เมื่อเข้าเดือนกุมภาพันธ์ หลายท่านคงนึกถึงเทศกาลวันวาเลนไทน์ แต่สำหรับผู้มีรายได้แล้ว สิ่งที่ต้องนึกถึงเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การยื่นภาษีนั่นเอง เพราะการยื่นภาษีนั้นต้องทำภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป การยื่นภาษีนั้นหลายท่านอาจพบว่าต้องจ่ายเงินภาษีเพิ่ม แต่บางท่านกลับพบว่า เราจะได้เงินค่าภาษีคืน! ถ้าอย่างนั้น เราจะต้องทำอะไรบ้างหากพบว่าเราจะได้เงินภาษีนั้นคืน? ไปเริ่มดูขั้นตอนแรกกันเลยค่ะ

การเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนยื่นขอคืนเงินภาษี

การเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนยื่นขอคืนเงินภาษี

อย่างที่เรารู้กันดี เรื่องภาษีนั้นต้องมีเอกสารกองท่วมหัว! ฉะนั้นเพื่อความรวดเร็ว อันดับแรกเราจึงต้องเตรียมเอกสารที่จะต้องใช้ไว้ให้พร้อมมากที่สุด สำหรับเอกสารที่จะต้องใช้มีดังนี้

  • หนังสือรับรองเงินเดือนและการหักภาษี หรือใบทวิ 50 ที่บริษัทออกให้
  • หลักฐานค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ เช่น หลักฐานการซื้อกองทุน
  • ประกันชีวิต
  • ประกันสุขภาพ
  • เอกสารการรับรองบุตร
  • ทะเบียนสมรส
  • ใบเสร็จอื่นๆที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้

การยื่นขอคืนภาษีผ่านทางช่องทางออนไลน์

การยื่นขอคืนภาษีผ่านทางช่องทางออนไลน์

เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไกล ตอนนี้เราสามารถยื่นแบบแสดงภาษีด้วยตัวเองผ่านทางเว็บไซต์ได้แล้วค่ะ โดยมีขั้นตอนง่ายได้ดังนี้

  1. อันดับแรก ทำการเข้าสู่เว็บไซต์ https://epit.rd.go.th/publish/index.php จากเครื่องคอมพิวเตอร์
  2. ขั้นตอนต่อไป ทำการล็อกอินเข้าสู่หน้าเว็บไซต์หากเคยสมัครการใช้งานแล้ว หากยังไม่เคยให้เลือกที่ ลงทะเบียน และกรอกข้อมูลตามช่องต่างๆตามความเป็นจริง
  3. เมื่อลงทะเบียนและล็อกอินเสร็จแล้วให้เลือกไปที่ “ยื่นแบบฯ ภ.ง.ด. 90/91”
  4. หลังจากนั้นจะเข้าสู่หน้า “แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2561” ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เราลงทะเบียนไว้ ให้ทำการตรวจสอบข้อมูลเหล่านั้นให้ครบถ้วน เช่น เปลี่ยนที่อยู่ใหม่ หรือชื่อสะกดผิด ให้ทำการแก้ไขในหน้านี้ เพราะเมื่อกดยืนยันไปแล้วจะกลับมาแก้ไขอีกไม่ได้ จากนั้นคลิกที่ “ทำรายการต่อไป
  5. เมื่อคลิกแล้วจะเข้ามาสู่ “หน้าหลัก ” ในหน้านี้จะขอข้อมูลเพิ่มเติมของคู่สมรส หากไม่มีให้เลือกสถานภาพว่า “โสด” แล้วคลิกที่ “ทำรายการต่อไป”
  6. จะมาที่หน้า “เลือกเงินได้/ลดหย่อน” ในส่วนนี้ให้เราเลือกเงินได้ เช่น รายได้จากการทำงาน รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆทั้งหมดให้ครบถ้วน รวมถึงเลือกรายการที่จะนำมาลดหย่อนภาษี เช่น การซื้อกองทุนรวม การจ่ายประกันสังคม และรายการต่างๆให้ครบถ้วนด้วยเช่นกัน แล้วเลือก “ทำรายการต่อไป
  7. เข้าสู่หน้า “บันทึกเงินได้” ในขั้นตอนนี้ให้ทำงานใส่เงินได้ที่เราเลือกไว้ในหน้าก่อนนี้ทั้งหมด ลงในหน้านี้ ส่วนช่อง "เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้" สามารถหาเลขนี้ได้จากใบ 50 ทวิค่ะ เมื่อครบแล้วเลือก “ทำรายการต่อไป”
  8. จะเข้าสู่หน้า “บันทึกลดหย่อน” ในหน้านี้จะขอข้อมูลที่เราเลือกไว้ก่อนหน้านี้สำหรับลดหย่อนภาษี เช่น เลขประจำตัวบิดามารดาที่อายุเกิน 60 จำนวนเงินที่ซื้อกองทุนรวม หรือจำนวนเงินที่จ่ายเบี้ยประกันสังคม เป็นต้น เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้วเลือก “ทำรายการต่อไป”
  9. หน้าถัดมาคือ “คำนวณภาษี” ซึ่งในหน้านี้จะสรุปข้อมูลภาษี ทั้งรายได้และการลดหย่อน แล้วนำมาสรุปว่าเราจะต้อง จ่ายภาษีเพิ่ม(ขึ้นว่า “ชำระเพิ่มเติม”) หรือ ได้ภาษีคืน(ขึ้นว่า “ชำระไว้เกิน”) โดยหากได้เงินภาษีคืน ก็จะมีให้เลือกต่อในช่อง “การแสดงเจตนาอุดหนุนเงินภาษีให้แก่พรรคการเมืองของผู้มีเงินได้” ซึ่งในส่วนนี้ เราสามารถแบ่งเงินส่วนที่ได้คืนให้แก่พรรคการเมืองได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ และในช่องถัดมา หากต้องการขอคืนภาษีที่เหลือคืนให้ติ๊กถูกที่ช่อง “มีความประสงค์จะขอเงินคืนภาษี” และเลือก “ทำรายการต่อไป”
  10. ในหน้าสุดท้ายคือ “ยืนยันการยื่นแบบ” ซึ่งเป็นหน้าที่ขึ้นให้เราตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง ก่อนจะทำการกดยืนยันการยื่นแบบ โดยสามารถย้อนกลับไปแก้ไขหน้าต่างๆก่อนหน้านี้ได้หากยังไม่กดยืนยัน และเมื่อกดยืนยันแล้วก็จะเข้าสู่หน้า “ผลการยื่นแบบ” ซึ่งรายละเอียดที่เราทำรายการจะปรากฏในหน้านี้

