หลายคนอาจอดใจรอการไปเที่ยวแบบชุดใหญ่ไฟกระพริบกันอยู่ เพราะดั๊นมีเรื่องราวของไวรัสโคโรน่า  COVID-19 จั่วหัวข่าวอยู่ตลอด สถานการณ์การท่องเที่ยวในไทยและต่างประเทศจึงแทบหยุดชะงัก

ก้าวเข้าสู่ปีนี้.. อะไรๆกำลังดีขึ้นแน่นอน วัคซีนก็มีกันแล้วด้วย! แถมหลายคนยังบอกว่าได้เตรียมตัวมาสักพักจึงพร้อมมากและอยากเที่ยวแบบสุดๆ ..จะติดก็ตรงเงินในกระเป๋านี่แหละ :(

MoneyDuck เอาใจช่วยทุกคนอยู่ จึงขอบอก 6 เทคนิคการเก็บเงินเที่ยว ที่ทำเองได้ไม่ยาก และเป็นวิธีการออมอย่างฉลาดซึ่งเห็นผลจริง จะเป็นอย่างไรนั้น ตามมาดูกันสิค่ะ

วางแพลนให้ชัดๆ ไปเลย

วางแพลนให้ชัดๆ ไปเลย

จะไปเที่ยวไหน  เมื่อไหร่ ไปกี่วัน เดินทางอย่างไร ค่าที่พัก-ค่าอาหารล่ะ ของจำเป็นที่ต้องใช้ ควรซื้อหรือยืมเอา.. เราต้องบอกให้ได้นะคะ ว่าเบ็ดเสร็จทั้งหมดทริปนี้จะต้องจ่ายเท่าไหร่ และเผื่อเหลือเพื่อขาดด้วย  เช่น เคาะตัวเลขออกมาแล้วว่า ทริปต่างประเทศแบบยาวๆ ใช้งบประมาณ 20,000 – 30,000 บาท/ทริป, ทริปต่างประเทศแบบสั้นๆ ใช้งบประมาณ 10,000 บาท/ทริป หรือ เที่ยวในประเทศ ที่รวมแล้วประมาณ 5,000 บาท/ทริป  ตัวเลขกลมๆนี้ก็ยังมีรายจ่ายฉุกเฉินเพิ่มเข้ามาในระหว่างทางได้ จึงต้องลงลิสต์ให้ชัดเจนเท่าที่รู้แน่ชัดกันก่อน

จะเที่ยวแบบแบ็คแพ็ค หรือ มีแผนกำหนดที่ตายตัว การนั่งลงคำนวณรายจ่ายและวางแพลนงบประมาณต่างๆให้รอบคอบก็จัดว่าเป็นวิธีที่ฉลาด ไม่เช่นนั้นก็อาจทำให้งบเที่ยวของเราบานปลายเอาได้ หลังจากนั้น ค่อยลองหาภาพถ่ายสวยๆ มาวางไว้เพื่อกระตุ้นใจและสร้างแรงผลักดันที่ดี ให้ทำขั้นตอนต่อไปของการเก็บเงินเที่ยวให้สำเร็จกันค่ะ

เปิดบัญชีสำหรับการท่องเที่ยว

เปิดบัญชีสำหรับการท่องเที่ยว

สมัยนี้ธุรกรรมการเงินทางอินเตอร์เน็ตก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว แถมมีแอปพลิเคชั่นในมือถือให้เช็คด้วย หลายคนจึงสนใจเปิดบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง (แต่ไม่ต้องทำ ATM นะ..เดี๋ยวจะถอนง่ายเกินไป และไม่ถึงเป้าสักที) พอมีเงินเข้าก็กดโอนไปยังบัญชีได้เลย หรือเลือกเป็นบัญชีฝากประจำในระยะสั้น เช่น 3 เดือน, 6 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งเบิกถอนไม่ได้ก่อนครบกำหนด ก็ยิ่งฝึกวินัยเพื่อเก็บเงินเที่ยวแบบเข้มข้นมากขึ้นไปอีก แต่ถ้ามีรายได้พิเศษ โบนัส หรือ เงินคืนภาษี ก็อย่าลืมแบ่งเข้ามาสมทบกันด้วยจะไปถึงฝันเร็วๆ

นี่จึงเป็นวิธีเพื่อช่วยให้เราเก็บเงินเที่ยวได้อย่างรวดเร็ว เหมาะกันคนที่ยังไม่ค่อยถนัดการลงทุนมากนัก โดยบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษีจะสามารถเปิดได้ 1 คนต่อ 1 บัญชีเท่านั้น มีดอกเบี้ยที่แตกต่างกับไปตามแต่ละธนาคาร แต่อย่างไรก็มากกว่าบัญชีออมทรัพย์แบบปกติแน่นอนค่ะ

