ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้คนจำนวนมากไม่กล้านำเงินไปลงทุนทำธุรกิจ และมักจะเก็บเงินไว้กับตัวหรือฝากธนาคาร ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากปรับตัวลดลงตามสถานการณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ คนบางกลุ่มจึงคอยมองหาทางเลือกใหม่ๆ ในการลงทุน หนึ่งในนั้นคือการลงทุนกอทุนรวม ซึ่งกองทุนรวม คืออะไร และยังมีหลายรูปแบบการลงทุนที่น่าสนใจ มีให้เราเลือกลงทุนได้หลายรูปแบบ และผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากธนาคาร การลงทุนที่กำลังได้รับความสนใจ มีดังนี้

  • หุ้น (Stock): ลงทุนเป็นเจ้าของกิจการได้ โดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งในการทำธุรกิจ
  • อนุพันธ์ (Derivative): สามารถทำกำไรทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง
  • กองทุนรวม (Mutual Fund): มีมืออาชีพคอยดูแลให้เงินลงทุนเติบโต
  • ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants): ลงทุนน้อยกว่าแต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูง
  • อีทีเอฟ (Exchange Traded Fund): ได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลและส่วนต่างราคาตามดัชนีอ้างอิง
  • ตราสารหนี้ (Bond): ลงทุนเสี่ยงน้อย แต่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ

โปรดอย่าลืมว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน และ ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงยิ่งสูง ประโยคนี้คงได้ยินบ่อยจนคุ้นหู และความเสี่ยง ในที่นี้ ก็หมายถึง เงินก้อนที่เราลงทุนไปอาจจะได้รับผลตอบแทนกลับมาไม่เท่ากับที่เราคาดหวังไว้ หรืออาจถึงกับขาดทุนด้วยซ้ำ

เครื่องมือการลงทุนแต่ละประเภทตามที่กล่าวถึงข้างต้น มีทั้งข้อดีข้อเสีย มีวิธีการลงทุน และความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป แต่เพื่อจะลงทุนให้เข้ากับนิสัยเเละไลฟ์สไตล์ของตัวเอง จำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจการลงทุนแต่ละประเภทให้ดีก่อนลงทุนจริง และต้องรู้จักตัวเองด้วยว่าต้องการลงทุนเพื่อเก็งกำไรหรือถือครองระยะยาว มีเงินเย็นในกระเป๋ามากน้อยเพียงใดที่จะจัดสรรได้ จะได้ไม่เครียดเกินเมื่อราคาตลาดต่ำลง

ความเสี่ยงยังเกิดจากหลายปัจจัย มีทั้งที่ควบคุมได้ เช่น ผลการดำเนินงานของบริษัท และที่อยู่เหนือการควบคุม เช่น สภาพเศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงภาพรวมอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน แล้วสะท้อนออกมาที่ราคาตลาด

ยกตัวอย่าง บริษัทหนึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับเหล็ก สิ้นปีนี้มีแผนการจะกู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อตั้งใจขยายธุรกิจไปต่างแดน ฟังดูเหมือนดีกำลังก้าวหน้า เราจึงตัดสินใจนำเงินเก็บเราร่วมลงทุนด้วย แต่เราดันลืมศึกษาข้อมูลไปว่า เงินสดหรือสินทรัพย์ที่อยู่ในกระเป๋าบริษัทนี้แทบไม่มี เงินที่จะขยายธุรกิจมาจากเงินกู้ยืมล้วนๆ

ดังนั้น ถือว่ามีความเสี่ยงระดับนึงละ ปีต่อมาก็เจออีกว่า แม้ความต้องการของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศเริ่มซบเซาลง แต่ในต่างประเทศกลับมีการแข่งขันอย่างดุเดือด คู่แข่งขันนำเหล็กจากจีนเข้าตีมาตลาด ด้วยต้นทุนที่ต่ำทำให้ส่วนแบ่งกำไรในตลาดของบริษัทนี้ลดลงพรวด สาขาที่กำลังขยายอยู่ที่ต่างแดนได้รับผลกระทบ ผลกำไรมีแนวโน้มลดลงจนกระทั่งขาดทุน เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องหลายปี

