เพื่อชีวิตอันแสนสุขในยามเกษียณ ระหว่างทางก็สามารถเพิ่มเงินออมจากการลงทุนในระยะยาว และวางแผนเพื่อประหยัดภาษีในแต่ละปีได้ด้วย เราต้องไม่พลาดที่จะรู้จักกับ 2 กองทุนคู่แฝดซึ่งมีความคล้ายคลึง และขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์สถานการณ์เฉพาะบุคคลได้เป็นอย่างดี คือ ‘กองทุนรวมเพื่อการออม’ หรือ SSF [Super Savings Fund] และ ‘กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ’ หรือ RMF [Retirement Mutual Fund]
เพราะก่อนที่เราจะตกลงปลงใจไปกับใคร ก็คงอยากจะทำความรู้จักเขาคนนั้นให้มากขึ้นซะก่อน!! จึงต้องมาเช็คกันหน่อยแล้วค่ะ กับข้อมูลที่จะช่วยให้เราตัดสินใจได้อย่างฉลาดจากการลงทุนในกองทุนรวม SSF และ RMF
ความเหมือนที่แตกต่างของ SSF และ RMF
กองทุน SSF ถือว่าเป็นตัวตายตัวแทนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ที่ได้สิ้นสุดลงไปเมื่อ 2 ปีก่อน ดังนั้น จึงบอกได้ว่า กองทุนรวม SSF ก็ได้ออกมาโลดแล่นในตลาดมาสักพักแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยจนถึงปานกลาง สามารถเข้าสู่การออมในระยะยาวเพิ่มมากขึ้น
เพราะ SSF ลงทุนได้ในหลักทรัพย์ทุกประเภท สามารถนำมาลดหย่อนภาษีสูงสุด 30 % หรือ ไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับการออมเพื่อการเกษียณอื่นๆแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทในแต่ละปีภาษี
ไม่มีกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ ไม่ต้องซื้อแบบต่อเนื่องในทุกปี แต่ระยะเวลาการถือครองต้องไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ และเปิดให้เริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่ปี 2563 - 2567 ค่ะ
ส่วน กองทุน RMF ที่พึ่งมีการ Update หลักเกณฑ์ใหม่มาตั้งแต่ปี 63 และจัดเป็นกองทุนเพื่อการส่งเสริมให้คนวัยทำงานสามารถออมเงินในระยะยาวเพื่อใช้จ่ายในยามเกษียณ พร้อมแรงจูงใจคือสิทธิประโยชน์ในด้านภาษีที่ปรับสัดส่วนจาก 15 % เป็นลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30 % หรือ ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับการออมเพื่อการเกษียณอื่นๆ
และยกเลิกการกำหนดจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ ที่จากเดิมกำหนดให้ซื้อไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี เป็นจำนวนใดที่ต่ำกว่านั้นได้ แต่ยังคงกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี(เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี) ระยะเวลาถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ซื้อ และจะขายได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ค่ะ
แต่ละกองทุนเหมาะกับใคร
เมื่อเข้าใจความหมายของกองทุนรวมทั้ง 2 แบบแล้ว การที่เราจะเลือกแฝดคนพี่ หรือ แฝดคนน้องดี คราวนี้คงต้องมาดูที่ความต้องการและเป้าหมายในการลงทุนของเราแล้วล่ะค่ะ
กองทุนรวม SSF จะเหมาะสำหรับ...
- ผู้มีเงินได้ที่อยากออมเงินแบบระยะยาว โดยการลงทุนพร้อมลดหย่อนภาษี
- ยอมรับเงื่อนไขของ SSF และสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้
- มีเงินเย็น และสามารถจัดพอร์ตเพื่อกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ หรือ อสังหาริมทรัพย์
และ SSF จะมีทั้งกองทุนที่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายปันผล ตัวเราเองจะต้องมีวินัยในการออม เพราะเป็นการลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปค่ะ
ส่วนกองทุนรวม RMF จะเหมาะสำหรับ..
