เป็นความจริงที่ว่า แม้การลงทุนบนโลกใบนี้มีเยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หุ้น อสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวม ตราสารหนี้ Forex สกุลเงินดิจิทัล ( Cryptocurrency ) หรือ Commodities แต่การลงทุนที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ก็คือ การลงทุนในของรัก ของสะสม หรือ Passion Investment นั่นเอง เนื่องจากเป็นการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถให้ผลตอบแทนเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งเป็นของรัก ของหวง และของสะสม  นอกจากทำให้ผู้ครอบครองอย่างเราสุขใจที่ได้เป็นเจ้าของแล้ว ยังกลายเป็นการลงทุนที่สามารถทำกำไรได้อย่างไม่น่าเชื่อ เป็นการลงทุนทางเลือกที่แต่ละคนสามารถเลือกที่จะลงทุน แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความชื่นชอบและความรู้ส่วนบุคคล จึงเรียกได้เลยว่า ได้ทั้งสุขใจ และได้กำไรอย่างงดงาม เพราะเป็นทั้งความหลงใหล และ การลงทุน ในตัวมันเอง แต่นักลงทุนหลายท่าน อาจมีข้อสงสัย เราจะเลือกของสะสมเหล่านี้อย่างฉลาดได้อย่างไร ที่จะช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าของเรา  มีแนวทางทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ บทความนี้จึงเป็นการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับ ประเภทของรักของสะสมที่น่าสนใจ รวมทั้งวิธิเริ่มต้นในการลงทุน และเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ใช่ข้อสรุปหรือสูตรสำเร็จของการลงทุนประเภทนี้ อย่างไรก็ลองมาอ่านกันดู

ประเภทของรัก ของสะสม

ประเภทของรัก ของสะสม

Passion Investment เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการลงทุนแบบ  Asset Class. แต่เราจะเลือกอะไรที่เหมาะกับการลงทุนในของรัก ของสะสม ก็ถือเป็นแนวโน้มการลงทุนที่ดูได้จากกลุ่มคนมั่งคั่งที่ผันความสนใจส่วนบุคคลในงานอดิเรกนั้น มาสู่การบริหารสินทรัพย์อย่างเป็นระบบโดยมุ่งหวังการตอบสนองความสุขทางกายและใจจากการครอบครองสินทรัพย์ พร้อมกับเปิดโอกาสการสร้างผลกำไรหากมีจังหวะ ซึ่งปัจจุบันการลงทุนลักษณะนี้ มีหลายประเภทโดยเสน่ห์ของสินทรัพย์แต่ละประเภทนี้ก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่หากพิจารณาในภาพรวมก็จะพบว่า มีมาตรฐานชี้วัดทางคุณค่าที่ใกล้เคียงกัน คือ มีความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ และคุณภาพที่น่าชื่นชม , ผู้ผลิตหรือผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้น มีการยอมรับกันอย่างสากล และทำให้เรามีอุปสงค์ที่มากกว่าอุปทาน ก็ถือว่าเหมาะกับการลงทุน

แต่จากหัวข้อหนึ่งในการสำรวจเรื่องการลงทุนในสิ่งที่รัก หรือ การลงทุนในสิ่งของหรูหรา อะไรจะดีที่สุดกับเรา เพื่อซื้อไว้ และทำกำไรได้ชัวร์!! ในรายงานนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในสิ่งที่รักให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจมากแค่ไหน โดยการจัดทำ The Knight Frank Luxury Investment Index (KFLII) ซึ่งรวบรวมผลดำเนินงานของดัชนีการลงทุนในสินทรัพย์ได้แบ่งเป็น  9 ประเภท ต่อไปนี้

