หากเราจะเอ่ยกันถึงเรื่องของประกันชีวิต แม้ว่าคนส่วนใหญ่ในทุกวันนี้จะเล็งเห็นถึงประโยชน์ของประกันชีวิต และหันมาซื้อประกันชีวิตกันมากขึ้น แต่พอมีตัวแทนมาขายประกันกันทีไร  ก็มักจะตอบว่ามีแล้ว มีเยอะแล้ว เพื่อเป็นการบอกปฏิเสธการขายไป ซึ่งนั่นอาจเป็นการปฏิเสธสิ่งดีๆที่คุณและครอบครัวควรจะได้รับเลยล่ะค่ะ เพราะความเข้าใจการมีประกันชีวิตนั้นน้อยคนนักที่จะรู้ว่าต้องมีมากขนาดไหนถึงเรียกได้ว่ามีเพียงพอแล้ว หรือมีเยอะเกินความจำเป็นแล้ว?

บางคนคิดว่าจำนวนของประกันชีวิตที่เหมาะสมสำหรับคนทำมาหากินทั่วๆไปที่ควรจะมีนั้น เต็มที่ก็น่าจะไม่เกิน 3 เล่มกรมธรรม์ต่อคนก็น่าจะเป็นการเพียงพอแล้ว  เพราะถ้ามากกว่านี้ก็คงจะไม่ดี รู้สึกเป็นภาระหนักแล้วล่ะ

ซึ่งแท้จริงแล้วการที่จะทราบได้ว่ามีเพียงพอแล้วหรือไม่นั้น เราไม่สามารถวัดจากจำนวนเล่มของกรมธรรม์ที่มี หรือจำนวนเบี้ยประกันที่จ่ายได้ค่ะ เราจำเป็นต้องใช้หลักเกณฑ์หลายอย่าง และปัจจัยอื่นๆเข้าช่วยในการเช็คว่าประกันชีวิตของเรานั้นมีเพียงพอแล้วหรือยังค่ะ ซึ่งในวันนี้เราได้นำบทความที่จะช่วยให้เพื่อนๆได้ทราบว่ามีอะไรบ้างที่จะทำให้เราได้รู้ว่ากรมธรรม์ที่มีอยู่นั้นมีเพียงพอแล้ว หรือยังต้องมีเพิ่มขึ้น และต้องเพิ่มอีกมากแค่ไหน ด้วยวิธีการที่ไม่ยากเลยค่ะ กับ ”เช็คกรมธรรม์ในแบบที่ใช่ ไม่ยากอย่างที่คิด” จะมีอะไรบ้างนั้น เราไปติดตามกันต่อได้เลยค่ะ

เช็คกรมธรรม์ ทุนประกันชีวิต ต้องมีเท่าไร

เช็คกรมธรรม์ ทุนประกันชีวิต ต้องมีเท่าไร

หลายๆคนคงจะทราบกันดีแล้วว่า คำว่า “ทุนประกัน” นั้นคือ จำนวนเงินที่ผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์จะได้รับจากบริษัทประกันเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น เป็นเหตุให้ผู้ถือกรมธรรม์ต้องถึงแก่ชีวิตนั่นเองค่ะ นอกจากนี้ทุนประกันก็ยังใช้เป็นมูลค่าตัวหลักที่ใช้ในการคำนวณผลประโยชน์ต่างๆให้แก่ผู้ถือกรมธรรม์ในขณะมีชีวิตอยู่อีกด้วย อาทิ เงินคืน เงินปันผล เงินครบระยะเวลาของตัวกรมธรรม์ ฯลฯ ทุนประกันนี้จึงจัดเป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุดของกรมธรรม์เลยก็ว่าได้ค่ะ

