เป็นอันทราบดีว่า พอเราได้ทำประกันชีวิตเป็นที่เรียบร้อย ก็จะได้รับกรมธรรม์มาไว้เป็นหลักฐาน.. แต่สำหรับการเช็คในส่วนสรุปข้อมูล ผลประโยชน์ของแบบประกัน หรือ สัญญาเพิ่มเติม(ถ้ามี) ก็ยังมีจุดเด่นหลักอีกอย่างที่ไม่ควรพลาด นั่นก็คือ เงื่อนไขต่างๆ ของสัญญาประกันชีวิต ที่อาจจะมีรายละเอียดหลายหน้าหรือใช้ภาษาที่ชวนมึนงง จนทำให้หลายๆคนไม่คิดที่จะอ่านตรงนี้กันอย่างจริงจังสักเท่าไหร่ แค่มองผ่านๆ ไปทีเท่านั้น
MoneyDuck เข้าใจคุณ บทความนี้ เราจึงได้จัดทำข้อสรุปในส่วนเงื่อนไขสำคัญของสัญญาประกันชีวิต มาแปลความให้เข้าใจง่ายๆ และอ่านกันได้แบบเร็วๆ เพื่อทราบถึงเงื่อนไขทั้งหมดครบทั้ง 24 ข้อ มาติดตามกันได้เลย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ประกันชีวิตกับประกันสุขภาพต่างกันอย่างไร ที่นี่
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 5 เหตุผลทำไมต้องทำประกัน ทำแล้วได้อะไร ที่นี่
เงื่อนไขต่างๆ ของสัญญาประกันชีวิต ที่ควรรู้
แม้เงื่อนไขของสัญญาประกันชีวิตจะแตกต่างกันไปตามแผนประกันแต่ละแบบ หรือตามแต่ละบริษัท แต่ก็จะมีรายละเอียดในส่วนที่เป็นแบบสามัญของสัญญาประกันชีวิตทั่วไป รวมทั้งหมด 24 ข้อ
ซึ่งจะประกอบไปด้วย
ความสมบูรณ์ของสัญญาประกันภัย
นี่คือ การรับรองจากบริษัทฯ ว่าเชื่อถือในข้อมูลที่เราได้กรอกไป เมื่อได้ชำระเบี้ยประกันงวดแรก แล้วบริษัทฯ ได้ตกลงทำสัญญากรมธรรม์ให้
การไม่โต้แย้งหรือคัดค้านความไม่สมบูรณ์ของสัญญาประกันภัย
เมื่อสัญญาที่ได้ทำมีความผิดพลาดที่บริษัทตรวจไม่พบ เช่น ข้อมูลไม่เป็นความจริง หรือปกปิด บริษัทฯ สามารถใช้สิทธิบอกล้างสัญญาได้ภายใน 1 เดือน นับจากวันที่ทราบข้อมูล เกินกว่านั้นจะไม่สามารถบอกล้างสัญญาได้
สิทธิและการใช้สิทธิในกรมธรรม์
เราย่อมมีสิทธิ์ทั้งหมด เว้นแต่ได้จะโอนสิทธิให้กับผู้อื่นโดยทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทฯ
การโอนประโยชน์แห่งสัญญาประกันภัย
เราสามารถเปลี่ยนชื่อผู้รับผลประโยชน์ได้ หากยังไม่ได้มอบกรมธรรม์ให้กับผู้รับฯ คนนั้น หรือ ผู้รับฯยังไม่ได้ส่งหนังสือแจ้งต่อบริษัทฯ ว่าขอแสดงตน
ผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์
เราสามารถระบุ หรือไม่ระบุก็ได้ แต่หากเสียชีวิตไปโดยที่ไม่ได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ เงินเอาประกันก็จะถูกยกเข้าไปในกองมรดก หรือ หากระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์หลายคน ก็จะต้องแจ้งสัดส่วนจำนวนเงินเอาประกันภัยตามลำดับด้วย
การเปลี่ยนตัวผู้รับผลประโยชน์
สามารถทำได้เสมอจนกว่าได้ส่งมอบกรมธรรม์ให้ผู้รับผลประโยชน์แล้ว แต่กรณีที่ผู้รับประโยชน์คนใหม่ไม่ใช่ พ่อแม่ สามี ภรรยา หรือบุตร ของผู้เอาประกัน ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากบริษัทฯ เพื่อการบันทึกสลักหลังให้
การแก้ไขกรมธรรม์
การแก้ไขกรมธรรม์จะมีผลสมบูรณ์เมื่อบริษัทฯ ได้ตกลงอนุมัติเพื่อบันทึกในกรมธรรม์ หรือ ออกใบสลักหลักให้
การเปลี่ยนแบบกรมธรรม์
สามารถทำเป็นหนังสือขอให้บริษัทฯ เปลี่ยนแบบประกันภัยได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากบริษัทฯ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนั้น หากมีผลต่างของเบี้ยประกันภัย ค่าเวนคืน หรือ การเรียกเก็บส่วนที่เพิ่มมา
การฆ่าตัวตายหรือถูกฆาตกรรม
บริษัทฯ จะไม่จ่ายเงินตามกรมธรรม์ให้ กรณีฆ่าตัวตายภายใน 1 ปี ที่ได้ทำสัญญาหรือต่ออายุกรมธรรม์ หรือ กรณีผู้เอาประกันถูกผู้รับผลประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา บริษัทฯ ก็จะคืนเบี้ยประกันที่ชำระมาให้กับทายาทผู้เอาประกัน หรือจ่ายเงินเอาประกันให้ผู้รับผลประโยชน์ที่ไม่มีส่วนร่วมโดยหักส่วนของผู้ก่อเหตุออก
การแถลงอายุหรือเพศคลาดเคลื่อน
หากเราต้องจ่ายเบี้ยน้อยกว่าจำนวนที่ต้องจ่ายจริง บริษัทฯ จะลดส่วนผลประโยชน์ลง แต่หากทำให้ต้องจ่ายเบี้ยที่แพงกว่า บริษัทฯ ก็จะเพิ่มส่วนผลประโยชน์ให้แทน
การแจ้งตายและการพิสูจน์ศพ
หากเราเสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์ต้องแจ้งเหตุเสียชีวิตภายใน 14 วัน หรือภายใน 7 วันนับแต่ที่ทราบเรื่อง เพื่อส่งมอบหลักฐานการเสียชีวิตต่อบริษัทฯ
สิทธิเกี่ยวกับเงินค้างจ่ายตามกรมธรรม์
หากกรมธรรม์ครบสัญญา หรือการเสียชีวิต ที่ผู้รับผลประโยชน์ไม่ได้มารับเงินผลประโยชน์ภายใน 3 เดือน บริษัทฯ จะจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มให้ตามดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันภัย
การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ
หากไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครถูกผิด มีการขัดแย้งภายใต้กรมธรรม์ ก็สามารถขอตั้งอนุญาโตตุลาการ เพื่อเป็นคนกลางที่ชี้ขาดในข้อพิพาท โดยที่บริษัทฯยินยอม
การชำระเบี้ยประกันภัย
การชำระเบี้ยประกันภัยจะต้องมีการชำระก่อนวันที่จะครบกำหนด เช่น รายปี , ราย 6 เดือน , ราย 3 เดือน หรือ รายเดือน ต่อ สำนักงานใหญ่ หรือสาขาของบริษัทฯ กับตัวแทน หรือผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิสก์ เพื่อออกใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐาน
ระยะเวลาผ่อนผันชำระเบี้ยประกันภัย
หากไม่ได้จ่ายเบี้ยประกันตามกำหนดชำระ บริษัทฯ จะผ่อนผันให้อีก 31 วัน แต่การเสียชีวิตให้ระหว่างนั้น จะยังจ่ายทุนประกันตามเดิม แต่หักด้วยค่าเบี้ยที่ยังไม่ได้ชำระ
การขาดอายุของกรมธรรม์
เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันกรมธรรม์ก็จะขาดอายุ แต่ในกรณีที่มีมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ บริษัทฯ จะนำมาชำระเบี้ยประกันให้โดยอัตโนมัติ หรือ เป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ
การต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิต
เมื่อกรมธรรม์สิ้นผลบังคับ เราสามารถขอกลับมาต่ออายุได้ภายใน 5 ปี โดยมี 2 วิธี
- ชำระเบี้ยที่ค้างไว้ พร้อมดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
- เปลี่ยนวันเริ่มต้นสัญญาในกรมธรรม์ใหม่
การนำมูลค่าเวนคืนมาชำระเบี้ยประกันโดยอัตโนมัติ
หากกรมธรรม์ของเรามีมูลค่าเงินสด หรือมูลค่าเวนคืนแล้ว และยังไม่ได้ชำระเบี้ยต่อ บริษัทฯ ก็จะกู้มูลค่าเงินสดที่มีมาจ่ายเป็นค่าเบี้ยให้อัตโนมัติเรื่อยๆทุกปี นกว่ามูลค่าคงเหลือไม่พอ หรือ เปลี่ยนเป็นแบบขยายเวลาโดยอัตโนมัติ
การเวนคืนกรมธรรม์
เรามีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาได้โดยการขอเวนคืนกรมธรรม์ กลับมาเป็นเงินสดตามมูลค่าในตารางมูลค่าเงินสดที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ และหักหนี้สินที่ค้างชำระ (ถ้ามี)
การเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ
เรามีสิทธิจะขอหยุดจ่ายเบี้ย เพื่อเปลี่ยนกรมธรรม์นั้นเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ โดยยังมีระยะเวลาเอาประกันภัยตามเดิม แต่มูลค่าความคุ้มครองและเงินเมื่อครบสัญญาอาจลดลง ขึ้นอยู่กลับมูลค่าเงินสดที่มีอยู่ในกรมธรรม์
การแปลงเป็นการประกันภัยแบบขยายเวลา
เรามีสิทธิขอหยุดจ่ายเบี้ย เพื่อแปลงกรมธรรม์เป็นการประกันภัยแบบขยายได้เวลา ระยะเวลาคุ้มครองจะลดลง แต่จำนวนเงินเอาประกันภัยจะคงเดิม โดยที่เงินคืนเมื่อครบสัญญาจะยังคงอยู่ จนกว่าจะพ้นระยะเวลาที่ขยายกรมธรรม์สิ้นสุดผลบังคับ
การกลับคืนสู่สถานะเดิมของกรมธรรม์
ถ้าเราใช้สิทธิ์เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ หรือ ประกันภัยแบบขยายเวลา ก็ยังขอแปลงสัญญากลับมาใช้ตามเดิมได้ภายใน 5 ปี โดยยื่นคำขอต่อบริษัท ชำระหนี้สินที่ค้าจ่ายพร้อมดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
การกู้ยืมเงิน
หากเราได้ชำระเบี้ยประกันจนกรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดแล้ว ก็สามารถขอกู้เงินจำนวนนี้ได้ โดยต้องไม่สูงกว่ามูลค่าเงินสดที่มีอยู่ หักด้วยหนี้สิน(ถ้ามี) แต่ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยที่ใช้คำนวณเบี้ยประกัน และหากเงินกู้ยืมและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่มีสูงกว่ามูลค่าเงินสดที่เหลืออยู่นั้น กรมธรรม์ก็จะถูกปิดไป
สิทธิในการขอยกเลิกกรมธรรม์
เราสามารถขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ภายใน 15 วัน นับแต่การเซ็นต์เอกสาร โดยบริษัทฯ จะคืนเบี้ยประกันที่ชำระมาแล้วให้ แต่ต้องหักค่าใช้จ่ายฉบับละ 500 บาท และค่าตรวจสุขภาพตามที่บริษัทฯ ได้จ่ายไป
สรุปแล้ว แปลความให้เข้าใจกันง่ายๆ แล้ว เพื่อการตัดสินใจอย่างฉลาดในการทำประกันชีวิต!
และอย่างที่ได้เห็นไปกับเงื่อนไขของสัญญาประกันชีวิต ทั้ง 24 ข้อ ที่เราพยายามแปลความให้เข้าใจง่าย เพื่อทุกคนจะได้ตัดสินใจกันอย่างฉลาดเมื่อต้องตกลงปลงใจทำกรมธรรม์ประกันชีวิตสักฉบับ. โดยในบทความนี้ อาจจะมีการใช้คำว่า ‘เรา’ มาแทน ‘ผู้เอาประกันภัย’ ซะเยอะหน่อย.. แต่ก็อยากทำเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจค่ะ
โดยเงื่อนไขแต่ละข้อของกรมธรรม์ประกันชีวิตนัน หลักๆก็จะประกอบไปด้วยความสมบูรณ์ของสัญญาประกันภัย การใช้สิทธิในกรมธรรม์ รวมถึงเรื่องผู้รับผลประโยชน์ และการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ที่สามารถทำได้ จึงหวังว่าจะครบถ้วนและตอบโจทย์สำหรับเพื่อนๆ ทุกคน เพื่อเราจะเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ ที่จะได้ประโยชน์กันมากที่สุดนะคะ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญจาก MoneyDuck ได้ฟรี ที่ลิงก์ด้านล่าง
ลูกพีช
โห!!! เยอะมาก เข้าใจนะว่าจะซื้อประกันชีวิตทั้งทีต้องศึกษาให้ดี ต้องดูหลายๆเรื่อง ให้ดูทุกเรื่อง ตามที่ความที่บอก ก็คงจะไม่ไหวนะ ได้หน้าลืมหลังแน่นอน แต่ข้อมูลค่ะ แล้วก็ลืมในขณะที่กำลังหาข้อมูลด้านล่าง เอาเป็นว่า ดูเรื่องสำคัญสำคัญก็พอ ยังเราเนี่ยเราก็ดูเรื่องเบี้ยประกัน ความคุ้มครองหรือผลประโยชน์ที่จะได้ แล้วก็เกี่ยวกับเงื่อนไข ถ้าหากว่าเข้าใจง่ายก็โอเค
พี่แทน
จริงครับ เรื่องความคุ้มครองหรือสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากประกันชีวิตที่เราคิดจะสมัครนั้นมันช่างซับซ้อนซ่อนเงื่อนเสียจริงๆ ผมเองได้แต่ฟังที่ตัวแทนเขาพูดและอธิบายให้รู้ว่าผมจะได้รับผลประโยชน์อะไรบ้างแบบคร่าวๆ จากนั้นก็ไปอ่านในกรมธรรม์เพิ่มเติม ถ้าให้อ่านเองทั้งหมดคงไม่ได้เรื่องแน่ๆ ค่อยๆพิจาณากันไปครับ
ทิวทัศน์
@ลูกพีช ไม่ไหวเหมือนกันครับ เวลาซื้อประกันเนี่ยอ่านเงื่อนไข ของกรมธรรม์ก็จำไม่ได้หมดแล้ว ผมใช้วิธีเก็บบทความนี้เอาไว้ดูเรื่อยๆละกันนะครับเผื่ออยากรู้เรื่องอะไรขึ้นมาเพราะให้จำให้หมดก็คงไม่ไหวเหมือนที่คุณบอกนั่นแหละ เป็นว่าพยายามจำได้บ้างก็พอเอาแต่จะสำคัญหรือว่าจุดที่เราอยากรู้ก็ได้ครับแบบนี้จะง่ายกว่า
KFC
@ทิวทัศน์ ผมคิดเหมือนคุณเลยครับ คิดแบบนั้นไม่มีผิด จำได้แค่บางอย่างพอครับใครจะไปจำหมดได้ ก็เห็นๆกันอยู่ว่าเงื่อนไขคือกรมธรรม์ที่เขาให้เรามาข้อมูลที่ยาวมากมาย ข้อมูลเหล่านั้นบางอย่างก็ไม่ได้ใช้หรอก เราก็ต้องดูที่สำคัญเท่านั้นว่าประกันที่เราซื้อคุ้มครองอะไรยังไงวงเงินเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่องที่เขายกเว้นความคุ้มครองอันนี้ก็ต้องดูด้วยครับ เท่านี้แหละข้อมูลที่ผมจะจำ
Gummy
มีแผนจะซื้อประกันชีวิตเหมือนกันนะคะ ก็เลยเข้ามาอ่านบทความนี้ นี่ขนาดเป็นฉบับอ่านเร็วนะยังอ่านไม่ทันเลยค่ะ เยอะจัด มาก็ยังหาประกันชีวิตที่ถูกใจไม่ได้ ที่ถูกใจก็รู้สึกเบี้ยจะแพงไป หรือบางอันที่ถูกใจก็รู้สึกว่าระยะเวลานานไปก็ต้องหาไปเรื่อยๆค่ะใจเย็นๆ สำคัญคือดูที่กำลังทางการเงินของเราที่จะจ่ายเบี้ยด้วย
saran ya
นี่เป็นบทความที่หลายคนรอคอย เวลาจะทำประกันสักฉบับการอ่านข้อสัญญาต่างๆมันเป็นเรื่องยากจริงๆค่ะ อย่างที่บทความนี้บอกเลยอะ "ภาษาที่มึนงง" คนที่ไม่รู้ อ่านไปก็ไม่เข้าใจชัดเจนหรอก เป็นเราๆก็งงนะคะ ดีค่ะที่มาแปลไทยเป็นไทยให้หลายๆคนได้เข้าใจชัดเจนมากขึ้นก่อนจะตัดสินใจเซ็นชื่อหรือยอมรับข้กำหนด ข้อสัญญาของประกันต่างๆ
ทิพย์ผกา
ประกันทุกตัวจะมีแบบที่บทความนี้แจ้งเอาไว้เลยคะ เราว่าดีคะ ที่เขียนบทความแบบนี้ออกมาเพราะ เวลาที่เราซื้อประกันชีวิต หรือว่าประกันสุขภาพนะคะ ตัวแทนบางคนก็อธิบายไม่ค่อยเข้าใจเลยคะ หรือของบางเจ้า เรื่องข้อแม้พวกนนี้เวลาที่พิมพ์แจ้งเราก็จะทำเป็นตัวเล็กๆ ซึ่งเอาจริงๆนะคะ เราได้มาก็ไม่ได้อ่านหลอกคะ เพราะว่ามองไม่เห็น
แชมแชม ;)
รายละเอียดในกรมธรรม์ประกันภัยมันอาจจะยาวหน่อย แต่ก็ควรจะใช้เวลากับการอ่านและทำความเข้าใจสักนิดค่ะ หลายครั้งตัวผู้เอาประกันภัยไม่รู้ว่าตัวเองได้สิทธิหรือสามารถขอรับเงินชดเชยเรื่องอะไรได้บ้าง เมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจึงไม่ได้ยื่นเอกสารหรือทำเรื่องเพื่อขอเงินชดเชย..ก็อดสิคะ เราก็ไม่ได้อ่านเก่งหรอกค่ะ ต้องพยายามเหมือนกัน
อินทราช
อ่านจบแล้วต้องรับกลับไปหาเอกสารประกันชีวิตที่ผมทำเอาไว้เลยครับ ไม่เคยสนใจเรื่องนี้เลยจริงๆ ตอนที่ได้ครั้งแรกก็กะว่าจะอ่านดูนะ แต่อย่าว่าละครับ เราอ่านหนังสือแค่ไม่กี่คำต่อวัน พอเห็นยาวๆแบบนั้นแล้วก็ไม่เอาแล้วครับ เอาตามที่ตัวแทนประกันแจ้งเอาไว้แล้วกัน แต่ประกันทุกตัวมันเหมือนกันไหมครับเรื่องการคุ้มครอง กับข้อยกเว้นพวกนี้