- บุคคลที่มีเงินได้ซึ่งต้องการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี และออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณอายุ
- เป็นผู้ที่เข้าใจและยอมรับเงื่อนไขของ RMF โดยจะต้องไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณอื่นมาก่อน
- มีเงินเย็น และสามารถจัดพอร์ตเพื่อกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ ทองคำ หรือ อสังหาริมทรัพย์
โดย RMF ในทุกกองทุนจะไม่มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้ในระหว่างทาง ตัวเราเองยังต้องมีวินัยในการออมอย่างสม่ำเสมอ และพร้อมสำหรับการลงทุนแบบระยะยาวจนอายุครบ 55 ปีค่ะ
หมายเหตุ
กองทุนรวมในทั้งสองแบบ การผิดเงื่อนไขการลงทุน คือ “ซื้อเกินสิทธิ” ซึ่งจะมีผลตอนขายคืน และกำไรที่ได้เกินมา ในเฉพาะส่วนที่เกินสิทธิ จะต้องนำไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีด้วย
ขั้นตอนเลือกลงทุนใน SSF/RMF อย่างฉลาด
หลังจากเข้าใจหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และเช็คความพร้อมสำหรับแต่ละท่านกันแล้ว ตอนนี้ก็มาขึ้นกลยุทธ์ในการลงทุนสำหรับขั้นตอนที่เราจะลงมือเลือกหา SSF/RMF อย่างฉลาดกันแล้ว โดยควรเริ่มจาก..
เช็คเงินลงทุนในกระเป๋าโดยคำนวณจากรายได้ในแต่ละปี
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้สม่ำเสมอ ก็จะง่ายหน่อยเพราะเราสามารถมองออกว่ารายได้ที่จะต้องเสียภาษีในแต่ละปีนั้นจะอยู่ที่เท่าใด อยู่ในฐานภาษีไหน ก็จะทราบเงินทุนในกระเป๋าที่แน่นอน แต่ถ้าเป็นอาชีพอื่น หรือ ฟรีแลนซ์ ก็อาจลองดูคร่าวๆจากรายได้ในปีก่อนหน้า และคำนวณว่าจะซื้อเพิ่มได้เท่าใดถ้าเห็นว่ามีรายได้เพิ่มมากขึ้น
เลือกกองทุนที่ใช่ แล้ววางแผนต่อเพื่อการลดหย่อนภาษี
การที่เราศึกษาข้อมูลของ SSF/RMF อย่างละเอียดแล้ว ก็จะสามารถเปรียบเทียบและตัดสินใจได้ว่ากองไหนถึงจะเหมาะกับตน เช่น นโยบายการลงทุน ลงทุนในสินทรัพย์ใด-สัดส่วนเท่าไหร่ จำนวนผลตอบแทนย้อนหลัง รวมถึงเรื่องค่าธรรมเนียม และการจ่ายเงินปันผล
โดยถ้าเป็นกรณีมีเงินปันผล เงินก้อนนั้นเรายังจะถูกหักภาษีด้วย จึงต้องมานั่งคิดอีกว่าควรเลือกแบบหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% หรือ Final Tax สำหรับผู้ที่มีฐานภาษีมากกว่า หรือเท่ากับ 10% จะได้ไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มอีกในปลายปี หรือ แบบที่สอง คือ หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และนำเงินปันผลมารวมเป็นเงินได้ 40(8) เพื่อเสีย/ขอคืนภาษี สำหรับผู้ที่มีฐานภาษีน้อยกว่า 10% จะได้มาขอคืนทีหลังด้วย
การลงสนามจริงโดยเปิดบัญชีกองทุน
ขั้นตอนสุดท้าย คือ การลงสนามจริงเพื่อเปิดบัญชีกองทุน โดยเริ่มจากเตรียมเอกสารให้พร้อม ทั้งสำเนาบัตรประชาชน และ สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีธนาคารที่ต้องการหักบัญชี/โอนเงินเข้า แล้วไปติดต่อที่สาขาของ บลจ.ที่เราต้องการซื้อกองทุน หรือ ตัวแทนจำหน่ายกองทุนที่ได้รับการอนุญาต รวมไปถึงช่องทางออนไลน์อย่างเว็บไซต์/แอพพลิเคชั่น
โดยอาจเริ่มต้นทยอยลงทุนในวิธีแบบ DCA หรือ การลงทุนอย่างสม่ำเสมอในจำนวนเงินเท่าๆกันตามช่วงเวลาที่กำหนด เช่น ทุกวันที่ 25 ของเดือนๆ ละ 1,000 บาท ที่จะเหมาะกับมือใหม่หรือผู้ที่ไม่มีเวลาติดตามข่าวสารการลงทุนทุกวัน ส่วนอีกวิธี คือ การลงทุนแบบเงินก้อน ที่จะต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์เพื่อดูทิศทางของตลาดแล้วเลือกการลงทุนในจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นในระดับมือโปรขึ้นมาค่ะ. แต่ไม่ว่าจะเป็นเป็นเวอร์ชั่นไหน ก็คือ เราจะได้เริ่มลงทุนและนำไปลดหย่อนภาษีได้ และเพิ่มแต้มต่อเป็นเงินออมสำหรับวัยเกษียณอีกด้วย
ออมเพื่อลงทุนแบบระยะยาวพร้อมประหยัดภาษี SSF และ RMF คู่แฝดตัวใหม่ช่วยคุณได้!
