กรมธรรม์ประกันชีวิต หากใครที่กำลังมองหาอยู่ล่ะก็ คงจะมีบ้างแน่ๆ ที่ได้ยินเรื่อง ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit-Linked) เพราะในเวลาที่ตัวแทนหรือพนักงานของธนาคารเสนอขายกับเรา มักจะเชิญชวนให้พบกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ตัวนี้ ที่เป็นทั้งประกันชีวิต และให้โอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการลงทุนอีกด้วย ทำให้เราหลายคนน่าจะหันกลับมาพิจารณากรมธรรม์ประกันชีวิตประเภทนี้มากขึ้นด้วย แต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจในรายละเอียดและการทำงานของกรมธรรม์ยูนิตลิงค์อย่างแท้จริง รู้ว่าเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตในรูปแบบใหม่ ที่ผู้เอาประกันจะได้รับทั้งความคุ้มครองชีวิต และโอกาสในการลงทุนในกรมธรรม์ฉบับเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อสงสัยในประกันชีวิตแบบนี้ว่า มีโครงสร้างอย่างไร ข้อดีข้อเสียคืออะไรและเหมาะกับใคร รวมไปถึงมีเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกซื้อประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ว่าควรมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งบทความนี้จะมาอธิบายเกี่ยวกับประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ตัวนี้กัน

โครงสร้างของประกัน

โครงสร้างของประกัน

อย่างแรกที่เราควรทำความรู้จักก็คือโครงสร้างของเบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันชีวิตของกรมธรรม์แบบปกติดั้งเดิม (Traditional Life Insurance) เช่น ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และประกันชีวิตแบบบำนาญ จะประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายใน 3 ส่วน คือ  ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของบริษัทประกัน ค่าการประกันภัยหรือค่าความคุ้มครอง และเงินส่วนที่บริษัทประกันนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทางการเงิน เพื่อจะได้ซึ่งการจ่ายเงินคืน หรือเงินปันผลให้กับผู้เอาประกันภัยตามที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ ส่วนใหญ่แล้วจะลงทุนแบบที่ความเสียงไม่มาก เช่น พันธบัตรรัฐบาล เงินฝาก ตราสารหนี้ อาจมีหุ้นบ้างแต่เป็นส่วนน้อย เนื่องจากประกันชีวิตแบบทั่วไปนี้จะมีการการันตีเงินคืนเป็นอัตราร้อยละของทุนประกันจ่ายให้กับผู้ถือกรมธรรม์ ทำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากไม่ได้​ อัตราผลตอบแทนที่ได้จากกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ในอัตราที่ไม่สูงนัก อยู่ที่ 1.5-2.5% ต่อปีเท่านั้น

แต่สำหรับสำหรับประกันชีวิตควบการลงทุนหรือยูนิตลิงค์ (Unit-Linked) นี้ เป็นประกันที่มาพร้อมหน่วยลงทุน เบี้ยประกันจึงถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนเช่นเดียวกัน คือ

(1)ส่วนของความคุ้มครองชีวิต  จะกำหนดทุนประกันหรือเงินที่ได้เวลาเสียชีวิตของกรมธรรม์ โดยส่วนนี้มีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละเพศและอายุ รวมถึงจำนวนทุนประกันที่กรมธรรม์กำหนดไว้

(2)ส่วนของค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมตามกรมธรรม์ จะเป็นพวกค่านายหน้า ตัวแทน หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทประกัน

(3)เงินออมหรือเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่บริษัทประกันจะนำส่วนนี้ไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมา จะเป็นทั้งรายได้ของบริษัท และเป็นผลประโยชน์ที่การันตีกับลูกค้าเอาไว้แล้ว เช่น มูลค่าเงินสดที่สะสมไว้ในกรมธรรม์ เงินคืนหรือเงินปันผลตามเงื่อนไขของกรมธรรม์นั้นๆ

