‘อยากแต่งงานต้องเตรียมเงินเท่าไหร่!’ ‘จัดงานอย่างไรไม่ให้อายใคร แต่ก็ไม่ต้องแบกรับหนี้ก้อนโต!’ เพราะช่วงเวลาก่อนเตรียมงาน ตลอดมาจนงานวิวาห์ผ่านพ้นไป เรื่องของความรักก็มักมีเรื่องของเงินๆ ทองๆ เข้ามาเอี่ยวแน่
สำหรับคู่รักที่วางแผนแต่งงาน แม้ความรักจะตีราคาไม่ได้ แต่มีหลายคู่เลยล่ะ ที่ราคาของรายจ่ายที่ไม่ได้เตรียมพร้อม ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาในระยะยาวหลังจากเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว
เพื่อจะรับมืออย่างฉลาดแต่เนิ่นๆ การเตรียมเงิน เตรียมตัว และเตรียมใจ จึงจะทำให้ความรักของคุณสุกงอมและหอมหวานไปได้ยาวนาน วันนี้เราจะเอาใจคู่รักด้วย 5 ข้อคิดเด็ด เพื่อการเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่ประตูวิวาห์ค่ะ มีอะไรน่าสนใจบ้าง ตามมาเช็คลิสกันเลย
1. เรื่องการวางแผนงบประมาณ
เก็บเงินแต่งงาน เป็นอะไรที่คนเริ่มเป็นแฟนกันมักจะคิดเรื่องนี้กันไว้บ้างแล้ว เพราะการจัดงานแต่งงานไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ งบประมาณที่วางแผนล่วงหน้า ก็จะช่วยให้ไม่เกิดปัญหาค่าใช้จ่ายจากงานแต่งงานที่บานปลาย จึงต้องคุยกันก่อนว่า ต้องการระยะเวลาในการเก็บเงินเท่าไหร่ถึงจะพร้อม รู้ความคาดหวังของกันและกันในเรื่องงบที่ตั้งไว้ จำนวนแขกที่เชิญ ไปจนถึงหน้าตาของงาน เช่น
การแต่งกายตามประเพณี : แหวนแต่งงาน 50,000 บาท, ชุดพิธีหมั้นและชุดแต่งงานของบ่าวสาว 30,000 บาท, ชุดเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว 10,000 บาท, ดอกไม้เจ้าสาว 5,000 บาท และ ค่าจ้างช่างแต่งหน้า-ทำผม 20,000 บาท
ค่าจัดงาน: ค่าเช่าสถานที่และอาหารในงาน 100,000 บาท, เค้กแต่งงาน 5,000 บาท, การ์ดเชิญ 10,000 บาท , ของตกแต่งในงาน 30,000 บาท, ค่าช่างภาพและตัดต่อวีดีโอ 35,000 บาท ค่าดอกไม้ประดับ 20,000 บาท, แสง-เสียง/ ดนตรีและนักร้อง 50,000 บาท
แม้จำนวนเงินจาก Wedding Budget ที่กล่าวไป อาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ตามลักษณะของงาน แต่ค่าใช้จ่ายที่รวมประมาณ 365,000 บาท คู่รักก็จะต้องใช้เวลาในการเก็บเงิน เฉลี่ย 10,000 บาท/เดือน เป็นจำนวน 3 ปี โดยอาจเลือกเปิดบัญชีออมทรัพย์ เพื่อเก็บเงินสำหรับงานงานโดยเฉพาะ และควรเป็นบัญชีที่ต้องมีลายเซ็นทั้งคู่ในการถอนด้วย