อ่านมาแล้วถึงตรงนี้ หวังว่าทุกคนจะรู้จักกับเงื่อนไขและข้อกำหนดของทั้ง 2 กองทุนกันมากขึ้นนะคะ ใครถูกใจหรือชอบแบบไหน ก็ลองไปเปรียบเทียบและเลือกซื้อกันได้ตามอัธยาศัย ไม่ว่ากองไหนก็ดีทั้งนั้น เพื่อเราจะสามารถเริ่มต้นการออมในระยะยาว พร้อมๆกับการลดหย่อนภาษีกันได้
ทั้งกองทุนรวม SSF และ RMF จึงถือว่าเป็นคู่แฝดตัวใหม่ที่หลายคนหลงรักพี่แต่เสียดายน้อง เพราะช่วยเราประหยัดภาษีได้มากเลยในแต่ละปี แต่ก็จะต้องติดตามสถิติการลงทุนด้วยว่าควรซื้อในช่วงไหนถึงจะได้ราคาหน่วยลงทุนในช่วงที่ถูกที่สุดค่ะ. ถ้าใครยังไม่แน่ใจก็อาจลองวิธีที่ง่ายที่สุด คือ ค่อยๆทยอยลงทุนอย่างมีวินัยเพื่อเส้นชัยแห่งความสำเร็จค่ะ เพียงเท่านั้น ทุกคนก็สามารถเป็นเจ้าของกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และไปต่อได้อย่างตลอดรอดฝั่งกันแล้ว. ขอให้ทุกคนได้พบเจอสิ่งดีๆกับทางที่เลือกนะคะ สวัสดีค่ะ :)
สุรางค์
อ่านเรื่องพวกกองทุนพวกนี้แล้ว เอาว่าเท่าที่เราอ่านมา เข้าใจประมาณ 40% น่าจะได้ ที่เข้าใจได้แค่นี้ไม่ใช่ว่าคนเขียน เขียนไม่ได้นะคะ เขียนดีมากๆคะ แต่เราเองเพิ่งเข้ามาในกองทุนแบบนี้คะ เบยต้องศึกษา หาความรู้ความเข้าใจจากหลายๆที่คะ แต่บางครั้งเราก็งงๆคะ เพราะบางทีให้รายละเอียดเรื่องกองทุนไม่ค่อยจะตรงกันเท่าไร เลยไม่รู้ว่าจะเชื่ออันไหนดี
ชัยวัฒน์
กองทุนรวม SSF และ RMF เป็นตัวเลือกที่ดี ในช่วงโควิดแบบนี้เลยครับ ผม เคยคิดที่จะเอาเงินเก็ยไปลงทุนทำร้านอาหารนะครับ แต่ มาเขอโควิดแบบนี้ หยุดเลยดีกว่าครับ เข้ามาอ่านบทความนี้ สนใจนะครับที่จะลงทันกับ กองทุนรวม SSF และ RMF นี้ครับ ผมว่าความเสี่ยงไม่น่าจะมีนะครับ แถมช่วงนี้สามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย สิครับ
ชัชchawarn
อ่านดูแล้ว ผมว่าน่าสนใจทั้งสองตัวเลยครับ กองทุนรวม SSF และ กองทุนรวม RMF มีวัตถุประสงค์ต่างกัน ซึ่งก็ดีนะเพราะคนที่สนใจลงทุนกับกองทุนรวมก็มีความต้องการไม่เหมือนกัน บางคนอยากออมระยะยาว บางคนอยากออมระยะสั้น มีกองทุนรวมมาแนะนำและให้รายละเอียดกันอย่างนี้ คนที่กำลังอยากลงทุนประเภทนี้เข้ามาอ่านจะได้ความรู้ไปเยอะเลยครับ
