เราในฐานะผู้ลงทุนทุกคน เมื่อต้องการซื้อหน่วยลงทุน ไม่ว่าจะโดยตรงตามที่บริษัทจัดการ หรือแบบมีตัวแทนขายตามที่บริษัทจัดการนั้นๆ แต่งตั้งขึ้น  เราคงเคยตัดสินใจระหว่างตัวหน่วยลงทุนยอดฮิตอย่างกองทุนรวม หรือหน่วยลงทุนที่มีการตอบแทนที่หวือหวาขึ้นมาเหมือนการลงทุนในหุ้น ซึ่งแต่ละอย่างก็มีหลากหลายนโยบายให้เลือกตามความเหมาะสมของผู้ลงทุนอยู่แล้ว

แต่หากว่า เราเจอกรณีที่ว่า ‘ฉันไม่ได้อยากซื้อหรอก แต่เขาบอกว่าดี ก็เลยลองซื้อดู’ หรือ ‘เกรงใจคนขาย เขาบอกให้ช่วยซื้อหน่อยก็เลยซื้อไว้’ แต่ว่า ‘ทำไมกองทุนรวมที่ฉันซื้อไว้ถึงไม่จ่ายปันผลเลยล่ะ!’ , ‘จริงๆฉันยังไม่อยากได้เงินปันผล เพราะเงินมันกระจัดกระจาย เลยอยากจะไถ่ถอนหน่วยลงทุนเมื่อครบอายุโครงการ แต่ทำไมกลายเป็นไถ่ถอนหน่วยลงทุนอัตโนมัติไปได้?’ , กองทุนรวมตราสารหนี้ มีความเสี่ยงด้วยเหรอ ไม่เห็นมีใครบอกเลย!’ หรือ ‘ฉันกลัวการลงทุนในหุ้น แต่ทำไมกองทุนรวมที่ฉันซื้อไว้ถึงเป็นการซื้อหุ้นไปได้นะ!’

ความสงสัยหรือความผิดหวังและไม่ได้อย่างใจอย่างที่กล่าวมาทั้งหมด จะไม่เกิดเลย หากเราที่เป็นนักลงทุนได้ให้เวลาในการศึกษาข้อมูลของกองทุนนั้นๆ อย่างละเอียด และก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ก็ควรสนใจรายละเอียดที่จะหาอ่านได้ จากแหล่งนึง ที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่คงจะเคยได้ยินหรือเคยเห็นเอกสารที่มีชื่อว่า “หนังสือชี้ชวน” หรือเรียกกันอย่างเต็มๆ ว่า “หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน กองทุน...” หรือถ้ายังรู้สึกไม่คุ้นเคย ก็ลองมาทำความรู้จักลักษณะและส่วนสำคัญของหนังสือชี้ชวนนี้ ไปพร้อมๆ กันเลย

หนังสือชี้ชวนการลงทุนคืออะไร

หนังสือชี้ชวนการลงทุนคืออะไร

หนังสือชี้ชวนการลงทุน  (Prospectus) หรือ หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน กองทุน… คือ  เอกสารสำคัญที่บริษัทจัดการลงทุนต้องจัดทำขึ้น เพื่อเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการลงทุนที่ได้จัดตั้งขึ้นให้แก่ผู้ลงทุนทราบหรือแจกจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนทุกครั้งที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุน ต้องเผยแพร่ให้ผู้ลงทุนทราบ หรือแจกจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนเมื่อถูกร้องขอทุกครั้งที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนมาให้

โดยในหนังสือชี้ชวนเล่มหนึ่งสามารถให้คำตอบ ข้อสงสัยที่คิดไว้ก่อนการลงทุนได้เกือบทั้งหมด เพราะหนังสือชี้ชวนเปรียบเสมือนคลังข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับตัวโครงการลงทุนนั้น  โดยเว็บไซต์ที่อธิบายความรู้เรื่องหนังสือชี้ชวนโดยละเอียด ถึงกับเปรียบหนังสือชี้ชวนเป็นเหมือนคัมภีร์ของผู้ถือหน่วยลงทุนคือ เว็บไซต์ set.or (www.set.or.th/education/th/begin/mutualfund_content04.pdf) หากเพื่อนๆ มีเวลาก็ไปศึกษาดูเพิ่มเติมได้ด้วย แต่วันนี้เราอยากจะจับจุดที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนมือใหม่ เพื่อนที่เราจะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากหนังสือชี้ชวน จะได้ทำให้เราสามารถเลือกซื้อหน่วยการลงทุนที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยต้องพิจารณาถึงข้อมูลหลักๆ เช่น นโยบายการลงทุนของกองทุนรวม , ผลประกอบการในอดีต , ศักยภาพในการบริหารกองทุนรวมของผูจัดการกองทุน , ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึง วัน เดือน ปีที่ตีพิมพ์ในหนังสือชี้ชวน  ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน ที่บริษัทจัดการลงทุนจัดทำขึ้นจะประกอบไป ด้วย 2 ส่วน คือ “ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนควรทราบ ” และ “ส่วนข้อมูลโครงการ ”