ซึ่งงบประมาณนี้ยังไม่ได้รวมค่าสินสอด (ดูบทความ “มนุษย์เงินเดือนที่มีรัก จะเอาตัวรอดในเรื่อง 'สินสอด' อย่างไรให้ผ่านฉลุย!”) หรือรายได้จากผู้ใหญ่ที่สมทบทุนช่วย และเงินจากซองงานแต่ง แต่ก็ต้องกันเงินอีกจำนวนนึงเพื่อเป็นงบประมาณในยามฉุกเฉินหน้างานด้วย ใครสนใจไฟล์เพื่อลงรายละเอียดที่ปรับให้เหมาะกับงาน ก็ดาวน์โหลดได้ที่ >> Wedding budget planner
2. รายละเอียดของงานที่ต้องนั่งคุยกัน
หากฝั่งใดฝั่งหนึ่งมีคอนเนคชั่น หรือสปอนเซอร์ที่ช่วยส่งเสริม งานแต่งในฝันของคุณก็ยิ่งลดต้นทุนไปอีกขั้น เช่น เพื่อนที่ออกแบบการ์ดเชิญในราคาพิเศษ ช่างภาพ/ช่างทำผมฝีมือดีที่รู้จักกัน หรือออแกไนเซอร์ที่จัดงานได้แบบมีคุณภาพและราคาประหยัด. และช่วงนี้เราเห็นหลายงานที่มี พิธีหมั้นเช้า แต่งบ่าย การจัดงานแนวนี้ก็ช่วยเซฟค่าใช้จ่ายได้ดี โดยงานเช้ามักจะเชิญญาติๆและแขกผู้ใหญ่มาเป็นสักขีพยาน และทานอาหารกันที่ร้าน ส่วนงานบ่ายที่รวมอาฟเตอร์ปาร์ตี้ ก็จะเป็นกลุ่มเพื่อนๆของคู่บ่าวสาวและมีบรรยากาศเป็นกันเอง เสิร์ฟอาหารแนวสตรีทฟู้ด ที่มีรสชาติดี คอนเซ็ปต์เก๋ เหมามาเป็นร้าน ก็สร้างความน่าสนใจมากกว่าโต๊ะจีนที่คิดเป็นหัวและมีราคาสูง
และสิ่งที่วัดระดับความประทับใจ ก็ไม่ได้อยู่ที่ขนาดของงาน แต่เป็นบรรยากาศที่อบอุ่นต่างหาก จึงต้องนั่งลงคุยกันให้ดี ถ้าใครชอบงานเล็กๆ แต่ทำให้บรรยากาศของงานน่าจดจำ อบอวลไปด้วยความรัก ก็ไม่ต้องพึ่งออแกนไซเซอร์แพงๆ หรือคู่ไหนที่มีงบประมาณไม่สูงนัก ก็อาจเลือกสถานที่เป็นร้านอาหารหรือสวนสวยๆ แทนการเช่าโรงแรมหรู แล้วเน้นเชิญครอบครัวและกลุ่มเพื่อนสนิท ก็จะไม่หมดเงินก้อนโตไปแบบน่าเสียดายค่ะ
3. การก่อหนี้และหนทางลดหนี้
ใครมีงบงานแต่งไม่อั้นจะจัดงานให้ใหญ่โตขนาดไหนก็ไม่มีใครว่า แต่ถ้าเงินในซองที่จะได้จากงาน ประมาณการณ์แล้วอาจจะน้อยกว่าเงินค่าจัดงาน และยังต้องกู้มาเพิ่มเพื่อใช้จ่ายด้วย ชีวิตหลังแต่งงานของทั้งสองคนก็อาจจะต้องกอดคอกันแน่นๆสักหน่อย เพื่อให้ไปต่อได้อย่างตลอดรอดฝั่ง
เรื่องการก่อหนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่เล็ก และอาจเป็นจุดชนวนที่ชวนทะเลาะและไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันจนบางคู่ก็จบไม่สวย ทางที่ดีจึงต้องคุยให้ชัดเจนก่อนแต่งว่า แต่ละคนมีภาระหนี้เท่าไหร่ จะต้องสร้างหนี้จากงานแต่งอีกไหม และอีกฝ่ายจะแบ่งเบาภาระหนี้ของกันได้อย่างไร ยิ่งเมื่อทั้งสองคนแต่งงานกันแล้ว จะมาแยกหนี้ฉัน หนี้เขา ก็ไม่ได้ มันจะเหลือแค่หนี้เรานี่ล่ะ จึงต้องช่วยกันประคับประคองในส่วนนี้ หรือแบ่งจำนวนในการชำระหนี้ตามสัดส่วนของรายได้แต่ละฝั่งค่ะ
