยู่ในวังวนของหนี้ ไม่รู้จะแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างไร ทำให้ครอบครัวต้องดิ้นรนทำทุกอย่างเพื่อจะหาเงิน สุดท้ายถูกบีบจนต้องลักขโมยหรือทำสิ่งผิดกฎหมาย หรือแม้กระทั่งจบชีวิตตัวเอง
เชื่อว่าไม่มีใครอยากเป็นหนี้ แต่ขอให้ตระหนักถึงภัยของการผิดนัดชำระบัตรเครดิต บทความนี้จะรวบรวมข้อมูลให้คุณรู้เท่าทันภัยของการเป็นหนี้บัตรเครดิต เรียนรู้ไว้ก่อนเพื่อจะป้องกันและหลีกเลี่ยงปัญหา ดีกว่าเจอปัญหาแล้วไล่หาวิธีแก้
ข้อเสียของการไม่ชำระหนี้บัตรเครดิต
eenevski/shutterstock.com
- เสียประวัติการชำระที่ดี ติดเครดิตบูโร ส่งผลต่อการขอสินเชื่อรถยนต์หรือกู้ซื้อบ้านในอนาคต (สถานะจากเดิมเป็นลูกหนี้ชั้นดี เปลี่ยนมาเป็นลูกหนี้ค้างชำระ หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า แบล็กลิส
อย่างไรก็ตาม สามารถเจรจาชำระหนี้และตั้งใจทำตามสัญญาที่เจรจาไว้กับทางธนาคาร สถานะทางการเงินก็สามารถกลับมาดีได้เหมือนเดิม)
- หากไม่ชำระค่าใช้จ่ายเต็มรอบบิล หรือชำระแค่เงินขั้นต่ำ เงินที่คงค้างจะถูกคิดดอกเบี้ยรายวัน
- หากใช้บัตรเครดิตกดเงินล่วงหน้า นอกจากค่าธรรมเนียมจะสูงแล้ว ยิ่งถ้าชำระคืนช้า ค่าใช้จ่ายยิ่งเพิ่มขึ้น (ณ วันที่กดจะมีค่า advance 3%+ ภาษีอีก 7%+ดอกเบี้ยเดินรายวัน)
- อัตราดอกเบี้ยแพง (เพดานสูงสุดอยู่ที่ 18%)
- ปัญหาหนี้ส่วนบุคคล ก่อให้เกิดปัญหาสังคมได้
- กรณีคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าหนี้มีสิทธิ์ยึดทรัพย์สินภายในบ้านได้เพราะเป็นสินสมรส
- ธนาคารมีสิทธิ์สืบทรัพย์ โดยสืบค้นจากการแจ้งสิทธิประกันสังคมที่ใช้ชื่อของลูกหนี้ได้ (กรณีที่ทรัพย์สินเป็นชื่อของบุคคลอื่น ทางธนาคารตามคำพิพากษาจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาล โดยจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ลูกหนี้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่แท้จริง ศาลจึงจะอนุญาตให้ยึดทรัพย์สินได้)
- กรณีบุพการีเสียชีวิต และทรัพย์สินที่เหลืออยู่มีไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ โจทก์ไม่สามารถเรียกร้องให้ทายาทหรือผู้สืบสันดานชำระหนี้แทน ทายาทมีความรับผิดเท่าที่ได้รับมรดกมาเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัวในส่วนที่ขาด (เฉพาะกรณี “ลงนามกู้ร่วม” เป็นภาระผูกพันต้องชดใช้หนี้สินแทนผู้ที่เสียชีวิตด้วย)
- ถูกฟ้องร้องขึ้นศาลคดีแพ่ง เพื่อนัดไกล่เกลี่ย ประนีประนอม (โทษคดีแพ่งจะมีเพียงการชำระหนี้และชดใช้ค่าเสียหาย
ศาลจังหวัด จะพิจารณาคดีแพ่งที่มีจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาที่พิพาทเกินกว่า 300,000 บาท ส่วนศาลแขวง จะพิจารณาคดีที่มีจำนวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกิน 300,000 บาท)
- เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการขึ้นศาล (ครั้งแรกที่ขึ้นศาล หากไม่สามารถไกล่เกลี่ยได้ จะมีค่าใช้จ่ายทนายโจทก์และค่าธรรมเนียมฤชารวมประมาณ 3
