สำหรับคู่รักที่กำลังวางแผนจะแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกัน การมีความรักแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องพิจารณาเรื่องการวางแผนการเงินที่ดีด้วย เพราะการที่ชีวิตครอบครัวจะประคับประคองไปได้ด้วยดี ต้องอาศัยสถานะการเงินที่ดีควบคู่กันไป สำหรับคู่รักบางคู่อาจจะมีการวางแผนการเงินแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น ช่วงวางแผนค่าใช้จ่ายสำหรับงานแต่งงาน

แต่มักจะไม่ได้คิดถึงการวางแผนการเงินให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่นการเตรียมความพร้อมสำหรับการมีบุตร การสร้างกิจการเพื่อครอบครัวหรือการลงทุนร่วมกัน และค่าใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน เป็นต้น ดังนั้นบทความนี้มีวิธีดีๆ ที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ ไปดูข้อแรกเลยครับ

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ คู่รักมือใหม่ บริหารเงินอย่างไรให้ลงตัว ที่นี่

วางแผนการเงินหลังแต่งงาน

วางแผนการเงินหลังแต่งงาน

คือการวางแผนการเงินตามเป้าหมาย โดยมี 3 ระยะด้วยกัน

1.เป้าหมายระยะสั้น ต้องพิจารณาเรื่องการวางแผนค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวด้วย เช่น ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค ค่าเทอมลูก และเงินฉุกเฉินต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ก็ควรวางแผนประกันภัยด้วย โดยปกติผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ควรจะต้องพิจารณาทำประกันชีวิตด้วยทุนประกันที่เหมาะสม ซึ่งการทำประกันชีวิตจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว ว่าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ครอบครัวจะยังมีเงินไว้ใช้จ่ายต่อไปได้ ไม่เดือดร้อนและลำบาก รวมถึงประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันโรคร้ายแรง ซึ่งเป็นในส่วนที่เพิ่มความคุ้มครองในด้านค่ารักษาพยาบาล รองรับค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด ที่อาจทำให้มีผลกระทบต่อการเงินของเราได้ ทั้งนี้ก่อนการทำประกัน เราควรอ่านและศึกษาเงื่อนไข ข้อจำกัด เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการทำประกัน

2.เป้าหมายระยะกลาง หนึ่งในเป้าหมายระยะกลางที่สำคัญก็คือ การวางแผนมีลูก ซึ่งหลายคู่ไม่ตัดสินใจว่าจะมีลูกดีหรือไม่ จึงปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่เมื่อผ่านไปหลายปีก็ยังไม่มีลูกสักที จึงต้องปรึกษาแพทย์ ซึ่งยิ่งมีอายุที่มากขึ้น ก็อาจส่งผลทำให้มีลูกได้ยากขึ้น หลายคู่ตอนเริ่มต้นชีวิตคู่ ก็ตัดสินใจว่าจะไม่มีลูก แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เกิดการเปลี่ยนใจ ก็จะประสบปัญหาเมื่ออายุมาก มีลูกยากขึ้นด้วยเช่นกัน และทำให้เกิดค่าใช้จ่ายไม่คาดฝันเกิดขึ้น ดังนั้นควรพูดคุยและวางแผนเรื่องลูกให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นใช้ชีวิตคู่ เพื่อจะได้มีการเตรียมเงินไว้อย่างเหมาะสม

3.เป้าหมายระยะยาว ที่สำคัญคือการวางแผนการศึกษาบุตรและการวางแผนเกษียณอายุ จุดที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามไปก็คือ พ่อแม่ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับลูกมากกว่าการเกษียณอายุของตัวเอง

จัดสรรการเงินหลังแต่งงานให้ลงตัว

จัดสรรการเงินหลังแต่งงานให้ลงตัว

ขั้นที่ 1 ต้องดูว่าเรามีงบประมาณที่สามารถนำมาใช้จ่ายในระหว่างเดือนเป็นจำนวนเท่าไหร่

ค่าใช้จ่ายประจำเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน/ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ /Internet เงินชำระเบี้ยประกันชีวิต การออมเผื่อกรณีฉุกเฉิน เช่น ค่ารักษาพยาบาลของคนในครอบครัว กรณีเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุ หรือการออมเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ เช่น เพื่อการศึกษาของลูก หรือเพื่อการท่องเที่ยว

