ได้บัตรเครดิตมาแล้ว!! หลายคนอาจดีใจ ยิ้มเบิกบาน ที่ได้เป็นเจ้าของบัตรพลาสติกนี้มาครอบครอง เอาไว้เป็นเครดิตให้ตัวเอง รูดซื้อของ ท่องเที่ยว ตลอดจนอุ่นใจยามป่วยไข้. ในปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้บัตรเครดิตจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆและเลือกใช้บริการบัตรแทนเงินสดนี้กันอย่างแพร่หลาย แต่เมื่อเลือกสินค้าที่ต้องการแล้ว ขณะที่เรายื่นบัตรเครดิตให้พนักงานขาย และรับสินค้าเดินออกจากร้านค้านั้น เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าเบื้องหลังของความสะดวกสบายและรวดเร็วเมื่อชำระด้วย บัตรเครดิตนี้ มีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรบ้าง? เจ้าบัตรเครดิตใบนี้ทำงานอย่างไร? เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากที่เรารูดบัตรเครดิตแต่ละครั้ง? ร้านค้าได้เงินจากบัตรเครดิตของเราอย่างไร? และธนาคารรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นหนี้บัตรเครดิตเท่าไหร่บ้างแล้ว? จึงน่าจะศึกษาข้อมูลกันไว้นั่นเอง
comzeal images/shutterstock.com
บัตรเครดิตและหมายเลขบัตร
บัตรเครดิต หรือ บัตรสินเชื่อ เป็นบริการที่สถาบันทางการเงินต่าง ๆ ออกให้แก่ลูกค้า เพื่อใช้จ่ายแทนเงินสด โดยบัตรเครดิตนั้น เป็นบัตรพลาสติกที่บนบัตรมีข้อมูลของผู้ใช้บัตร เช่น ลายเซ็น ชื่อ เป็นต้น บัตรเครดิตจะให้อำนาจแก่ผู้ถือบัตรในการซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการนั้นๆ และจะถูกเรียกเก็บในภายหลัง ในปัจจุบัน บัตรเครดิตสามารถใช้ได้ผ่านตู้ ATM ร้านค้าต่างๆ ธนาคาร และการชำระเงินออนไลน์. สามารถใช้ได้ตามจำนวนวงเงินบัตรที่อนุมัติหักออกด้วยค่าสินค้าและบริการที่ใช้จ่ายผ่านบัตร ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และหนี้สินคงค้างที่ยังไม่ได้ชำระ. หมายเลขบนบัตรเครดิตจะใช้ระบบหมายเลข ANSI Standard X4.13-1983 จำนวน 16 หลัก โดยเลขหลักต่างๆ จะมีความหมายแตกต่างกันไป ดังนี้
-หลักแรก คือ ผู้ให้บริการของบัตรเครดิตนั้นๆ (Payment Network) -เลข 3 หมายถึง บัตรที่ใช้สำหรับท่องเที่ยว เช่น อเมริกันเอ็กซ์เพรส และไดเนอร์สคลับ เป็นต้นโดย อเมริกันเอ็กซ์เพรส และไดเนอร์สคลับ จะเริ่มต้นหมายเลขด้วยเลข 37 และ 38 -เลข 4 หมายถึง บัตรเครดิตของผู้ให้บริการวีซ่า -เลข 5 หมายถึง บัตรเครดิตของผู้ให้บริการมาสเตอร์การ์ด -เลข 6 หมายถึง บัตรเครดิตท่องเที่ยว -หมายเลขหลักที่เหลือ (หลักที่ 2-16) จะมีโครงสร้างหมายเลขที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการของบัตรเครดิตนั้นๆ มีรายละเอียดดังเช่น --อเมริกันเอ็กซ์เพรส หมายเลขหลักที่ 3 และ 4 จะบอกถึงระดับชั้นของบัตร และสกุลเงินที่ผู้ถือบัตรมีบัญชีอยู่ เลขหลักที่ 5-11 หมายถึง เลขบัญชี ตัวเลขหลักที่ 12-14 คือ เลขที่บัตรในบัญชีนั้นๆ และตัวเลขหลักที่ 15 เป็นตัวเลขตรวจสอบ --วีซ่า หลักที่ 2-6 เป็นเลขแสดงธนาคารผู้ออกบัตร ตัวเลขหลักที่ 7-12 หรือ 7-15 เป็นเลขที่บัญชีของผู้ถือบัตร หลักที่ 13 หรือ 16 เป็นเลขที่ตรวจสอบ --มาสเตอร์การ์ด หลักที่ 2-3, 2-4, 2-5, 2-6 เป็นเลขแสดงธนาคารผู้ออกบัตร ซึ่งจะเป็นกี่หลักนั้นจะแบ่งประเภทและอ้างอิงโดยขึ้นอยู่กับหลักที่สอง ว่าเป็นเลข 1, 2, 3 หรืออื่นๆ เลขหลักต่อจากรหัสธนาคารถึงหลักที่ 15 เป็นเลขที่บัญชีของผู้ถือบัตร และหลักที่ 16 เป็นเลขที่ตรวจสอบ -เลข 3 หลักหลังบัตรเครดิต และแถบ MAGSTRIPE โดยปัจจุบัน ยังมีเลขด้านหลัง 3 หลักที่ไม่ได้พิมพ์นูน เพื่อใช้ในการอนุมัติการใช้บัตรทางอินเทอร์เน็ตอีกด้วย ส่วนแถบแม่เหล็กด้านหลังสีดำ หรือที่บางคนเรียกทับศัพท์ ว่า MAGSTRIPE นั้น คือ แถบแม่เหล็กที่เป็นเส้นแรงแม่เหล็กเรียงกันแน่น จนเห็นเป็นแถบดำยาวๆ ซึ่งเจ้าแถบแม่เหล็กนี้ เป็นตัวที่ทำให้เครื่องต่างๆ เช่น ตู้ ATM ฯลฯ สามารถอ่านข้อมูลของเราได้นั่นเอง
วิธีการใช้งาน
แบบทั่วไป
- เลือกสินค้าที่เราต้องการซื้อ
- คำนวณคร่าวๆ ว่าจะต้องผ่อนจ่ายรายเดือนเท่าไหร่จนกว่ายอดค้างชำระจะหมด
- ยื่นบัตรเครดิตของเราให้กับแคชเชียร์เพื่อชำระเงิน
- แคชเชียร์จะพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน และยื่นใบเสร็จให้เรากลับมาพร้อมบัตรเครดิต
- ตรวจสอบยอดชำระเงินบนใบเสร็จให้เรียบร้อย หากถูกต้อง ให้เซ็นใบเสร็จทั้งสองใบ คืนให้แคชเชียร์หนึ่งใบและเก็บไว้กับตัวอีกหนึ่งใบ
- เก็บใบเสร็จทั้งหมดของเราไว้ด้วยเพื่อตรวจสอบธุรกรรมทางบัตรเครดิตทั้งหมดได้
แบบออนไลน์
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ประกอบการค้าที่เรากำลังติดต่ออยู่นั้นมีความน่าเชื่อถือจริงๆก่อนที่จะตัดสินใจทำธุรกรรม
- ในหน้าชำระเงินและหน้าเช็คเอาท์สินค้า ดูให้แน่ใจว่าเว็บไซต์ของผู้ประกอบการมีความน่าเชื่อถือโดยการตรวจสอบ URL ของ
- เว็บไซต์ซึ่งควรเริ่มต้นด้วย https://
- ตรวจสอบใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตหรือ billing statement ของทุกเดือน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีข้อผิดพลาด หรือธุรกรรมใดๆที่น่าสงสัย
- อย่าส่งข้อมูลบัตรเครดิตผ่าน e-mail โดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูลจากแฮคเกอร์และโปรแกรมที่อาจเป็นอันตราย