- หากแพ้คดี มีโอกาสถูกอายัดเงินเดือน ยึดทรัพย์สินในส่วนที่กรรมสิทธิ์เป็นชื่อลูกหนี้
- ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและกาย เช่น รู้สึกอับอายเพื่อนร่วมงาน เมื่อถูกอายัดเงินเดือน
- จะกลายเป็นบุคคลล้มละลายได้ ต้องเป็นหนี้ไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท
ทรัพย์สินที่สามารถถูกอายัดได้
เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระ หรือไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 30 วันจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้ โดยหลังจากศาลพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดีแพ่ง แล้วมีการออก “หมายบังคับคดี” ให้สิทธิ์เจ้าพนักงานบังคับคดีของกรมบังคับคดี ซึ่งมีอำนาจในฐานะเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาทุกอย่างดำเนินการต่อ เริ่มจากการส่งหมายบังคับคดีให้ลูกหนี้ (ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับหรือปิดหมายที่บ้านลูกหนี้) ตามด้วยการตรวจค้นบ้าน ตรวจเอกสาร และยึดทรัพย์สิน หากมีการขัดขวาง ก็มีอำนาจขอความช่วยเหลือจากตำรวจได้ด้วย การดำเนินการทั้งหมดต้องทำในวันทำการปกติระหว่างดวงอาทิตย์ขึ้นและตกเท่านั้น โดยสินทรัพย์ที่ยึดไปนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องนำไปยื่นคำขอต่อศาลให้มีคำสั่งขายทอดตลาด เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป
กรณีที่ลูกหนี้แพ้คดีมา 10 ปีแล้ว เจ้าหนี้ก็ยังคงยึดหรืออายัดทรัพย์ได้จนกว่าจะไม่มีหนี้คงค้าง แต่ถ้าเจ้าหนี้ไม่ได้ร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีภายในเวลา 10 ปีนับจากวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ตนชนะ เจ้าหนี้จะหมดสิทธิในการบังคับคดีไปตลอดเลย
คำว่า "ยึด" หมายถึง การครอบครอง ควบคุม หรือดูแลทรัพย์สินนั้น คำว่า "อายัด" หมายถึง การสั่งไม่ให้จำหน่าย จ่าย โอน หรือทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่ได้สั่งอายัดไว้
หมายเหตุ
1.ทรัพย์สินที่จะยึดหรือถูกอายัดได้นั้น ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาศาลเท่านั้น! 2. กรณีลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่นๆ เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา หรือค่ารักษาพยาบาลโรคประจำตัว สามารถนำหลักฐานไปขอลดหย่อนที่กรมบังคับคดีเพื่อลดเปอร์เซ็นต์การอายัดเงินเดือนได้ 3.หลักเกณฑ์ที่กรมบังคับคดีกำหนดไว้ เรื่องการอายัดเงิน ให้อิงตามกฎหมายใหม่ (พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่ 30 พ.ศ.2560) มีผลใช้บังคับ 5 กันยายน 2560
ทรัพย์สินที่สามารถถูกยึดและอายัดได้ มีดังนี้