ขั้นที่ 2 สังเกตค่าใช้จ่ายส่วนตัวในระหว่างเดือน ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในวันหยุด ที่ต้องแยกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ออกมา เพราะหลายคู่อาจใช้วันหยุดไปตามความชอบของแต่ละคู่ บางคู่ใช้เวลาในหยุดไปดูหนัง ไปซื้อของ ในขณะที่บางคนอยู่บ้านเพื่อทำกับข้าว สำหรับหลายๆ คน ค่าใช้จ่ายในวันหยุดมักจะสูงกว่าวันทำงานอีกซึ่งต้องระวังไว้

ขั้นที่ 3 ประเมิน ช่วยกันสังเกตว่างบที่เราตั้งไว้แต่ละวัน แต่ละอาทิตย์ เหมาะสมหรือไม่ วงเงินที่น้อยเกินไปจะทำให้เกิดความเครียด มีหลายตัวอย่างสำหรับคนที่กำลังปรับพฤติกรรม ในทางตรงข้าม วงเงินที่สูงเกินไปก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับการออม ทำบัญชีสรุปและนำมาปรับปรุงการจัดสรรงบให้เหมาะสมต่อไป

วางแผนลงทุนร่วมกัน

วางแผนลงทุนร่วมกัน

การทำงานประจำเป็นอะไรที่น่าเบื่อ ต้องตื่นเช้าฝ่ารถติดไปทำงาน ไปเจอกับงานแบบเดิม ๆ ไปเจอกับกฎเกณฑ์ที่มีเยอะในองค์กร จะมีดีอย่างเดียวคือตอนเงินเดือนออก แต่ไม่กี่วันเงินเดือนเหล่านั้นก็หายไป สิ่งที่อยู่ในใจคืออยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง หลายคู่ที่เริ่มคบกันได้พออยู่ตัว จึงมักจะคิดเริ่มต้นวางรากฐานความมั่นคง โดยการมองหากิจการอะไรสักอย่างทำร่วมกัน เริ่มต้นด้วยความชอบของทั้งสองคน แม้ว่าการร่วมลงทุนกับแฟนจะเป็นอะไรที่ดูมีพลังและสร้างความหวังให้กับคู่ที่คบหาดูใจกัน แต่มีไม่น้อยเลยที่การร่วมลงทุนกลับกลายเป็นสาเหตุให้เกิดการเลิกรากัน สาเหตุเกิดจากตอนเริ่มที่มักไม่ได้ตกลงรายละเอียดกันให้ดีพอ

สิ่งแรกที่ต้องทำคือตกลงให้ชัดตั้งแต่เริ่มแรก ส่วนของเงินทุน ได้แก่ ค่าสถานที่ พาหนะ และค่าแรง เช่น กรณีกู้ยืมมาลงทุน ให้ทำเป็นสัญญากู้ยืมเงิน และระบุว่าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์ จ่ายเงินต้นคืนอย่างไรไปเลย และค่าสถานที่ ก็ต้องมีค่าเช่า ที่ต้องจ่ายค่าเช่ารายเดือน หรือรายปี และส่วนของการลงแรงก็ควรจะเป็นการจ่ายค่าแรง เป็นเงินรายวัน รายเดือน การตกลงทุกอย่างที่ว่ามาควรจะเขียนให้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ทุกฝ่ายเซ็นรับรู้ร่วมกัน เพื่อป้องกันการลืม และถือปฏิบัติโดยยึดหนังสือที่ตกลงร่วมกันนี้เป็นหลัก

การแบ่งงาน คือ การแบ่งความรับผิดชอบว่าใครต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง แต่ละคนก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองไปโดยไม่ก้าวก่ายกัน อำนาจการตัดสินใจ เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของผู้บริหารกิจการ ที่ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง เพื่อให้กิจการดำเนินไปสู่เป้าหมาย เช่น หากทำธุรกิจด้วยกันกับแฟน ก็ต้องระบุให้แน่ชัดว่า หากมีเรื่องต้องตัดสินใจ จะให้ใครตัดสินใจ หรือต้องตัดสินใจร่วมกัน อาจจะแบ่งว่าถ้ามีเรื่องต้องตัดสินใจเกี่ยวกับสินค้า ให้ใครตัดสินใจ ถ้ามีเรื่องเกี่ยวกับลูกค้า ให้ใครตัดสินใจ