แม้ว่าทุนประกันนั้นจะมีความสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่ผู้ถือกรมธรรม์พึงได้รับ แต่น่าเสียดายที่มีผู้ถือกรมธรรม์จำนวนน้อยนักที่จะจำทุนประกันของตัวเองได้ค่ะ เพราะส่วนใหญ่นั้นจะจำกันได้แต่เบี้ยรวมต่อปีที่ต้องชำระเท่านั้นเองค่ะ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเรามักจะไม่ซื้อประกันชีวิตเพิ่มกัน เพราะมัวแต่ไปดูจากเบี้ยรวมที่จ่ายรายปีเท่านั้น แต่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องของทุนประกันว่ามีควรต้องมีมากเท่าใด ซึ่งหากเราอยากจะได้รับประโยชน์ที่คุ้มค่าจากการซื้อประกันชีวิตแล้วล่ะก็ อยากให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของทุนประกัน และหันมาเพิ่มทุนประกันให้มากเข้าไว้กันดีกว่าค่ะ

ในส่วนของทุนประกันชีวิต..ต้องมีเท่าไรถึงจะเรียกว่าครอบคลุมนั้น ที่เหมาะสมที่เราอยากจะขอแนะนำนั่นคือ อย่างน้อย 5 เท่าของรายได้รวมเราทั้งปีค่ะ  เช่น หากเรามีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน นั่นหรือ 600,000 บาทต่อปี เราควรมีทุนประกันชีวิต 600,000 × 5 = 3,000,000 บาทเป็นอย่างน้อยค่ะ ซึ่งเราควรพิจารณาเพิ่มทุนประกันชีวิตให้มีมากขึ้นกว่านี้หากว่าเรานั้นมีภาระหนี้สินค่ะ

เช็คกรมธรรม์ ที่ทำไว้ เป็นแบบไหน

เช็คกรมธรรม์ ที่ทำไว้ เป็นแบบไหน

ในปัจจุบันแบบประกันชีวิตประเภทสะสมทรัพย์เป็นแบบประกันที่คนส่วนใหญ่นิยมซื้อกัน มักจะมีเบี้ยประกันที่สูง แต่มีทุนประกันไม่มาก หรือบางทีอาจจะพอๆกับเบี้ยประกันที่จ่าย ซึ่งแบบนี้มักจะนิยมซื้อเพื่อเป็นการออมทรัพย์ หรือนำไปใช้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีประจำปี โดยที่ไม่เน้นในเรื่องของความคุ้มครองชีวิตค่ะ

มาถึงแบบประกันอีกรูปแบบหนึ่งสำหรับผู้ที่มีจุดประสงค์อยากทำประกันชีวิตไว้เพื่อมอบให้คนที่รักและห่วงใยในครอบครัวค่ะ แบบประกันประเภทนี้เรียกว่า แบบประกันตลอดชีพค่ะ แบบประกันตลอดชีพนี้มักจะเน้นความคุ้มครองที่สูงแก่ผู้ถือกรมธรรม์ โดยมีเบี้ยประกันที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับทุนประกันค่ะ ซึ่งแบบนี้เรียกได้ว่าทำไว้เพื่อเป็นมรดกให้คนที่เรารักจริงๆเลยล่ะค่ะ เพราะส่วนใหญ่แบบประกันตลอดชีพนี้จะให้ความครองแก่ผู้ถือกรมธรรม์ยาวนานจวบจนผู้ถือกรมธรรม์นั้นจะมีอายุถึง 85 หรือ 99 ปีกันเลยทีเดียวค่ะ