หากมีคำสั่งพิพากษาจากศาล กรมบังคับคดีมีสิทธิ์อายัดเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยขยัน ค่าล่วงเวลา ก่อนหักภาษีและประกันสังคม เฉพาะจำนวนที่เกิน 20,000 บาท และเงินต้องเหลือไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท (กรณีนี้เจ้าหนี้จะต้องเป็นผู้สืบเรื่อง แล้วมาแถลงรายละเอียดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงจะออกหนังสือแจ้งอายัดไปยังนายจ้างตามที่โจทก์แถลง เพื่อให้ส่งเงินมาให้ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีโดยตรง) ตัวอย่างเช่น นาย ก. มีเงินเดือน 19,500 บาท >> ไม่ถูกอายัดเงินเดือน นาย ข. มีเงินเดือน 25,000 บาท >> อายัดได้ไม่เกิน 5,000 บาท จำนวนตามเจ้าหนี้ร้องขอ เงินโบนัส >> อายัดไม่เกิน 50% เงินตอบแทนกรณีออกจากงาน >> อายัดไม่เกิน 100% เงินค่าตอบแทนและค่าสวัสดิการ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ >> อายัดได้ เงินค่าตำแหน่งทางวิชาการ (เอกชน) >> อายัดได้ เงินค่าคอมมิชชั่น >> อายัดไม่เกิน 30% บัญชีเงินฝากธนาคาร >> อายัดไม่เกิน 100% เงินสหกรณ์ >> อายัดเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน เงินค่าหุ้นสหกรณ์ได้ทั้งหมด ร่วมทุนกับผู้อื่นเปิดบริษัท >> อายัดเฉพาะส่วนที่ตนเป็นเจ้าของ หุ้น >> อายัดได้ทั้งหุ้นและเงินปันผล ค่าเช่ารายเดือน >> อายัดได้ สิทธิจำนองหรือจำนำเป็นประกัน >> อายัดได้
- ถ้ามีเงินฝากในธนาคารเป็นชื่อลูกหนี้ แล้วเจ้าหนี้สืบเจอ ยื่นต่อกรมบังคับคดีมีสิทธิ์อายัดทรัพย์ได้ตามคำพิพากษาศาล
- สิ่งของมีค่า เครื่องประดับทั้งหลาย เพชร พลอย นาฬิกา และของสะสมที่มีมูลค่า
- ของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ ที่มีมูลค่ารวมกันเกิน 20,000 บาท
- ถ้าเครื่องมือในการประกอบอาชีพของลูกหนี้ ที่มีมูลค่ารวมกันเกิน 100,000 บาท ยึดได้
- รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ที่ติดไฟแนนซ์ จะยึดหรืออายัดไม่ได้ ยกเว้น รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ และไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพ
- แต่กรณีบ้านหรือคอนโดที่ติดจำนองอยู่ ยึดได้ เพราะจะลูกหนี้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
ข้อควรรู้ หากลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย ทรัพย์ใดถูกยึดไปแล้ว ห้ามเจ้าหนี้รายอื่นมายึดซ้ำ เจ้าหนี้รายใดยึดก่อนก็ได้สิทธิ์ก่อน หนี้ที่มีสิทธิรับชำระคืนอันดับแรก คือ หนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน เช่น รถยนต์ ที่พักอาศัย สิทธิลำดับถัดมาคือหนี้สินที่ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน ได้แก่ บัตรเครดิต นั่นเอง
ทรัพย์สินที่ไม่สามารถถูกอายัดได้
- เงินเดือนของลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ
- เงินเบี้ยเลี้ยงชีพ (เบี้ยคนชรา เบี้ยคนพิการ)
- เงินค่าตำแหน่งทางวิชาการ (ข้าราชการ)
- เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข)
- เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ)
- รายได้ที่นายจ้างจ่ายให้ แต่ต้องมีจำนวนไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน เช่น บำนาญ ค่าชดใช้ เงินสงเคราะห์
