หลายคนๆ ซื้อประกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ เพื่อลดหย่อนภาษีเป็นหลัก แต่จริงๆแล้ว เราจะเห็นได้ว่าประกันสุขภาพ และประกันชีวิตมีประโยชน์มากกว่าแค่ลดภาษี นอกจากนั้นหลายคงอาจจะยังสงสัยกับสองสิ่งนี้ ว่ามันเหมือนกันไหม? ถ้าไม่ แล้วมันแตกต่างกันอย่างไร? หลายคนเลยสงสัยว่าหากทำประกันชีวิตแล้ว จะได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพด้วยหรือเปล่า? บทความในวันนี้จะช่วยให้เห็นความแตกต่างครับ

ประกันชีวิต

ประกันชีวิต

การประกันชีวิต เป็นวิธีการที่บุคคลกลุ่มหนึ่งร่วมกันเฉลี่ยภัยอันเนื่องจากการตาย การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และการสูญเสียรายได้ในยามชรา โดยที่เมื่อบุคคลใดต้องประสบกับภัยเหล่านั้น ก็ได้รับเงินเฉลี่ยช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว โดยบริษัทประกันชีวิตจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการนำเงินก้อนดังกล่าวไปจ่าย ให้แก่ผู้ได้รับภัย

1.ประกันชีวิตจะช่วยสร้างหลักประกันและความมั่นคงให้แก่ครอบครัว

ในกรณีที่หากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับผู้นำของครอบครัวโดยที่ยังไม่ได้มีการวางแผนทางการเงินที่ดีไว้ อาจจะทำให้ครอบครัวนั้นต้องประสบกับปัญหาอย่างรุนแรงได้ การวางแผนทำประกันชีวิตเอาไว้จะทำให้ครอบครัวนั้นมีหลักประกันที่มั่งคง โดยเงิน

ผลประโยชน์จากการทำประกันชีวิตที่ทำไว้ จะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินของครอบครัวได้

2.ประกันชีวิตจะช่วยให้เกิดการออมทรัพย์อย่างมีวินัยและต่อเนื่อง

เนื่องจากการประกันชีวิตโดยส่วนมากจะเป็นสัญญาระยะยาวที่ผู้เอาประกันภัยต้องจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันภัยเป็นประจำเป็นรายงวด ดังนั้นการทำประกันชีวิตจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้เอาประกันภัยมีวินัยในการเก็บออม โดยแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาเก็บออมในรูปแบบของการชำระเบี้ยประกันภัยดังกล่าว ซึ่งจะช่วยในการวางแผนทางการเงินในระยะยาวของผู้เอาประกันภัยได้

3.ประกันชีวิตจะช่วยสร้างสภาพคล่อง

ข้อดีของการทำประกันชีวิตอีกประการหนึ่งคือการช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับผู้เอาประกันภัยได้ โดยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินในระหว่างที่กรมธรรม์ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญานั้น ผู้เอาประกันภัยสามารถใช้สิทธิกู้ยืมเงินโดยใช้กรมธรรม์ประกันภัยเป็นประกันได้

4.ประกันชีวิตสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

โดยผู้ที่ได้ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีระยะเวลาเอาประกันภัยตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ในกรณีประกันชีวิตทั่วไปได้สูงสุดถึง 100,000 บาท และกรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญได้สูงสุดถึง 200,000 บาท

ประกันชีวิตมีกี่แบบ? คำตอบคือ 4 แบบครับ

ประกันชีวิตมีกี่แบบ? คำตอบคือ 4 แบบครับ

1. แบบตลอดชีพ (Whole life Insurance)

เป็นการประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตลอดชีพ โดยบริษัทตกลงจะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ไม่ว่าจะเสียชีวิตเมื่อใดก็ตาม แต่ถ้าหากผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 99 ปี บริษัทประกันชีวิตก็จะจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ให้แก่ผู้เอาประกันภัย

2. แบบสะสมทรัพย์ (Endowment Insurance)

เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อมีชีวิตอยู่ครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกันภัย การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นี้ เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ โดยผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด 
## 3. แบบชั่วระยะเวลา (Term Insurance)

เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น 1 ปี, 5 ปี, 10 ปี หรือ 20 ปี ซึ่งสัญญาประกันชีวิตแบบนี้มีลักษณะเป็นการให้ความคุ้มครองการเสี่ยงภัยอันเกิดจากการเสียชีวิตแต่เพียงอย่างเดียว ไม่มีการสะสมทรัพย์รวมอยู่ด้วย จึงมีลักษณะเช่นเดียวกับสัญญาประกันอัคคีภัย เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วจึงไม่มีมูลค่าใด ๆ คืนให้ผู้เอาประกัน

4. แบบเงินได้ประจำ (Annuities Insurance)

เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่ากันอย่างสม่ำเสมอให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกเดือน นับแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี เป็นต้นไปจนครบสัญญา แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ และขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เอาประกันชีวิตที่จะเลือกซื้อ สัญญาประกันชีวิตแบบนี้เหมาะกับผู้เอาประกันภัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสะสมทรัพย์ไว้เป็นค่าใช้จ่ายหลังจากที่เกษียณอายุการทำงานแล้ว

ประกันสุขภาพ

ประกันสุขภาพ

ประกันสุขภาพ (Health insurance) คือ การประกันภัยที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยจากโรคภัย หรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โดยบริษัทประกันภัยจะต้องทำสัญญาชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้กับผู้เอาประกันภัย เช่น ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น โดยประกันสุขภาพจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้

  • 1.การประกันสุขภาพและอุบัติเหตุแบบเดี่ยว
  • 2.การประกันสุขภาพและอุบัติเหตุแบบกลุ่ม

ประกันสุขภาพคุ้มครองอะไรบ้าง

1. ประกันสุขภาพผู้ป่วยใน (IPD)

การประกันสุขภาพผู้ป่วยใน คือ ความคุ้มครองกรณีผู้เอาประกันต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง กรณีที่ผู้เอาประกันเจ็บป่วย โดยรวมถึงการที่โรงพยาบาลรับตัวผู้ป่วยหรือผู้เอาประกันไว้ แต่เสียชีวิตลงภายใน 6 ชั่วโมงนั่นเอง

2. ประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก (OPD)

การประกันสุขภาพผู้ป่วยนอก คือ ความคุ้มครองกรณีผู้เอาประกันได้รับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่า 6 ชั่วโมง หรือไม่จำเป็นต้องรักษาตัว หรือผู้เอาประกันสุขภาพมีอาการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง เช่น การเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย การฉีดวัคซีน เป็นต้น

3. ประกันสุขภาพโรคร้ายแรง (ECIR)

การประกันสุขภาพโรคร้ายแรง คือ ความคุ้มครองเกี่ยวกับโรคร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง เป็นโรคที่ต้องใช้การรักษาเป็นระยะเวลานานและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง เช่น โรคหัวใจ, โรคมะเร็ง, เนื้องอก เป็นต้น

4. ประกันอุบัติเหตุ (PA)

การประกันอุบัติเหตุ คือ ความคุ้มครองกรณีผู้เอาประกันภัยเกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บ ส่งผลให้ผู้เอาประกันต้องได้รับการรักษาพยาบาล ดังนั้นผลจากการเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้งไม่ว่าผู้เอาประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ จะมีอาการบาดเจ็บเล็กน้อย หรือทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต บริษัทประกันจะต้องรับผิดชอบชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาตัวผู้เอาประกัน ถ้าหากว่าผู้เอาประกันต้องสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ บริษัทประกันจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วย

5. ประกันชดเชยรายได้

การประกันชดเชยรายได้ คือ ความคุ้มครองเกี่ยวกับรายได้ของผู้เอาประกันระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยบริษัทประกันจะชดเชยค่าสินไหมทดแทนเป็นรายวันให้ บางตัวอาจจะชดเชยวันละ 1000 บาท หรือมากกว่า นั้น ซึ่งเป็นการชดเชยเมื่อผู้เอาประกันภัยไม่สามารถทำงานได้เพราะต้องรักษาตัว