จึงเริ่มไม่มีเงินพอที่จะจ่ายหนี้ที่กู้มา ไม่นานผู้บริหารก็ยื่นลาออก ผู้บริหารท่านใหม่เข้ามาบริหารงานแทน นโยบายการบริหารงานก็เปลี่ยนไป หลายคนที่ลงทุนด้วยเริ่มกังวลและขายหุ้นทิ้ง ราคาตลาดของหุ้นนี้ก็ปรับตัวต่ำลง ถ้าเราไม่เกาะติดข่าวสารในสถานการณ์นี้ให้ดี เราอาจจะขายหุ้นช้ากว่าเพื่อน อาจขายตอนที่ราคาตลาดต่ำกว่าราคาที่เราซื้อมา แล้วเราก็จะขาดทุนนั่นเอง เมื่อฟังตัวอย่างข้างต้นแล้ว ดูเหมือนว่าต้องมีความรู้ทางการเงินมากพอควร ต้องติดตามข่าวสารบ้านเมือง ข่าวเศรษฐกิจ แถมต้องอ่านงบการเงินเป็นอีก เพื่อจะลงทุนแล้วจะได้ไม่ขาดทุนใช่มั้ย ไม่เสมอไปค่ะ เพราะว่า ยังมีการลงทุนอีกประเภทหนึ่งค่ะ ที่จะมีคนค้นคว้าข้อมูลและติดตามข่าวสารเหล่านี้แทนคุณทั้งหมด

ลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีๆ หลายตัวเพื่อกระจายความเสี่ยง ดีใช่มั้ยล่ะคะ? แม้จะเป็นมือใหม่ มีประสบการณ์น้อย ไม่มีเวลา และมีเงินในกระเป๋าไม่มากก็ลงทุนได้ สิ่งที่คุณทำก็เพียงแค่จัดสรรเงินคุณมาลงทุนเท่านั้นเอง แค่ 1,000 บาทก็เริ่มลงทุนได้นะ ที่เกริ่นมาทั้งหมด ก็เพื่อจะแนะนำ** “กองทุนรวม”** นะเองค่ะ อยากจะรู้จักกองทุนนี้มากขึ้นกันหรือยังคะ วันนี้ขอให้ทุกคนมาสวมบทบาทเป็น นักเรียน แล้วมาเรียนในชั้นที่ชื่อว่า “กองทุนรวม” กันนะคะ ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มกันเลยค่ะ**

กองทุนรวม คืออะไร

กองทุนรวม คืออะไร

กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ กองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อระดมเงินทุนจากคนจำนวนมาก มีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพเป็นตัวเเทนนำเงินไปลงทุนตามนโยบายที่แจ้งในหนังสือชี้ชวน กองทุนจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเเยกจาก บลจ. (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน) ไม่มีการรับรองผลดำเนินงานหรืออัตราผลตอบเเทนที่นักลงทุนจะได้รับ เเต่ก็ยังอุ่นใจได้เพราะต้องทำงานภายใต้การกำกับดูเเลของ ก.ล.ต. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์เเละตลาดหลักทรัพย์) ถ้าหากกองทุนล้มหรือทำไม่ได้ตามหนังสือชี้ชวน ก็ยังมีผู้เเลผลประโยชน์ทำหน้าที่ชดเชยหรือเอาผิดเเทนนักลงทุนให้ เหมือนมีเบาะนุ่มๆ 2 ชั้นช่วยรองรับความเสี่ยง**

ส่วนผลการดำเนินงานของกองทุนดูได้จาก มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (Net Asset Value |NAV) จะคำนวณทุกสิ้นวันตามราคาตลาด (Mark to Market) สะท้อนให้เห็นผลการดำเนินงานของกองทุนในแต่ละวันว่า“กำไร” หรือ “ขาดทุน” และยังใช้ราคา NAV ต่อหน่วย ในการซื้อขายกองทุนด้วย เช่น วันนี้กองทุน AA ขายหน่วยละ (NAV) 10 บาท มีเงินอยู่ 1,000 บาท จะซื้อหน่วยลงทุนได้ 100 หน่วย (1,000/10) ถัดมาอีก 20 วัน ขายคืนทั้ง 100 หน่วย NAV ณ สิ้นวันอยู่ที่ 12 บาท แสดงว่าจะได้กำไร 200 บาท (100x2) ภายใน 1-5 วันทำการเงินจะไหลเข้าบัญชีที่เราผูกไว้ตอนสมัครซื้อกองทุนนั้น

เมื่อผู้คนหันมาสนใจกองทุนรวมเพิ่มขึ้น ก็ก่อให้เกิดอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญ คือ “ผู้เเนะนำการลงทุน” ซึ่งต้องสอบให้ได้ใบอนุญาตเเละขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต. ก่อน จึงจะทำหน้าที่บริการให้คำปรึกษา รับคำสั่งซื้อ-ขาย-สับเปลี่ยน การลงทุนได้ ตลอดจนติดตามผลการดำเนินงานและส่งรายงานกองทุนแจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบทุกเดือน

บลจ. คือ บริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ รับบริหารเงินให้ลูกค้าในรูปเเบบของกองทุนรวม (Mutual Fund) กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)