- บำเหน็จ ค่าชดเชย หรือรายได้ของลูกหนี้ ที่ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่เกิน 300,000 บาท
- เงินฌาปนกิจสงเคราะห์จากการตายของบุคคลอื่น
- ไม่มีสิทธิ์ยึดหรืออายัดเงินฝากที่อยู่ต่างประเทศ ยกเว้น เจ้าหนี้ไปฟ้องคดีในประเทศนั้นๆ ที่มีเงินฝากอยู่
ทำอย่างไรเพื่อจะไม่ค้างหนี้บัตรเครดิต
ถ้าประวัติการชำระยังปกติ ให้รักษาวินัยในการออมที่ดีต่อไป อย่าใช้เงินเกินตัว รู้จักพอเพียง หมั่นศึกษาหาข้อมูลเพื่อฝึกวางแผนทางการเงิน ถ้าคิดจะทำบัตรเสริมให้ใคร ก็ต้องดูให้มั่นใจก่อนว่าคนๆ นั้น จะไม่ก่อภาระให้เราในภายหลัง มีความรับผิดชอบและไว้ใจได้เพียงใด
แต่ถ้าผิดนัดชำระแล้ว ต้องการจะเคลียร์หนี้ เคลียร์ประวัติการชำระเงินให้สถานะกลับมาเป็นลูกหนี้ชั้นดีเหมือนเดิม ต้องใช้เวลาและต้องลงมือทำบางสิ่ง อาจเปรียบได้เหมือนยืนอยู่บนเรือลำหนึ่งที่กำลังจะจม คุณต้องยอมปล่อยทรัพย์สินทิ้งไป ยอมโดนยึดให้ยอดหนี้ที่ยืมลดลง เพื่อเอาชีวิตตัวเองและครอบครัวไว้ แล้วค่อยๆ อุดจุดที่น้ำเข้า ถึงแม้จะถูกอายัดเงินเดือนด้วย แต่ถ้าเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท กฎหมายยังคงคุ้มครองอยู่ อย่าเพิ่งท้อ แล้วลองปรับเปลี่ยนชีวิตตามนี้ดู
- เริ่มเปลี่ยนความคิด ขอให้อดทน ไม่หนีหนี้ แต่ให้สู้ (เพื่อลูกหรือครอบครัว) 2. วางแผนค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ช่วยให้ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกได้โดยเร็ว 3. ปลดหนี้จากใบที่น้อยที่สุดก่อน ทยอยชำระหนี้ ไม่ก่อหนี้ใหม่ เช่น ไม่เปิดบัตรเครดิตใหม่อีกใบ หรือไม่กู้เงิน มาเพิ่ม เพียงแค่จะมาจ่ายขั้นต่ำบัตรใบก่อน เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แพงกว่าดอกเบี้ยบัตรเครดิตด้วยซ้ำ 4. พยายามหาวิธีจ่ายเต็มจำนวนตามบิลที่เรียกเก็บ จะได้ประหยัดค่าดอกเบี้ยรายวัน 5. หารายได้เพิ่ม ฝึกเก็บออมมากขึ้น ปรับวินัยตัวเอง 6. ปรึกษาผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์ 7. สมัครแจ้งเตือนเมื่อมียอดรูดบัตรเกิน 1,000 บาท หรือเมื่อบัตรมีการเคลื่อนไหว 8. หากยอดค้างชำระมีจำนวนมาก ไม่สามารถชำระได้ทั้งหมด ให้ต่อรองประนอมหนี้กับผู้ออกบัตรเครดิตเพื่อขอ ลดจำนวนหนี้สินลงหรืออาจจะยืดระยะเวลาการชำระหนี้เพิ่มให้ การเจรจาขอชำระเป็นก้อนสามารถขอลดยอดหนี้ได้มากกว่า 9. หากมีบัตรเครดิตหลายใบ อาจเลือกวิธี การโอนหนี้บัตรเครดิต เป็นการถ่ายโอนหนี้ค้างชำระจากสถาบันการเงินเดิมไปรวมไว้ยังสถาบันการเงินแห่งใหม่ เพื่อความสะดวกในการรวมชำระหนี้ให้เป็นแห่งเดียว และจะทำให้ดอกเบี้ยลดลง 10. การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวาง จะทำให้ลูกหนี้สามารถที่จะชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องไปขึ้นศาล และไม่ต้องถูกฟ้องล้มละลาย แต่ทั้งนี้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์ร่วมกัน เช่น ขอขยายเวลาชำระหนี้ออกไปโดยผ่อนค่างวดน้อยลง อัตราดอกเบี้ยคงเดิม, หรือขอจ่ายดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียวสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยกลับมาจ่ายค่างวดตามเงื่อนไขเดิม 11.