ช่องทางการชำระเงิน
- สถาบันผู้ออกบัตรเครดิต
- จุดบริการรับชำระ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ เคาน์เตอร์เซอร์วิส ฯลฯ
- ธนาคารอื่นที่ระบุในใบแจ้งยอดหนี้
- หักบัญชีผู้ถือบัตรผ่านช่องทาง e-Banking, Mobile, ATM
ประเภทของบัตรเครดิต
ประเภทของบัตรเครดิตขึ้นอยู่กับการออกบัตรของแต่ละสถาบัน เช่น บัตรคลาสิค บัตรทอง บัตรแพททินัม เป็นต้น ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.Magnetic stripe เป็นแถบสีดาคาดอยู่ส่วนบนของด้านหลังบัตร จะมีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร 2.Chip โดยฝังลงบนบัตรด้านหน้าบัตร มีลักษณะสี่เหลี่ยมมุมมน ขนาดประมาณ 1 ตารางเซนติเมตร
ข้อควรระวัง
- เมื่อรับบัตรใหม่ให้เซ็นชื่อหลังบัตรทันที
- รักษาบัตรไว้เสมือนเป็นเงินสด
- ไม่เปิดเผยรหัสกับใคร และไม่เก็บรหัสไว้รวมกับบัตร
- ก่อนเซ็นชื่อบน Sales Slip ตรวจสอบจำนวนเงินถูก ต้องหรือไม่ ซึ่ง Sales Slip ก็คือ หลักฐานการรับชำระหนี้ (ใบเสร็จบัตรเครดิตที่ร้านค้าให้กับลูกค้า ทำขึ้น 3 ฉบับ คือ ฉบับลูกค้า, ฉบับร้านค้า, ฉบับธนาคาร)
- ตรวจสอบใบแจ้งยอดหนี้เทียบกับสำเนา Sales Slip ทุกครั้งอย่าตอบอีเมล์หรือ โทรศัพท์ที่ขอข้อมูลส่วนตัวโดยธนาคารไม่ได้ เป็นผู้ติดต่อ
การทำงานของบัตรเครดิต
กล่าวคือ ผู้ใช้สามารถนำบัตรมาซื้อ สินค้าและบริการได้ตามวงเงินที่ธนาคารอนุมัติ หลังจากผู้รับบริการได้ บัตรเครดิตแล้ว ผู้ขายหรือผู้ให้บริการจะต้องเช็คยอดที่จ่ายกับทางธนาคารก่อนและจะได้รับรหัสอนุมัติจากธนาคาร. โดยในสมัยก่อนร้านค้าต้องโทรศัพท์ไปที่ธนาคาร แต่ปัจจุบันนี้มีเครื่องรูดบัตรที่จะออนไลน์กับธนาคารเพื่อให้ได้รหัสอนุมัติได้ในทันที จากนั้นผู้ขายหรือผู้ให้บริการก็จะนำสลิปไปให้เจ้าของบัตรเซ็นชื่อ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเจ้าของบัตรจริงหรือไม่ โดยเทียบกับลายเซนต์ที่เซนต์ไว้ด้านหลังของบัตรเครดิต และเก็บสำเนาไว้เพื่อส่งให้ธนาคารตรวจสอบได้ในภายหลัง. บัตรเครดิตเองนอกจากจะเป็นที่นิยมในการซื้อสินค้าตามราคาทั่วไปแล้ว ยังนิยมในการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตอีกด้วย เมื่อมีการซื้อขายสินค้าผ่านบัตรเครดิต ผู้ใช้บัตรเครดิตจะต้องแสดงความสมยอมว่าการซื้อขายนั้นได้เกิดขึ้นจริง ด้วยการเซ็นชื่อในใบเสร็จ หากเป็นการซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้อาจจะกรอกราย PIN Number และหมายเลขบัตรเครดิต เพื่อเป็นการแสดงความต้องการในการซื้อขาย การชำระเงินคืนบัตรเครดิต