งานศิลปะ

ใน 1 ปีที่ผ่านมา งานศิลปะมีการขาดทุน 3% ซึ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อีก 8 ชนิด แต่มองย้อนหลังไป 10 ปี งานศิลปะก็ถือว่ายังสามารถทำกำไรได้ 193% ซึ่งศิลปะร่วมสมัย และงานที่ผลิตออกมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังทำสถิติได้ดีในงานประมูลปีที่ผ่านมา  พิสูจน์ได้ว่า ถ้าเป็นงานศิลปะที่น่าสนใจนักสะสมก็พร้อมที่จะควักกระเป๋าโดยเฉพาะเหล่านักสะสมจากอเมริกาใต้และเกาหลีใต้

รถยนต์คลาสสิก

เหล่าผู้ที่นิยมสะสมรถยนต์คลาสสิกจะไม่เสียใจเลย เพราะปีที่ผ่านมา HAGI Classic Car Index ให้ผลตอบแทนมากถึง 28% ซึ่งดีที่สุดในบรรดาของสะสมทั้งหมด และยิ่งน่าตื่นเต้นมากขึ้นไปอีก  ทำกำไรไปแล้ว 456% ทาง The Historic Automobile Group International (HAGI) ผู้จัดทำดัชนี บอกว่า รถยนต์คลาสสิกที่ทำให้ดัชนีขึ้นไปสูงสุดในปีที่ผ่านมา คือ TOYOTA 2000 GT ซูเปอร์คาร์คันแรกจากประเทศญี่ปุ่น แสดงว่า ตลาดรถคลาสสิกไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเฟอร์รารีเท่านั้น แต่ราคารถคลาสสิกอื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่ดีด้วยเช่นกัน

เหรียญ

ปีที่แล้วมานี้ เหรียญสามารถขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 รองจากรถยนต์คลาสสิกด้วยผลตอบแทน 10% และบวกขึ้นมา 227% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา. ซึ่งมีนักสะสมที่หันมาสนใจการสะสมเหรียญมากขึ้น โดยเฉพาะนักสะสมชาวจีน ที่เพิ่มความนิยมมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับชาวอินเดียและรัสเซีย

เซรามิกจีน

ในช่วงก่อนวิกฤตการเงินในสหรัฐ  มูลค่าของเซรามิกจีนแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่หลังจากนั้นราคาเริ่มขยับขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะไม่หวือหวานัก โดยขยับขึ้นมาเพียง 3% และ 77% ในช่วง 10 ปี และแม้ที่ปรึกษาด้านการเงินของอภิมหาเศรษฐียังมองว่า เซรามิกจีน จะเป็นของสะสมลำดับสุดท้ายที่จะได้รับความนิยม แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่อาจจะมองข้ามของสะสมชนิดนี้ไปได้เพราะถ้าเราเป็นเศรษฐีชาวจีนเราก็คงจะพยายามหาศิลปะจีนโบราณมาสะสมไว้บ้างอยู่ดี

เฟอร์นิเจอร

ในสินทรัพย์ทั้ง 9 ประเภทนี้ เฟอร์นิเจอร์เป็นอย่างเดียวที่ทำผลดำเนินงานย้อนหลัง 10 ปี ติดลบ โดยลดลงไป 19% และปีที่ผ่านมาก็ยังลดลงต่อเนื่องไปอีก 2% แม้ว่าเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตในศตวรรษที่ 20 จะมีราคาเพิ่มขึ้น แต่รสนิยมที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับความนิยมอยู่อาศัยในบ้านขนาดเล็กลงทำให้ความต้องการเฟอร์นิเจอร์สไตล์อังกฤษและฝรั่งเศสแบบดั้งเดิมเริ่มมีน้อยลง ทำให้ราคาเฟอร์นิเจอร์ในขณะนี้น่าจะลดลงมาจนถึงระดับที่นักสะสมรุ่นใหม่กลับมาสนใจสะสมในตลาดระดับกลางๆ แต่ยังมีชาวจีนเริ่มให้ความสนใจสะสมเฟอร์นิเจอร์สไตล์อังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19 อยู่

เครื่องประดับ

ถึงแม้ปีที่ผ่านมาราคาทองคำจะลดลงไปประมาณ 25% แต่สำหรับเครื่องประดับยังคงมีความต้องการซื้ออยู่อย่างต่อเนื่อง โดย Top 25% of the AMR Jewellery (General) Index ที่จัดทำโดย Art Market Research 3% และ 156% ใน 10 ปีที่ผ่านมา บอกว่า อัญมณีที่ได้รับความนิยมยังคงเป็นเพชรสี หรือ เพชรแฟนซี และหินสี ขณะที่ ไข่มุก อำพัน หินปะการัง และหยก ไม่ได้มีการปลี่ยนแปลง

แสตมป์

10 ปีมานี้ มูลค่าแสตมป์ปรับเพิ่มขึ้น 250% และ 5% ในปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าของแสตมป์หายากยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในตลาดจีนและอินเดีย โดยระหว่างปี 2554-2555 The Stanley Gibbons China 200 rare stamp index เพิ่มขึ้น 36% ขณะที่ ตลาดในอังกฤษก็ยังมีการเติบโต แม้ว่า จะช้าลงก็ตาม ทำให้เห็นว่าความต้องการซื้อแสตมป์ยังคงมีอยู่ ทั้งจากนักลงทุนที่อยู่ในฮ่องกง สิงคโปร์ และออสเตรเลีย รวมทั้งรัสเซียด้วย

นาฬิกา

ราคานาฬิกาหรูกลับเพิ่มขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ โดยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกับเซรามิกจีน เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา AMR Watches Index เพิ่มขึ้น 82% และปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเพียง 4% เท่านั้น แต่ในการประมูลราคานาฬิกาหรูบางยี่ห้อ บางรุ่นก็ยังสามารถทำราคาได้ดีอยู่เช่นกัน

ไวน์

ถ้าเทียบกับสินทรัพย์ชนิดอื่นๆ แล้ว กราฟดัชนีราคาไวน์ชั้นเลิศ The Liv-ex Fine Wine 100 Index ออกจะผันผวนมากที่สุด และในช่วง 23 ปีหลังปรับลดลงมากจากระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ทำให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี ลดลงมาอยู่ที่ 176% และ 1 ปีที่ผ่านมาทำได้เพียง 3% เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อเราทบทวนประเภทดัชนี KFLII ต่างๆ จนครบทั้ง 9 ชนิดแล้ว ตั้งแต่กำไรดีมากๆ อย่างรถยนต์คลาสสิก ไปจนถึงขาดทุนมาตลอด อย่างเฟอร์นิเจอร์ ของรักของสะสมต่างๆ ก็ให้ผลตอบแทน 8% ในปีที่ผ่านมา และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลตอบแทนปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึง 179% แล้ว. ถึงแม้ว่าอภิมหาเศรษฐีส่วนใหญ่ตั้งใจจะซื้อเพราะความชอบส่วนตัว ไม่หวังกำไร แต่การลงทุนในสิ่งที่รักแบบนี้ก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวังแต่อย่างไร สำหรับตัวเรา ถ้ามีความพร้อมและสุขใจที่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์บางอย่างทั้ง 9 ประเภทนี้ ก็ไม่แน่ว่านอกจากจะสุขใจแล้ว  ในอนาคตเราอาจจะได้กำไรเป็นของแถมก็ได้ด้วยเช่นกัน

วิธีเริ่มต้นลงทุนใน ของรัก ของสะสม

วิธีเริ่มต้นลงทุนใน ของรัก ของสะสม

หากเราไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน? หรือหากใครที่สนใจอยากจะหันมาเริ่มต้นลงทุนใน Passion Investment ดูบ้าง สิ่งที่สำคัญและเป็นหัวใจหลักก็คงคือ การเริ่มจาก " ถามใจของเราเองก่อนว่าชอบอะไร " เพราะความชื่นชอบของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนชอบสะสมนาฬิกา บางคนชอบของอะไรที่เป็นชิ้นใหญ่อย่างรถยนต์คลาสสิคหรือมอเตอร์ไซค์ เมื่อเรารู้ใจตัวเองว่าเราชอบอะไร สิ่งต่างๆที่เหลือก็จะง่ายขึ้นเองเพราะ สิ่งใดที่เรารักเราก็มักจะให้ความสนใจและใส่ใจกับมันเป็นอย่างดีนั่นแหละ

วิธีต่อมา คือ การเริ่มต้นจากความชอบ และศึกษาหาความรู้ในสินทรัพย์นั้นอย่างจริงจังด้วย จนทำให้เข้าใจลึกซึ้งจริงๆไม่ใช่แค่ผิวเผิน ซึ่งหลักการพื้นฐานของ การลงทุนในของรักของสะสม ไม่ต่างจากการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วไปโดยเริ่มจากการรู้จักตัวเอง กำหนดเป้าหมาย เข้าใจความเสี่ยง เข้าถึงข้อมูล และการรู้จังหวะลงทุน แต่ก็เป็นเพียงเงื่อนไขพื้นฐาน เพราะหากเป้าหมายของผู้สะสมคือการมุ่งหวังกำไร การลงทุนประเภทนี้ยังมีความซับซ้อนที่ต้องเพิ่มเติมจากปัจจัยต่างๆ ด้วย เช่น:

  • ราคา : เนื่องจากการลงทุนประเภทนี้ไม่มีราคาอ้างอิงใดใดเหมือนกับการลงทุนประเภทอื่นๆ เช่น หุ้น เพราะฉะนั้นการซื้อขายจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายมีความพึงพอใจกันทั้งคู่ ด้วยเหตุนี้การศึกษาแนวโน้มของราคา ณ ปัจจุบัน กับราคาในอนาคตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ถ้าไม่มีราคากลางที่ชัดเจน เพราะราคาอาจแตกต่างตามสภาพของสินทรัพย์ ความแท้/เทียม หรือ เกณฑ์ด้านภาษี ก็อาจส่งผลกระทบด้านราคาเมื่อเวลาผ่านไป เช่น รถยนต์และไวน์

  • การดูแลรักษาและซ่อมแซม :  การลงทุนประเภทนี้เป็นการลงทุนที่มีรูปลักษณ์ของสิ่งของ ไม่ใช่ตัวเลขที่วิ่งอยู่บนกระดานดิจิทัล จึงต้องมีการสึกหรอไปตามกาลเวลาหรือตามสภาพการใช้งาน เราจะต้องศึกษาให้ดีถึงวิธีการดูแลรักษาและราคาที่ต้องจ่าย ยิ่งเราจ่ายเงินเพื่อซ่อมบำรุงมากเท่าไหร่ ต้นทุนของเราก็เพิ่มขึ้นตามเท่านั้น ต้องมีทักษะและค่าใช้จ่ายที่มาจากการดูแลสินทรัพย์ให้อยู่ในสภาพที่ดีและพร้อมใช้งานตามปกติ ไม่ว่าจะเป็น ค่าบำรุงรักษาของรถยนต์และนาฬิกาหรือการเก็บรักษาไวน์ เป็นต้น

  • ช่องทางในการขายหรือติดต่อกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย : ของสะสมบางชิ้นมีความเฉพาะตัว  ไม่สามารถติดต่อผ่านคนกลาง เช่น งานประมูลหรือนายหน้า จึงต้องเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องศึกษาลู่ทางในการขายของสะสมชิ้นนั้นด้วยตัวเอง กระทั่งการโปรโมท , ทำการตลาดและติดต่อกับลูกค้าเองถ้าจำเป็น ดังนั้น ในหลายกรณี การทำกำไรจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ลงทุนทำหน้าที่ทางการตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อปิดการขายเอง

  • สามารถจับต้องได้ มีตัวตนและมีคุณค่าทางใจ : การลงทุนในของสะสมเหล่านี้แตกต่างจาก หุ้นและกองทุนที่เป็นสินทรัพย์ทางการเงิน ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ ซื้อหุ้นไปแล้วเราไม่สามารถควักออกจากพอร์ต มานั่งส่อง  พินิจพิเคราะห์ ดูความสวยงามของตัวหุ้นไม่ได้ แต่ถ้าเป็นของที่เราได้รับตกถอดมาจากรุ่นสู่รุ่น หรือจะเป็นงานศิลป์ ที่มีความงดงามวิจิตรในตัว เราก็อยากจะเก็บรักษามันไว้ ต่างจากหุ้นที่อาจไม่ได้มีคุณค่าทางความรู้สึกเท่าไหร่  พร้อมขาย โดยที่ไม่มีความรู้สึกผูกพันอะไรเลย

วิธีลงทุนอย่างประสบความสำเร็จ

ลงทุนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ สรุปได้คือ เป้าหมายของต่อการลงทุนทุกประเภท ก็คือการสร้างผลกำไร ซึ่งกำไรจากการลงทุนในของรักของสะสม สามารถพิจารณาผ่านบริบทและมุมมองดังต่อไปนี้

  • ได้กำไรจากการเป็นเจ้าของหรือการใช้งานสินทรัพย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะตีค่าอย่างไร พูดตรงๆแบบง่ายๆ ก็คือความสุขทางใจ ของเรานั่นเอง

  • ได้กำไรจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์ ที่มาจาก ราคาตลาด ณ ปัจจุบัน > ราคาที่ซื้อ หรืออาจเทียบเคียงว่าเป็นกำไรทางบัญชี

  • ได้กำไรจากการขายสินทรัพย์ โดย ราคาที่ขายได้ > ราคาซื้อ + ค่าดูแลรักษา + มูลค่าเงินตามเวลา (Time value of money) โดยอาจเรียกได้ว่าเป็น กำไรจากการลงทุนที่แท้จริงนั่นแหละ

สำหรับในประเทศไทยเองตอนนี้ของสะสม ในยุคเก่าก็ถือเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมานานตั้งแต่อดีต พบได้ว่ามีหลากหลายประเภท ทั้งของสะสมแบบล้ำค่าและเป็นมรดกตกทอด เช่น เครื่องเบญจรงค์โบราณ ไวน์  เหรียญที่ระลึก ธนบัตร เหรียญกษาปณ์ ของเล่นโบราณ แผ่นเสียง ภาพวาด หรือรถยนต์โบราณ ต่างก็ถือเป็นของสะสมที่มีมูลค่าสูงด้วย 3 ปัจจัย เพราะเป็นของหายาก โดยอาจเป็นสินค้าที่ผลิตน้อย , ไม่ผลิตอีกแล้ว มีอายุ โดยอาจเป็นสิ่งที่ผลิตตั้งแต่ 80–100 ปีขึ้นไปมาแล้ว และมีกลุ่มคนที่รักการสะสมของชนิดเดียวกันทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตามของสะสม ยุคใหม่ ในสมัยนี้ บางครั้งกลับไม่ได้ผ่านคุณสมบัติด้านกาลเวลา และอาจไม่ได้เป็นของล้ำค่า แต่มีคุณสมบัติโดดเด่นด้านความรู้สึกต่อผู้สะสม หรือเป็นไอเท็มที่กำลังมาแรง และเพิ่มมูลค่าได้สูงมาก เมื่อเทียบกับราคาตั้งต้น รวมถึงต้นทุนการผลิตสินค้า เช่น สินค้าของที่ระลึกจากศิลปิน อย่าง BNK 48 ซึ่งเป็นเพียงรูปภาพขนาดเล็ก แต่กลับถูกกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบประมูลไปในราคาที่สูงเกือบครึ่งล้าน หรือการนำออกมาประมูลจะระบุวัตถุประสงค์ว่า เงินที่ได้จะนำไปใช้เพื่อการกุศล แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากผู้ที่ซื้อของสะสมไม่ชื่นชอบอย่างมากก็เป็นเรื่องยากที่ผู้ขายของสะสมจะระดมได้สูงแบบนั้น

นอกจากนี้ของสะสมประเภทอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ผ่านคุณสมบัติด้านกาลเวลา เช่น เสื้อจากนักกีฬาที่มีชื่อเสียง สิ่งของเครื่องใช้จากศิลปินและนักแสดงปัจจุบัน ก็เป็นไอเท็มที่ได้รับความนิยม กลายเป็นของสะสมของหลายๆคนเช่นกันในตอนนี้ ดังนั้น เราต้องลองมาชั่งน้ำหนักความคิดในการลงทุนของสะสมด้วย เมื่อของสะสมในยุคใหม่ ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เราอาจสามารถคาดหวังการลงทุนเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นในของเหล่านี้  หลายคนอาจประเมินบนพื้นฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม แต่หากเราเป็นคนหนึ่งที่เป็นนักลงทุนอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องตัดสินใจ ก็คงหนีไม่พ้นการประเมินปัจจัยพื้นฐาน เพื่อตีมูลค่าของสะสมชิ้นนั้นๆว่า จะสามารถปรับตัวขึ้นไปได้ในระยะยาวมากแค่ไหน รวมถึงเปรียบเทียบระหว่าง โอกาสการปรับตัวขึ้นของ ราคาของสะสม กับ ผลตอบแทนจากการลงทุนสินค้าอื่นๆในตลาดทุน ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อของสิ่งนั้นเข้าเป็นหนึ่งในพอร์ตลงทุนนั้นเอง

สรุป

เราจะเห็นว่า การเลือกของสะสมอย่างฉลาดสามารถมีทั้งความสุขทางใจ และเพิ่มเงินในกระเป๋าได้จริงๆ หลายครั้งที่การสะสมของต่างๆ ถูกมองว่าเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย เป็นกิจกรรมของคนเงินเหลือเขาทำกันหรือเป็นเรื่องไร้สาระ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของรสนิยมเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ยังเป็นเรื่องของการลงทุนได้อีกด้วย นอกจากความสุขใจที่ได้สะสม “สิ่งที่เรารัก” หรือ “ของที่เราชอบ” จะมีผลตอบแทนที่ประเมินค่าไม่ได้แล้ว นักสะสมอย่างเราจะมีโอกาสทำ “กำไร”  เหมือนกับการลงทุนสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เพราะของที่รักบางชิ้น จะเป็นของสะสมที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เราสามารถเริ่มต้นลงทุนจากสิ่งที่เรารักได้ จากนั้นอาจค่อยๆต่อยอดเพิ่มเติมเรื่อยๆ ยิ่งในตอนนี้สื่อโซเชียลต่างๆ และอินเทอร์เน็ต ยิ่งสามารถทำให้เกิดการเจรจาต่อรองและหาของสะสมที่ถูกใจได้มากขึ้น แถมสามารถหาซื้อหรือขายข้ามประเทศได้ง่ายดายอีกต่างหาก ดังนั้น การลงทุนไม่ว่าจะแนวไหน เราก็ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ รู้ให้ลึก รู้ให้จริง การลงทุนนั้นก็จะสามารถเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้กับเราได้อย่างแน่นอน สุดท้ายสิ่งที่นักลงทุนทุกคนจะต้องมีเหมือนกันก็คือ " ความอดทน " เพราะของบางอย่างเราต้องใช้เวลาในการรอคอย  แต่เมื่อไม่สามารถขายออกไปได้หรือในระหว่างการเจรจาทำให้เราต้องขาดทุน เราก็ยังสามารถเก็บของสะสมชิ้นนั้นไว้ตั้งโชว์ เพื่อเป็นความสุขทางใจและเป็นผลงานที่สามารถจัดแสดงให้กับคนที่ผ่านไปผ่านมาได้ชื่นชมในสิ่งที่เรารักและเป็นการบ่งบอกถึงตัวตนของเรา ( Passion ) ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีที่สุดแล้วที่การลงทุนกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆไม่สามารถทำแบบนี้ได้