และแทนที่บริษัทจะนำเงินส่วนที่ 3 ไปลงทุนให้เราแบบมีข้อกำหนดว่าต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ บริษัทก็จะให้เราสามารถเลือกลงทุนด้วยตัวเอง ผ่านกองทุนรวมที่บริษัทคัดสรรมาแล้ว เพื่อให้เราสามารถบริหารจัดการการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ต้องการ ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เหมือนกับการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป เพื่อให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนในระยะยาวที่สูงขึ้นได้ โดยสามารถเลือกเองได้เลยว่าจะลงทุนในกองทุนอะไร ด้วยสัดส่วนเท่าไร จึงเป็นที่มาของโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนมากขึ้นกว่าประกันแบบดั้งเดิม โดยมูลค่าบัญชีหรือมูลค่าเงินสดก็จะถูกขายคืนมาเป็นรายเดือน หรือรายปีเพื่อจ่ายค่าการประกันภัย, ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกรมธรรม์ จึงทำให้ยูนิตลิงค์มีบทบาทที่เด่นขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำๆ โดยทั่วไปบริษัทฯ จะนำเสนอผลตอบแทนจากการลงทุน 6-8% ต่อปีเลย และเราสามารถเลือกเองได้เลยว่าเบี้ยที่เราจ่ายจะเน้นไปที่ความคุ้มครอง (1) หรือ เงินลงทุน (3)  ด้วย โดยสามารถกำหนดความคุ้มครองของกรมธรรม์ได้เอง หากเราต้องการทุนประกันที่สูง เราก็เลือกจำนวนเท่าของเบี้ยประกันที่สูงขึ้น ทำให้เบี้ยก็จะถูกจ่ายไปที่ส่วนของความคุ้มครองมากกว่า ส่วนของเงินลงทุนก็จะน้อยลง

ข้อดี - ข้อเสีย ของประกันแบบยูนิตลิ้งค์ เราคงอยากรู้แล้วใช่ไหมล่ะ มาดูกันเลย

ข้อดี

ข้อดี

เนื่องจากเป็นประกันแบบควบการลงทุน จึงถือว่าเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าแบบประกันสะสมทรัพย์หรือ ออมทรัพย์ทั่วไปให้กับเราได้ 
 ไม่ต้องเลือกกองทุนยากอีกต่อไป เนื่องจากบริษัทกำหนดให้เราเลือกลงทุนในกองทุนที่กำหนดให้เท่านั้น 
 หากกรณีเสียชีวิต จะได้รับความคุ้มครองสูงสุดระหว่าง มูลค่ากรมธรรม์กับทุนประกันภัย หรือให้ความคุ้มครองสูงสุดเท่ากับทุนประกันภัย + มูลค่ารับซื้อคืนหน่วยลงทุนเลยตามข้อกำหนดของแต่ละบริษัท -----คุ้มครองสูงสุด 120 เท่า ของเบี้ยประกันภัยตามข้อกำหนดของแต่ละบริษัท
 มีบริการสับเปลี่ยนกองทุนอัตโนมัติฟรี ช่วยให้ผู้ลงทุนหรือผู้เอาประกันสามารถรักษาสัดส่วนการลงทุนได้ตลอดการลงทุน
 มีความโปร่งใสในเรื่องค่าใช้จ่าย
 มีความยืดหยุ่นสูง สามารถกำหนดระยะเวลาชำระเบี้ย ระยะเวลาความคุ้มครอง  และปรับเพิ่มหรือลดทุนประกันชีวิตได้ตามความจำเป็นและความเหมาะสมในแต่ละช่วงชีวิต
 สามารถเลือกถอนเงินจากมูลค่าเงินลงทุนในกรมธรรม์เองได้ โดยไม่จำเป็นต้องกู้เงินในกรมธรรม์หรือปิดกรมธรรม์
 มีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนคาดหวังที่สูงกว่าประกันชีวิตแบบดั้งเดิม เพราะสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ โดยที่หากมีระยะเวลาการลงทุนที่นาน ก็จะทำให้สามารถรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้ 
 สามารถกำหนดสัดส่วนระหว่างส่วนความคุ้มค​รองชีวิต และส่วนเงินลงทุน ว่าต้องการให้มีส่วนความคุ้มครองชีวิต หรือส่วนการลงทุนมากกว่ากัน
 มีหลากหลายประเภทตั้งแต่กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสมที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น
 ช่วงทำงานต้องการทุนประกันชีวิตที่สูง เพราะมีภาระเยอะ มีลูกในวัยเรียน มีภาระหนี้สิน ก็เลือกทำประกันให้มีสัดส่วนความคุ้มครองสูงได้ 
 หากสัดส่วนการลงทุนยังน้อยอยู่ อยากให้ภาระลดลง ผ่อนบ้านหรือรถหมดเรียบร้อย ลูกเรียนจบ อาจปรับสัดส่วนความคุ้มครองให้ลดลงทำให้มีส่วนของการลงทุนมากขึ้น เพื่อเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณอายุได้
 ความอิสระในการบริหารและออกแบบกรมธรรม์ด้วยตัวผู้ทำประกันเอง ในขณะที่ประกันชีวิตแบบดั้งเดิม ทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว เราจึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนสัดส่วนของเบี้ยเพื่อความคุ้มครองหรือเพื่อการลงทุนได้

