หลายๆคน คงเคยมีความคิดกับตัวเอง หรือวางแผนเป็นขั้นๆเกี่ยวกับการใช้เงิน เช่น อยากซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ อยากไปเที่ยวต่างประเทศ จะเก็บเงินยังไงดี , ต่อไปแต่ละเดือนจะใช้เงินจำนวนแค่ไหนถึงจะพอ และเหลือเก็บบ้าง เพื่อเราจะยิ้มออกและมีความสุขเมื่อถึงเป้าหมายที่ต้องการ. แล้วเงินเก็บล่ะ เราก็ต้องเตรียมพร้อมไว้ด้วย จะไปเก็บไว้ที่ไหนที่น่าจะดีกว่าบัญชีออมทรัพย์ธรรมดาๆ หรือกลัวว่าจะดึงออกมาใช้ก่อน คำตอบคือ ไม่ว่าเราจะเก็บเงิน หรือ จะไปลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ตาม จะขึ้นอยู่กับเป้าหมายและระยะเวลาในการลงทุน หากเป้าหมายการเงินของเรามีความสำคัญมากๆและมีระยะเวลาการลงทุนไม่ยาวมากนัก เราก็ไม่ควรนำเงินไปเสี่ยง แต่หากเป้าหมายการเงินของเรามีระยะเวลาที่นานขึ้น อยากสะสมเงินไว้ใช้ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ก็สามารถกระจายไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้นได้ เพื่อให้มี “โอกาส” ในการรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เราจึงต้องเลือกสินทรัพย์ที่ลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายตั้งแต่ตอนนี้ ไปดูกันเลย

อยากมีรายได้ประจำ

อยากมีรายได้ประจำ

หากเราต้องการที่จะมีรายได้ประจำ เป้าหมายประเภทนี้ต้องใช้เงินลงทุนในจำนวนที่สูงด้วย เพื่อให้มีกระแสเงินสดกลับมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างเพียงพอ ดังนั้น กองทุนรวมที่เหมาะสม คือ กองทุนรวมประเภทที่มีเงินปันผล, กองทุนรวมประเภทขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ และกองทุนหุ้น ที่ดูแล้วน่าจะตอบโจทย์และทำผลตอบแทนได้ดี เช่น

ABSM – เป็นกองทุนที่จะเน้นในการลงทุนกับหุ้นขนาดเล็กถึงกลาง ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตสูงในอนาคตได้ โดยเราอาจจะเลือกจากหุ้นที่ยังมีราคาไม่แพง หรือถูกกว่ามูลค่าพื้นฐาน โดยเน้นการลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดีและทำผลตอบแทนได้ในระยะยาว

BTP – แน่นอนว่ากองทุนจากบัวหลวงนี้ก็เป็นที่น่าจับตามอง โดยเลือกจากหุ้นจำนวนไม่มาก ประมาณ 10-11 ตัว แต่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ เน้นการเติบโตได้ แต่ถึงจะมีดูแล้วว่ามีความเสี่ยง แต่ทางบริษัทก็ได้พิสูจน์แล้วว่า หุ้นที่เลือกมาเป็นหุ้นที่พื้นฐานดี ทำให้สร้างผลตอบแทนได้อย่างดีเยี่ยมด้วยเช่นกัน

T-Lowbeta เป็นกองทุนจากธนาคารธนชาต ที่ทำผลตอบแทนได้ดีอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือความผันผวนต่ำมากด้วย เป็นการเลือกจากหุ้นที่ดี และส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ผูกขาด เช่น ผู้ให้บริการด้านพลังงาน ผู้ผลิตไฟฟ้า โรงพยาบาล และค้าปลีก จึงทำให้กองทุนนี้ทำผลตอบแทนได้ดี ถึงบางครั้งตลาดหุ้นไทยจะเป็นขาลงก็ตาม

TEF DIV - เป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีด้วย แต่จะเน้นการซื้อขายทำกำไร จึงอาจจะมีความผันผวนไปบ้าง