ประเภทของกองทุนรวม

ประเภทของกองทุนรวม

กรณีแรก แบ่งตามลักษณะการซื้อขาย มี 2 ประเภทคือ

1.1. กองทุนเปิด (Opened - End Fund) หลังจากเปิดขายครั้งแรกสามารถซื้อ-ขาย-คืน หน่วยลงทุนได้เรื่อยๆ

2.2. กองทุนปิด (Closed - End Fund) มีกำหนดอายุโครงการชัดเจน เปิดขายครั้งเดียวตอนเริ่มโครงการ หลังจากนั้นจะไม่รับซื้อ-ขาย-คืน หน่วยลงทุน กองทุนประเภทนี้มีสภาพคล่องในการซื้อขายน้อย จึงต้องคิดให้ดีก่อนเอาเงินไปซื้อกองทุนปิด

กรณีสอง แบ่งตามระดับความเสี่ยง มี 8 ประเภท โดยเรียงจากความเสี่ยงต่ำไปสูง ดังนี้

ระดับ 1 เสี่ยงต่ำ ระดับ 2-4 เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ ระดับ 5 เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง ระดับ 6-7 เสี่ยงสูง ระดับ 8 เสี่ยงสูงมาก

ความเสี่ยง แปรผันตาม ผลตอบแทน

ระดับ 1: กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนเฉพาะในประเทศไทย สัญญาระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี เน้นตั๋วเงินคลัง, พันธบัตรรัฐบาล, เงินฝากธนาคาร และบัตรเงินฝาก ผู้ออกมีความมั่นคงน่าเชื่อถือ เช่น รัฐบาลหรือสถาบันการเงินต่างๆ กองทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงต่ำ มือใหม่ลงทุนได้ ระดับ 2: กองทุนรวมตลาดเงิน เช่นเดียวกับระดับ 1 เพิ่มเติมคือ ลงทุนในต่างประเทศได้แต่ไม่เกินร้อยละ 50 ของ NAV และจะมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมาเกี่ยวข้องด้วย ระดับ 3: กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจที่อายุเกิน 1 ปี มูลค่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของ NAV

ระดับ 4: กองทุนรวมตราสารหนี้ เน้นลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไป เช่น หุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน

ระดับ 5: กองทุนรวมผสม ลงทุนได้ทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ สัดส่วนตราสารหนี้:ตราสารทุน (65:35)

ระดับ 6: กองทุนรวมตราสารทุน เน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลัก LTF, RMF รวมอยู่ในกองทุนประเภทนี้ด้วย (LTF: ต้องถืออย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน จะไม่เสียภาษีเมื่อขายกองทุน ส่วนปี 2563 มีแนวโน้มว่าจะให้ถือ ครองนานขึ้นเป็น 10 ปี RMF:ออมเพื่อใช้หลังเกษียณ ต้องถืออย่างน้อย 5 ปี และถือถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ จึงจะได้สิทธิ)

ระดับ 7: กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม เน้นลงทุนตราสารทุนในบางหมวดอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม, สินค้าอุปโภคบริโภค, ธุรกิจการเงิน, สินค้าอุตสาหกรรม, อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง เป็นต้น

ระดับ 8: กองทุนที่มีการลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก มีโครงสร้างซับซ้อน เช่น ทองคำ, สินค้าโภคภัณฑ์

ข้อดีของการลงทุนแบบกองทุนรวม

ข้อดีของการลงทุนแบบกองทุนรวม

  • มีทางเลือกในการลงทุน เพราะกองทุนรวมมีหลายประเภท คุณอยากจะลองเสี่ยงมาก/น้อย หรือเน้นเจาะจงอุตสาหกรรมไหน ก็เลือกได้ตามใจให้ตรงกับไลฟ์สไตล์เราเอง
  • มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินบริหารจัดการให้
  • ไม่ต้องมีประสบการณ์ ไม่ต้องมีเงินเยอะ ก็ลงทุนได้
  • มีสิทธิได้รับผลตอบแทนในรูปเงินปันผล (Dividend) หรือกำไรจากการขายหน่วยลงทุน (Capital Gain) ขึ้นอยู่กับนโยบายกองทุนที่เราเลือกลงทุน
  • เปิดพอร์ตในไทยก็ลงทุนในต่างประเทศได้ เพราะมีบางกองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ
  • มีสภาพคล่องในการซื้อขาย โดยเฉพาะกองทุนเปิด ซื้อขายเปลี่ยนมือได้เงินสดเร็ว
  • ถ้าเลือกลงทุน LTF/RMF นำไปลดหย่อนภาษีได้
  • ช่วยการกระจายความเสี่ยง เพราะกองทุนเดียวมักจะลงทุนในหุ้นหลายตัว
  • มีหน่วยงาน ก.ล.ต.คอยกำกับดูแลกองทุน