วิทวัช
อยากเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนนะครับ คิดว่า น่าจะได้อ่านเพิ่ทเติมนะครับ เขา มีกองทุนอีกตัวที่มีชื่อว่า กองทุน ETF ครับ อันนี้ก็น่าสนใจนะครับ เพราะว่ามีกองทุนที่น่าสนใจหลายๆตัวเลยนะครับ กองทุน ETF ตัวนี้ เหมาะกับคนที่อยากจะจับหุ้นตัวที่ดีๆนะครับ คิดว่าเดียวพี่เขาก็น่าจะเขียนเกี่ยวกับกองทุนนี้แน่นอนครับ กองทุนที่น่าจับตามากๆ
รพีพร
ช่วง 1ปีที่ผ่านมา ดูจากตัวเรื่องของการลงทุนแล้ว ค่อนข้างได้รับผลกระทบจาก เรื่องของ โควิด-19 เป็นอย่างมาก เราคิดว่าเรื่องการลงทุนในกองทุนทั้งสอง ก็น่าจะมีผลกระทบไปด้วยนะคะ ยังไง ถ้าใครที่กำลังมองหากองทุนเพื่อนหวังว่าจะได้กำไร เราคิดว่าช่วงนี้คงต้องตรวจสอบให้เยอะกว่าทุกครั้งเลยคะ ตลาดบ้านเราตอนนี้มันอยู่ในช่วงขาลงนะคะ
Piyapat
คนที่สนใจอยากจะลงทุน เราว่าไม่น่าจะตัดสินยากนะคะเพราะว่ารูปแบบการลงทุนของกองทุนรวม SSF และ กองทุนรวม RMF ไม่เหมือนกัน ความตั้งใจของนักลงทุนเป็นแบบไหนก็เลือกลงทุนกับกองทุนนั้นล่ะค่ะ อยากได้กองทุนระยะยาวหรือระยะสั้นก็เลือกเอาได้เลย ยังไงเก็บเงินเอาไว้เป็นทุนสำรองบ้างนะอย่าเพิ่งเอาไปลงทุนจนหมด จะได้มีเงินใช้ค่ะ
วิไลลักษณ์
ใช่ๆ วัตถุประสงค์ ในการลงทุนไม่เหมือนกันทั้ง2กองทุน แล้วคราวนี้ก็อยู่ที่เราแล้วละคะ ว่าจะเลือกกองทุนแบบไหนที่เหมาะกับเรา เราเองก็เล็งกองทุนที่เป็นของSSF เอาไว้นะคะ แต่ก็ยังไม่คิดว่าจะซื้อกองทุนในตอนนี้คะ คิดว่าถ้าซื้อตอนนี้มันเสี่ยงมากเท่านั้นเองเลยคิดว่า รอดูจนถึงต้นปีหน้าจะดีกว่าคะ ให้ โควิดมันเบาๆ ลงกว่านี้ก่อนค่อยตัดสินใจอีกรอบคะ
buaกชสร
เคยเห็นชื่อกองทุนมาหลายตัว เพิ่งมาเห็นชื่อกองทุนแฝดนี่ล่ะค่ะ มาเป็นแฝดอย่างนี้ก็เลือกยากสิ แล้วส่วนใหญ่เขาเลือกกองทุนไหนกันล่ะคะ เราไม่ค่อยรู้เรื่องกองทุนมากนักหรอก ปกติเข้าไปอ่านตามบทความหรือคอมเม้นท์ของคนโน้นคนนี้ ยังไม่กล้าลงทุนด้วยตัวเองเลยสักที บอกตามตรงว่ากลัวขาดทุนค่ะ มีใครอยากแนะนำเพิ่มเติมมั้ยคะ