B-BASIC - เป็นกองทุนที่จะลงทุนในหุ้นที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิต เช่น ยารักษาโรค อาหาร ที่อยู่อาศัย โดยเลือกจากหุ้นที่ยังราคาไม่แพงและมีพื้นฐานที่ดี

KTSE - เป็นกองทุนที่จะเน้นการซื้อขาย แต่ปรับพอร์ตไว และผลตอบแทนก็คุ้มค่ากับความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน

SCBSE - เป็นกองทุนที่ค่อนข้างจะทำผลตอบแทนได้สม่ำเสมอทีเดียว และความเสี่ยงก็ไม่ได้สูงมาก

อยากมีเงินก้อนไว้สำรองฉุกเฉิน

อยากมีเงินก้อนไว้สำรองฉุกเฉิน

  • หากแบบเป้าหมายระยะสั้นที่น้อยกว่า 3 ปี : ระยะเวลาที่สั้นแบบนี้ เงินต้นจะค่อนข้างสำคัญ กองทุนเป้าหมายจึงเหมาะกับกองทุนตราสารหนี้ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนดีขึ้นมากกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน หรือ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นได้

  • หากแบบเป้าหมายระยะกลางประมาณ 3-7ปี : ระยะเวลาที่ยาวขึ้นแบบนี้ สามารถนำเงินบางส่วนไปลงสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงขึ้นมาได้ แต่เงินต้นก็ยังสำคัญ จึงเหมาะกับกองทุนรวมผสมประเภทที่มีตราสารหนี้ผสมอยู่

  • หากเป็นแบบเป้าหมายระยะยาวที่มากกว่า 7 ปี : เราจะ สามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้มากขึ้น เพราะมีระยะเวลานาน ครอบคลุมวัฏจักรเศรษฐกิจได้ จึงเหมาะกับกองทุนรวมตราสารทุน

  • กองทุนตราสารหนี้ : น่าจะติดไว้ในพอร์ตการลงทุนด้วยเพื่อกระจายความเสี่ยง หรือเพื่อเก็บเงินไว้ในที่ปลอดภัยมากขึ้นและมีความแน่นอนด้านผลตอบแทน กว่าการฝากประจำ แต่ควรลงทุนอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป โดยกองทุนตราสารหนี้แบบระยะกลางจะช่วยให้โอกาสขาดทุนน้อย กองทุนที่น่าสนใจคือ K-FIXED, KFSMUL,SCBFP และ TMBABF ส่วนแบบระยะสั้น ก็มีหลายตัวเช่น  KFSPLUS ,TMBMPLUS เป็นต้น

  • กองทุนตลาดเงิน : เป็นกองทุนประเภทที่มีเสี่ยงต่ำมากตัวนึง เหมาะเวลากองทุนหุ้น หรือ ตลาดหุ้นปรับตัวลงมา สามารถฝากเอาไว้กินดอกเบี้ยทุกวันได้ เช่น P-CASH , T-CASH จะให้ผลตอบแทนที่ดี และมีความปลอดภัยมาก ๆ รวมถึงค่าธรรมเนียมก็ไม่แพง

  • กองทุน LTF : แบบไม่ปันผล เช่น  ABLTF , BLTF , CG -LTF , MS-CORE LTF , PLTF ; แบบปันผล เช่น PHATRA LTFD , VALUE-D LTF , MV-LTF และ MFCก็ยังให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสม่ำเสมออยู่

ต้องการมีแหล่งเงินทุนกระจายความเสี่ยง

ต้องการมีแหล่งเงินทุนกระจายความเสี่ยง

  • หากเราต้องการกระจายความเสี่ยง มีเป้าหมายสำหรับระยะยาวที่มีความเสี่ยง มีความผันผวนสูง เช่น แผนเกษียณอายุ อาจจะต้องการการกระจายความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เพื่อรักษาผลตอบแทนในระยะยาวของพอร์ตให้เป็นบวก โดยกองทุนรวมที่เหมาะสม คือ กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์  , กองทุนรวมเทคโนโลยี , กองทุนรวม Healthcare , กองทุนรวมทองคำ , กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และกองทุนรวมพลังงาน เป็นต้น