เรียนรู้กฎหมายเบื้องต้น เช่น คดีหนี้บัตรเครดิตมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ผิดนัดหรือวันที่ชำระหนี้ครั้งสุดท้าย สมมติจ่ายชำระสินค้าในเดือนเดือน พ.ย.62 รอบบิลบัตรเครดิตจะครบกำหนดชำระ 20 ธ.ค. 62 อายุความเริ่มนับ วันที่ 21 ธ.ค. 62 ถึง 20 ธ.ค.64 หากสถาบันการเงินไม่ฟ้องคดีภายใน 2 ปี ถือว่าคดีขาดอายุความ ซึ่งคดีบัตรเครดิตเป็นคดีแพ่ง ทำให้ลูกหนี้สามารถหยิบยกเรื่องนี้เป็นข้อต่อสู้คดีศาลเพื่อปฏิเสธการชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่ถ้าลูกหนี้มีการชำระหนี้เข้าไปก่อนอายุความบัตรเครดิตจะครบกำหนด วันที่ 20 พ.ย. 64 ต้องเริ่มนับอายุความใหม่อีกครั้ง
การมีบัตรเครดิตไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด แต่เมื่อรู้ว่าการเป็นหนี้บัตรเครดิตทำให้ชีวิตลำบากเพียงใด ยังไม่สายที่จะเริ่มปรับเปลี่ยนบริหารจัดการรายได้และค่าใช้จ่ายให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ต้องรู้จักควบคุมตัวเอง พอเพียง ไม่ละโมบโลภมาก เรียนรู้ศึกษาจากประสบการณ์ผู้อื่น ก็จะช่วยให้หลีกเลี่ยงปัญหาตามที่กล่าวมาข้างต้น แล้วการใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิตก็จะเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษแน่นอน
สำหรับคนที่อยู่ในวังวนหนี้ เป็นกำลังใจให้ พยายามกันต่อไป ในทางปฏิบัติแล้วยังพอมีหนทางที่ลูกหนี้จะสามารถเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ได้ ดังนั้น โอกาสที่เราจะเริ่มต้นใหม่กับชีวิตทางการเงินที่ปราศจากหนี้มีทางเป็นไปได้แน่นอน ถ้าตอนนี้เรายังออกจากวังวนนี้ไม่ได้ ก็ต้องเรียนรู้ที่จะสู้และอยู่กับมันให้ได้ ฟ้าหลังฝนสวยงามกว่าเสมอ อยากให้ทุกคน “ยิ้มสู้หนี้” ไว้นะคะ
สุดท้ายนี้ อยากฝากข้อมูลโครงการต่างๆ ไว้เผื่อเป็นประโยชน์เพิ่มเติมต่อผู้อ่าน
- โครงการคลินิกแก้หนี้ บริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด (SAM) Call Center โทร. 0 2610 2266 หรือทางเว็บไซต์www.debtclinicbysam.com
Tikatath
ผมรู้สึกค่อนข้างจะเสียสุขภาพจิตมากถ้าเป็นหนี้บัตรเครดิต เพราะบางทีคนที่ตามทวงหนี้ชอบโทรศัพท์เข้ามาที่ออฟฟิศทำให้ผู้รู้สึกอายมาก ทั้งๆที่หนี้ก้อนนั้นก็ไม่ได้เป็นเงินมากมายอะไร ไม่เห็นจะต้องทำกันโดยวิธีแบบนี้ ผมเลยไม่ค่อยอยากจะมีหนี้เท่าไหร่ครับ ยิ่งถ้าใช้เงินสดได้ยิ่งดี เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยใช้เลยครับบัตรเครดิต
เปียโน
จริงๆก่อนที่จะตัดสินใจทำบัตรเครดิตไม่ใช่แค่คุณสมบัติได้ก็สมัคร ต้องรู้จักความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายและความสามารถในการชำระหนี้บัตรเครดิตของตัวเองด้วยค่ะ บางคนใช้ไปได้สักระยะ เริ่มจ่ายได้แค่ขั้นต่ำไม่สามารถจ่ายเต็มวงเงินได้จนเป็นหนี้เยอะ แทนที่จะจัดการหนี้ตรงนั้นให้จบก่อน ดันไปสมัครมาใหม่อีกใบ แล้วก็เป็นหนี้อีก..เพื่อ!
น้ำตาล
เป็นเรื่องที่น่ากลัวเหมือนกันนะคะสำหรับใครที่เป็นหนี้บัตรเครดิตแล้วไม่ยอมใช้คืน เพราะว่าได้รับผลกระทบต่อทรัพย์สินของตัวเองด้วยค่ะ ไม่เป็นเหตุที่จะต้องถึงโรงถึงศาลเลยทีเดียว ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรจะวางแผนการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ให้สามารถที่จะผ่อนชำระคืนโดยไม่เป็นนี่หยุดยาวนะคะ ซึ่งบทความนี้ทำให้เห็นแล้วว่าถ้าไม่ใช้คืนหรือเป็นหนี้บัตรเครดิตนานๆจะมีผลอย่างไรค่ะ
Nipada
ถ้าเป็นหนี้บัตรเครดิตสิ่งที่จะตามมาก็มีแต่ความยุ่งยากในชีวิตล่ะค่ะ หากเริ่มจ่ายได้แค่เพียงจำนวนเงินขั้นต่ำควรรีบหาทางแก้ไขเพื่อจะไม่เป็นหนี้มากขึ้นจนเป็นหนี้สินยืดยาว ที่จริง การชำระเงินผ่านบัตรเครดิตมีประโยชน์หลายอย่าง แต่ต้องมาพร้อมกับการใช้จ่ายอย่างไม่เกินตัวด้วยค่ะ ถ้าควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองไม่ได้..เป็นหนี้แน่นอนค่ะ
เดือน
เคยเห็นคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิตแล้วโดนฟ้องล้มละลายด้วยค่ะ เอาจริงๆเราคิดไม่ออกเลยนะว่า ใช้บัตรเครดิตได้ยังไงจนจ่ายหนี้คืนไม่ไหว? เคยได้ยินบางคนบอกว่า ถ้าไม่อยากมีปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิตให้ชำระเงินเต็มจำนวน บางคนชอบชำระเเค่ยอดขั้นต่ำ ทำให้ติดนิสัยจ่ายช้ากว่าปกติ ก็เลยมีหนี้กองเป็นดินพอกหางหมูเลย ทางที่ดี ใช้เงินตัวเองดีกว่า
น้ำจันทร์
ใช่เลย วัยที่เริ่มทำงาน เป็นวัยที่เสี่ยงเรื่องการเป็นหนี้มากที่สุด และบัตรเครดิตก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ คนที่เริ่มทำงานเป็นหนี้ หลายคน ใช้ไม่คิดใช้แบบใช้ไปมั่วๆ อยากได้อะไรก็เอา หลายคนทำบัครเครดิต 3-4 ใบ เพื่อเอามาใช้หนี้วนกันไป จนสุดท้ายวนไม่ไหว เลยไม่จ่าย ก็โดนฟ้องกันไปตามระเบียบ แต่อย่าเครียดเรื่องยึดทรัพย์ เพราะไม่มีให้ยึด
ชินจัง
