สินเชื่อรถยนต์ คืออะไร?

สินเชื่อรถยนต์ คืออะไร?

สินเชื่อรถยนต์ คือ การทำสัญญาเพื่อการซื้อ-ขายกัน ระหว่างตัวผู้ซื้อเองกับบริษัทที่จำหน่ายรถยนต์นั้นๆ โดยจะต้องมีการทำสัญญาเพื่อเช่าซื้อกันผ่านสถาบันการเงิน เพื่อทำการชำระค่ารถยนต์แบบเต็มจำนวนแทนผู้ซื้อ หลังจากนั้นจะมีการทำสัญญาเพื่อตกลงในการผ่อนจ่ายเป็นรายเดือน กับสถาบันการเงินนั้น หรือบริษัทที่ทำสินเชื่อ ซึ่งหากมีการชำระเงินแบบไม่ครบตามจำนวนงวดที่ได้ตกลงกันไว้ หรือมีการขาดส่งยอดชำระโดยไม่มีสาเหตุ สถาบันการเงินนั้นๆ หรือบริษัทสินเชื่อที่ทำสัญญากับเรา ก็มีสิทธิ์ที่จะทำการยึดรถคืน เพราะตราบใดที่ยังมีการผ่อนชำระไม่หมดตามยอดชำระเต็มราคา กรรมสิทธิ์ของรถยนต์คันนั้น ก็ยังคงตกเป็นของผู้ให้กู้ตามกฎหมายอยู่แบบที่เราไม่มีสิทธิ์ขัดแย้งได้ นอกจากมีการขอโอนกรรมสิทธิ์กันไปแล้วก่อนหน้า

โดยบริการทำสินเชื่อรถยนต์นั้น หลักๆจะมาจากแผนกสินเชื่อรถยนต์ของธนาคารหรือบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ ทั้งในเครือของธนาคารและค่ารถยนต์แบรนด์ต่างๆ ที่จะมีการกำหนดรายละเอียดในส่วนของตัวเลขวงเงินที่ได้อนุมัติ ดอกเบี้ย และระยะเวลาในการชำระหนี้ ส่วนรูปแบบของสินเชื่อรถยนต์จะ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ คือ การทำสัญญาแบบซื้อขายกันตามปกติผ่านทางโชว์รูม โดยมีบริษัทสินเชื่อเป็นคนจ่ายค่าเช่าซื้อนี้ แล้วเราค่อยมาผ่อนชำระ ตามอัตราดอกเบี้ยที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งบางแห่งก็จะมีการกำหนดระยะเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ แต่บางแห่งก็อาจถือกรรมสิทธิ์ต่อไปจนกว่าเราจะทำการผ่อนชำระใกล้หมด

  • สินเชื่อระบบไฟแนนซ์ คือ การที่เรามีการผ่อนชำระรถยนต์อยู่แล้วจนครบจำนวนหรือใกล้หมดพันธะ แต่มีความจำเป็นต้องการใช้เงินสดจำนวนหนึ่ง จึงนำรถยนต์คันนั้นไปจำนองกับบริษัทไฟแนนซ์ หรือนำรถยนต์ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อแลกเงินสดออกมาใช้ และทำการผ่อนจ่ายต่อไปตามจำนวนที่ตกลงกัน โดยรถยนต์แต่ละรุ่นก็จะมีอัตราการประเมินที่แตกต่างกันไป ตามสภาพรถและอายุการใช้งาน

ซื้อผ่อนรถยนต์แบบไหนบ้าง?

การผ่อนรถยนต์หนึ่งคันนั้น จำนวนเงินที่เราต้องจ่าย โดยมากจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ มูลค่าของรถยนต์ที่ได้ทำการกู้แบบผ่านสถาบันการเงินโดยหักเงินดาวน์แล้ว, ดอกเบี้ย และภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ซึ่งผู้ซื้อจะต้องทำการรับผิดชอบผ่อนจ่าย โดย

(นำราคาขายหน้าโชว์รูม) - (จำนวนเงินดาวน์) = ยอดจัดซื้อ (ยอดจัดซื้อ) x (ดอกเบี้ยต่อปี) = จำนวนดอกเบี้ยรายปี (จำนวนดอกเบี้ยรายปี) x (จำนวนปีที่ทำการผ่อนชำระ) = จำนวนดอกเบี้ยทั้งหมด (จำนวนดอกเบี้ยทั้งหมด) + (ยอดจัดซื้อ) = ยอดหนี้ทั้งหมด (ยอดหนี้ทั้งหมด) ÷ (จำนวนเดือนที่ต้องผ่อนชำระ) = ยอดชำระรายเดือน