เมื่อได้รับใบเรียกเก็บเงินจากบริษัทบัตรเครดิตหรือธนาคารผู้ออกบัตรแล้ว สามารถเลือกชำระได้สองวิธี คือ การชำระเต็มจำนวนภายในระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยส่วนใหญ่ 45-51 วัน แล้วแต่บริษัทหรือสถาบันการเงินที่ออกบัตร อีกวิธีหนึ่งคือการชำระเงินขั้นต่ำบางส่วน 10% ของยอดที่ใช้ โดยยอดค้างชำระของบัตรเครดิตจะกลายเป็นเงินกู้ที่เราจะต้องทำการผ่อนชำระเป็นงวดๆต่อมา. โดยการบริการและการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตจะแบ่งเป็นข้อๆได้ตามนี้
การยื่นบัตรเครดิตให้พนักงาน. ผู้ซื้อจะทำการยื่นบัตรเครดิตให้กับพนักงานขาย จากนั้นพนักงานขายจะนำบัตรเครดิตไปรูดที่เครื่องรูดบัตร (Electronic Data Capture: EDC) ซึ่งอาจจะเป็นของธนาคาร หรือ Non-bank แห่งอื่น ๆ ซึ่งเรียกว่า สถาบันผู้รับบัตร หรือ Acquirer
- เครื่องรูดบัตร จะส่งข้อมูลกลับไปยังสถาบันผู้รับบัตร
- สถาบันผู้รับบัตรจะส่งข้อมูลต่อไปยังศูนย์เครือข่ายบัตรเครดิต (เช่น VISA หรือ MASTER เป็นต้น)
- ศูนย์เครือข่ายส่งข้อมูลไปยังผู้ออกบัตร ซึ่งก็คือธนาคาร หรือ Non-bank ที่เป็นผู้ออกบัตรเครดิตนั้น ซึ่งเรียกว่า สถาบันผู้ออกบัตร หรือ Issuer เพื่อขออนุมัติการใช้บัตรเครดิต
- ผู้ออกบัตรแจ้งการอนุมัติไปยังศูนย์เครือข่าย สถาบันผู้ออกบัตรจะตรวจสอบวงเงินว่ามีเพียงพอหรือไม่ และแจ้งการอนุมัติกลับไปยังศูนย์เครือข่ายบัตรเครดิต
- ศูนย์เครือข่ายบัตรเครดิตจะแจ้งการอนุมัติกลับไปยังสถาบันผู้รับบัตร
- สถาบันผู้รับบัตรจะแจ้งการอนุมัติกลับไปยังร้านค้าเพื่อพิมพ์ใบบันทึกการขาย หรือ Sales Slip
- ผู้ซื้อตรวจสอบความถูกต้องของใบบันทึกรายการขาย หรือSales Slip ก่อนที่จะเซ็นชื่อ และเก็บ Sales Slip ไว้เป็นหลักฐานการชำระเงิน และเพื่อตรวจสอบกับใบแจ้งหนี้
- สถาบันผู้ออกบัตรจะจัดส่งใบแจ้งหนี้ให้ผู้ซื้อก่อนครบกำหนดชำระเงิน
- ผู้ซื้อต้องทำการชำระค่าใช้จ่ายตามยอดหนี้ที่ระบุในใบแจ้งหนี้ให้แก่สถาบันผู้ออกบัตรภายในเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นจะต้องเสียค่าดอกเบี้ยและค่าบริการต่าง ๆ
จะเห็นว่า บัตรเครดิต เปรียบเสมือนเงินสดเคลื่อนที่ซึ่งคนส่วนใหญ่นิยมใช้กันมากกว่าการพกเงินสดจำนวนมาก อีกทั้งยังมีไว้เพื่อใช้เป็นเงินฉุกเฉินในยามจำเป็นได้ด้วย ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่แทบทุกคนจะมีบัตรเครดิตพกเอาไว้ติดกระเป๋า โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่จะรู้วิธีใช้บัตรเครดิต รู้ว่ามันมีประโยชน์อะไรบ้าง นอกจากเอาไว้รูดซื้อของ แต่พอสิ้นเดือนมาก็จ่ายค่าบัตรเครดิตเวียนกันไป เพราะคนไทยในปัจจุบันมีบัตรเครดิตกันหลายใบ จนกลายเป็นปัจจัยในชีวิตที่ขาดไม่ได้ไปซะแล้ว แต่เพื่อความรอบครอบเราก็ควรใช้มันอย่างฉลาด รู้จักบัตรเครดิตให้มากขึ้น ว่ามันทำงานอย่างไร มีค่าใช้จ่ายใดบ้างในแต่ละใบ มิฉะนั้นหายนะในกระเป๋าอาจมาเยือนกันได้นั่นเอง
ปิยวรรณ
ก็ไม่เห็นอยากเลย เวลาจะจ่ายเงินก็แค่ให้เค้ากดในเครื่องรูด จากนั้นก็แค่เอาบัตรของเราแตะ แล้วก็กดรหัสผ่านหกตัว พอสลิปออกมาก็เสร็จแล้ว แต่ถ้าเป็นสมัยก่อน ก็ให้พนักงานเอาบัตรเราไปเสียบที่เครื่องรูดบัตร พอสลิปออกมาก็แค่เซ็นชื่อก็จบ ส่วนเวลาจ่ายซื้อของออนไลน์ เค้าก็จะส่งรหัส otp มาให้ แค่กด otp หลังจากนั้นก็ชำระได้ ง่ายมากๆ
Patcha
น่าสนใจสำหรับมือใหม่หัดใช้บัตรเครดิต เมื่อก่อนอาจจะยุ่งยากสักนิด แต่ตอนนี้สะดวกขึ้นมาก แตะปุ๊บจ่ายปั๊บ เงินเราก็หายออกไปด้วย การใช้บัตรเครดิตมันสะดวกมากก็จริง แต่อะไรก็ไม่น่าห่วงเท่ากับการใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง คนเป็นหนี้บัตรเครดิตก็เพราะการใช้จ่ายแบบนั้นน่ะแหละ สำคัญคือต้องมีวินัยในการใช้จ่ายกันด้วยค่ะ
วานิสา
แต่ก่อนเราก็เคยตื่นเต้นเวลาที่ใช้บัตรเครดิตจ่ายแทนเงินสดครั้งแรก ตอนนั้นเป็นอะไรที่เลิ่กลั่กมาเพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรยังไง แต่ดีที่มีพี่ชายไปด้วยทุกอย่างเลยตื่นเต้นน้อยลง555 ก็ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันว่าตื่นเต้นอะไรขนาดนั้น ทั้งที่วิธีการจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตไม่ใช่วิธีที่ยากเลย จนมาถึงปัจจุบันก็เชิ่ดๆเดินไปจ่ายด้วยบัตรเลยค่ะ ไม่ตื่นเต้นแล้ว555
บอย
ทำบัตรเครดิตไว้ก็ดีครับเพราะเดี๋ยวนี้ส่วนใหญ่เป็นสังคมไร้เงินสด ใช้จ่ายผ่านแอพ รูดบัตร อะไรก็ได้เวลาไปซื้อของที่ห้างก็จ่ายเงินผ่านบัตรไปเลยไม่ต้องเสียเวลานับเงิน ยังได้รับส่วนลดต่างๆจากการใช้จ่ายด้วย นอกจากนั้นยังใช้ผ่อนจ่ายสินค้าในกรณีที่ไม่อยากจ่ายเงินก้อนโต ในระยะเวลา 3,6หรือ10เดือนก็ว่ากันไปถ้าศึกษาดูให้ดีจะเห็นว่าข้อดีค่อนข้างเยอะครับ
รวีวรรณ
วิธีการชำระเงินคืนบัตรเครดิตไม่ยากหรอกค่ะ แต่ตอนรูดหรือแตะบัตรจ่ายค่าสินค้ามันง่ายกว่า555 แต่ก็ดีค่ะที่มีขั้นตอนต่างๆมาให้มือใหม่หัดใช้บัตรเครดิตได้อ่านกันก่อน จะได้เตรียมตัวเตรียมใจรับภาระที่มาพร้อมกับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตกันด้วยนะคะ อย่าลืมว่าเราแค่ยืมเงินจากบัตรเครดิตมาใช้ก่อน เมื่อถึงเวลาต้องจ่ายคืนด้วยค่ะ
กานพลู
ขอเพิ่มเติม เรื่องการ "การยื่นบัตรเครดิตให้พนักงาน" ก่อนนะ เรื่องนี้ต้องระวังมากๆเลย เพราะเราอาจถูกพวกมิจฉาชีพ copy บัตร ของเราได้นะ เราต้องคอยมองตามพนักงานด้วยนะว่าตอนนี้บัตรของเราไปอยู่ตรงไหนแล้วใครที่เกี่ยวข้องกับบัตรของเราในตอนนั้นด้วย แล้วถ้ารู้สึกว่าช้าผิดปกติ ต้องรับตามเลยนะอย่าคิดว่าไม่เป็นอะไรรอได้
กัสจัง
@ กานพลู เราเคยเจอคะ เรื่องการตามบัตรเครดิตที่เราให้กับพนักงานคะ เราไปซื้อของที่ห้างคะ เราจ่ายสินค้าด้วยบัตรเครดิต คะ ซึ่งพนักงานต้องเอาบัตรเราไปที่เคาเอตร์อีกที่ ทั้งๆที่ตรงนั้นก็มีอยู่คะ เรา ถามว่าทำไมไม่กดเครื่องนี้ พนักงานบอกว่าเครื่องเสีย เราเลยเดินตามไปด้วยคะ คือแบบว่าไม่น่าไว้ใจนะคะ แต่ก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นนะคะ แต่ระวังไว้ก็ดีคะ
แคน
บทความนี้เป็นประโยชน์กับผมมากเลยครับเพราะตอนนี้เพื่อนผมทำงานในร้านขายของแห่งนึง ซึ่งลูกค้ามักชอบจ่ายด้วยบัตรเครดิต เพื่อนเล่าให้ฟังว่ารู้สึกกล้าๆกลัวๆตอนจะใช้บัตรเครดิตกับเครื่อง verifone เพราะไม่เคยใช้มาก่อน เลยต้องให้พนักงานอีกคนช่วยสอนแต่ก็ยังไม่คล่อง ยังไม่ค่อยเข้าใจการจ่ายด้วยบัตรเครดิต จนได้มาอ่านบทความนี้ทำให้ผมพอเข้าใจคร่าวๆว่าขั้นตอนการจ่ายบัตรเป็นอย่างไร ขอบคุณมากครับ ผมจะไปแนะนำเพื่อนครับ
น้อย
จริงๆแล้วขั้นตอนเดียวกับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตนั้น จะช่วยทำให้เรารู้วิธีการใช้บัตรเครดิตอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์มากที่สุด เพราะการใช้บัตรเครดิตไม่ใช่แค่การเอาไปรูดซื้อของจากร้านค้าเท่านั้น แต่เราสามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์หรือผ่อนชำระสินค้าทางออนไลน์ได้ด้วย วิธีนี้ก็ทำให้เราได้รับสิทธิประโยชน์หรือแต้มสะสมเหมือนกันเราควรจะรู้ไว้
นรศฤงค์
ใช้บัตรเครดิตซื้อของออนไลน์ น่ากลัวมากเลยนะครับ ต้องระวังมากๆ ยิ่งถ้าเราไปใช้งานซื้อของออนไลน์ กับคอมฯที่ไม่ใช่ของเราแล้วต้องระวังจริงๆครับ ถ้าเป็นได้อย่าทำเลยครับ กลับมาที่บ้านแล้วค่อยทำดีกว่าครับ หรือถ้า จำเป็นจริงๆ ผมแนะนำให้ทำบัตรเครดิตเสมื่อนจริงครับ ปลอดภัยกว่าเยอะเลยครับ เพราะเรากำหนดเงินเท่ากับราคาสินค้าที่เราต้องจ่ายได้เลย แถมไม่ต้องกลัวเรื่องการถูกโขมยข้อมูลบัตรด้วยครับ
Deenee
@กัสจัง ก็เป็นเรื่องที่น่าระวังนะคะ ดีที่คุณมาเตือนแล้วก็มาเล่าถึงเรื่องนี้ ถ้าคุณไม่ได้เดินตามพนักงานคนนั้นไปก็ไม่แน่อาจจะถูกโกงก็ได้นะคะ ยังไงคนที่มีบัตรเครดิตเวลาไปจ่ายสินค้าหรือจ่ายค่าอะไรก็ตามก็ต้องเช็คให้ดีนะว่ายอดในสลิปที่เขาให้เราเซ็นตรงกับราคาสินค้าจริงไหม หรือการใช้บัตรเครดิตจ่ายค่าน้ำมันรถก็เหมือนกันต้องเช็คดีๆ