‘Freelance’ หรืออาชีพอิสระที่คนรุ่นใหม่เลือกทำกันเยอะ เพราะข้อดีในเรื่องการบริหารจัดการเวลาได้เองแบบไม่ได้ถูกฟิกเหมือนงานประจำทั่วไป แต่ในข้อดีก็ยังคงมีข้อท้าทายที่เราต้องรับมือ เช่น ช่วงเวลาที่ไม่มีงาน รายได้ที่ไม่แน่นอน ลูกค้าจ่ายเงินล้าช้า หรือเหตุสุดวิสัยอื่นๆ หลายคนจึงคิดว่าการวางแผนและบริหารจัดการเรื่องการเงิน มันยากจนอาจเข้าขั้นทำไม่ได้เสียแล้ว

ชาวฟรีแลนซ์คนไหนที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มบริหารการเงินอย่างไรดี เมื่อต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงลิ่วในสมัยนี้ และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เข้ามาล่อตาล่อใจจากแผนเงินออม อย่าปล่อยให้การทำงานแบบฟรีแลนซ์มาทำให้ฝันของเรามันไกลไปจากความเป็นจริง

ลองมาเริ่มต้นด้วย 5 เทคนิคต่อไปนี้สิ แล้วคุณจะรู้ว่า ชีวิตในฝันและรากฐานที่มั่นคง เราๆชาวฟรีแลนซ์ก็ทำได้  มาดูกันเลย

1. ตั้งเป้าหมายเรื่องการทำรายรับ-รายจ่าย

1. ตั้งเป้าหมายเรื่องการทำรายรับ-รายจ่าย

การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ก็เป็นข้อมูลที่ช่วยเราสำรวจพฤติกรรมการใช้เงินได้ดีที่สุด เพื่อประมาณการณ์ได้ว่าเฉลี่ยแล้ว เราจะมีรายได้มาจากอะไรบ้าง มีรายจ่ายประมาณเท่าไหร่ สร้างแผนเงินออมอย่างไร พอรู้อย่างนี้แล้วจะลดจะเพิ่มตรงไหนก็ทำได้ไม่ยาก

ซึ่งสำหรับชาวฟรีแลนซ์ที่มีแผนอยากเก็บเงิน ซื้อรถ ดาวน์บ้านหรือผ่อนคอนโด การทำรายรับ-รายจ่าย ก็จะช่วยเราเก็บเงินในการทำตามฝันได้ง่ายขึ้น เพราะจะช่วยให้รู้ว่า ขณะนี้เรามีรายรับประมาณเท่าไร และต้องใช้จ่ายไปกับอะไรบ้างในแต่ละเดือน พอเห็นภาพรวม ก็จะสามารถคำนวณตัวเงินที่จะต้องเก็บออมให้ได้ แล้วก็หาทางเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย พอเราเพิ่มความสามารถในการออมได้มากขึ้น แน่นอนว่าโอกาสในการขอกู้สินเชื่อต่างๆ ก็จะมีโอกาสที่จะอนุมัติสูงขึ้นด้วย

2. แยกบัญชีให้ชัดเจนและมีความสม่ำเสมอ

2. แยกบัญชีให้ชัดเจนและมีความสม่ำเสมอ

การแยกบัญชีให้ชัดเจนและมีความสม่ำเสมอ ถึงเราจะทำงานฟรีแลนซ์และมีรายได้ที่ไม่ค่อยแน่นอน ก็ยังเริ่มลงมือในส่วนนี้ได้ ด้วยการหักเปอร์เซ็นต์จากรายได้ที่จะเข้ามาในแต่ละรอบ หรือประมาณร้อยละ 10-20% ของรายได้ โดยอ้างอิงจากความสามารถในการออมของแต่ละคน เช่น ถ้ามีรายได้จากงานงวดนี้ 6,000 บาท ก็ควรหักเพื่อออมประมาณ 600-1,200 บาท ซึ่งถ้าเดือนนั้นมีหลายงาน เราก็จะมีเงินออมเพิ่มขึ้นกว่าที่ตั้งเป้าไว้ได้ด้วย จึงช่วยเพิ่มทั้งวินัยในการออมของเรา และโอกาสกู้เงินจากธนาคารอีกด้วยเมื่อถูกประเมินเรื่องรายได้และอัตราการผ่อนชำระ