  • กองทุน RMF ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เอาไว้สร้างเงินเกษียณได้ และเป็นการสร้างวินัยให้กับตนเองด้วย พร้อมทั้งสามารถสับเปลี่ยนไปยังกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำลงมาอีก เช่นกองทุนตราสารหนี้แบบไม่ผิดกฏการลดหย่อนภาษีอีกด้วย แต่ก็ควรจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมด้วยไม่ใช่ลงทุนแต่สินทรัพย์เสี่ยงเพียงอย่างเดียว กองทุนที่ต่าสนใจ เช่น RMF หุ้น – BERMF, ABSC-RMF ; RMF ตราสารหนี้ – UOBGBRMF, KFLTGOVRMF ,KFIRMF ; RMF อสังหา ฯ - PHATRA-PROP, CIMB iPROP-RMF, T-PropertyRMF, LHTPROPRMF เป็นต้น

  • กองทุนอสังหาริมทรัพย์แบบ Fund of Property Fund ก็น่าสนใจ เนื่องจากเป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอมาก โดยรายได้มาจากค่าเช่า หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ได้เกิดจากการเก็งกำไร หากเลือกแบบโดยตรง ก็ค่อนข้างจะยากมากครับ เพราะต้องดูรายละเอียด ทำเล ผลตอบแทน และอัตราการเช่า แบบ Fund of Property Fund จึงดีกว่า เพราะว่ามีผู้จัดการกองทุน มาเลือกให้เราอีกที เช่น M-PROP Div, LHTHPROP, T-PROP เป็นต้น

  • กองทุนหุ้นต่างประเทศ : ถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงในระดับภูมิภาคได้ เช่น ตลาดหุ้นของสหรัฐ ฯ ในระยะยาวก็น่าสนใจ น่าสะสม ค่าธรรมเนียมก็ถูกมากเช่น US – ASP S&P500 ,SCB S&P500 หรือ ถ้ารับความเสี่ยงได้สูงหน่อย กองทุนที่ไปลงทุนกับ NASDAQ อย่าง K-USXNDQ ก็น่าสนใจไม่แพ้กันเพราะเกี่ยวกับเทคโนโลยีในอนาคต หรือแม้แต่กองทุนกลุ่ม Healthcare และ Silver age ที่จะเป็น Mega Trend ก็ได้

สรุป

สรุป

เราจะเห็นตัวอย่างกองทุนมากมายที่น่าสนใจ แต่กระนั้นก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายหลักในชีวิตของเรานั่นล่ะ หลายคนอาจชอบแบบผสมผสานก็ได้ และถ้าเราเริ่มตั้งแต่วันนี้ก็สามารถสร้างความมั่งคั่งในตัวเองได้ตั้งแต่วันนี้นี่เลยล่ะ. แต่ก่อนที่จะนำเงินไปลงทุน สิ่งแรกที่นักลงทุนต้องมี ก็คือ เงินสำรองฉุกเฉิน (Emergency Cash) เผื่อไว้ด้วยเหมือนกันเผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เช่น ขาดรายได้ หรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินก้อนกะทันหัน  พอร์ตของเรากำลังไปได้สวยจึงเสียดายไม่อยากขายออกมา เงินสำรองฉุกเฉินนี้ล่ะจะช่วยขยับขยาย โดยอาจอยู่ในสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินสดได้เร็ว เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ก็ได้. สรุปสุดท้ายนี้ เหนือสิ่งอื่นใดเราต้องค้นคว้าก่อนว่าเป้าหมายของเราตรงกับกองทุนที่จะลงทุนไปไหม เป็นสินทรัพย์แบบไหน หรือมีอะไรบ้าง โดยลองเปรียบเทียบ และศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนด้วยนั่นเอง