การยื่นผ่านแอป Rd Smart Tax

การยื่นผ่านแอป Rd Smart Tax

นอกจากการยื่นภาษีผ่านทางเว็บไซต์แล้ว ยังมีช่องทางที่สะดวก และง่ายกว่ามากอีกหนึ่งช่องทาง นั่นก็คือ การยื่นผ่านแอพ RD Smart TAX นั่นเองค่ะ โดยแอพนี้นั้น สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android เลยทีเดียว โดยการเข้าไปค้นหาแอพนี้ได้ที่ App Store หรือ Play Store จากมือถือของท่านได้เลยค่ะ แต่อย่าลืมว่า ก่อนดาวน์โหลดแอพ ต้องเข้าไปลงทะเบียน เลขประจำตัว และ รหัสผ่าน ก่อนนะคะ ขั้นตอนการยื่นแบบภาษีผ่านทางแอพ มีดังนี้ค่ะ

  1. ดาวน์โหลดแอพและเลือกภาษาที่ต้องการ
  2. ในหน้าแรก ให้เลือกแถบด้านล่าง กดที่ “ยื่นแบบออนไลน์”
  3. เมื่อเข้ามาแล้วจะให้เรากรอกเลขประจำตัว และรหัสผ่านที่เราลงทะเวียนไว้ที่เว็บไซต์ก่อนหน้านั้น
  4. หลังจากนั้นกรอกข้อมูลในช่องต่างๆให้ครบถ้วน แล้วกด บันทึก
  5. ในหน้านี้ เลือกรายการที่เราจะใช้ลดหย่อนภาษีให้ครบถ้วน แล้วกด ต่อไป
  6. จะเข้าสู่หน้า “ยื่นภาษี” ใส่จำนวนเงินได้ทั้งหมดในปีนั้น เงินที่ถูกหักหรือภาษีที่จ่ายไปแล้ว และสุดท้ายคือเลขประตัวผู้เสียภาษีอากรผู้จ่ายเงินได้ (โดยหาได้จากใบ 50 ทวิ) แล้วเลือก ต่อไป
  7. ในหน้านี้ให้นำจำนวนเงินที่ใช้จ่ายไปสำหรับลดหย่อนภาษีมาใส่ให้ครบถ้วน แล้วเลือก ต่อไป 8. หลังจากนั้นจะเข้าสู่หน้าที่ต้องสรุปว่า เราต้องชำระเพิ่ม หรือได้เงินคืน เมื่อกดขอรับเงินคืนแล้ ใส่เบอร์โทรศัพท์ให้เรียบร้อย จบขั้นตอนการยื่นแบบภาษีค่ะ

การขอรับเงินผ่านพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน

การขอรับเงินผ่านพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน

การรับเงินคืนผ่านพร้อมเพย์นั้น ถือว่าเร็วที่สุดในบรรดาการขอเงินคืนด้วยวิธีอื่น โดยใช้เวลาเพียง 1 วันนับจากวันที่เอกสารครบถ้วน หรือทำรายการผ่านเรียบร้อยแล้ว โดยวิธีสมัครคือ สมัครผ่านแอพบัญชีธนาคารต่างๆ และเลือกผูกบัญชีพร้อมเพย์ไว้กับเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์ เท่านี้ก็ถือว่าเรียบร้อยแล้วค่ะ

การคอยเช็คความคืบหน้า

การคอยเช็คความคืบหน้า

เมื่อยื่นแบบต่างๆครบถ้วนแล้ว หลังจากนั้น3วัน อย่าลืมกลับเข้าดูที่เว็บไซต์หรือแอพอีกครั้ง เพื่อดูว่าผลการยื่นแบบเป็นอย่างไร หรือต้องใช้เอกสารอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ หากมีเอกสารที่ต้องใช้เพิ่มเติม ให้ทำการแสกนเอกสารนั้นแล้วส่งกลับเข้าไปที่เว็บไซต์หรือแอพโดยเร็วสุด เพื่อที่เราจะได้เงินภาษีคืนเร็วที่สุดค่ะ

ในแต่ละวิธีที่กล่าวมานั้น เราสามารถเลือกใช้งานได้ตามความเหมาะสม โดยมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป เช่น หากเรายื่นภาษีด้วยตัวเองโดยไปที่สำนักงาน ต้องทำภายในวันที่ 31 มีนาคม แต่หากเรายื่นผ่านทางแอพ สามารถยื่นได้ถึงวันที่ 9 เมษายน เลยทีเดียว แต่แอพก็มีข้อจำกัดในหลายๆด้าน ดังนั้น ผู้ยื่นจึงต้องพิจารณาและศึกษาแต่ละช่องทางเพื่อความสะดวกและรวดเร็วที่สุดนะคะ