ใครที่เคยเติบโตขึ้นมาในครอบครัวเกษตรกรย่อมจะเข้าใจความทุกข์ยากของชาวไร่ชาวนาเป็นอย่างดี และผลสำรวจยังพบว่าฐานะของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้ที่ลดลงและมีหนี้สินจำนวนเพิ่มมากขึ้นในทุกปี ทั้งยังมีแนวโน้มที่ประชากรรุ่นใหม่ๆ ในต่างจังหวัดอาจจะทิ้งอาชีพนี้กันเยอะขึ้นอีกด้วย

แต่ในทุกวันนี้ ปัญหาที่เกษตรกรไทยพบเจอนั้น กำลังมาสู่แสงสว่างแล้ว ด้วยการพัฒนาและก้าวไปให้พร้อมกับยุค 4.0 เป็นการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ไม่ได้ถูกทิ้งให้ล้าหลังไปกับยุค ด้วย ‘Smart Farming’ จะดีกว่าแค่ไหน เมื่อบ้านเรา ที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และครัวของโลก สามารถผลิต ส่งออกอาหารและของสด ที่มีคุณภาพและราคาที่เพิ่มสูงได้ ผักสดๆกรอบๆ ผลไม้หอมๆหวานๆ และการดูแลปศุสัตว์ที่ดีได้ ด้วย Smart Farming ที่ตอบโจทย์ทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกให้ดำเนินคู่กันไปได้

บทความนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนมารู้จักไปด้วยกันเกี่ยวกับ Smart Farming ว่าคืออะไร มีประโยชน์ต่อตัวเรา และมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง เพื่อสามารถนำมาปรับใช้และพัฒนา เพิ่มทั้งผลผลิต เพิ่มรายได้ ต่อเกษตรกรไทยนั่นเอง

รู้จักกับ Smart Farming

รู้จักกับ Smart Farming

จากสถิติในปีที่ผ่านๆมา ประเทศไทย ยังเป็นครัวโลกอย่างแท้จริง ทั้งในการผลิตอาหารกินเองในประเทศ ไปจนถึงการส่งออกสินค้า มีการเฉลี่ยค่า GDP ออกมาอยู่ที่ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ของประเทศเลยทีเดียว และรายได้ของประชาชนถึง 68 เปอร์เซ็นต์ก็มาจากการเพาะปลูกพืชผล จึงเห็นได้เลยว่า การเกษตรกรเป็นทั้งวิถีชีวิตของคนไทย และเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ

ซึ่งในส่วนของ ‘สมาร์ทฟาร์ม’ นั้น จะเข้ามาเติมเต็มส่วนการเกษตรแบบภูมิปัญญาไทย และความรู้จากบรรพบุรุษ มาประยุกต์เข้าสู่เกษตรแบบสมัยใหม่ ก็จะเข้ามาช่วยมากขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัย และเครื่องจักรที่มีความแม่นยำ เพื่อเป้าหมายในการเพิ่มผลผลิตที่มีประสิทธิภาพขึ้น และอนาคตที่ยั่งยืนของเกษตรกรไทยด้วย

ในตอนเริ่มต้นของสมาร์ทฟาร์ม นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อการเกษตรกรรมในประเทศไทยจริงๆ  ในยุค 2.0 นั้น รัฐบาลสนับสนุนให้ชาวไร่ชาวนาใช้เครื่องจักรเบา มาช่วยควบคุมระบบน้ำและแรงงานคน ทำให้มีการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี และใช้เครื่องจักรหนัก เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์การส่งออก แต่เมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างเต็มตัวแบบนี้ ก็มีการสนับสนุนเรื่องเครื่องจักรใหญ่ ในการผลิตและการขนส่งกันมากขึ้น ช่วยเกษตรกรมากขึ้นได้ในเรื่องการควบคุมคุณภาพสินค้า และความแม่นยำในการเตรียมเมล็ดพันธุ์ การเตรียมดิน ที่ส่งผลให้บ้านเราเข้าสู่ระบบฟาร์มอัจฉริยะ

สมาร์ทฟาร์ม จึงเป็นการทำการเกษตรแบบใหม่ ที่ทำให้เรือกสวนไร่นาของเกษตรกร มีภูมิคุ้มกันมากขึ้นต่อสภาพอากาศที่มักเปลี่ยนแปลง มีการนำข้อมูลของภูมิอากาศ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ย่อม ไปจนถึงระดับมหภาค มาช่วยในการบริหารจัดการ เพื่อดูแลพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ให้พร้อมรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลง

ซึ่งเทคโนโลยีแบบนี้ อาจพึ่งเริ่มเข้ามาสู่ไทยบ้านเรา แต่ต่างประเทศอย่าง ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และบางประเทศในยุโรป ก็เป็นที่นิยมกันมานานแล้ว ถือว่าแม้ความต้องการอาหารของประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างไร สมาร์ทฟาร์มนี่ล่ะ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ในสิ่งเหล่านี้

องค์ประกอบของ Smart Farming

องค์ประกอบของ Smart Farming

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราอาจได้ยินกันมาเรื่อยๆเกี่ยวกับ ‘สมาร์ทฟาร์ม’ ไม่ว่าจะเป็นการเกษตรสมัยใหม่ เทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร เพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพื่อประยุกต์เข้าสู่การผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ฟาร์มอัจฉริยะแบบนี้ สร้างความแตกต่างจากการทำการเกษตรแบบเดิมๆไปมาก และลดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย แต่กุญแจสำคัญที่ช่วยให้ระบบสมาร์ทฟาร์มของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้:

  1. ระบุตำแหน่งพื้นที่ในการเพาะปลูก
  2. การวิเคราะห์ข้อมูลและการแปรผล ตามระยะเวลาในการเพาะปลูก
  3. การจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม และใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการสิ้นเปลืองของทรัพยากรที่เหมาะต่อการเพาะปลูก

เมื่อเรามีองค์ประกอบที่กล่าวมาครบแล้ว ก็สามารถทำฟาร์มอัจฉริยะแบบแม่นยำได้มากขึ้น เมื่อผ่านการตัดสินใจจากข้อมูลที่ถูกต้อง ย่อมช่วยลดต้นทุนในการผลิต สร้างการผลิตที่ได้มาตรฐาน ควบคุมได้ในเรื่องคุณภาพ แล้วราคาก็จะสูงขึ้นไปได้ด้วยเช่นกัน

ประโยชน์ของ Smart Farming

ประโยชน์ของ Smart Farming

อย่างที่เราทราบดี สมาร์ทฟาร์มจะช่วย นำเอาเทคโนโลยี เข้ามาจัดการในเรื่องการเพาะปลูก ดูแล ไปจนถึงกระบวนการผลิต จึงช่วยให้ก้าวสู่การเกษตรเชิงธุรกิจเพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้มากขึ้น ยกระดับการเกษตรเพื่อลดต้นทุนในการผลิต ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืช เป็นการจัดส่งความรู้ เพื่อประยุกต์และพัฒนาได้อีกต่อๆไป เช่น

Smart Farming มีการควบคุมที่แม่นยำ

เมื่อมีการใช้เทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูง มาจัดการกับสภาพการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ อย่าง ฝน ฟ้า อากาศ อุณภูมิ ความชื้น ลมและแสงแดด ด้วยข้อมูลเรดาห์จากดาวเทียม จึงช่วยให้มีการเพาะปลูกพืชไร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักความชื้นและแร่ธาตุในดิน วางแผนการใส่ปุ๋ย และการให้ยากำจัดศัตรูพื้นได้ปลอดภัยมากขึ้น แบ่งเบาภาระและปัญหาของเกษตรกร  ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างแม่นยำ

Smart Farming มีการใช้โดรน

เมื่อก่อน การควบคุมสภาพการณ์จากที่สูงทำได้ยาก และเหมือนจะไกลตัวในเชิงการเกษตร แต่เมื่อมีบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆผุดขึ้นมามากขึ้น อย่างสกายวีไอวี ก็มีการพัฒนาโดรนตรวจสอบสภาพในเชิงลึก ตั้งแต่ไร่ขนาดเล็กไปจนถึงกลาง และโดรนปีกนก ที่เหมาะกับพื้นที่ใหญ่ๆ มากกว่า 100 ไร่ มีการตั้งโปรแกรมล่วงหน้าควบคู่กับ google map สร้างแผนที่สามมิติ ทำให้บินได้นาน สูง และไกลกว่า ได้ข้อมูลที่เสถียรโดยไม่ต้องมีคนบังคับ มีกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง ทราบสีใบไม้ที่มีสุขภาพดี สัดส่วนความอุดมสมบูรณ์ ไปจนถึงส่วนที่ต้องดูแลเป็นพิเศษได้ด้วย

Smart Farming มีระบบอัตโนมัติ

แม้การพัฒนาฟาร์มระบบอัตโนมัติไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ด้วยปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูง และความคุ้มค่า ทำให้ยังไม่มีการใช้อย่างกว้างขวาง แต่เมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร ด้วยระบบรดน้ำอัตโนมัติผ่านแอพพลิเคชั่นอย่าง Smart Farm Kit หลายต่อหลายฟาร์มจึงติดตั้งได้ด้วยราคาที่ประหยัดขึ้น เพียง 1000 บาท ก็ติดตั้งระบบได้ใน 1 ตารางกิโลเมตร ด้วยการควบคุมเปิด/ปิดน้ำตามเวลา ระบบเซ็นเซอร์สภาพอากาศ ที่สั่งการผ่านสมาร์ทโฟนเท่านั้น ช่วยทั้งประหยัดน้ำ และกระจายได้ดีกว่าสายยาง ลดภาระของเกษตรกรไปได้อีกมาก

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ คำแนะนำเกษตรกรยุคใหม่ ที่นี่

เหตุผลที่เกษตรกรยุคใหม่อย่างเรา เข้าใจและปรับตัว สู่สมาร์ทฟาร์ม

เหตุผลที่เกษตรกรยุคใหม่อย่างเรา เข้าใจและปรับตัว สู่สมาร์ทฟาร์ม

เช่นเดียวกับทุกอุตสาหกรรมและหลายๆอาชีพ หากไม่มีการใส่ใจและพัฒนา ก็อาจจะค่อยๆเลือนลางไปจากสายตาของสังคม ภาคการเกษตรในอนาคตก็เช่นกัน ดังนั้น สมาร์ทฟาร์ม’  หรือระบบฟาร์มอัจฉริยะ จึงเป็นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมารวมกับภาคการเกษตร เพื่อการแก้ปัญหา เป็นการเกษตรที่แม่นยำสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มคุณภาพผลิตผลิตและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้มากที่สุด

โดยสามารถใช้ได้ทั้งการเพาะปลูกหรือการเลี้ยงสัตว์ ดังนั้น เกษตรกรไทย จึงต้องก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง พร้อมเทคโนโลยีและวิทยาการที่มีประสิทธิภาพ เช่น ระบบการให้น้ำอย่างอัตโนมัติ การควบคุมอุณหภูมิ ตลอดจนความชื้นในพื้นที่เพาะปลูก ด้วยความใส่ใจผ่านแอพพลิเคชั่น ก็จะยังผลให้สามารถเพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพในการส่งออกและสร้างรายได้ต่อไป

นอกจากนี้ การใช้ ระบบสมาร์ทฟาร์ม ยังช่วยให้พืชเศรษฐกิจอย่าง ‘ข้าว’ ของชาวนาไทย ได้รับการดูแล ป้องกันโรคที่เกิดในนาข้าว ระบบเซ็นเซอร์เกี่ยวกับสภาพอากาศแวดล้อม หรือปริมาณความชื้นและน้ำฝนได้อีกด้วย ถึงแม้ยังอยู่ในระยะพัฒนาเริ่มแรก แต่คาดว่าอีกไม่นาน เราจะเห็นการขยายระบบที่มีประสิทธิภาพแบบนี้ ไปกับพืชไร่เพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตและปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น

จึงเห็นว่า การจับมือกันระหว่างเกษตรกรไทย กับเทคโนโลยีในปัจจุบัน ยิ่งสร้างการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดแน่ๆ รวมถึงเมื่อนักพัฒนา รับฟังปัญหาของเกษตรกรมากขึ้น สร้างการปรับตัวและความเข้าใจต่อกัน รับรองว่า ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ ที่เป็นชื่อเรียกบ้านเรานี้ ย่อมไม่เป็นรองชาติใดในอาเซียนอย่างแน่นอน หากใครอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญจาก MoneyDuck ได้ฟรี ที่ลิงก์ด้านล่าง