ผลประโยชน์ นอกเหนือจากการจ่ายคืนส่วนของทุนแล้ว เช่น จ่ายค่าสถานที่ ค่าพาหนะ ค่าจ้าง หรือเงินเดือนแล้ว ที่เหลือถือเป็นกำไร ต้องเขียนหนังสือตกลงกันไว้ว่าจะแบ่งกำไรกันอย่างไร ใครได้กี่เปอร์เซ็นต์

กรณีขาดทุน ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำหนังสือไว้ให้ชัดเจนกับเรื่องนี้ เช่น หากขาดทุน จะทำอย่างไรกับส่วนของทุนที่ลงไป ตัวอย่าง กรณีทำร้านอาหาร จะมีทุนในส่วนของโต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์จานชามต่าง ๆ อาจตกลงกันว่าจะเซ้งหรือขายปลีกไป เมื่อได้เงินมาจะแบ่งคืนให้คนละครึ่ง

เลือกประเภทการจดทะเบียนพาณิชย์

1.ร้านค้า (บุคคลธรรมดา) ใช้ชื่อคนเดียวก็จดทะเบียนแบบนี้ได้ การจดทะเบียนพาณิชย์แบบนี้ ไม่จำเป็นต้องมีหุ้นส่วนเห็นชอบในการกระทำการใด ๆ ใน

2.ห้างหุ้นส่วนจำกัด (นิติบุคคล) ต้องมีหุ้นส่วนอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป การจดทะเบียนพาณิชย์แบบนี้สามารถใช้ชื่อคุณกับแฟนได้เลย โดยที่การกระทำการใด ๆ ในกิจการจะต้องผ่านการเห็นชอบจากคนที่เป็นหุ้นส่วนด้วย แบบนี้จะดีเพราะไม่ว่าตัดสินใจอะไรจะรับรู้กันทั้งสองฝ่าย

3.บริษัทจำกัด (นิติบุคคล) ต้องมีหุ้นส่วนอย่างน้อย 3 คนขึ้นไป แสดงว่ากิจการที่จะทำนี้ต้องมีชื่อคนอื่นมาร่วมด้วย นอกจากคุณกับแฟน การจดทะเบียนพาณิชย์แบบนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะแต่งตั้งให้ใครเป็นผู้บริหารและมีอำนาจในการตัดสินใจในกิจกรรมอะไรบ้าง

หากตกลงเรื่องต่าง ๆ ชัดเจนแล้ว ต่อไปคือเรื่องการนำไปปฏิบัติจริง สิ่งที่ควรทำและต้องทำ คือ ยึดถือปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือหรือสัญญาอย่างเคร่งครัด จะทำให้แต่ละคนไม่หลงทาง ไม่หลงหน้าที่ ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ฉันแฟนยังคงเดิม ความเป็นเพื่อนยังคงอยู่ ปัญหาการแตกหักรักร้าวไม่มีอีกต่อไป และรวมถึงต้องระวังเรื่องบุคคลที่สาม เพราะหลายกิจการต้องยุติลง เพราะมีคนอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยว หรือเข้ามามีส่วนช่วยในการตัดสินใจ เช่น มีพ่อแม่เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจของแฟน เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญต้องไปปรึกษาพ่อแม่ทุกครั้ง แบบนี้จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการตัดสินใจได้

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยกับ รู้จักการลงทุนหลังแต่งงานแบบความเสี่ยงน้อย ที่นี่

ช่วยกันเก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

ช่วยกันเก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

การเก็บออมเงิน และการบริหารจัดการเงินได้ที่ได้มาถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง แต่หลาย ๆ คนอาจมุ่งมั่นตั้งใจเก็บแต่เงินออมหรือเงินลงทุน จนอาจละเลยเงินสำรองฉุกเฉิน เงินก้อนนี้ถือเป็นพื้นฐานด้านการเงินเลยก็ว่าได้ เพราะในชีวิตเรา มีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยที่เราไม่มีวันรู้ล่วงหน้า เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมรถ หรือค่าใช้จ่ายหากวันหนึ่งต้องออกจากงานขึ้นมา ดังนั้น เงินก้อนนี้จึงสำคัญ แต่ก็มีคำถามเยอะว่า ต้องเก็บออมในสัดส่วนเท่าไหร่ถึงจะถือว่าปลอดภัย ? เงินสำรองฉุกเฉินต้องมีเท่าไหร่?

