เพื่อนๆรู้จักกับเงินเฟ้อไหมครับ ? เงินเฟ้อนั้น หมายถึง ภาวะที่ระดับของราคาสินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้น แต่ถ้าเพื่อนๆยังนึกภาพเงินเฟ้อไม่ออกผมอยากจะให้เพื่อนๆลองไปหาดูข่าวย้อนหลังวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศเวเนซุเอลา และเพื่อนๆจะเห็นภาพชัดเจนว่าเงินเฟ้อเป็นอย่างไร  ซึ่ง ณ ตอนนี้ ประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ตรงกันข้ามกับประเทศเวเนซุเอลา เพราะประเทศไทยนั้นมีอัตราเงินเฟ้อต่ำไม่ได้สูงเหมือนกับเวเนซุเอลา แต่เพื่อนๆเคยได้ยินคำคมนี้ไหมครับ มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี ทุกอย่างควรอยู่บนความพอดี ใช่ครับ ตอนนี้ ประเทศไทยก็ไม่ได้อยู่บนความพอดี เพราะ สถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อต่ำนั้น มันก็ส่งผลกระทบต่ออะไรหลายๆอย่างอยู่เหมือนกัน

ซึ่งผมอยากจะให้เพื่อนๆมาดูอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของประเทศไทย ที่ผ่านมา ตั้งปี 2546 – 2561 ว่าเป็นอย่างไร  โดยในปี 2546 – 2550 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2%  และปี 2551 – 2555 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.0% และปี 2556 – 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.9% ซึ่งถ้าเพื่อนๆสังเกต ก็จะเห็นว่า ในปี 2556 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งก็มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ แล้วมีสาเหตุอะไรบ้าง ซึ่งจากข้อมูลที่ผมหามาได้ ก็มีอยู่ด้วยกัน 3 สาเหตุ ที่ทำให้ประเทศไทยอยู่ในยุคเงินเฟ้อต่ำ ได้แก่ 1. การลดลงของราคาน้ำมัน 2.การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย 3.การเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และ ทั้ง 3 สาเหตุมีรายละเอียดยังไงไปดูด้วยกันครับ

การลดลงของราคาน้ำมัน

การลดลงของราคาน้ำมัน

มาที่สาเหตุที่ 1. การลดลงของราคาน้ำมัน ซึ่งสาเหตุนี้ ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำ โดยที่ผ่านๆมา ราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลงแบบน่าตกใจจากที่เคยมีราคามากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ราคาต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ตั้งปี 2559 และก่อนที่น้ำมันจะมีราคาต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ตั้งแต่ปี 2557 ราคาน้ำมันดิบ Brent ก็ไม่เคยขึ้นไปถึง ราคา 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเลย ซึ่งการที่ราคาน้ำมันลดลงนั้นมันได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต ในเรื่องของต้นทุนการผลิตเพราะทำให้ราคาสินค้าที่ผลิตออกมาไม่จำเป็นต้องขึ้นราคา และนั้นทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย

การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย

มาถึงสาเหตุที่ 2. ที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำ นั้นคือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ก่อนที่จะไปดูรายละเอียด ผมอยากให้เพื่อนๆมารู้จักกับ ดุลบัญชีเดินสะพัดก่อน เพื่อที่จะได้อธิบายแล้วเข้าใจ ดุลบัญชีเดินสะพัด คือ ดุลบัญชีที่มีการแสดงเงินที่ไหลเข้าไหลออกของประเทศนั้นๆ ซึ่งดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ก็หมายถึง ดุลบัญชีที่มีการแสดงเงินที่ไหลเข้าไหลออกภายในประเทศไทย ซึ่งตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉลี่ยแล้วต่อเดือนประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่มาของเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่าน และการที่เงินบาทแข็งค่าก็ส่งผลกระทบกับ การนำเข้าสินค้าอีก ยกตัวอย่างเช่น น้ำมัน ที่จะมีราคาถูกลงในรูปของเงินบาท ซึ่งนั้นส่งผลกระทบทางอ้อมอีกไปถึงราคาของสินค้าต่างๆที่จะทำให้ราคาสินค้าต่างๆนั้นมีราคาถูกลง และทำให้เฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

การเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

การเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

สาเหตุที่ 3. คือ การเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงก็ส่งผลทำให้เงินเฟ้อต่ำด้วยเหมือนกัน ซึ่งย้อนไปในปี 2530 – 2540 ช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ที่มีชื่อว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง GDP ของไทยนั้นเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.2% และหลังจากที่ประเทศไทยได้ผ่านพ้นกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งมาแล้ว ในปี 2541 – 2551  GDP ของไทยก็มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.7% และตั้งแต่ในปี 2552 – 2561 GDP ก็มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.2%  เพื่อนๆสังเกตเห็นอะไรไหมครับในตัวเลขเหล่านี้ คือหลังจากที่ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาประเทศไทยมีการเติบโต GDP ที่ชะลอตัวลง จาก 3.7% เป็น 3.2% ซึ่งสาเหตุของการที่ เศรษฐกิจของไทยมีการเติบโตช้าหรือชะลอตัวลงนั้นก็มีหลายปัจจัย ซึ่งก็มีทั้งปัจจัยจากภายนอกประเทศ และ ปัจจัยภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ความไม่สงบทางการเมือง และหนี้สินครัวเรือนของไทยที่มีการปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีหลัง

และ ปัจจัยเหล่านี้ยังไม่รวมโครงสร้างประชากรของประเทศไทยอีกนะที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งข้อมูลของโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ก็ดูได้จากสถิติ ปี 2545 สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดในประเทศอยู่ที่ 7% แต่ในปี 2558 นั้นเพิ่มขึ้นมาเป็น 10% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าเพื่อนๆลองหาสถิติล่าสุดดูในตอนนี้ เพื่อนๆจะพบว่าประชากรผู้สูงอายุนั้นมีประมาณ 10 กว่าล้านคน ซึ่งถ้าคิดเป็นร้อยละเปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดภายในประเทศ จะอยู่ที่มากกว่า 10% ไปแล้วในปัจจุบัน และทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ การจับจ่ายใช้สอย การลงทุน มีการชะลอตัวตาม

และยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่นการควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์และการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ E-Commerce โดยจากข้อมูล ปี 2561 มูลค่าตลาด E-Commerce เท่ากับ 3.1 ล้านล้านบาท โยตลาด E-Commerce มีจุดเด่นตรงที่ไม่มีหน้ร้าน และ มีการขายราคาสินค้าที่ราคาถูก ทำให้สินค้าในตลาดทั่วไปไม่สามารถที่จะปรับราคาสูงขึ้นได้ ซึ่งถ้าจากตรงนี้ดูเหมือนว่าเงินเฟ้อต่ำจะส่งผลดีต่อผู้บริโภทที่สามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูก แต่ในฐานะของผู้ประกอบการ นั้น เงินเฟ้อต่ำทำให้ต้องขายของราคาถูกนั้น ในบางธุรกิจที่ไม่สามารถที่จะทำการควบคุมในเรื่องของต้นทุนการผลิตให้ดีก็มีโอกาศทำให้เกิดปัญหาการขาดทุน และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังแรงงาน เพราะจะมีการจ้างงานที่ลดลง

แผนการจัดการภาวะเงินเฟ้อต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย

แผนการจัดการภาวะเงินเฟ้อต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย

แน่นอนว่า ถ้ามีภาวะเงินเฟ้อต่ำ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องพยายามดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น โดยวิธีการที่จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะต้องทำการลดดอกเบี้ย หรือ ทำให้ดอกเบี้ยนั้นอยู่ในระดับต่ำ เพื่อที่จะได้กระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัว โดย ทางธนาคารกลางประเทศไทยส่วนใหญ่ได้มีการกำหนดกรอบเป้าหมายของเงินเฟ้อไม่ให้ต่ำหรือสูงเกินไป เอาไว้อยู่ที่ 2.5%+ (1.5%) หรือก็คือให้อยู่ในกรอบ 1 – 4 % แต่แผนการจัดการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะพยายามดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้นโดยทำการลดดอกเบี้ย หรือ ทำให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำนั้น มันจะมีผลตามมา คือ จะทำให้เกิดหนี้สินเพิ่มมากขึ้นทั้งในภาคของครัวเรือนและบริษัทเอกชน ซึ่งนั้นเป็นสิ่งที่เสี่ยงจะก่อให้เกิดการเก็งกำไรในบางทรัพย์สินมากเกินไป หรือ ไม่ก็อัตราส่วนการก่อหนี้นั้นจะพุ่งสูงมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ก็เป็นงานที่เรียกได้ว่าท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทยมากๆว่าจะสามารถหลุดพ้นออกมาจากสถานการร์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้อย่างไร

และมาถึงส่วนสรุปนะครับ ผมจะสรุปสั้นๆนะครับ สาเหตุที่ประเทศไทยอยู่ในยุคเงินเฟ้อต่ำนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 สาเหตุ

  1. เรื่องของราคาน้ำมันที่ถูกลงส่งผลให้ราคาสินค้าถูกตามไปด้วย
  2. เรื่องของดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ที่มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบันจนทำให้ เกิดเงินบาทแข็งค่า และส่งผลกระทบไปเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าและส่งผลกระทบทางอ้อมไปถึงเรื่องของราคาสินค้า
  3. การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไทยก็มีการชะลอตัว ซึ่งสาเหตุก็มาจากหลายปัจจัย และในเรื่องของผลกระทบก็กระทบไปถึงผู้ประกอบการที่มีโอกาศเกิดการขาดทุนและทำให้ต้องลดอัตราการจ้างงานลง