กว่าจะไปถึงขั้นยึดทรัพย์เค้าต้องมีการฟ้องร้องขึ้นศาลกันก่อนครับ ไม่ใช่อยู่ๆเราไม่มีเงินจ่ายหนี้เเล่วจะมายึดทรัพย์เรา... ในช่วงระยะเวลาที่มีการฟ้องตอนนั้นยังสามารถหาเงินได้ทันอยู่ครับ หรือไม่ช่วงที่ขึ้นศาลถ้าชำระหนี้ไม่ไหวก็ควรเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ให้ชัดเจนครับ ไม่ควรปล่อยหนี้ไว้จนเป็นดินพอกหางหมู มันจะจัดการยากครับ
ระบำ
เพิ่งจะรู้นะเนี่ยใช้บัตรเครดิตเนี่ยจะต้องเสียค่า Advance 3% ไหรจะค่าภาษีอีก 7% แถมมีดอกเบี้ยรายวันอีก มีแต่เสียกับเสียทำไมยังมีคนใช้บัตรเครดิตเยอะกันอยู่อีกละ ถ้าจะบอกว่าเพราะโปรโมชั่นที่ใช้มันจะได้ลดขนาดนั้นเลยหรอ หรือว่าได้เงินคืนเราว่าก็ไม่กี่บาทนะ เก็บแต้มสะสมหรอ ถ้าจะใช้บัตรเครดิตแล้วต้องเสียดอกเบี้ยเยอะขนาดนี้นะเราว่าสู้เก็บเงินแล้วค่อยซื้อของดีกว่าใช้เงินตัวเองนี่แหละดีที่สุด
สมชาย
ปัญหาสุขภาพก็ตามมาครับ เมื่อมีหนี้บัตรเครดิตก็จะเกิดความหวาดระแวงกลัวว่าจะมีการทวงหนี้หรือจดหมายจากศาลมาทวงหนี้นั่นเอง ถ้ากล้าที่จะมีหนี้แล้วแน่นอนว่าต้องยอมรับเลยว่าความเครียดและปัญหาสุขภาพจะตามมาแน่นอนครับ ความกังวล เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อวัยวะภายในของเราเจ็บป่วยได้ ลองดูสีหน้าคนที่เป็นหนี้สิครับมีความสุขไหม
เขมจุฑา
สถิติการค้างชำระ หนี้บัตรเครดิตในบ้านเรา สูงมากจริงๆนะคะ นี่เราว่าปีนี้ น่าจะมีการทำลายสถิติกันแน่นอนเลยคะ เพราะงานไม่ค่อยได้ทำกัน แต่เราว่ามันมีวิธีแก้นะ ไม่ต้องรอให้เขามาออกหมายยึดทรัพย์เราหลอก ตอนนี้เขามีคลีนิคแก้หนี้แล้วนะ หลายคนไปลงทะเบียนกันเยอะเลยนะ เพราะว่าเป็นการช่วยเหลือคนที่เป็นหนี้นะ ใครสนใจลองไปสมัครดูสิเวบเขาก็มีด้วยนะ
Kim
บอกเลยว่าคนส่วนใหญ่มีบัตรเครดิตก็จริง แต่ไม่เคยรู้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการชำระหนี้ว่าควรต้องจ่ายยังงัย พอบิลมาเห็นว่าจ่ายขั้นต่ำได้ก็เลยเข้าใจผิดว่าจ่ายแค่ขั้นต่ำ แต่จริงๆเเล้วอันตรายมากๆถ้าจ่ายแค่ขั้นต่ำไปเรื่อยๆ เพราะทำให้เป็นหนี้แบบทบต้นทบดอกเลยก็ว่าได้ นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงจ่ายหนี้เท่าไหร่ก็ไม่หมดสักที ....