4. สินสอดและเงินเก็บที่งอกเงย
สินสอดที่ผู้ใหญ่แบ่งให้ ก็คือ ทุนในการเริ่มต้นชีวิตของคนทั้งคู่ เมื่อมีเงินในส่วนนี้ก็จะต้องคุยกันอย่างเปิดเผยว่าควรนำไปใช้เพื่อใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ เช่น 50% เพื่อลูก ก็ควรเก็บในบัญชีที่ถอนยาก ความเสี่ยงต่ำ ไม่เผลอหยิบออกมาใช้ก่อน, 45% เพื่อเป็นเงินสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือเอาไว้เพื่อลงทุน ก็ควรทิ้งไว้ในพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงพอรับได้ทั้งสองฝ่ายและเบิกใช้สะดวก, ส่วนอีก 5% ก็อาจเอาไปฮันนีมูน หรือซื้อความสุขเป็นโบนัสได้ค่ะ
และหลายคนยังใช้วิธีแบ่งเงินเป็น 3 กอง คือ เงินส่วนของเรา เงินส่วนของเขา และเงินกองกลางที่ช่วยกันเสริม. ซึ่งเงินของฝั่งไหนจะใช้จ่ายในเรื่องส่วนตัวก็ได้ แต่ส่วนของกองกลาง จะต้องเป็นเงินที่ใช้สำหรับค่าใช้จ่ายหลักในบ้าน และหนี้ที่เกิดขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายที่ตกประมาณเดือนละ 20,000 บาท ก็จะต้องควักกระเป๋ามาไว้กองกลางคนละ 10,000 บาท หรือแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ตามรายรับ แล้วทำเป็นบัญชีที่แยกไว้ต่างหาก จะได้ไม่ต้องมาทะเลาะกันว่าเงินหายไปไหน ทำไมหนี้ไม่ลด เงินออมไม่เพิ่ม โปร่งใสไว้ก่อนก็จะดีที่สุดค่ะ
5. อนาคตที่ต้องจับมือร่วมกันสร้าง
ก่อนแต่งแต่ละคนก็ต่างมีความฝัน แต่หลังแต่งแล้วย่อมต้องเป็นความฝันและอนาคตที่ร่วมกันสร้าง จะได้รู้ว่าควรจับมือกันมุ่งไปในทางไหน และตอนนี้ควรลงมือทำอะไร เช่น การเก็บเงินเพื่อดาวน์รถ ผ่อนบ้าน ทริปในฝัน หรือหาเฟอร์นิเจอร์มาตกแต่งบ้านเพิ่มเติม ชีวิตของทั้งคู่ จึงต้องคิดให้รอบคอบและวางแผนการใช้จ่ายอย่างประหยัด เพื่อเพิ่มรายได้และทำให้ฝันเป็นจริงเร็วที่สุด
ไม่ควรให้ความชอบของแต่ละคนมาทำให้ฝันที่ร่างเอาไว้เป็นจริงไม่ได้สักที และระบบการเงินในครอบครัวก็แทบจะพังยับเยินด้วย เช่น การคิดว่าเงินของฉันๆจะซื้ออะไรก็ไม่ผิด ฝ่ายชายชอบรถก็แต่งรถ ซื้ออุปกรณ์กีฬาทีละหลายตังค์ หรือฝ่ายหญิงก็ยังช้อปเพลิน ประโคมของแบรนด์หรู ก็ทำให้ยากที่ทั้งสองฝ่ายจะแคร์ในเป้าหมายเดียวกัน และเดินไปได้อย่างพร้อมๆ กัน จนอาจเกิดหนี้รุงรังไม่สิ้นสุดตั้งแต่ก่อนแต่งจนหลังแต่งอีกด้วย
การเงินและแผนอนาคตของชีวิตคู่ เป็นความสำเร็จที่ต่อยอดมาจากความรัก!
งานวิวาห์คืองานที่สำคัญมากในชีวิต แต่เราก็ไม่ควรทำให้ชีวิตหลังจากงาน ต้องมาแบกภาระของค่าใช้จ่ายที่เกิดเพราะขาดการวางแผนเรื่องการเงิน และอนาคตของชีวิตคู่ที่ต้องจับมือกันเดินต่อไป ความสำเร็จที่ต่อยอดมาจากความรักในตรงนี้ จึงต้องมีการวางแผนให้รอบคอบอย่างที่คุยกันไปทั้ง 5 หัวข้อ
ยิ่งจากคู่รัก กลายเป็นครอบครัว และเพิ่มเข้ามาด้วยสมาชิกตัวน้อยในอนาคต ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มเข้ามาอีกในหลายส่วน เราจึงไม่ควรละเลยการวางแผนการเงินให้ดี ทั้งก่อนแต่ง และหลังแต่ง เพื่อความสุขในระยะยาวของการใช้ชีวิต หวังว่าผู้อ่านทุกท่านที่มีรัก ก็จะคงจะประคับประคองความรู้สึกดีๆ ในช่วงเวลาที่มีกันแบบนี้ และนำสิ่งที่ได้ยกมา ไปลองคุยกันและปรับเข้าหา เพื่อการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในทุกรูปแบบทุกสไตล์ค่ะ
Joker.45
บทความนี้ดีมากนะครับแนะนำได้ดี ผมเองก็กำลังวางแผนจะแต่งงานอยุ่เหมือนกัน แต่ช่วงนี้ตั้งแต่มีโควิดนี่ต้องคิดหนักเลย เพราะว่าเศรษฐกิจช่วงนี้แย่มาก บทความนี้พูดถึงการเตรียมการที่ดีมาก ผมได้ประโยชน์มากจริงๆ ตอนแรกก็ยังมืดแปดด้านว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง...ตอนนี้รู้แล้ว คงต้องรอดูสักพักเลยว่าโควิดจะเป็นยังงัยต่ิอแล้วค่อยคิดเรื่องแต่งงาน
นิสา
ชอบจังที่บทความนี้บอกว่า "อนาคตที่ต้องจับมือร่วมกันสร้าง" อันนี้เราเห็นด้วยอย่างมากเลยคะ แต่งานมาเป็นครอบครัวกันแล้วก็ต้องสร้างอนาคตของครอบครัว แต่เรื่องนี้ก็ไม่ง่ายเลยนะคะ เพราะคู่บางคู่ก็ต้องมีภาระทางการเงินที่่ตัวเองสร้างขึ้นมาก่อนที่จะแต่งงานด้วยกัน ตรงนี้แหละที่ต้องคุยกันให้ชัดเจนก่อนตั้งแต่จะมาอยู่ร่วมกันว่าจะจัดการยังไง
ชยน
ส่วนใหญ่เงินที่จะใช้เยอะที่สุด คือตอนที่เราจัดงานเลี้ยงแหละ อันนี้หมดเงินไปหลายบาทมาก บางคู่ก็ต้องไปขอกู้เงินจากญาติมาเพื่อจัดงาน บางคนยังต้องทำงานหนักเพื่อจ่ายหนี้ก้อนนี้อยู่เลย เอาว่าถ้าเราสามารถจำกัดคนที่เข้าร่วมงานได้เอาแค่ญาติๆที่เราสนิทด้วย รับรองเลยครับว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้ของเราจะลงลงไปมากเลยทีเดียวครับ
Verapol
พูดถึงแต่งงานผมนึกถึงพวกออร์แกไนซ์ที่จะงานแต่ง คิดค่านุ้นนี่นั่นทีแพงมากเลย... แล้วผมดูข่าวนะส่วนใหญ่ถ้าเจอดีก็ดีไป แต่ถ้าเจอแบบจัดแบบง่อยๆเนี่ยพังเลยนะ งานแต่งในชีวิตยิ่งมีครั้งเดียวอยู่ด้วย เห็นใจคนสมัยนี้นะ จะแต่งงานกันทีก็แสนจะลำบาก ต้องจ่ายนี่นั่นเยอะไปหมด สมัยก่อนจัดกันง่ายๆ ไม่เหมือนกันเลยกับสมัยนี้