เริ่มจากจดรายการค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือนออกมาก่อน เพื่อเราจะได้รู้ว่า ในแต่ละเดือนเราต้องใช้เงินไปกับค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น

ค่าที่อยู่อาศัย เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน ค่าประกันภัย และค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทางค่าโทรศัพท์ ค่ารักษาสุขภาพ เช่น ค่ายาค่ารักษาที่ต้องใช้เป็นประจำทุกเดือน ค่าทำฟัน จัดฟัน ค่าประกันต่าง ๆ เช่น ประกันรถยนต์ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ค่าบัตรเครดิต และหนี้สินต่าง ๆ

โดยปกติจะคำนวณเงินสำรองฉุกเฉินจากค่าใช้จ่ายรายเดือนเป็นหลัก โดยการคำนวณจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ

แบบที่ 1 สำหรับคนที่ทำงานประจำ

เนื่องจากมีรายได้ต่อเดือนที่แน่นอน ทำให้ได้เปรียบในการจัดสรรและบริการจัดการรายได้ที่เข้ามา ซึ่งโดยปกติจะแนะนำให้สำรองเงินฉุกเฉินไว้ที่ประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน ตัวอย่างเช่น

ปกติมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 70% ของเงินเดือน หากมีเงินเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท แสดงว่ามีค่าใช้จ่ายรายเดือนอยู่ที่ 10,500 บาทต่อเดือน ในกรณีนี้ เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอยู่ที่ 31,500 – 63,000 บาท หากเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น หากต้องออกจากงานกะทันหัน เงินสำรองก้อนนี้จะช่วยเราได้ในช่วงรอเปลี่ยนงานใหม่

แบบที่ 2 สำหรับคนที่ทำงานแบบฟรีแลนซ์

ซึ่งคนที่ทำงานฟรีแลนซ์นั้นมีรายได้ที่ไม่แน่นอนในแต่ละเดือน บางเดือนก็อาจมีคนว่าจ้างมากจนถึงขั้นล้น ทำงานไม่ทันก็มี หรือบางเดือนอาจเงียบหน่อย ไม่ค่อยมีคนว่าจ้าง รายได้ก็จะขึ้นๆ ลงๆ ไม่สามารถคาด เดาได้ ดังนั้น อาจจะต้องสำรองเงินฉุกเฉินไว้มากกว่าคนที่ทำงานประจำ

ตัวอย่างเช่น

ปกติมีค่าใช้จ่ายรายเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท ต้องคิดเผื่อสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด คือ ไม่มีผู้ว่าจ้างเลยตลอด 6 เดือน – 1 ปี ดังนั้น เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอยู่ที่ 90,000 – 180,000 บาท

เก็บเงินอย่างไรดี ?

การเก็บเงินสำรองฉุกเฉินควรเลือกเก็บในที่ที่มีสภาพคล่องสูง หมายถึงสามารถนำเงินออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว และต้องมีความเสี่ยงต่ำ หากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น จะได้ไม่ขาดทุนเงินต้นหากต้องนำเงินออกมาก่อน เช่น เงินฝากออมทรัพย์กองทุนตราสารหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

4 อย่างนี้คือสิ่งสำคัญที่ต้องทำไม่ว่าจะเป็นร่วมมือกันวางแผนทางการเงินของครอบครัว ซึ่งมี3 เป้าหมายหลักๆ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ถัดจากนั้นคือการจัดสรรค่าใช้จ่ายที่มีร่วมกันให้ลงตัว โดยการทำบัญชีอาจจะทำรายรับรายจ่าย เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเรามีเงินพอใช้หรือไม่

ส่วนถ้าอยากวางแผนลงทุนร่วมกัน ก็ต้องวางแผนให้ดีว่าจะทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร ต้องตกลงกันให้ดี เนื่องจากหลายคู่ที่มีปัญหากันส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาทางธุรกิจ ที่ไม่ลงตัว และสุดท้ายคือช่วยกันเก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน อนาคตไม่แน่นอน เราอาจจะเจ็บป่วยกะทันหัน หรือต้องออกจากงาน ดังนั้นการเก็บเงินฉุกเฉินจะสามารถช่วยเราได้ในระยะหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายวิธีที่ไม่ได้กล่าวถึง อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นคนที่ยังไม่แต่งงาน หรือแต่งงานแล้วก็ควรวางแผนด้านการเงินนะครับ เพื่อความมั่นคงของชีวิต และครอบครัว หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญจาก MoneyDuck ได้ฟรี ที่ลิงก์ด้านล่าง