หากเป็นกรณีซื้อรถยนต์มือ 2 จะต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% เช่น รถยนต์ใหม่ป้ายแดง ราคารวมอุปกรณ์ตกแต่ง 900,000 บาท (รวม VAT. 7%) วางเงินดาวน์จำนวน 20% ผ่านสถาบันการเงินที่มีการคิดดอกเบี้ย 5% ต่อปี โดยต้องการผ่อนชำระใน 60 งวด หรือจำนวน 5 ปี ก็จะมีสูตรคำนวณ คือ

900,000 (ราคารถ) - 180,000 (เงินดาวน์) = 720,000 (ยอดจัดซื้อ) 720,000 (ยอดจัดซื้อ) x 5% (ดอกเบี้ยต่อปี) = 36,000 (จำนวนดอกเบี้ยรายปี) 36,000 (จำนวนดอกเบี้ยรายปี) x 5 (จำนวนปีที่ทำการผ่อนชำระ) = 180,000 (ดอกเบี้ยทั้งหมด) 180,000 (ดอกเบี้ยทั้งหมด) + 748,000 (ยอดจัดซื้อ) = 900,000 (ยอดหนี้ทั้งหมด) 900,000 (ยอดหนี้ทั้งหมด) ÷ 60 (จำนวนเดือนที่ต้องผ่อนชำระ) = 15,000 (ยอดชำระรายเดือน) เป็นต้น

แต่หากเป็นรถยนต์แบบรถมือสอง ก็จะมีราคาจำหน่ายที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ดังนั้น การคำนวณก็จะต้องบวกเพิ่มเข้าไปอีกในราคารถ หรือค่างวดรถ เช่น รถยนต์ที่มีราคาขายจากเต็นท์ 300,000 บาท วางเงินดาวน์ 20% สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยที่ 8% ต่อปี มีระยะเวลาในผ่อนชำระ 4 ปี (48 งวด)

300,000 - 60,000 = 240,000 240,000 x 8% = 19,200 19,200 x 4 = 76,800 76,800 + 240,000 = 316,800 316,800 ÷ 48 = 6,600

ยอดชำระรายเดือนอยู่ที่ 6,600 บาท แต่เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จึงมียอดชำระรายเดือนสุทธิอยู่ที่ 7,062 บาทต่อเดือน เป็นต้น

ต้องเตรียมเท่าไหร่ สำหรับเงินดาวน์สินเชื่อรถยนต์

เงินดาวน์ คือ เงินก้อนเเรกที่จะใช้เพื่อการซื้อรถยนต์ ยิ่งดาวน์มากก็จะยิ่งผ่อนน้อย และไม่โดนดอกเบี้ยในอัตราสูงเล่นงาน. โดยเงินดาวน์ในที่นี้ สำหรับผู้ที่จะออกรถควรเตรียมไว้ประมาณ 25% ของราคารถที่จะซื้อขึ้นไป ทางสถาบันการเงินหรือบริษัทไฟแนนซ์จะได้วางใจและอนุมัติการผ่อนชำระ ซึ่งจะมีการคิดคำนวณแบบดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) เพื่อรวมเงินดาวน์ที่วางไว้แต่ต้นและดอกเบี้ยเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งการชำระออกเป็นแบบงวดๆ

นอกจากนี้ อาจยังมีการเสนอโปรโมชั่น 'ฟรีดาวน์' หรือ 'ดาวน์ 0 บาท' ให้หากเป็นลูกค้าประวัติดี เคยผ่อนหมดมาแล้วแบบส่งตรงทุกงวด ไม่ติดแบล็กลิสต์กับสถาบันการเงินใดๆ และมีรายได้ผ่านเกณฑ์ตามที่บริษัทกำหนด. แต่ในทางกลับกัน หากเป็นลูกค้าที่มีชื่อติดแบล็กลิสต์ การขอกู้ก็จะยากกว่า และอาจจะต้องวางจำนวนเงินดาวน์มากขึ้นประมาณ 30 - 40 % เพื่อการอนุมัติ

และสำหรับรถใหม่ป้ายแดง ยังรวมไปถึงการเสนอโปรโมชั่น 'ฟรีประกันภัยชั้น1' หรือ 'ฟรีค่าโอน' เพื่อดึงดูดลูกค้า และทำให้อยากตัดสินใจเลือกทำข้อเสนอกับทางบริษัท แต่หากไม่มีข้อเสนอนี้ ผู้ที่ต้องการออกรถก็จะต้องเตรียมในส่วนของ 'ค่าประกันรถยนต์' เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ค่าโอนรถ และวางแผนล่วงหน้าในเรื่องค่าบำรุงรักษา การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามกำหนด และการเปลี่ยนยางตามสภาพการใช้งานด้วย