ลักษณะของหนังสือชี้ชวน

ลักษณะของหนังสือชี้ชวน

ลักษณะสำคัญของหนังสือชี้ชวน จะต้องตอบรายละเอียดสำคัญของการลงทุนได้ทั้งหมด โดยแสดงรายละเอียดที่สำคัญเกี่ยวกับโครงการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ-ที่อยู่ ของบริษัทจัดการลงทุนที่เราต้องการเลือกใช้ , ประเภทและอายุของโครงการที่ถูกกำหนดขึ้น , ราคาและวัตถุประสงค์ พร้อมนโยบายของมูลค่าขั้นต่ำในการจองซื้อ ตลอดจนรายละเอียดของผู้ดูแลผลประโยชน์ นายทะเบียนหน่วยลงทุน และผู้สอบบัญชี พร้อมหลักเกณฑ์และเวลาการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ Auto Redemption สำหรับกรณีที่เราต้องได้รับเงินจากการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติเป็นงวดๆ  เพราะเงินที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนจะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากเป็น กองทุนเปิด ก็จะต้องมีการกำหนดเวลาการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและระยะเวลาการชำระเงินค่าขายคืนภายหลังการเสนอขายครั้งแรกให้เราทราบด้วย

ในส่วนของ คำเตือน ข้อแนะนำ และความเสี่ยงในการลงทุนนั้น ก็จะระบุให้เราทราบว่า  ผู้ลงทุนอาจได้รับเงินลงทุนมากกว่าหรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกก็ได้ ยกเว้น กรณีกองทุนรวมมีประกัน เพราะหนังสือชี้ชวนจะมีข้อมูลเพื่อใช้อ้างอิงในอนาคต หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม โดยสามารถขอได้ที่บริษัทจัดการหรือผู้ขายหน่วยลงทุน เพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจาก การดำเนินงานของผู้ออกตราสาร ได้แก่ ประเภทของยริษัท ขนาดของบริษัท และฐานะการเงินของบริษัท หรือ จากความผันผวนของราคาตราสารที่เกิดขึ้นโดยการเปลี่ยนแปลงของสถาวะเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง หรือ สภาพคล่องของตราสาร

สำหรับ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น พวกค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อ หรือผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างเราก็จะเป็นพวก ค่าธรรมเนียมการขายและการับซื้อคืน, ค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน ,ค่าธรรมเนียมการโอน, ค่าธรรมเนียมการจัดการ , ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ / ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน / ค่าผู้สอบบัญชี อีกทั้ง ค่าใช้จ่ายในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการขาย แต่หากมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก.ล.ต  ก็กำหนดไว้ว่า ถ้าเกิน 0.01% ของ NAV ต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดให้เราทราบชัดเจนนั่นเอง

ส่วนสำคัญและประโยชน์ของหนังสือชี้ชวน

ส่วนสำคัญและประโยชน์ของหนังสือชี้ชวน

แน่นอนว่า ส่วนสำคัญของหนังสือชี้ชวน ที่ขาดไม่ได้คือส่วนข้อมูลโครงการ ถือเป็นส่วนที่ต้องแสดงประโยชน์หลักๆ ตามที่หนังสือชี้ชวนจะแสดง จึงเป็นส่วนแสดงรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวกับโครงการลงทุนนั้นๆ ทั้งนี้ บริษัทจัดการลงทุนต้องจัดให้มีหนังสือชี้ชวนส่วนนี้ไว้ เพื่อ เผยแพร่แก่ผู้ลงทุนเมื่อผู้ลงทุนร้องขอ ต้องมีรายการตามที่มีปรากฏในส่วนสรุปข้อมูลสำคัญและอื่น ๆ เช่น หน้าที่ความรับผิดชอบของบริษัทจัดการลงทุน ที่ให้สิทธิประโยชน์กับผู้ถือหน่วยลงทุน , ประเภทของหลักทรัพย์นั้นๆ และอัตราส่วนในการลงทุน , เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลง และความเห็นของผู้ดูแลผลประโยชน์ รวมทั้งวิธีวัดผลดำเนินงานของบริษัทจัดการลงทุนให้เราทราบ เราจึงได้รับประโยชน์มากจริงๆ จากหนังสือชี้ชวน แน่นอนว่า ช่วยสรุปส่วนสำคัญและประโยชน์ให้เราทราบว่า จะมีอะไรกระทบต่อหลักทรัพย์ของบริษัทบ้าง จึงมีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน และเราจะเข้าใจเรื่องของสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นมากขึ้นได้

โดยกรณีของ “กองทุนเปิด” บริษัทจัดการลงทุนจะต้องจัดทำหนังสือชี้ชวนขึ้นใหม่ทุกรอบปีบัญชี  เพื่อแสดงข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ณ วันสิ้นปีบัญชีนั้นๆ อย่างครบถ้วน โดยจะระบุวันที่จดทะเบียนกองทุนรวมในส่วนสรุปข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมด้วยถ้ามี  อีกทั้ง ประเภท ชื่อ จำนวน และมูลค่าตามราคาตามตลาดหลักทรัพย์ หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นที่กองทุนรวมลงทุนไว้ , ความเห็นของผู้ดูแลผลประโยชน์เกี่ยวกับการจัดการกองทุนรวมของบริษัทจัดการ , ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมโดยใช้วิธีวัดผลการดำเนินงานมาตรฐานที่สมาคมกำหนด เป็นต้น

ส่วนกรณี "รายงานประจำปี" ก็คือ รายงานผลการดำเนินงานและฐานะการเงินขององค์การธุรกิจประจำปีที่ฝ่ายบริหาร จะต้องจัดทำขึ้นมาเพื่อเรา และนำเปิดเผยข้อมูลตามสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี. โดยรายงานประจำปีจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน ที่ตลท. กำหนดนั้น นำส่งภายใน 110 วันนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี อาจจะเป็นเวลาเดียวกับที่บริษัทจดทะเบียนได้นำส่งให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัทเพื่อใช้ประกอบการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีก็ได้ จำนวน 4 ชุด พร้อม CD-ROM  ซึ่งหากบริษัทจดทะเบียนมีผู้ถือหุ้นที่เป็นต่างชาติให้จัดทำและนำส่งฉบับภาษาอังกฤษด้วย แต่ตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ก็สนับสนุนให้บริษัทเผยแพร่รายงานประจำปีผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ยิ่งทำให้ง่ายและสะดวกกับเราเลยแหละ

ให้เงินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านหนังสือชี้ชวนการลงทุน!

ให้เงินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านหนังสือชี้ชวนการลงทุน!

จากที่กล่าวมาทั้หมด เราเลยสรุปได้ว่า  หนังสือชี้ชวนก็คือเอกสารที่มีผลผู้พันตามกฎหมาย เป็นเหมือนสัญญาที่ บลจ. ให้ไว้กับผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างเรานั่นแหละ ซึ่งถ้า บลจ. ปฏิบัติผิดไปจากทีระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน ก็จะต้องมีความผิด ตาม พรบ. หลักทรัพย์ฯ  บลจ. จึงต้องมีหน้าที่ต้องปรับปรุงข้อมูลของหนังสือชี้ชวนให้เป็นปัจจุบันเสมอ เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ถือหน่วยลงทุน ส่วนตัวผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างตัวเราเองก็ต้องแน่ใจว่าหนังสือชี้ชวนที่ถืออยู่ในมือนั้น จะเป็นฉบับปรับปรุงล่าสุดเสมอ และต้องสนใจในลักษณะ และส่วนสำคัญของข้อมูลโครงการในหน้าแรกๆ ที่จะมีคำจำกัดความของคำต่างๆ ที่ใช้เรียกกันในหนังสือชี้ชวน ว่ามีความหมายว่าอะไรกันบ้าง เพื่ออธิบายให้ผู้ลงทุนอย่างเราได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

และสิ่งสำคัญเกี่ยวกับหนังสือชี้ชวนที่เราไม่ควรมองข้ามก็คือ ข้อมูลสำคัญที่ผู้ลงทุนทุกคนควรทราบ เกี่ยวกับ ชื่อ ประเภท อายุโครงการ จำนวนเงินทุนของโครงการ มูลค่าที่ตราไว้ , จำนวนและราคาของหน่วยลงทุนที่เสนอขาย , วัตถุประสงค์ในการลงทุน รวมไปถึงข้อมูลสำคัญลงลึกเกี่ยวกับนโยบายการลงทุน ส่วนนี้จะทำให้ผู้ลงทุนอย่างเราได้เข้าใจชัดเจนว่ากองทุนกองนี้นำเงินไปลงทุนในตราสารอะไรบ้าง ในสัดส่วนเท่าไหร่ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลหรือไม่ แล้วสถานที่ติดต่อซื้อขาย ชื่อ เบอร์โทร บริษัทจัดการ ผู้ดูแลผลประโยชน์ นายทะเบียนหน่วยลงทุน ที่ให้มาจะมีผลอย่างไร ตลอดจนเรื่องของค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่กองทุนเรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยทุกคน

จึงเห็นได้ว่า กองทุนแต่ละโครงการก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียด แม้ว่าจะมีนโยบายการลงทุนที่เหมือนกันก็ตาม ดังนั้นก่อนตัดสินใจลงทุน จึงควรพิจารณาข้อมูลที่มีอยู่ในหนังสือชี้ชวนอย่างละเอียด และลองนำไปเปรียบเทียบกับกองทุนกองอื่นๆเพิ่มเติม ด้วย เพื่อผู้ลงทุนจะได้ถือหน่วยลงทุนที่เหมาะสมกับตัวผู้ลงทุนเองมากที่สุด และใช้เงินทำงานอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง