จะโสดแบบตั้งใจ หรือ ไม่ตั้งใจก็ดี นับว่าตอนนี้เราก็กำลังมีเพื่อนๆที่โสดเหมือนกันในจำนวนไม่น้อยเลยล่ะค่ะ จากอัตราเฉลี่ยที่คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น การครองตัวเป็นโสดจึงเพิ่มขึ้นแบบต่อเนื่องตามไปด้วย.

แม้ใครจะตั้งเป้าหมายว่าอยากอยู่คนเดียวแบบชิลล์ๆไปยาวๆ หรือในอนาคตค่อยมาว่ากันใหม่ แต่สิ่งนึงที่เราไม่ควรมองข้ามและต้องวางแผนให้ดีตั้งแต่ตอนนี้ ก็หนีไม่พ้นเรื่องการเงิน-การลงทุน เพื่อชีวิตหลังวัยเกษียณ หรือ เข้าสู่ช่วงวัยที่รายได้ลดลงในอนาคต

การลงทุนในหุ้นจึงเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่หลายคนเริ่มหันมาเตรียมตัวกันแต่เนิ่นๆ เพื่อตอบโจทย์ชีวิตในอนาคตแบบฉบับคนโสด สวย(หล่อ) และรวยมาก แต่จะมีเทคนิคอะไรบ้างที่น่าจับตา ต้องเช็คสักหน่อยแล้วล่ะ

ก้าวเริ่มต้นในการออมหุ้น

ก้าวเริ่มต้นในการออมหุ้น

ทั้งสำหรับคนโสดหรือคนที่มีครอบครัวแล้ว ก็ยังคงใช้สโลแกนเดียวกัน คือ “ออมก่อน รวยก่อน” เพียงเริ่มจากการกันเงินเพื่อมาซื้อหุ้นในแต่ละเดือน นอกเหนือจากการฝากเงินในธนาคาร โดยอาจเริ่มต้นด้วยจำนวนสัก 10% ไปก่อนก็ได้

จากนั้นให้ศึกษาหุ้นตัวที่ต้องการลงทุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ดี ตามความเสี่ยงที่เราพอรับได้ รวมไปถึงการเริ่มลงทุนอย่างมีวินัยและมีแบบแผนชัดเจน เช่น ซื้อหุ้นอย่างต่อเนื่อง ในทุกๆ วันที่ 5 ของเดือน โดยอาจกำหนดให้ธนาคารตัดเงินในบัญชีเดือนละ 3,000 บาท เพื่อลงทุนในตรงนี้ตามความเหมาะสม

ปิดท้ายด้วยการตรวจสอบแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อดูว่าสิ่งที่เราลงทุนไปนั้นมีผลการดำเนินงานเป็นเช่นไร มีโอกาสในขยายการลงทุนตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ โดยยิ่งอายุเพิ่มขึ้นเราก็อาจจะเพิ่มจำนวนการออมตามไปด้วย  เลือกปรับลดความเสี่ยงให้เหมาะสมในทุกๆ  3 ปี  หรือ เลือกการลงทุนในหลายๆ แบบเพื่อกระจายความเสี่ยง แล้วค่อยเพิ่มจำนวนวงเงินในสิ่งนั้นค่ะ

การลงทุนตามช่วงวัย

การลงทุนตามช่วงวัย

การจัดพอร์ตลงทุนอย่างมีแบบแผนตามช่วงวัยของตน จะช่วยให้เราเดินทางไปสู่ความมั่นคั่งได้ดีที่สุด โดยสำหรับวัยทำงานที่อยู่ในช่วงอายุ 21 - 30 ปี ถือเป็นตัวเลขที่ได้เปรียบที่สุด  ไม่มีภาระรับผิดชอบมากนักและมีกำลังในการหารายได้ จึงสามารถลงทุนพื้นฐานดีที่มีความเสี่ยงสูงได้ถึง 90% ของรายได้

ช่วงวัย 31 - 40 ปี แม้หน้าที่การงานเราจะมั่นคงแต่ก็ถือว่ายังมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ระดับความเสี่ยงในการลงทุนจึงควรลดลง โดยอาจเลือกลงทุนในหุ้นด้วยจำนวน 50% และเลือกการกระจายความเสี่ยงด้วยวิธีอื่นควบคู่กันไป. ต่อมา คือ ช่วงวัย 40 ปีขึ้นไป จนถึงช่วงก่อนการเกษียณอายุ โดยมากจะเป็นผู้ที่มีวินัยในการลงทุน จึงควรเน้นการเก็บออมในจำนวนเงิน 70% ในที่ๆมีความปลอดภัยสูงอย่างเงินฝากธนาคารหรือตราสารหนี้ ส่วนอีก 30 % ยังสามารถเลือกการลงทุนในหุ้นแบบระยะยาว เพื่อการเพิ่มจำนวนเงินออมและเงินที่จะใช้ลงทุนในอนาคต