ข้อเสีย

ข้อเสีย

ไม่สามารถรับรองผลตอบแทนจากการเลือกลงทุนได้ ทำให้ผู้เอาประกันอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเงินน้อยกว่าที่คาดไว้หรือมีโอกาสขาดทุนจากการลงทุน
 เสียโอกาสในการลงทุน เนื่องจากไม่สามารถเลือกกองทุนอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เจอความผันผวนต่ำกว่า หรือนโยบายการลงทุนที่น่าสนใจกว่า หากบริษัทประกันไม่อนุญาต
 เบี้ยประกัน สามารถลดหย่อนภาษีได้บางส่วน แค่เฉพาะส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัย ค่าธรรมเนียมรักษากรมธรรม์ ค่าธรรมเนียมการบริหารกรมธรรม์และค่าการประกันภัย เท่านั้น  จึงไม่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดหย่อนภาษี
 มีค่าธรรมเนียม 2 ต่อ จึงต้องศึกษาโครงสร้างการคิดค่าธรรมเนียมโดยละเอียดไว้ด้วย
 เราก็อาจจะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงเองในการสร้างมูลค่าบัญชี หรือผลตอบแทนของกรมธรรม์ด้วยตัวเอง เพราะบริษัทประกันไม่ได้การันตีผลตอบแทนไว้ให้เหมือนประกันชีวิตแบบดั้งเดิม 
 มีการลงทุนในกองทุนรวมที่มีระดับความเสี่ยงที่สูงกว่า และต้องมีความรู้ความเข้าใจที่มากกว่าการทำประกันชีวิตแบบดั้งเดิม
 มีการอ้างอิงจากข้อมูลการลงทุนในอดีต จึงมีความไม่แน่นอนว่า ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นไปตามสถิติที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือไม่ อาจสูงกว่าหรือต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ก็ได้ด้วย

ใครบ้างเหมาะกับประกันประเภทนี้

ใครบ้างเหมาะกับประกันประเภทนี้

แน่นอนว่าประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์เหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิต และต้องการบริหารจัดการเงินในส่วนของการลงทุนด้วยการเลือกกองทุนรวมด้วยตัวเอง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะซื้อประกันแบบนี้ควรมีความรู้เรื่องการลงทุนในกองทุนรวม พร้อมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ และสามารถลงทุนได้ระยะยาวอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไปเพื่อลดโอกาสขาดทุนจากการลงทุน เพราะขึ้นชื่อว่าการลงทุนก็ย่อมตามมาด้วยความไม่แน่นอนแน่ๆ ทั้งด้านผลตอบแทน และความเสี่ยงหรือโอกาสขาดทุน ถึงแม้จะเลือกกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ก็ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนได้จริงๆ ยิ่งหากเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดผันผวนมาก ก็สามารถกระทบกับราคาตราสารหนี้ที่กองทุนรวมลงทุนไว้ได้. ผู้ที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยง หรืออยากรู้จำนวนเงินที่จะได้รับแน่นอนจากประกันชีวิต อาจจะกลับไปเลือกทำประกันชีวิตแบบทั่วไปจะดีกว่า โดยหากต้องการรู้จำนวนเงินคืนที่แน่นอนจากประกันชีวิต จะเหมาะกับ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือหากต้องการมั่นใจว่าจะมีจำนวนเงินที่แน่นอนเข้ามาให้ใช้จ่ายอย่างสม่ำเสมอหลังเกษียณ ก็เลือกประกันชีวิตแบบบำนาญ​ได้

หากจริงๆ แล้วเราคาดหวังการเติบโตของเงินทุนก้อนหนึ่งที่เรามีในอนาคต เช่น อีก 5 ปี หรืออีก 10 ปีข้างหน้า อยากจะนำผลตอบแทนในบัญชีนั้นมาใช้จ่ายสำหรับตัวเราเอง อาจจะเหมาะกับการไปซื้อกองทุนรวม เพราะมันไม่ได้เป็นจุดประสงค์หลักของยูนิตลิงค์ แต่เมื่อไหร่ที่เราคาดหวังจะบริหารเงินก้อนหนึ่งสำหรับเราและคนข้างหลัง หากเราเสียชีวิตไปก่อนเวลาอันควรคนข้างหลังของเราจะได้รับเงินเพื่อชดเชยความสูญเสียทางด้านการเงินของเราไป แต่ถ้าเรามีชีวิตยืนยาว ส่วนของเงินที่นำไปลงทุนก็จะมีระยะยาวที่สามารถรองรับความเสี่ยงที่ผันผวนได้ และเราก็มีโอกาสที่จะนำเงินก้อนนี้ออกมาใช้เองได้ แบบนี้ยูนิตลิงค์จึงจะตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าต้องการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่คุ้มครองชีวิตในระยะยาวแล้ว ที่เปิดโอกาสให้นำเงินไปลงทุนในระยะยาวที่รับความเสี่ยงที่ผันผวนได้ จะทำให้โดยเฉลี่ยแล้ว เบี้ยประกันภัยถูกกว่าแบบประกันชีวิตดั้งเดิมที่ต้องลงทุนในความเสี่ยงต่ำและได้รับผลตอบแทนต่ำเท่านั้น

สรุป

สรุป

เราจะเห็นได้ว่าประกันชีวิตควบการลงทุนหรือยูนิตลิงค์นี้ สามารถเป็นประกันที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการความคุ้มครองชีวิตที่ครอบคลุมกว่าประกันประเภทอื่น จึงถือเป็นเครื่องมือในการวางแผนการเงิน ที่ทำให้ในเรื่องความคุ้มครองชีวิตและผลตอบแทนจากการลงทุนกองทุนสามารถมารวมกันได้ ทั้งยังมีจุดเด่นสำคัญที่ผู้ทำประกันสามารถเลือกสัดส่วนความคุ้มครองชีวิตและการลงทุน รวมถึงบริหารจัดการเงินในส่วนการลงทุนได้เอง จึงดูน่าสนใจไม่น้อยในเรื่องของการสับเปลี่ยนกองทุนอัตโนมัติ , เรื่องของทุนประกันคุ้มครองสูง , กต้องการวงเงินคุ้มครองชีวิตสูงกว่าแบบชั่วระยะเวลาโดยทั่วไป ไม่ต้องการยุ่งยากเรื่องการค้นหากองทุนรวม และมีการจัดพอร์ตการลงทุนสำเร็จรูปบริการ จึงเป็นแบบประกันเฉพาะกลุ่มตัวนึงที่เมื่อเราต้องการลงทุนควบคู่ไปกับการได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องการความยุ่งยากซับซ้อน และไม่ต้องการสิทธิทางภาษีสามารถเลือกได้เลยทันที  แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อประกันชีวิตรูปแบบนี้ก็ควรมีความรู้เรื่องการลงทุนและรับความเสี่ยงได้ เพราะหากซื้อหรือทำประกันด้วยความไม่เข้าใจ อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าเงินลงทุนในกรมธรรม์ ทำให้แผนการเงินไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ก็ได้​ จึงสรุปได้สั้นๆด้วยมุมมองจากการลงทุนและการประกันว่า จริงๆ แล้วถ้าทั้งคนขายและคนซื้อ ได้ทำความเข้าใจกับยูนิตลิงค์อย่างแท้จริง ตามที่ได้อธิบายในบทความนี้ ประโยชน์ทั้งหมดก็จะไปอยู่กับผู้บริโภคและยังส่งเสริมตลาดทุนได้ในระยะยาวได้จริงนั่นเอง