อยากรู้ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร?ใช่มั้ยครับ

อยากรู้ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร?ใช่มั้ยครับ

ด้านประโยชน์ของประกันแต่ละประเภท

ประกันชีวิต หากเกิดกรณีเราเสียชีวิต (หรือรอดชีวิตมาได้ถึงอายุจุดหนึ่ง) บริษัทประกันจะจ่ายเงินก้อนหนึ่งให้ลูกหลานเราที่ระบุไว้ว่าเป็นผู้รับผลประโยชน์ (กรณีเสียชีวิต) หรือคืนทุนประกันให้เราเต็มจำนวน (กรณีเรามีอายุถึงจุดหนึ่ง เช่น 90 ปี ครบตามสัญญาประกัน)

ประกันสุขภาพ หากเกิดกรณีเราล้มป่วย ทุพพลภาพ หรือได้รับอุบัติเหตุถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล บริษัทประกันจะจ่ายเงินให้เราสำหรับเป็นค่ารักษาพยาบาล หรือค่าชดเชยกรณีเราไม่สามารถทำงานได้ต้องนอนอยู่โรงพยาบาล

ด้านการคุ้มครอง

ประกันชีวิต คุ้มครองการเสียชีวิต หรือจะคืนผลประโยชน์ให้แบบเต็มจำนวน เมื่อผู้เอาประกันยังคงมีชีวิตอยู่ไปจนครบสัญญาประกันภัยตามที่ระบุในกรมธรรม์นั้นๆ

ประกันสุขภาพ คุ้มครองด้านค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล และเงินชดเชยรายได้เนื่องจากต้องนอนพักรักษาพยาบาล

ด้านระยะเวลาที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันรวมถึงระยะเวลาในการคุ้มครอง

ประกันชีวิต มีได้ทุกระยะเวลา แต่หากต้องการได้รับประโยชน์ในเชิงลดหย่อนภาษี ต้องซื้อแบบแผนประกันชีวิตตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และมีผลประโยชน์ตอบแทนคืน ไม่เกินปีละ 20% ของเบี้ยประกันชีวิตสะสม

ประกันสุขภาพ ขึ้นอยู่กับว่าทำแบบไหน ซึ่งสามารถทำได้หลายแบบ แบบปีต่อปี หรือแบบอิงตามระยะเวลาของประกันชีวิตหลักที่ประกันสุขภาพนี้เป็นส่วนเพิ่มเติม

ด้านของผู้ที่ได้ประโยชน์จากเงินสินไหม

ประกันชีวิต เงินประกันจะตกเป็นของผู้ที่ระบุชื่อในกรมธรรม์ว่าเป็นผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งอาจเป็นตัวเราเอง สามี ภรรยา บุตรหลาน หรือพ่อแม่ของผู้ที่เอาประกัน

ประกันสุขภาพ เงินประกันจะจ่ายให้ในชื่อผู้เอาประกันเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล หรือค่าชดเชยรายได้เท่านั้น

สรุป

สรุป

ทั้งประกันชีวิต และประกันสุขภาพมีประโยชน์ทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการซื้อ สุขภาพและความเสี่ยงของตัวเรา ต้องดูแลใครไหม มีรายได้แน่นอนหรือไม่ ป่วยบ่อยไหม งานที่ทำมีความเสี่ยงอุบัติเหตุแค่ไหน มีประกันสุขภาพกลุ่มซึ่งบริษัททำให้อยู่ไหม และความสามารถในการชำระเบี้ยประกันเรามีมากน้อยแค่ไหน ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญทั้งสิ้นในการที่จะดูว่าต้องซื้อประกันอะไร วงเงินแค่ไหน และคุ้มครองอะไรบ้าง ซึ่งก็ค่อนข้างจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่หลักๆ เลยก็คือ ถ้ายังมีครอบครัวต้องเลี้ยงดู และเป็นเสาหลักแหล่งรายได้หลักของครอบครัว เราควรมีทั้งประกันชีวิต และประกันสุขภาพเลยนะครับ เพื่ออนาคตที่ดี และมั่นคงของครอบครัว