ส่วนช่วงวัยเกษียณ หรือ อายุ 55 ปีขึ้นไป อาจต้องรับมือกับค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นตามวัย เงินออมกว่า 90% จึงควรมั่นใจว่าไม่มีความเสี่ยงใดๆเลย แต่ก็ใช่ว่าจะลงทุนในหุ้นไม่ได้ เพราะบางท่านก็อาจจัดสรรงบสัก 10% เพื่อการลงทุนแบบไม่ให้กระทบฐานะการเงินโดยรวมค่ะ ซึ่งเรายังสามารถปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมตามเงื่อนไขและข้อกำกัดอื่นๆ ได้อีก ลองไปพิจารณากันดูนะคะ

ปรับสมดุลพอร์ตด้วย Rebalance

ปรับสมดุลพอร์ตด้วย Rebalance

ในกระทู้ Pantip มักถามกันมาบ่อย ว่าการปรับพอร์ตด้วยวิธี ‘Portfolio Rebalancing’ นับว่าดีไหม?!  ขอตอบเลยค่ะว่า การปรับพอร์ตลงทุนให้ตรงตามเป้าหมายและระดับความเสี่ยงที่เรารับได้นั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ เช่น คนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง อยากลงทุนในหุ้นจำนวน 50% ในปีแรกที่เริ่มลงทุน ถ้าปีนั้นตลาดหุ้นพุ่งขึ้นสูงแบบทะยานฟ้า สัดส่วนของหุ้นในพอร์ตก็จะเติบโตเร็วเป็น 70-80% จึงมีความเสี่ยงโดยรวมที่สูงขึ้นตาม ซึ่งหากสถานการณ์พลิกกลับหุ้นเกิดตกอย่างแรง พอร์ตก็จะเสียหายหนักได้

การปรับสมดุลของพอร์ตลงทุน หรือ Rebalance จึงเป็นการปรับให้สัดส่วนของสินทรัพย์นั้น ให้กลับมาอยู่ในนโยบายการลงทุนที่ได้จัดสรรไว้ตั้งแต่ต้นในระยะยาว โดยการขายสินทรัพย์ประเภทที่เกินสัดส่วนเดิมออกไป และเติมพอร์ตเสมอโดยซื้อสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนต่ำกว่าให้กลับมาอยู่ในจำนวนเท่าเดิม

ข้อดี จึงเป็นการรักษาขนาดของพอร์ตลงทุนให้คงที่เกือบตลอดเวลา ป้องกันความเสี่ยงได้ดี และสร้างผลตอบแทนที่มั่นคง และเรายังมีโอกาสที่จะซื้อถูกขายแพงสูง เพราะเป็นการซื้อเมื่อหุ้นตก และขายเมื่อหุ้นขึ้น แต่อาจจะมีข้อเสียอยู่บ้าง คือ การใช้เวลาในการดูแลพอร์ตเยอะกว่าแบบ DCA และ VA หรือ ต้องมีเงินก้อนใหญ่เพื่อใช้เริ่มลงทุน โดยมีเงินสำรองไว้ 40 – 60% ของมูลค่าเงินลงทุนค่ะ

Tips ง่ายๆ ควรกำหนดช่วงเวลาการปรับพอร์ตในทุกไตรมาส หรือ ทุกปี, กำหนดเป้าหมายในการปรับพอร์ต เช่น เมื่อมีกำไร 10-20 % จะต้องปรับพอร์ต 1 ครั้ง หรือหากยังไม่ทำการปรับพอร์ตก็ต้องต้องทำใน 6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาจากระดับความเสี่ยง สถานะทางการเงินของตน และการคาดการณ์เศรษฐกิจในอนาคตที่อาจเปลี่ยนแปลงค่ะ

กลยุทย์ในการลงทุนและความรัก

กลยุทย์ในการลงทุนและความรัก

ไหนๆ ก็เข้าข้างคนโสดกันมาแล้ว จึงอยากบอกว่ากลยุทธ์ของการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น ยังคงมีความคล้ายคลึงกับเรื่องมุมมองความรักในอีกไม่น้อย เช่น บางคนบอกว่าการไม่มีคู่นั้นคือจุดอ่อน ก็ขอให้เราเปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งเอาซะเลย มองว่าความโสดเป็นชีวิตที่มีอิสระเสรี จุดไหนที่เคยเจ็บปวดอย่างพอร์ตติดลบ-หุ้นติดดอย ก็ลองมานั่งทบทวนดูอย่างจริงจัง เพื่อกำจัดจุดอ่อนแล้วสร้างจุดแข็งในสไตล์การลงทุนที่เหมาะกับตัวเรามากขึ้น โดยไม่ซื้อตามเพื่อนๆในหมู่สังคมออนไลน์เพียงเท่านั้น

กรอบแนวรับและแนวต้านเพื่อขายทำกำไร หรือขายทิ้งไปก่อนเพื่อป้องกันความเสี่ยงนั้น ยังคงใช้ได้ในเรื่องความรักด้วย ชีวิตมันสั้นถ้าเรามั่นใจและอยากเก็บเกี่ยวความสุขไว้ก็ต้องลุย แต่ในขณะเดียวกันบางความสัมพันธ์ก็ไม่ควรที่จะรั้งเอาไว้ ถ้ารู้ว่าไม่ใช่ก็ควรรีบตัดสินใจถอยออกมา จนเมื่อวันไหนที่เราสามารถปรับตัวตั้งหลักได้อีกครั้ง ก็จะโสดแบบสุขๆ และเตรียมพอร์ตให้พร้อมที่จะรอตะลุยหุ้นตัวต่อไปค่ะ

Cut Loss / Stop Loss เพื่อฝึกวินัยการลงทุนของตนและขายหุ้นออกเพื่อลดการขาดทุนไปให้มากที่สุด ความรักก็ยังเป็นเช่นนั้น ถ้าเรารู้ว่าไม่ใช่ก็ควรหยุดเพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งคู่ไปเจอคนที่ดีกว่า โดยไม่เจ็บหรือถลำลึกไปมากกว่านี้ เพราะการยื้อเอาไว้จะทำให้เราเริ่มต้นใหม่ได้ยากกว่า

หรือแม้แต่ Let Profit Run สำหรับหุ้นที่สร้างผลตอบแทนดี และมีผลกำไรเติบโตเป็นขาขึ้น หากเราเจอคนที่ใช้ก็จะต้องทุ่มเทและทะนุถนอมความรักนั้นให้ดีที่สุด ไม่อย่างนั้นก็อาจจะกลับมาเป็นโสดอีกครั้ง. และสุดท้าย เรื่องของการลงทุนจะขาดไปไม่ได้ คือ DCA(Dollar Cost Average) หรือ การลงทุนแบบถั่วเฉลี่ยเป็นประจำในทุกเดือน เราจะต้องประคับประคองความรักให้ดี มีความเสมอต้นเสมอปลาย และไม่เปลี่ยนแปลงแม้สภาพการณ์อาจแกว่งๆไปบ้างนั่นเอง

โสดแต่ปังสุด เพียงเริ่มจากพอร์ตที่ใช่ในวันนี้!

โสดแต่ปังสุด เพียงเริ่มจากพอร์ตที่ใช่ในวันนี้!

หนุ่ม-สาวคนไหนที่โสดโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ อ่านบทความนี้แล้วคงเห็นความสำคัญของการออมและการลงทุนมากขึ้นนะคะ เพราะเราคงไม่สามารถทำงานไปเรื่อยๆ และใช้จ่ายไปแบบไม่ได้คิดถึงวันข้างหน้าได้เลย. การลงทุนในหุ้นโดยเริ่มจากพอร์ตที่ใช่ ถือว่าตอบโจทย์มาก และคนโสดอย่างเรายังสามารถรวยจากหุ้นได้แบบสุดปังโดยไม่ต่างไปจากคนมีคู่สักเท่าไหร่ด้วย เพียงเริ่มจากการออมหุ้นอย่างสม่ำเสมอ  ออมก่อนก็รวยก่อน  เข้าใจหลักการลงทุนตามช่วงวัยเพื่อมีกินมีใช้ไปถึงวัยเกษียณ  ตรวจสอบและวัดระดับความเสี่ยงในการลงทุนที่เราพอรับได้ ปรับสมดุลพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ จะวิธี Rebalance ก็น่าสนใจไม่น้อย และท้ายที่สุดคือ การศึกษาและทำความเข้าใจกลยุทธ์ในการลงทุนเป็นอย่างดีค่ะ

ซึ่งก็หวังว่าเพื่อนๆชาว MoneyDuck ของเราไม่ว่าจะโสดอีกกี่ปี หรือ มีคนรู้ใจอีกครั้ง จะยังสามารถบริหารพอร์ตหุ้นให้เติบโตและเตรียมพร้อมด้านการเงินแบบฉบับคนสวย(หล่อ) และรวยมากกันนะคะ

แต่หากใครสนใจอยากปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางการเงินของ MoneyDuck โดยตรง ก็ติดต่อเข้ามาได้เสมอ แล้วพบกันใหม่บทความหน้า สวัสดีค่ะ:)