ที่นี้เราลองมาดูความแตกต่างของเบี้ยประกันกับทุนจากแบบประกันทั้งสองแบบที่เรากล่าวถึง ว่าจะมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใดกันค่ะ ยกตัวอย่างเช่น เพศชายอายุ 40 ปี แบบประกันตลอดชีพ 90/20 คือ ชำระเบี้ย 20 ปี คุ้มครองถึงอายุ 90 ปี เบี้ยต่อปี 33,730 บาท ได้รับทุนประกัน 1,000,000 บาท ในขณะที่แบบประกันประเภทสะสมทรัพย์ 12/4 รือ ชำระเบี้ยประกัน 4 ปี ระยะคุ้มครอง 12 ปี เบี้ยต่อปี 19,480 บาท ได้รับทุนประกันเพียง 20,000 บาท (อ้างอิงจากบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) https://www.scblife.co.th/Home/Index) เห็นได้ชัดว่าอัตราเบี้ยประกันและทุนประกันที่ได้รับทั้งสองแบบนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แบบประกันตลอดชีพนั้นจะให้ทุนประกันที่มากกว่า และมีเบี้ยที่ถูกกว่าแบบสะสมทรัพย์ ฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องทราบกันด้วยค่ะว่าแบบประกันที่ทำไว้ ... เป็นแบบไหน และตรงกับความต้องการของเราหรือไม่ค่ะ

เช็คกรมธรรม์ ความคุ้มครองชีวิต สิ้นสุดเมื่อไร

เช็คกรมธรรม์ ความคุ้มครองชีวิต สิ้นสุดเมื่อไร

สำหรับท่านที่มีประกันชีวิตกันอยู่แล้ว ลองค้นกรมธรรม์แล้วมาสำรวจกันดูหน่อยสิคะว่า แต่ละเล่มกรมธรรม์ที่ถือครองอยู่นั้นมีความคุ้มครองชีวิต…สิ้นสุดเมื่อไรกันบ้าง เพราะผู้คนโดยส่วนใหญ่นั้นมักจะนิยมซื้อประกันชีวิตกันแต่ที่มีตวามคุ้มครองไม่เกิน 60 ปี เพื่อเป็นเงินไว้ใช้ในยามเกษียณกัน นี่เท่ากับว่าเป็นการเปิดรับความเสี่ยงของตัวเองหลังอายุ 60 ปีนั่นเอง ซึ่งแท้จริงแล้วอายุหลัง 60 ปี เป็นต้นไป เราก็ยิ่งต้องให้ความสำคัญให้มาก เพราะเป็นช่วงชีวิตที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นในทุกๆปี แถมเปลี่ยนใจอยากจะมาซื้อประกันชีวิตเพิ่มในตอนนั้น ก็แทบจะไม่มีบริษัทไหนรับทำประกันแล้วล่ะค่ะ

แต่ถึงจะมีบางบริษัทที่ยังรับประกันอยู่ ก็จะมีขั้นตอนการพิจารณารับประกันที่ยุ่งยาก และยังมีราคาเบี้ยที่สูงมากอีกด้วยค่ะ เพราะฉะนั้นจึงอยากจะขอแนะนำว่า เราควรจะทำประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอย่างน้อยไปจนถึงเราอายุ 80 ปีติดเอาไว้บ้าง เพื่อจะได้มีความคุ้มครองที่ส่งไปถึงครอบครัว และคนข้างหลังที่เรารักค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับ “เช็คกรมธรรม์ในแบบที่ใช่ ไม่ยากอย่างที่คิด” ที่สามารถทำเองกันได้ไม่ยากสมกับชื่อบทความเลยใช่ไหมคะ รู้อย่างนี้แล้วก็ลองค้นกรมธรรม์ที่เรามีอยู่ แล้วค่อยๆพิจารณาดูว่ากันหน่อยสิว่า เหมาะกับตัวเรา และตรงกับวัตถุประสงค์ที่เราอยากจะได้จากการซื้อประกันชีวิตจริงหรือไม่ มีความครอบคลุมกับตัวเราและครอบครัวของเราเพียงพอแล้วหรือยัง เพียงเท่านี้เราก็สามารถมั่นใจได้แล้วว่าเรามีประกันชีวิตเยอะเพียงพอแล้ว เพราะคงจะไม่มีใครทราบคำตอบที่แท้จริงนี้ได้ดีเท่ากับตัวคุณอีกแล้วล่ะค่ะ หรือเลือกปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจาก MoneyDuck ได้ฟรี ที่ลิงก์ด้านล่าง

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การวางแผนเลือกซื้อกรมธรรม์ ที่นี่