หับดิบเงินในกระเป๋า

หับดิบเงินในกระเป๋า

มีบัญชีเที่ยวแล้ว ก็ต้องมีเงินเข้าว่ามั๊ย.. เราจึงควรจัดสรรไปเลยเพื่อจะสามารถมีเงินเก็บได้เพิ่มมากขึ้น โดยฟิคกับตัวเองว่าควรจะต้องเก็บเงินเข้าบัญชีเดือนละเท่าไหร่ เช่น จำนวน 10-20% ของรายได้ (เงินเดือน 20,000 ต้องตัดไปเลย 4,000.-) หรือ หากกระชั้นชิดจริงๆ ก็ต้องหักดิบเงินในกระเป๋าไปเลย ทริปเที่ยว 5,000 บาท เดือนนี้ก็เก็บไปเลย 5,000 บาทเข้าบัญชีแบบดอกเบี้ยสูง เพื่อให้ครบเงินก้อนตามจำนวนที่ต้องการ แล้วค่อยใช้จ่ายแบบจำกัดจำเขี่ยกับเงินจำนวนที่เหลือในเดือนนั้นๆ

วิธีนี้จะเหมาะกับคนที่ใจแข็งหน่อยนะคะ และมีเงินหมุนเวียนในแต่ละเดือนที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ข้อดี คือ เราจะได้เห็นงบประมาณการท่องเที่ยวที่ชัดเจนในบัญชี หรือลองปรับแผนเที่ยวให้เหมาะกับกำลังของตนมากขึ้นได้. บางคนยังเลือกวิธีการเปิดบัญชีกองทุนรวมตลาดเงิน หรือ ซื้อกองทุนรวมระยะสั้น ที่จะมีหลายระดับความเสี่ยงและช่วงเวลาให้เลือก โดยผูกเข้าไว้กับบัญชีเงินเดือนพอมีเงินเข้าก็ให้ระบบตัดเงินไปซื้อแบบอัตโนมัติได้เลย

รวมพลังเศษเหรียญ

รวมพลังเศษเหรียญ

วิธีที่คุ้นชินและทำมาตั้งแต่เด็กๆ คือ การเก็บเศษเหรียญมาหยอดในกระปุก หากเราอยากเก็บเงินเที่ยวทริปใกล้ๆ แบบ One day trip หรือ เก็บเพื่อสมทบทุนบัญชีท่องเที่ยว การเทเศษเหรียญที่ได้มาในหนึ่งวัน เข้ากระปุกการเก็บเงินเที่ยวทั้งหมดก็น่าสนใจค่ะ โดยมีกติกาอยู่ว่า มีเท่าไหร่เก็บเท่านั้น จะเหรียญสิบ เหรียญห้า เหรียญบาทสองบาท แม้แต่เศษสตางค์ ที่เขาทอนมาก็ต้องไปนอนนิ่งในกระปุกทุกๆคืน. รวมๆแล้วพลังของเศษเหรียญ อาจจะทำให้ประหลาดใจก็เป็นได้

ข้อดี คือ เราได้กำจัดเหรียญอันหนักอึ้งในกระเป๋า และได้ลุ้นว่าวันนี้จะมีเศษเงินมากน้อยแค่ไหนนะ..   ส่วนข้อเสีย คือ อาจไม่ได้จำนวนที่เป็นแบบแผนเท่าไหร่ และหลายคนไม่ค่อยใช้จ่ายเงินสด ชอบโอนบ้าง จ่ายพร้อมเพย์ หรือ สแกนวอตเล็ทต่างๆ จึงอาจเก็บได้ยอดช้า ก็ขอให้ลองใช้เป็น e-banking แทน โดยโอนเงินหลักสิบที่เหลือในบัญชีจากการใช้ในแต่ละวัน ไปสร้างเงินออมก้อนเล็กๆ สำหรับการท่องเที่ยวแบบค่อยเป็นค่อยไปดูค่ะ

ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

ควรย้อนกลับมาดูว่า วันๆนึงเราให้เงินไปกับอะไรบ้างด้วยนะ เหมือนเป็นการทบทวนตัวเองว่าเราจะเก็บเงินได้ตามเป้าเมื่อไหร่ ถ้าจดแล้วรู้ว่าเริ่มมีบางอย่างที่หากตัดออกไปได้ เราก็จะสามารถเก็บเงินเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น จึงต้องลงมือทำซะแล้ว เช่น เค้ก บิงซู ขนมจุกจิกต่างๆ ชาชมไข่มุก หรือ กาแฟสดแพงแสนแพง ลองตั้งสติว่า..ห่างกันสักพักดีมั๊ย ก็อาจทำให้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้นในแบบทันตาเห็น

หากเราลองลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นในทุกๆเดือน ไม่ฟุ่มเฟือย อะไรที่ยังไม่ซื้อก็ไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตมากนะ ก็ช่วยให้ประหยัดลงได้มากค่ะ จะได้มีเงินเหลือสำหรับไปเที่ยว แล้วค่อยไปช้อปชิลล์ๆในช่วงนั้น  อดเปรี้ยวไว้กินหวานก็ฟังดูดีอยู่นะ!

เมคมันนี่เพิ่มรัวๆ

เมคมันนี่เพิ่มรัวๆ

วิธีสุดท้าย คือ เมคมันนี่เพิ่มแบบรัวๆ โดยการหารายได้เสริมค่ะ ถ้าแต่ละเดือนมีงบจำกัดอยู่แล้ว สถานการณ์ที่ต้องใช้เงินเพิ่มอย่างทริปเที่ยว จึงต้องแก้ด้วยงานเสริมที่ไม่รบกวนงานประจำและเวลาพักผ่อนของเรามากนัก จะได้ไม่ตึงเครียดเกินไป เช่น เสื้อผ้า รองเท้า  กระเป๋า ที่ไม่ได้ใช้แต่ยังมีสภาพดีอยู่ก็นำมาขายต่อเป็นสินค้ามือสองออนไลน์ หรือ เว็บนอกอย่าง ebay จากบทผู้ซื้อลองมาเป็นบทผู้ขายกันบ้างเพื่อทริปหน้า

งานประเภทฟรีแลนซ์ พาร์ทไทม์ หรือรับจ๊อบจ่างๆ ก็ช่วยเติมงบเที่ยวของเราได้อย่างก้าวกระโดด อาจจะเหนื่อยบ้างแต่ก็คุ้มค่ะเมื่อเราเก็บเงินได้สำเร็จตามเป้าและได้ไปเที่ยวพักผ่อนให้คุ้มกับชีวิต นอกจากนี้  ใครที่เคยซื้อหน่วยลงทุนไว้แบบลืมๆ เช่น หุ้น กองทุน หรือ เงินฝากประจำ/บัญชีออมทรัพย์แบบดอกเบี้ยสูง ตอนนี้คงต้องมาลองเช็คสักหน่อยแล้วว่าผลตอบแทนที่ได้จะงอกเงยขึ้นมาประมาณไหน เพื่อรวบรวมให้ทริปเที่ยวเป็นจริงได้

วางแผนการเงินได้ดี และ ‘เก็บเงินเที่ยว’ ได้อย่างสุขสมหวัง!

วางแผนการเงินได้ดี และ ‘เก็บเงินเที่ยว’ ได้อย่างสุขสมหวัง!

คนชอบเที่ยว เมื่อโควิดซา และประเทศเปิดแล้ว คงต้องมีแพลนไปไหนต่อไหนกันแน่ เราจึงควรที่จะเริ่มต้นเก็บเงินเที่ยวกันตั้งแต่วันนี้ จะได้ไม่ใช่แค่รูดบัตรเครดิต หรือ นำเงินเก็บในอนาคตสำหรับการเกษียณออกมาใช้ก่อนยังไงล่ะค่ะ และ 6 เทคนิคที่นำฝากกันก็จะช่วยให้คุณสามารถเก็บเงินไปเที่ยวได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะหมดสนุกกันด้วย

ทริคเพิ่มเติม คือ การบอกให้โลกรู้เลยนะ เล่าหน่อยว่ากำลังวางแผนไปเที่ยวไหน เพราะมีผลการวิจัยที่บอกว่าพอเราบอกคนอื่นถึงเป้าหมายที่มี โอกาสที่จะทำสำเร็จก็มากขึ้นด้วย หรือจะแปะโน๊ตตรงตู้เย็นไว้บอกตัวเองก็ทำได้ค่ะ. ส่วนสูตรเร่งรัดอย่างการรูดปรึ๊ดผ่านบัตรเครดิต เพื่อส่วนลดสำหรับค่าที่พัก , โรงแรม หรือ ร้านอาหาร และช่วยลดความเสี่ยงโดนฉกชิงวิ่งราว ก็เข้าทีอยู่แต่ควรใช้ในขอบเขตพอดีๆ ไม่พอกหนี้ แล้วทริปที่คุณตั้งตาคอยก็คงใกล้เข้ามาแล้วแน่ๆ ไม่ว่าจะเลือกเก็บเงินเที่ยววิธีไหน ก็ขอให้วางแผนการเงินและการเดินทางอย่างดีที่สุดกันนะคะ