หรือแผนการเงินอย่างการแบ่งเงินออมออกเป็นส่วน ๆ เพื่อทำตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ เช่น บัญชีเพื่ออิสรภาพทางการเงิน , บัญชีเพื่อการท่องเที่ยว , บัญชีเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ , บัญชีสำหรับการให้ , บัญชีเงินออมในระยะยาว และ บัญชีสำรองค่าใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน ซึ่งในระยะแรกๆ ก็เลือกทำได้กันตามกำลังแต่พออยู่ตัวแล้วค่อยเพิ่มระยะเวลาที่เหมาะสมเข้าไปอีก เช่น จำนวนเงิน  100,000 บาท ภายในระยะเวลา 1 ปี ที่จะต้องเก็บออมให้ได้เดือนละประมาณ 8,400 บาทต่อเดือน เป็นต้น

3. มองหาการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูง

3. มองหาการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูง

ถ้าการโยนเงินเข้ามาเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์เฉย ๆ อาจจะยังไม่พอให้เราชื่นใจกับผลตอบแทน เมื่อคิดถึงอัตราเงินเฟ้อที่ดูทีท่าว่ายังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ ตัวเลือกเพิ่มเติมอย่าง บัญชีฝากประจำดอกเบี้ยสูง  ลงทุนกับกองทุน หรือหุ้นกู้ต่าง ๆ ในระดับความเสี่ยงที่เราเองรับได้ ก็จะทำให้เงินออมที่เราต้องการเก็บสะสมไว้ก็งอกเงยได้เร็วขึ้น แต่ชาวฟรีแลนซ์จะต้องศึกษารูปแบบการลงทุนนั้นให้ดีก่อนจะตัดสินใจลงทุน

ส่วนแผนออมเงินในรูปแบบที่ถือว่าความเสี่ยงต่ำแต่มีข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาแต่ถือเป็นเงินออมเอาไว้ใช้ยามเกษียณ อย่างเงินฝากประจำ ตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุน RMF , SSF หรือแผนประกันชีวิตแบบบำนาญอื่น ๆ ก็ยังน่าสนใจสำหรับชาวฟรีแลนซ์อีกเหมือนกัน เพราะเงินในส่วนนี้จะช่วยสร้างความมั่งคั่งในช่วงเวลาที่เราอาจเลือกวางมือจากการทำงานแล้ว  แถมในช่วงที่ยังมีรายได้เข้ามาแบบนี้ ก็ยังช่วยเราลดภาระในเรื่องภาษีอีกด้วย

4. ยื่นภาษีให้ถูกต้องเรียบร้อย

4. ยื่นภาษีให้ถูกต้องเรียบร้อย

ถึงภาษีจะเป็นเรื่องเข้าใจยาก และมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยสืบเนื่องมากจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะภาษีแบบหัก ณ ที่จ่าย ที่ชาวฟรีแลนซ์คุ้นเคย เช่น เดือน มี.ค. - ก.ย. 63 จะคิดที่อัตรา 1.5 % , ต.ค. - ธ.ค. 63 จะเพิ่มเป็น 2 % และปี 64 ก็จะคิดที่อัตรา 3% ดังเดิม.  ซึ่งจริงๆแล้วเรื่องภาษีเหล่านี้ ถ้าเราทราบรายละเอียดในเรื่องการขอคืนเงินและยื่นแบบได้อย่างถูกต้องเรียบร้อย สิ่งนี้ก็จะมีประโยชน์อย่างมากสำหรับคนทำงานฟรีแลนซ์ เพราะการวางแผนเพื่อจัดการกับภาษีเงินได้อย่างตรงเป๊ะ เราก็จะไม่ต้องเสียในส่วนของภาษีที่มากกว่าจำเป็นต้องจ่าย

เมื่อเราไม่มีสลิปเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้แบบคนที่ทำงานประจำ เวลาจะต้องไปแสดงหลักฐานกับทางธนาคารเพื่อขอสินเชื่อหรือการอนุมัติเงินกู้ต่างๆ การเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็จะเป็นหลักฐานที่เรามี เพื่อยืนยันว่าฟรีแลนซ์อย่างเราก็มีรายได้ตลาดทั้งปีเหมือนกัน ไม่ว่าจะ หนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ที่ลูกค้าออกให้เวลาจ่ายเงินค่าจ้าง แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ด.ง. 90)  รวมถึงพวกใบเสร็จรับเงินจ่ายเบี้ยประกัน  เอกสารในการซื้อกองทุนต่างๆที่มีสิทธิในการลดหย่อน  เอกสารรับรองบุตร จึงถือเป็นตัวช่วยดีๆ สำหรับเราในการขอคืนภาษีเงินได้และเพิ่มเงินออมอีกด้วย

5. เช็คสิทธิในสวัสดิการต่างๆ

5. เช็คสิทธิในสวัสดิการต่างๆ

เมื่อฟรีแลนซ์อย่างเราไม่มีนายจ้างประจำ ก็จะไม่มีสวัสดิการด้านรักษาพยาบาล เหมือนกับคนที่ทำงานประจำหรือข้าราชการ  ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่ทำให้ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ในช่วยระยะนึง เราก็คงจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากที่ไหนด้วย แค่คิดก็หนักใจแล้ว ไหนจะคนทางบ้านอีกล่ะที่ต้องดูแลอีก ดังนั้น การทำประกันสุขภาพ หรือประกันชีวิตดีๆสักใบ ให้กับตนเอง หรือคนในครอบครัว ก็จะเป็นหลักประกันที่สร้างความอุ่นใจได้ในเรื่องนี้

แต่สิทธิที่ฟรีแลนซ์มีแน่นอนและทำได้ คือ สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง โดยในเบื้องต้นเราก็สามารถโทรฯ ไปเช็กสิทธิได้ที่ 1330 สปสช. หรือสำหรับการทำประกันสังคมภาคสมัครใจ หากเราเคยเป็นลูกจ้างประจำที่หนึ่งที่ใด ก็ยังสามารถขอสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ ภายใน 6 เดือนหลังจากที่ลาออก หรือถ้ายังไม่เคยมีการสมัครในระบบประกันสังคมมาก่อน ก็ยังมีหลักผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่ขอสมัครได้ในสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ

เป็น Freelance เงินล้านในอนาคตได้ ต้องเริ่มจากแผนการออมที่เดินหน้าในวันนี้!

เป็น Freelance เงินล้านในอนาคตได้ ต้องเริ่มจากแผนการออมที่เดินหน้าในวันนี้!

5 เทคนิคที่คุยกันไป ก็ถือว่าเป็นแผนการณ์ดีๆ ที่ช่วยชาวฟรีแลนซ์อย่างเรามีรากฐานการเงินที่มั่นคง และสร้างเงินออมได้ในหลักแสนหลักล้านในอีกไม่ไกลเลยทีเดียว เพียงแค่เราต้องลงมือเดินหน้าต่อตั้งแต่วันนี้

นอกจากนั้น สิ่งที่ฟรีแลนซ์ทุกคนจะวางมือไปไม่ได้เลย ก็คือ การวางแผนเรื่องสำรองที่ต้องเก็บไว้ในยามฉุกเฉิน ซึ่งควรมีสำรองไว้อย่างน้อยประมาณ 6 -12 เท่าของรายได้โดยเฉลี่ยต่อเดือน เพราะหากช่วงไหนที่เราไม่มีรายได้เข้ามา ก็ยังมีไว้ใช้จ่ายและประคับประคองต่อไปให้ได้แบบไม่ลำบากจนเกินไป ซึ่งการมีเงินส่วนนี้ไว้ในบัญชี ก็ทำให้ธนาคารมั่นใจว่า ผู้กู้อย่างเราหากมีปัญหาหรืออุปสรรคเกิดขึ้น ก็จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผ่อนชำระหนี้ในอนาคตมากนัก โอกาสในการขอสินเชื่อก็ทำได้ง่ายขึ้นแม้เราจะเป็นฟรีแลนซ์ก็ตาม

เทคนิคดีๆ เหล่านี้จึงทำให้เราๆ ชาวฟรีแลนซ์สามารถบริหารการเงินและทำให้ชีวิตเดินหน้าต่อได้อย่างมั่นใจกว่าเดิม มีทั้งเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ เงินลงทุนเพื่อให้งอกเงย และวินัยในการออม เพื่อพร้อมจะก้าวสู่อิสรภาพทั้งการเงินและการทำงาน แบบที่ไม่แพ้มนุษย์เงินเดือนคนไหน ทำให้เงินทุกบาทที่หามาได้จากการทำงานก็จัดการได้อย่างคุ้มค่ากว่าเดิมอีกด้วย อ่านแล้วอยู่เฉยไม่ได้แล้วล่ะทุกคน!