ใครสามารถลงทุนได้บ้าง

ใครสามารถลงทุนได้บ้าง

  • เหมาะสำหรับคนที่รับความเสี่ยงความผันผวนราคาหุ้นที่กองทุนไปลงทุนได้ เพราะผลตอบแทนค่อนข้างสูง ความเสี่ยงจึงสูงตาม
  • คนที่สามารถลงทุนในระยะกลางถึงยาวได้ เพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่ดีกว่าระยะสั้น
  • ไม่เหมาะกับคนที่ต้องการผลตอบแทนสม่ำเสมอ หรือรักษาเงินต้นให้อยู่ครบ

ตัวอย่างกองทุนรวมที่น่าสนใจ

ตัวอย่างกองทุนรวมที่น่าสนใจ

กองทุนรวมที่น่าสนใจ มักจะเคยได้รับรางวัลบริหารจัดการกองทุนดี ดูได้จากผลประกอบการย้อนหลังเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ดีเป็นระยะเวลานาน มีการลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดีและหลายๆ กิจการเพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ลงทุนต่อเนื่อง เช่น

  • กองทุนที่ลงทุนใน SET Index 50,100 คือหุ้น 50 หรือ 100 ตัวแรก ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง มีการซื้อขายสม่ำเสมอ พูดง่ายๆ คือ เป็นหุ้นที่ได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุนนะเอง ทุกสถาบันการเงินต้องมีกองทุนตัวนี้นะคะ ฮอตจริงๆ
  • กองทุน LTF ที่น่าสนใจ เช่น

KFLTFDIV (กองทุนเปิดกรุงศรีหุ้นระยะยาวปันผลของ บลจ.กรุงศรีอยุธยา) กองทุนนี้เป็น LTF แต่มีเงินปันผลให้ทุกไตรมาสด้วย แถมยังเคยได้รับรางวัลกองทุนยอดเยี่ยม Money & Wealth LTF/RMF Fund Awards 2010 และ Morningstar Rating 4 ดาว (พ.ย.55)

CG-LTF (กองทุนเปิดบรรษัทภิบาล หุ้นระยะยาวของ บลจ.ยูโอบี) เคยได้รางวัลกองทุน LTF ระดับ Morningstar 5 ดาว ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 61

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ซื้อกองทุนรวมปี 2565 ตัวไหนดี ที่นี่

ในนี้จะบอกทั้งนโยบายกองทุน, รางวัลที่เคยได้รับ, ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 10 ปี, กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการลงทุน, ระดับความเสี่ยงกองทุน และอื่นๆ อีกมากมาย อ่านมาถึงตรงนี้ หวังว่านักเรียนทุกคนคงจะเข้าใจกองทุนรวมมากขึ้นนะคะ และก่อนจะซื้อกองทุน ทุก บลจ.จะให้ทุกคนประเมินตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้ที่ระดับไหน นั่นจะทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเหมาะกับการกองทุนรวมประเภทไหน ถึงกระนั้น ขอย้ำอีกทีนะคะว่า ผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุนไม่ได้เป็นตัวรับประกันว่าผลการดำเนินงานในอนาคตจะดีแบบนั้นด้วย

ถ้าตัดสินใจอยากลงทุนในกองทุนรวม แนะนำว่าให้ทะยอยซื้อดีกว่าซื้อตูมเดียว เพราะราคาหน่วยลงทุนขึ้นลงตามราคาตลาด บางเดือนราคาสูงบ้าง ต่ำบ้าง ถ้าทะยอยซื้อเราก็จะได้หน่วยลงทุนมาในราคาเฉลี่ย ที่สำคัญจัดสรรเงินให้ดีด้วยนะคะ ถ้าใช้เงินเย็นมาซื้อกองทุนก็จะดีกว่า จะได้ไม่มานั่งปวดหัวทีหลัง เนื่องจากการลงทุนในกองทุนรวมเหมาะกับการลงทุนระยะยาวมากกว่าเก็งกำไร

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กองทุนรวม ที่นี่

ขนาดโลกยังอัพเดทอยู่เรื่อยๆ ก็ขอให้นักเรียนทุกคนหมั่นศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ ไว้นะคะ สุดท้ายนี้ ขอทิ้งท้ายด้วยแอพพลิเคชั่น WealthMagik ที่จะช่วยให้การรับข้อมูลการลงทุนเป็นเรื่องง่ายขึ้น มีการจัดเรียงลำดับกองทุนคุณภาพไว้ให้ด้วย ลองเข้าไปดูนะคะ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญจาก MoneyDuck ได้ฟรี ที่ลิงก์ด้านล่าง