เอกสารที่ต้องเตรียมเวลาขอสินเชื่อรถยนต์

กรณีบุคคลธรรมดา

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ค้ำประกัน(ถ้ามี)
  • เอกสารแสดงฐานะทางการเงิน เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองเงินเดือน เอกสารประกอบอาชีพ สมุดบัญชีคู่ฝากธนาคาร ย้อนหลัง 6 เดือน

กรณีนิติบุคคล

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจที่ลงนามขอสินเชื่อ (พร้อมประทับตราบริษัท)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจที่ค้ำประกัน (พร้อมประทับตราบริษัท)
  • หนังสือรับรองบริษัท
  • เอกสารแสดงฐานะการเงิน เช่น สมุดบัญชีคู่ฝากธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน หนังสือรับรองเงินเดือนของผู้ค้ำประกัน จำนวน 1 ชุด

สินเชื่อมีประเภทดอกเบี้ยอะไรบ้าง?

โดยปกติแล้ว อัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อจะมีลักษณะเป็นการคำนวณแบบร้อยละต่อปี ซึ่งแต่ละธนาคารหรือสถาบันการเงินก็จะจัดแจงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นี้ออกมาไว้หลายประเภทและหลายอัตรา โดยจะขึ้นอยู่กับประเภทของเงินกู้ หรือสินเชื่อนั้น โดยภาพรวมของสินเชื่อรถยนต์ที่พบบ่อยในประเทศไทย มักจะมี 3 อย่างนี้ ได้แก่

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (Flat Interest Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกำหนดในแบบตายตัว จึงมีจำนวนเท่ากันในแต่ละเดือนตลอดอายุสัญญา
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลดต้นลดดอก (Effective Interest Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายใหม่พึ่งได้ออกมาบังคับใช้สำหรับผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์ หากชำระเงินต้นคืนไปได้มากเท่าไร จำนวนเงินต้นคงเหลือที่จะถูกนำมาคิดคำนวณดอกเบี้ยก็จะยิ่งน้อยลงตามไปด้วย
  • อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) คือ คือ อัตราดอกเบี้ยที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามประกาศของสถาบันการเงิน หรือมีการปรับขึ้นและลงตามแต่สภาวะของเศรษฐกิจ

ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายเมื่อทำสัญญา

ถึงแม้การขอสินเชื่อรถยนต์ จะทำให้เราไม่ต้องควักเงินก้อนเดียวหมดกระเป๋าเพื่อให้ได้รถคันที่ใช่ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเลย เพราะการขอสินเชื่อรถยนต์นั้น นอกจากเงินต้นที่เราต้องมีรวมทั้งเงินดาวน์หรือเงินผ่อนที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนแต่ละงวดแล้วนั้น ก็ยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆที่มาพร้อมกับการถอยรถออกมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ป้ายแดงหรือรถมือสอง ต่างก็มีค่าใช้จ่าย ที่คล้ายกับค่าธรรมเนียมที่เราต้องออกอยู่เหมือนกัน อย่าง

  • ค่าโอนทะเบียนรถ
  • ไม่ว่าจะเป็นการโอนทะเบียนเข้า จดทะเบียนรถยนต์ใหม่ หรือโอนทะเบียนออก
  • ค่าอากรแสตมป์ ส่วนใหญ่แล้วจะเสียไม่เกิน 0.5% ของมูลค่าสัญญาหรือยอดประเมิน
  • ค่าเบี้ยประกันภัย ค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ก็จะขึ้นอยู่กับว่าเราทำประกันชั้นไหน แต่ถ้าเราออกรถยนต์คันใหม่ สถาบันการเงินที่เราไปขอสินเชื่อรถยนต์ด้วยก็มักจะให้ทำประกันภัยชั้น 1 เอาไว้
  • ค่าภาษีรถยนต์ ที่เจ้าของรถทุกคันจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ทุกปี โดยเฉพาะเมื่ออกรถมาใหม่ๆ
  • ค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น ค่าบริการต่อภาษีของรถยนต์ ค่าธรรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าโอนย้าย ตรวจสอบบัญชี ค่าบริการต่างๆ แต่ส่วนใหญ่จะเรียกเก็บจากธนาคารและหักจากวงเงินของเราโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

หากสนใจในการกู้สินเชื่อรถยนต์ สิ่งที่เหล่ากล่าวไปข้างต้นคือสิ่งที่ควรทราบตามหลักสากล อย่างไรก็ตามแต่ละสถาบันการเงินมีนโยบายหรือเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป จึงควรพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจ หากต้องการตัวช่วย สามารถปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญจาก MoneyDuck ฟรี ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง