‘นำเงินไปหมุนก่อน แล้วค่อยนำกลับมาจ่ายทีหลัง’ เป็นกลยุทธ์ที่หลายคนอยากจะทำบ้าง เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตค่ะ แต่ขั้นตอนที่จะได้มานั้น เราจะต้องผ่านด่านที่หินอยู่เหมือนกัน คือ การ ‘ทำบัตรเครดิต’ สักใบให้ผ่านฉลุย!

หนึ่งในขั้นตอนที่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวเป็นอย่างดี นั้นก็คือ เอกสารในการยื่นสมัครบัตรเครดิต  วันนี้จึงมีเคล็ดไม่ลับมาบอก เพื่อเพื่อนๆ จะได้เตรียมตัวอย่างดีและมีชัยไปกว่าครึ่ง พร้อมทำบัตรเครดิตใบแรกให้สำเร็จ ลองตามมาเก็บข้อมูลกันได้เลยค่ะ

3 ข้อเช็กให้ดี ก่อนทำบัตรเครดิตใบแรก

3 ข้อเช็กให้ดี ก่อนทำบัตรเครดิตใบแรก

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กังวลเกี่ยวกับขั้นตอนในการสมัครและผลการอนุมัติ ก่อนจะลงมือมีเรื่องสำคัญอะไรที่ต้องรู้ หยุดเพื่อคิดสักหน่อยดีมั๊ย?!

เช็คสถานะของตัวเองก่อน

สำหรับพนักงานประจำเรื่องนี้อาจง่ายขึ้นเยอะ เพียงแค่มีรายได้ขั้นต่ำ 12,000-15,000 บาทและทำงานติดต่อกันมามากว่า 3-6 เดือน ก็สามารถยื่นทำบัตรเครดิตได้ทันทีค่ะ  แต่หากเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว ควรจะมีเงินเข้าออกบัญชีสม่ำเสมออย่างน้อย 50,000 บาท ติดต่อกัน 6 เดือน ก็จะได้รับการพิจารณามากขึ้น  และสำหรับฟรีแลนซ์ก็ไม่ต้องน้อยใจไป ขอให้ดูว่ามีเงินเข้าออกบัญชีเป็นประจำหรือลองนำเงินสดมาค้ำประกันเพื่อการทำบัตรดูก็ได้

ประวัติทางการเงิน หรือ เครดิตบูโร

ต่อมา คือ ธนาคาร/สถาบันการเงิน มักจะเช็กว่าตัวเรามีประวัติทางการเงินเป็นอย่างไร กับ สถาบันเครดิตบูโร หรือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เช่น ภาระหนี้สินที่ค้างจ่าย ผิดนัดชำระหนี้บ่อยๆ  หรือ ตัวเราไม่มีรายได้มาแสดง ซึ่งอาจทำให้ดูไม่มีความน่าเชื่อถือ

ฉะนั้น เราจึงอาจขอเอกสารการเคลื่อนไหวทางการเงินของเรา ที่ทางเครดิตบูโรได้บันทึกไว้มาดูก่อน จะได้รู้สถานะของตัวเอง และสามารถเตรียมประวัติการเงินที่ดีก่อนการยื่นทำบัตรเครดิต.  มีค่าธรรมเนียมในการขอเช็คข้อมูล 100 บาท รอรับได้ภายใน 15 นาที หรือ ให้ส่งมาที่บ้าน (จ่ายเพิ่มฉบับละ 20 บาท) หากมีจุดบกพร่องตรงไหนจะได้แก้ไขกันก่อนค่ะ

อ้อ! แต่ถ้าเป็นหนี้สินอย่างผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หรือ สินทรัพย์ต่างๆ ที่เคยยื่นกู้กับสถาบันการเงินแล้วในระบบ สิ่งนี้อาจจัดเป็นตัวช่วยชั้นดีเพื่อการขออนุมัติบัตรเครดิตได้ง่ายขึ้น เพราะจัดเป็นหนี้ที่มีประวัติดี ไม่เคยผิดนัดชำระ  เวลายื่นขอทำบัตรข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกตรวจสอบได้อัตโนมัติ.  แต่หากมีการชำระหนี้ดี แต่มีหนี้สินที่มากเกินไป บางทีก็อาจสมัครบัตรเครดิตไม่ผ่านได้เหมือนกัน!

คุณสมบัติของเราตรงกับเงื่อนไขของบัตรรึป่าว

สุดท้าย คือ การดูว่าคุณสมบัติที่เรามีอยู่นั้น จะตรงกับเงื่อนไขของบัตรเครดิตที่เล็งอยู่รึป่าว เพราะในบัตรแต่ละใบก็จะมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันไปค่ะ เช่น ฐานเงินเดือน, อายุ , อาชีพ ซึ่งถ้าเราไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่เขาพิจารณาก็อาจจะขอทำบัตรเครดิตไม่ผ่านได้

จึงต้องดูให้แน่ใจว่าข้อกำหนดในบัตรแต่ละประเภทเป็นยังไง  เงื่อนไขที่จะได้รับการละเว้นค่าธรรมเนียมคืออะไรบ้าง จะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้อีก โดยการอ่านเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครให้ละเอียด ไม่อย่างนั้นก็อาจทำให้เสียเวลาในการเตรียมเอกสารไปซะป่าวค่ะ

อยากทำบัตรเครดิต ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?

อยากทำบัตรเครดิต ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?

ถ้าคุณสมบัติพร้อมแล้ว เราดีใจกับคุณด้วย! ตอนนี้คงเหลือแค่ขั้นตอนการเตรียมเอกสารให้ดีและสมบูรณ์แบบมากที่สุด  โดยเอกสารที่ว่าควรมีดังนี้

บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา 1 ใบ

บัตรประชาชน ซึ่งถือเป็นข้อมูลในการแสดงตัวตนจะต้องมีความชัดเจนในส่วนของรายละเอียด เช่น วันที่หมดอายุ ภาพถ่ายติดบัตร หากตรวจพบการชำรุดเสียหาย ก็ควรไปขอเปลี่ยนใหม่เพื่อความพร้อมในการใช้งานและข้อมูลที่ครบถ้วน

ส่วนสำเนาก็จะต้องไม่ลืมเซ็นกำกับด้วยชื่อ-นามสกุล พร้อมข้อความว่า “ใช้สำหรับสมัครบัตรเครดิต... เท่านั้น” เพื่อป้องกันการปลอมแปลเอกสาร และยืนยันความประสงค์ของเราค่ะ

ทะเบียนบ้าน และ สำเนาทะเบียนบ้าน

ที่อยู่ปัจจุบันของเราควรจะตรงกับที่อยู่ในทะเบียนบ้าน เพื่อสถาบันการเงินสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือได้ว่า เราเป็นผู้สมัครซึ่งมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และสามารถติดตามได้ ควรอัพเดทในส่วนนี้ให้ตรงกันเสมอหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล หรือ ถ้ามีความจำเป็นต้องอยู่คนละแห่งจริงๆ ก็จะต้องเตรียมคำตอบไว้สำหรับประกอบการพิจารณาด้วย

สมุดเงินฝากบัญชีธนาคาร หรือ สำเนา

จะต้องใช้ข้อมูลในส่วนนี้ประกอบการสมัครบัตรเครดิตอย่างแน่นอน ทั้งยังแสดงการหมุนเวียนของเงินในบัญชี  ทำให้เห็นความเสถียรด้านการเงินของบุคคลที่สมัคร  และช่วยให้เราทำธุรกรรมด้านการเงินอื่นๆ กับสถาบันได้ง่ายขึ้น

โดยถ้าเป็นสำเนาหน้าสมุด ควรจะมีชื่อ-นามสกุล และเลขบัญชีธนาคารที่ครบถ้วน ไม่ลืมเซ็นกำกับ ‘สำเนาถูกต้อง’ และความประสงค์ในการทำบัตรเครดิตชนิดนั้นๆค่ะ

รายการเดินบัญชีย้อนหลัง หรือ Statement

สำเนารายการเงินฝากถอนในบัญชีย้อนหลัง หรือ ที่มักเรียกกันว่า Statement จะเป็นสิ่งที่ธนาคารส่วนใหญ่จะเรียกดูเสมอเมื่อเราอยากทำบัตรเครดิต

สามารถขอรับได้ใน 2 ช่องทาง คือ เข้าไปติดต่อกับธนาคารที่เราเปิดบัญชีอยู่ (มีค่าธรรมเนียม ประมาณ 100-200 บาท ต่อการขอ 1 ครั้ง) หรือ บริการใน  Application ของธนาคาร กดขอ Statement ย้อนหลัง แล้วระบบจะส่งข้อมูลไปให้ยัง email ที่เราผูกไว้กับบัญชีธนาคาร (ไม่เสียค่าบริการ)

โดยปกติเอกสารนี้จะได้รับภายใน 1 วัน และระยะเวลาที่เราขอรายการเดินบัญชีย้อนหลังควรจะอยู่ในช่วง  6-12 เดือน หรือ ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในการทำบัตรเครดิต/สถาบันการเงินเจ้าของบัตรค่ะ

สลิปเงินเดือน หรือ หนังสือรับรองเงินเดือน

พนักงานประจำส่วนใหญ่จะได้สลิปเงินเดือนเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว เอกสารส่วนนี้จึงเก็บไว้ให้ดีเพื่อเป็นหลักฐานในการแสดงรายได้ที่ชัดเจนที่สุด แต่ใครไม่มีก็สามารถติดต่อกับฝ่ายการเงิน หรือ ธุรการได้ โดยหลายสถาบันจะเรียกดูเพื่อตรวจสอบอย่างน้อย 1-3 เดือน ตามเงื่อนไขแต่ละแห่ง

ส่วนคนที่ไม่ได้ทำงานประจำ หรือ ฟรีแลนซ์ก็อาจใช้หลักฐานเป็นใบประกอบวิชาชีพ หรือ หนังสือรับรองเงินเดือนที่ขอได้จากบริษัทซึ่งเราติดต่อ เพื่อใช้เป็นเอกสารในการรับรองรายได้เหมือนกัน และแสดงว่าเรามีงานทำจริงและไม่มีประวัติเสียในที่ทำงานค่ะ

ถ้าเราเตรียมตัวให้ดี ก่อนยื่นเรื่องขอทำบัตรเครดิต ก็อาจรับรองว่าจะสามารถมีบัตรเครดิตมาใช้ได้อย่างสมใจแล้วล่ะค่ะ โดยทริคในการทำให้อนุมัติง่ายขึ้นนั้น ก็จะรวมๆอยู่ที่การสร้างเครดิตบูโรให้ตัวเองก่อน เช็คว่าฐานเงินเดือนเราถูกต้องตามเกณฑ์การสมัครมั๊ย เซ็นกำกับสำเนาเอกสารถูกต้องทุกใบ พร้อมเขียนความประสงค์ไว้เพื่อกันการปลอมเอกสาร

กรอกที่อยู่และข้อมูลตามจริงให้ชัดเจน ระบุเวลาที่เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อผ่านเบอร์โทรบริษัทที่เราให้ไว้ได้ (หลายคนสมัครไม่ผ่าน เพราะไม่ได้รับสายจากธนาคารตรงนี้ด้วยนะจ๊ะ) และเมื่อกรอกใบสมัคร หรือ ส่งเอกสารใดๆ ควรตรวจเช็คประมาณ 2-3 ครั้งด้วย เพื่อความถูกต้องและไม่ต้องเสียเวลาในการยื่นเรื่องใหม่อีก เอกสารพร้อม-คุณสมบัติครบก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะผ่านการพิจารณาแล้วล่ะค่ะ

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ มัครบัตรเครดิตใบแรกเขาพิจารณาจากอะไร ที่นี่

และเหนือสิ่งอื่นใด คือ การสร้างวินัยในการผ่อนชำระ มีแล้วต้องจ่ายให้ตรง และไม่สร้างหนี้โดยไม่จำเป็น เพราะทุกอย่างย่อมมีทั้งประโยชน์และโทษ เราจึงต้องมีสติ การตัดสินใจที่ดีก่อนจะเลือกและรูดบัตรกันนะคะ หากใครอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญจาก MoneyDuck ได้ฟรี ที่ลิงก์ด้านล่าง